xs
xsm
sm
md
lg

สื่อตะวันตกบิดเบือน ไม่รายงานว่าทำไม ‘ดูเตอร์เต’จึงสบถใส่ประธานาธิบดีอเมริกันว่า ‘ลูกกะหรี่’

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

<i>ภาพหน้าปกนิตยสาร “ไลฟ์” ฉบับประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 1902 ซึ่งทำเป็นภาพการ์ตูนแสดงวิธีทรมาน “วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” ซึ่งกองทหารสหรัฐฯใช้อยู่ในฟิลิปปินส์เวลานั้น  และเป็นหลักฐานหนึ่งซึ่งชี้ให้เห็นทารุณกรรมความโหดเหี้ยมของจักรวรรดินิยมอเมริกันที่กระทำต่อชาวโมโรทางภาคใต้ฟิลิปปินส์  ทั้งนี้ประธานาธิบดีดูเตอร์เตพยายามหยิบยกประวัติศาสตร์ขึ้นมายืนยันว่า ประธานาธิบดีโอบามาไม่มีสิทธิที่จะมาสอนเขาในเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Truth and Duterte in media crosshairs
By Peter Lee
09/09/2016

เมื่อพิจารณาจากระลอกการโจมตีที่ซัดกระหน่ำใส่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ในสื่อมวลชนตะวันตก และแรงวิพากษ์วิจารณ์แบบปิดบังซ่อนเร้นจากหนังสือพิมพ์บางฉบับในมะนิลาแล้ว ดูเหมือนกับว่าการที่ดูเตอร์เตไม่ได้แสดงความจงรักภักดีอย่างเพียงพอต่อวิสัยทัศน์แห่งการปักหมุดหวนคืนเข้ามาในเอเชียของอเมริกัน อาจจะส่งผลถึงการล้มคว่ำของเขาได้ทีเดียว ยิ่งการแตกร้าวระหว่างดูเตอร์กับสหรัฐฯยิ่งรุนแรงหนักขึ้นเท่าใด การโยกย้ายเปลี่ยนคนอื่นมาแทนที่เขาก็อาจจะกลายเป็นความจำเป็นทางยุทธศาสตร์สำหรับอเมริกาขึ้นมา

การรายงานข่าวอย่างผิดพลาดต่อเนื่องเป็นสายเป็นชุด เกี่ยวกับกิจการต่างๆ ของเอเชีย คือราคาที่พวกสื่อมวลชนต้องจ่ายเพื่อเป็นการแสดงความสนับสนุนอย่างจงรักภักดีต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่จะปักหมุดหวนกลับคืนเข้ามามีอำนาจอิทธิพลอย่างสำคัญในเอเชีย นอกจากนั้นมันยังเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯพยายามเกี้ยวพาราสีประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ผู้ปากกล้าห้าวหาญของฟิลิปปินส์อยู่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แล้ว บางทีเมื่อมาถึงเวลานี้ วอชิงตันก็อาจจะกำลังมีการจัดวางเตรียมการสิ่งต่างๆ ให้พรักพร้อมสำหรับการเปลี่ยนตัวคนอื่นขึ้นมาแทนที่เขาแล้ว

ผมจะขอพูดถึงเรื่องราวที่ถือเป็นออเดิร์ฟเรียกน้ำย่อยกันก่อน ลองมาดูเหตุการณ์ที่ถูกเรียกกันว่า “สแตร์เกต” (Stairgate) อันหมายถึงความอลเวงผสมผสานกับความโทโสโกรธกริ้วซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้มีบันไดปูพรมแดงมารอเทียบ เพื่อให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา สามารถก้าวลงจากเครื่องบิน “แอร์ฟอร์ซวัน” (Air Force One) เครื่องบินประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแก่เกียรติยศ ขณะที่เขามาถึงสนามบินของนครหางโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี20 (กลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก)

ตามข่าวซึ่งหนังสือพิมพ์การ์เดียน (Guardian หนังสือพิมพ์ชื่อดังฉบับหนึ่งของอังกฤษ -ผู้แปล) ประจงคัดสรรนำมารายงาน (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.theguardian.com/world/2016/sep/04/barack-obama-deliberately-snubbed-by-chinese-in-chaotic-arrival-at-g20) นั้น ระบุว่าประธานาธิบดีโอบามา “ถูกบังคับให้ก้าวเดินลงมาจาก (บันไดของเครื่องบินเอง) บริเวณบั้นท้ายของแอร์ฟอร์ซวัน” นี่ช่างเป็นการเสนอภาพอันน่าอนาถของท่านผู้นำแห่งโลกเสรี –และเป็นชายผิวดำด้วย จึงซุกซ่อนความหมายโดยนัยในทางเหยียดเชื้อชาติ— ที่ถูกฝ่ายจีนผลักไสออกมาอย่างจงใจ จากบริเวณส่วนหลังของกลไกทางการบินของอเมริกัน แล้วจากนั้นก็เคลื่อนตัวตัดข้ามทางวิ่งในสนามบินอย่างโดดเดี่ยว ราวกับเป็นมูลสีน้ำตาลไร้ค่าที่แสนอ้างว้าง

การเสนอภาพเช่นนี้ย่อมไม่อาจถือเป็นผลงานชิ้นยอดเยี่ยมของพวกคุณเลยนะ การ์เดียน!

ไอเดียที่ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความปรารถนาและยังสามารถค้นคิดขึ้นมาได้ว่าจะดูหมิ่นเหยียดหยามประธานาธิบดีโอบามาในลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสงสัยข้องใจว่าเป็นไปได้หรือ? และเป็นที่แน่นอนทีเดียวว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนก็พยายามหาทางเล่าเรื่องจากปากคำของฝ่ายตนบ้าง โดยผ่านทางหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) ของฮ่องกง

ปรากฏว่าตามปากคำของเจ้าหน้าที่จีนนี้ ระบุว่ามันไม่ใช่เรื่องความจงใจที่จะหาทางดูหมิ่นเหยียดยามอะไรเลย ทว่าเนื่องมาจากมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขตกลงกันได้ ในระหว่างทีมงานรักษาความปลอดภัยของสหรัฐฯและทีมงานรักษาความปลอดภัยของสาธารณรัฐประชาชนจีน เกี่ยวกับความสามารถในด้านภาษาอังกฤษของคนขับชาวจีนซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบนำเอาบันไดปูพรมแดงไปเทียบกับเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน และฝ่ายอเมริกันจึงตัดสินใจเลือกให้โอบามาลงมาทางบันไดของแอร์ฟอร์ซวัน ซึ่งอยู่ตรงส่วนท้ายของเครื่องบิน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.scmp.com/news/china/diplomacy-defence/article/2014484/staircase-snub-obama-was-united-states-decision-reveals)

พิจารณาดูดีๆ แล้ว ดูเหมือนทางฝ่ายจีนคือฝ่ายที่กำลังบอกเล่าความจริงนะ!

อันที่จริงแล้ว สำนักข่าวเอพีได้ยืนยันเรื่องราวตามคำบอกเล่าของฝ่ายจีนด้วยซ้ำไป ทว่ากลับฝังเรื่องนี้เอาไว้ในรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งซึ่งมุ่งเน้นหนักประเด็นอื่น บางทีอาจเป็นเพราะเอพีต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้สร้างความอับอายขายหน้าแก่เหล่านักหนังสือพิมพ์ผู้ซึ่งประดิษฐ์ประดอยเรื่องขึ้นมาตั้งแต่ตอนแรก

ทั้งนี้เอพีเขียนเอาไว้ดังนี้:

ทว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯบอกว่า แท้ที่จริงแล้วเหตุการณ์นี้มีต้นตอมาจากสถานการณ์ความสับสนเกี่ยวกับการหาคนขับสำหรับขับบันไดเทียบติดล้อนี้ ซึ่งสามารถติดต่อสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานอารักขาผู้นำของสหรัฐฯ (U.S. Secret Service) มากกว่า ทั้งนี้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ขอให้สงวนนามของพวกเขา เนื่องจากเป็นการพูดพาดพิงถึงการดำเนินการทางการทูตซึ่งเป็นเรื่องภายใน

เพื่อเป็นการให้บริการแก่สาธารณชนนะครับ ผมใคร่ที่จะขอตั้งข้อสังเกตให้เห็นถึง “ข้อเท็จจริงที่ทำให้เถียงไม่ออก” ซึ่งคัดค้านตีโต้ไอเดียที่ว่าฝ่ายจีนตั้งใจที่จะดูหมิ่นหยามหยัน นั่นก็คือ ประธานาธิบดีโอบามานั้น ย่อมสามารถที่จะรออยู่ในแอร์ฟอร์ซวันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการนำเอาบันไดที่ถูกต้องเหมาะสมมาเทียบให้

ตรงกันข้ามกับการบัญญัติเรื่องราวขึ้นมาเอาเองของหนังสือพิมพ์การ์เดียน ประธานาธิบดีโอบามาไม่ได้ “ถูกบังคับ” จากพวกคอมมิวนิสต์แดงชาวจีนผิวเหลือง ให้ออกมาทางประตูหลังบานเล็กๆ อย่างน่าอับอายขายหน้าแต่อย่างใด เพราะเขาสามารถที่จะรออยู่ในเครื่องบินต่อไปก็ได้ จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว แต่นี่เขาไม่ได้ทำเช่นนั้น เขากลับเลือกที่จะเดินออกมาจากเครื่องบิน

นี่ย่อมเป็นข้อดีของเขา

นอกจากนั้นประธานาธิบดีโอบามายังพูดแบบไม่ให้ราคาอะไรกับเหตุการณ์คราวนี้ เมื่อพวกสื่อมวลชนตะวันตกพากเพียรพยายามเหลือเกินที่จะดึงลากพลิกปั่นให้กลายเป็น “การดูหมิ่นเหยียดหยาม”

จามิล อันเดอร์ลินี (Jamil Anderlini) แห่งหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) คือผู้ที่นำเอาเรื่องราวนี้ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดแห่งความน่าเคลือบแคลง (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.ft.com/content/2baa8640-743e-11e6-b60a-de4532d5ea35#axzz4JdOjxu2F ทั้งนี้ผู้ที่เข้าไปดูได้ต้องบอกรับเป็นสมาชิกของไฟแนนเชียลไทมส์) แต่ขณะเดียวกันเขาก็กำลังจัดทำจารึกเหนือหลุมฝังศพขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ สำหรับอุทิศให้แก่ไอเดียในการ “รายงานข่าว” อย่างเร่อร่าล้าหลัง ในยุคสมัยแห่ง “สงครามข้อมูลข่าวสาร” เช่นนี้ไปด้วย เมื่อเขาเขียนเอาไว้ว่า:

รายละเอียดต่างๆ ในเรื่องที่ว่าทำไมจึงมีการระงับไม่นำเอาบันไดปูพรมแดงมาเทียบนั้น เป็นสิ่งที่เกินเลยไปจากประเด็น

จริงๆ แล้ว ประเด็นมีอยู่ว่า พวกสื่อมวลชนตะวันตกนั้นช่างมีความสนใจกระตือรือร้นอย่างเหลือเกินที่จะกระตุ้นส่งเสริมการเล่าเรื่องในลักษณะที่ว่าจีนเป็นพวกก้าวร้าวรุกรานและน่าขยะแขยง ขณะเดียวกับที่มุ่งสงวนรักษาอารมณ์ความรู้สึกแห่งการตกเป็นเหยื่อเอาไว้ให้แก่สหรัฐฯ ในเวลาที่อเมริกาถูกแข็งกร้าวเข้าใส่และถูกรังเกียจเข้าให้

แม้กระทั่งเรื่องราวที่ไม่มีความน่าเชื่อถือเลยก็ยังกลายเป็นพื้นฐานอันมีคุณค่าเพียงพอสำหรับการแสดงทัศนะความคิดเห็นกันออกมาเป็นชุด เพื่อบ่นด่าคร่ำครวญเกี่ยวกับคนจีนผู้น่าสะอิดสะเอียนซึ่งกำลังดูหมิ่นเหยียดหยามคนตะวันตกผู้บริสุทธิ์ไร้ความผิด

คำพูดอันดุเดือดเผ็ดร้อนของดูเตอร์เต

กระบวนการเช่นเดียวกันนี้ได้บังเกิดซ้ำอีกคำรบหนึ่ง โดยคราวนี้เป็นการที่สื่อมวลชนตะวันตกได้โหมฮือทะเลเพลิงเข้าเผาย่างบุคคลอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีความผิดฐานแสดงความจงรักภักดีไม่เพียงพอต่อแนวความคิดว่าด้วยความดีเลิศยอดเยี่ยมประเสริฐศรีของอเมริกัน

บุคคลผู้นี้คือประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์

ดูเตอร์เตได้พูดจาตั้งข้อสังเกตอันดุเดือดเผ็ดร้อนเข้าใส่สหรัฐฯขณะจัดการประชุมแถลงข่าวขึ้นที่สนามบินในเมืองดาเวา ในตอนที่เขากำลังจะออกเดินทางไปยังกรุงเวียงจันทน์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของสมาคมอาเซียน แล้วก็เลยเป็นเหตุทำให้มีการยกเลิกนัดหมายการพบปะหารือทวิภาคีระหว่างเขากับประธานาธิบดีโอบามาที่นครหลวงของลาว

ตอนแรกทีเดียว ประธานาธิบดีโอบามาดูเหมือนเตรียมตัวเตรียมใจที่จะใช้ท่าทีไม่ใส่ใจกับคำพูดความคิดเห็นของดูเตอร์เต (ดูรายละเอียดได้ที่ http://globalnation.inquirer.net/144411/obama-to-duterte-do-it-the-right-way) ด้วยเหตุผลต่างซึ่งจะมีความกระจ่างชัดเจนเพิ่มมากขึ้นเมื่ออ่านกันต่อไป แต่แล้ว...

ตอนต้นๆ เลย โอบามาแสดงปฏิกิริยาต่อคำพูดอันเผ็ดร้อนของดูเตอร์เต โดยเรียกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ผู้นี้ว่าเป็น “บุคคลผู้เต็มไปด้วยสีสัน” ทว่าต่อจากนั้นก็ได้บอกเลิกนัดหมายการพบปะหารือทวิภาคี หลังจากสื่อมวลชนระหว่างประเทศรายงานข่าวประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใหญ่โตถี่ยิบ

เพื่อทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคราวนี้อยู่ภายในกรอบที่จะทำให้อเมริกันรู้สึกแฮปปี้พึงพอใจ ถ้อยความสำคัญในคำวิพากษ์วิจารณ์ของดูเตอร์เตก็ได้ถูกตัดทอนจำกัดให้อยู่ตรงแค่ว่า เขาถูกกล่าวหาว่าเรียกขานประธานาธิบดีโอบามาด้วยคำสบถว่า “ลูกกะหรี่”

อย่างไรก็ตาม เมื่อติดตามไปฟังไปชมคลิปการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนคราวนี้กันเต็มๆ (ดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=FMNNDJ3qRag&feature=youtu.be ทั้งนี้ดูเตอร์เตพูดเป็นภาษาตากาล็อกสลับกับภาษาอังกฤษ) กลับได้รับความกระจ่างทำให้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ดูเตอร์เตมีต่อสหรัฐอเมริกา

ในช่วงนาทีที่ 6:40 ของคลิปการแถลงข่าวคราวนี้ ดูเตอร์เตแสดงความไม่พอใจต่อนักข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ผู้หนึ่ง ซึ่งในทัศนะของดูเตอร์เตนั้น นักข่าวผู้นี้เห็นชอบกับสมมุติฐานที่ว่าเขาจำเป็นต้องตอบคำถามซึ่งประธานาธิบดีโอบามาและบุคคลอื่นๆ อาจหยิบยกขึ้นมา เกี่ยวกับการเข่นฆ่าสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมและประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในสงครามต่อสู้ปราบปรามยาเสพติดที่เขากำลังดำเนินอยู่อย่างดุเดือดเข้มข้นในฟิลิปปินส์

ดูเตอร์เตเกิดความรู้สึกโกรธเกรี้ยวเนื่องจากว่า ในทัศนะของเขาแล้วสหรัฐฯนั้นขาดไร้ซึ่งศีลธรรมอันสูงส่งโดยสิ้นเชิง จึงไม่มีน้ำหน้าที่จะมาตั้งคำถามเอากับเขาในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์อันนองเลือดหฤโหดที่สหรัฐฯกระทำเอาไว้ใน “กระบวนการทำให้ชาวโมโรอยู่ในความสงบ” (Moro pacification) ในเกาะมินดาเนาซึ่งเป็นบ้านเกิดของดูเตอร์เต

ซีเอ็นเอ็นได้อธิบายเพิ่มเติมเพื่อช่วยผู้ชมของตน (หรือเพื่อบิดเบือนอย่างหมดหวังต่อผู้ชมของตนก็ตามที) (ดูรายละเอียดได้ที่ http://edition.cnn.com/2016/09/05/politics/philippines-president-rodrigo-duterte-barack-obama/) ว่า ต้นทุนมนุษย์จากการที่สหรัฐฯเข้าแทรกแซงคราวนั้น อยู่ในระดับที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 600 คน โดยซีเอ็นเอ็นบอกเอาไว้อย่างนี้:

ดูเตอร์เตกำลังอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ตอนที่สหรัฐฯมีฐานะเป็นมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมในฟิลิปปินส์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ว่าด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่อันฉาวโฉ่ครั้งหนึ่งในบริเวณภาคใต้ของฟิลิปปินส์ นั่นก็คือ สงครามแห่งบัด ดาโจ ปี 1906 (the 1906 Battle of Bud Dajo) ซึ่งมีชาวฟิลิปปินส์หลายร้อยคน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้หญิงและเด็กได้ถูกเข่นฆ่าไป

แท้ที่จริงแล้ว ดูเตอร์เตไม่ได้อ้างอิงถึงกรณีนั้น ซึ่งซีเอ็นเอ็นสามารถที่จะค้นพบได้ด้วยตัวเอง ถ้าหากพวกเขารับชมรับฟังคำแถลงของดูเตอร์เตให้ถ้วนถี่ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เขาอ้างอิงอย่างพลุ่งพล่านใจเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับ “600” ณ ช่วงคลิปวิดีโอนาทีที่ 10 เพราะเขากำลังอ้างอิงถึงจำนวนคนที่ตายไป 600,000 คน (เขาพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า six hundred thousands) ไม่ใช่ 600 คน (six hundreds) สิ่งที่ทำให้รู้สึกช็อกมากขึ้นไปอีกก็คือ ตัวเลขที่ดูเตอร์เตอ้างอิงนี้ แท้ที่จริงเป็นหนึ่งในตัวเลขประมาณการซึ่งยังจัดว่าค่อนข้างยั้งๆ เอาไว้ค่อนข้างอนุรักษนิยมทีเดียว สำหรับชาวโมโรที่เสียชีวิตไปด้วยน้ำมือของทหารสหรัฐฯ (ตัวเลขสูงสุดที่มีการประมาณการกันคือ 1.4 ล้านคน)

ใช่แล้วครับ เพื่อนมิตรชาวอเมริกันทั้งหลาย ดูเตอร์เตกำลังอ้างอิงถึงหนึ่งในบทตอนซึ่งป่าเถื่อนโหดเหี้ยมที่สุดและซึ่งน่าอับอายที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งจักรวรรดินิยมอเมริกัน เป็นบทตอนแห่งการกดขี่ปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดต่อประชากรชาวมุสลิมบนเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ตลอดระยะเวลาราว 30 ปีแห่งสงครามอย่างเป็นทางการและการก่อกบฎอย่างไม่เป็นทางการ นับจากปี 1898 ไปจนถึงช่วงทศวรรษ 1920 [1]

มินดาเนาคือสถานที่แห่งแรกซึ่งสหรัฐฯนำเอาบทเรียนประสบการณ์อันป่าเถื่อนเลวร้ายของสงครามอินเดียนแดงของตน มาประยุกต์ใช้กับการปราบปรามทำลายล้างการก่อกบฎในเอเชีย –โดยมีทั้งการสังหารหมู่พลเรือน, การลงโทษแบบเหมารวม, และการทรมานอย่างครบครัน

วิธีทรมาน “วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” (Waterboarding)[2] เข้าสู่สารบบชุดเครื่องมือทางทหารของสหรัฐฯก็ที่มินดาเนานี่เอง ดังที่ปรากฎเป็นหลักฐานอย่างไม่อาจลบเลือนให้หายสูญไป ในฐานะเป็นภาพหน้าปกของนิตยสาร “ไลฟ์” (Life) ฉบับประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 1902 (ดูรายละเอียดได้ที่ http://waterboarding.org/node/20)
<i>ไม่เพียงภาพการ์ตูน ภาพถ่ายจริงๆ ซึ่งบันทึกวิธีทรมาน “วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” ในยุคนั้นก็มีเช่นกัน </i>
และสงครามนี้ยังไม่เคยจบสิ้นยุติลงเลย หลังจากฟิลิปปินส์ถอดถอนนำเอาสถานะความเป็นอาณานิคมของตนออกไปแล้ว ชนชั้นนำโรมันคาทอลิกมะนิลาก็ยังคงดำเนินสงครามนี้ต่อด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ทุกวันนี้ฟิลิปปินส์ถูกล็อกถูกตรึงเอาไว้ให้อยู่ภายในวงจรหมุนวนแห่งการเจรจาและการต่อสู้ปราบปรามการกบฎ ระหว่างรัฐบาลกลางกับแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front ใช้อักษรย่อว่า MILF) –อันเป็นวงจรซึ่งดูเตอร์เตในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ วาดหวังที่จะกำจัดทำลายให้ขาดตอนลงเสียที และนำเอาความขัดแย้งนี้เข้าสู่บทสรุปคลี่คลาย ด้วยการทำข้อตกลงสันติภาพโดยผ่านการเจรจาหารือกัน

สำหรับดูเตอร์เตแล้ว นี่ไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ยุคโบร่ำโบราณเลย ดังจะเห็นได้ว่าเขาได้กล่าวเน้นย้ำในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของเขาว่า เหตุผลที่ทำให้มินดาเนา “อยู่ในอุณหภูมิเดือดระอุ” ทุกวันนี้ ก็เนื่องจากการประกอบอาชญากรรมในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

ดูเตอร์เตยังมีเหตุผลมากกว่านี้อีกสำหรับการแสดงความโกรธเกรี้ยวของเขา

อย่างที่ผมเคยเขียนเอาไว้ในเอเชียไทมส์ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://atimes.com/2016/05/meiring-murder-subversion-and-treason-dutertes-beef-with-us/) ดูเตอร์เตมีความสงสัยข้องใจว่า พวกสายลับของสหรัฐฯนั่นแหละที่ประสานงานก่อเหตุโจมตีด้วยระเบิดขึ้นมาเป็นระลอกและทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนหนึ่งในเมืองดาเวา (เมืองใหญ่ที่สุดบนเกาะมินดาเนา) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเมื่อปี 2002 โดยมูลเหตุจูงใจอาจจะเนื่องจากต้องการสร้างข้ออ้างบังหน้าเพื่อให้รัฐบาลกลางในมะนิลาประกาศใช้กฎอัยการศึกบนเกาะมินดาเนา และเข้าสู้รบปราบปรามกลุ่ม MILF อย่างเต็มพิกัดตามต้องการ เหตุโจมตีด้วยระเบิดที่ดาเวาในปี 2002 นี่เองได้กลายเป็นการปูรากฐานทำให้ดูเตอร์เตรู้สึกแปลกแยกออกห่างจากสหรัฐฯ ตลอดจนมีความเห็นว่าต้องต่อต้านการฝึกซ้อมทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์บนเกาะมินดาเนา อย่างที่เขาประกาศออกมาในตอนเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี

และถึงแม้ข่าวนี้ไม่ได้มีการรายงานอย่างใหญ่โตกว้างขวางอะไรในสหรัฐฯ แต่เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุโจมตีด้วยระเบิดขึ้นมาอีกในบริเวณตลาดแห่งหนึ่งในเมืองดาเวา ทำให้มีผู้ถูกสังหาร 14 คน มีการตั้งข้อสงสัยกันว่าเหตุคราวนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในแผนกโลบายที่มุ่งลอบสังหารดูเตอร์เตก็เป็นได้ โดยที่ในขณะเกิดเหตุนั้นเขาก็อยู่ที่เมืองนี้พอดี และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ (Communist Party of the Philippines ใช้อักษรย่อว่า CPP) (ซึ่งก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เปิดการเจรจาสันติภาพกับดูเตอร์เต) ได้ออกคำแถลงกล่าวหาว่าสหรัฐฯคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุร้ายคราวนี้

พรรค CPP พรรณนาถึงกลุ่มที่ออกมาอ้างความรับผิดชอบเป็นผู้ก่อเหตุ อันได้แก่กลุ่ม “อาบูไซยาฟ” (Abu Sayyaf) ว่าเป็น “ทรัพย์สินของซีไอเอ” และก็ดูเหมือนจะไม่ใช่คำพรรณนาที่เหลวไหลไกลเกินความจริงเสียด้วย อาบูไซยาฟนั้นเป็นกลุ่มของนักรบอิสลามิสต์/โจรอันธพาล ซึ่งก่อตั้งรวมตัวขึ้นมาจากเศษตะกอนของชาวมุสลิมฟิลิปปินส์ที่สหรัฐฯปลุกระดมรับสมัครเอาไปทำการสู้รบกับกองทหารสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน ครั้นเมื่อนักรบเหล่านี้เดินทางกลับบ้าน พวกเขาก็ดูเหมือนจะถูกรับตัวและติดอาวุธเพื่อให้กลายเป็นทรัพย์สินอันไม่อาจปฏิเสธได้ของ รัฐบาลกลางในมะนิลา/ซีไอไอ ในสงครามต่อสู้ปราบปรามกลุ่ม MILF ทั้งนี้ดูเตอร์เตประกาศว่าจะทำลาย (จริงๆ แล้วเขาถึงกับบอกว่าจะทำลายล้าง) คนกลุ่มนี้ (ให้หมดสิ้นไป)

ดังนั้น ด้วยความใจจดใจจ่อกับอาชญากรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งสหรัฐฯได้กระทำไปในมินดาเนา ทั้งในประวัติศาสตร์ครั้งอดีตกาล, ทั้งเมื่อเร็วๆ นี้, และบางทีกระทั่งในปัจจุบันด้วย รวมทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่มีความพยายามก่อการลอบสังหารตัวเขาเอง ดูเตอร์เตจึงประกาศออกมาว่า ตัวเขาไม่มีความตั้งใจไม่มีความปรารถนาเลย ที่จะยินยอมรับฟังการตั้งคำถามหรือการวิจารณ์ติเตียนใดๆ จากประธานาธิบดีโอบามา และการเอ่ยคำว่า “ลูกกะหรี่” ของเขา ณ การแถลงข่าวที่สนามบินคราวนี้ ก็ดูเหมือนจะกล่าวออกมาพร้อมๆ ถ้อยคำอื่นๆ ที่ว่า “ถ้าประธานาธิบดีโอบามากล้ามาเผชิญหน้ากับผม ไอ้ลูกกะหรี่เอ้ย … ผมก็จะบอกเขา ...”

ณ การประชุมซัมมิตของสมาคมอาเซียนในประเทศลาว ดูเตอร์เตดูเหมือนพยายามที่จะอธิบายแถลงไขรากเหง้าที่มาแห่งความโกรธเกรี้ยวของเขา แต่แล้วตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.gmanetwork.com/news/story/580691/news/nation/duterte-veers-off-speech-launches-tirade-on-us-killings-in-front-of-obama) เขากลับถูกบรรยายให้เห็นเป็นภาพของคนโรคจิตอารมณ์เหวี่ยงผู้หนึ่ง ซึ่ง “หันเหออกจากการกล่าวคำปราศรัยตามที่ได้เตรียมเอาไว้ และเปิดฉากการพูดด่าว่าอย่างยืดยาวและเผ็ดร้อน” ทั้งนี้ รายงานของเอเอฟพีระบุว่า:

ผู้แทนของอินโดนีเซียผู้หนึ่งเล่าว่า “ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้แสดงภาพการเข่นฆ่าสังหารของพวกทหารอเมริกันในอดีตภาพหนึ่ง และจากนั้นก็กล่าวว่า 'นี่คือบรรพบุรุษของผมที่พวกเขาเข่นฆ่าสังหารไป แล้วทำไมตอนนี้เราจะมาพูดอะไรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน'” ทั้งนี้ฟิลิปปินส์เคยตกเป็นอาณานิคมของอเมริกาในช่วงตั้งแต่ปี 1898 ถึง 1946

ผู้แทนผู้นี้บรรยายถึงบรรยากาศภายในห้องประชุมว่า “เงียบกันไปหมดและต่างอยู่ในอาการช็อก”


ควรที่จะต้องชี้ให้เห็นว่า ระหว่างการประชุมแถลงข่าวของเขาที่สนามบินของเมืองดาเวาก่อนเดินทางไปประชุมซัมมิตอาเซียนนั้น ดูเตอร์เตได้กล่าวถึงรูปภาพที่เขาต้องการจะนำไปโชว์ไปแสดงให้ผู้นำประเทศอื่นๆ ได้เห็น ดังนั้นมันจึงเป็นเหตุการณ์ที่มีการเตรียมการวางแผนเอาไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงการแสดงอาการเพ้อคลั่งประสาทเสียขึ้นมาอย่างฉับพลันของผู้นำคนหนึ่งที่ไร้ความหนักแน่นเอาแน่เอานอนไม่ได้ อย่างที่ดูจะมีความพยายามใส่ความกันในที่นี้

ความเป็นจริงอันสกปรกยุ่งเหยิงของช่วงเวลา 1 ศตวรรษในการปราบปรามกวาดล้างการก่อกบฎอย่างชนิดไม่บันยะบันยังภายใต้ความร่วมมือประสานงานของสหรัฐฯ ความเป็นจริงอันสกปรกยุ่งเหยิงของช่วงเวลา 1 ศวรรษแห่งยาเสพติด, การทุจริตคอร์รัปชั่น, และการฆาตกรรมในฟิลิปปินส์ เมื่อถูกเปิดโปงเมื่อถูกเปิดเผยกันออกมามากๆ แล้ว ย่อมเป็นการชักจูงหันเหความสนใจออกมาจากภาพอันงดงามของชุดกลาสีเรือ, ขบวนเรือรบ, และความสัมพันธ์อันบันเทิงเริงสุขในทะเลจีนใต้ โดยที่อเมริกันกับฟิลิปปินส์แห่งประชาธิปไตยชุดแล้วชุดเล่าเฝ้าเคียงบ่าเคียงไหล่กันเข้าต่อต้านคัดค้านจีน ซึ่งเป็นภาพที่สหรัฐฯต้องการนำเสนอต่อโลก

เมื่อพิจารณาจากระลอกการโจมตีที่ซัดกระหน่ำใส่ประธานาธิบดีดูเตอร์เต ในสื่อมวลชนตะวันตก และแรงวิพากษ์วิจารณ์แบบปิดบังซ่อนเร้นจากหนังสือพิมพ์บางฉบับในมะนิลาแล้ว ดูเหมือนกับว่าการที่ดูเตอร์เตไม่ได้แสดงความจงรักภักดีอย่างเพียงพอต่อวิสัยทัศน์แห่งการปักหมุดหวนคืนเข้ามาในเอเชียของอเมริกัน อาจจะส่งผลถึงการล้มคว่ำของเขาได้ทีเดียว ยิ่งการแตกร้าวระหว่างดูเตอร์กับสหรัฐฯยิ่งรุนแรงหนักขึ้นเท่าใด การโยกย้ายเปลี่ยนคนอื่นมาแทนที่เขาก็อาจจะกลายเป็นความจำเป็นทางยุทธศาสตร์สำหรับอเมริกาขึ้นมา

ในรายงานฉบับหนึ่งที่ผมได้อ่าน ระบุว่า ข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือทางกลาโหม (Enhanced Defense Cooperation Agreement หรือ EDCA)[3] ซึ่งสหรัฐฯทำกับฟิลิปปินส์ในยุคคณะบริหารของประธานาธบดีเบนีโญ อากีโน โดยจัดทำแพกเกจในลักษณะที่มุ่งหลบเลี่ยงการถูกตรวจสอบทบทวนจากรัฐสภานั้น ในอีกด้านหนึ่งมันก็ย่อมหมายความด้วยว่าการบังคับใช้การปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร –ซึ่งหมายถึงประธานาธิบดีฟิลิปปินส์นั่นเอง-- รวมทั้งเจตนารมณ์ความพรักพร้อมของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่จะจัดสรรเงินงบประมาณให้แก่การปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับนี้ ถ้าหากดูเตอร์เตข่มขู่คุกคามที่จะสร้างความปั่นป่วนให้แก่ข้อตกลง EDCA –พูดง่ายๆ คือสร้างความปั่นป่วนให้แก่ยุทธศาสตร์การปักหมุดหวนกลับคืนให้ความสำคัญแก่เอเชียของสหรัฐฯ –มันก็อาจถึงเวลาแล้วที่จะต้องปลดปล่อยให้อิสระแก่ส่วนประกอบต่างๆ ที่เป็นพวกโปรอเมริกันในมะนิลา เพื่อเดินหน้าผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เมื่อถึงเวลาที่จะต้องวาดภาพให้เห็นว่า ดูเตอร์เตเป็นวายร้ายอันธพาลที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และขาดไร้ความสามารถในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ตลอดจนขาดไร้คุณสมบัติที่จะนำพาฟิลิปปินส์ในการต่อสู้คัดค้านความก้าวร้าวยืนกรานของจีนแล้ว ผมก็มีความแน่ใจเป็นอย่างยิ่งว่าพวกสื่อมวลชนทั้งหลายพร้อมจะก้าวเข้ามากระทำบทบาทของพวกเขาเป็นอย่างดี

อันที่จริงแล้ว มันก็กำลังปรากฏออกมาให้เห็นกันแล้วด้วยซ้ำไป (ดูรายละเอียดได้ที่รายงานชิ้นนี้ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น http://edition.cnn.com/2016/09/06/politics/rodrigo-duterte-obama-laos-meeting/)

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ สามารถอ่านบทความของเขาได้ที่เว็บบล็อกของเขาชื่อ China Matters (http://chinamatters.blogspot.com/)

หมายเหตุผู้แปล

[1] เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของจักรวรรดินิยมอเมริกันที่ดำเนินการปราบปรามชาวโมโรในภาคใต้ฟิลิปปินส์อย่างโหดเหี้ยมป่าเถื่อน รวมทั้งความตระหนักสำนึกต่ออดีตเหล่านี้ของประธานาธิบดีดูเตอร์เต นี้ ปีเตอร์ ลี ได้เคยเขียนเอาไว้ในอย่างยาวเหยียดในเว็บบล็อก China Matters ของเขาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2016 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Mindanao, Duterte, and the Real History of the Philippines (มินดาเนา, ดูเตอร์เต, และประวัติศาสตร์ตามความเป็นจริงของฟิลิปปินส์) (ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://chinamatters.blogspot.com/2016/05/mindanao-duterte-and-real-history-of.html) จึงขอเก็บความบางส่วนของข้อเขียนนี้มานำเสนอในที่นี้:

มินดาเนา, ดูเตอร์เต, และประวัติศาสตร์ตามความเป็นจริงของฟิลิปปินส์
23/05/2016

Mindanao, Duterte, and the Real History of the Philippines
Monday, May 23, 2016

รัฐบาลสหรัฐฯและชนชั้นนำแห่งมะนิลาต่างให้ความสนใจอย่างมากมายเหลือเกินในการกระพือกระแสการเผชิญหน้าทางนาวีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ขณะเดียวกันนั้นก็จะใช้ท่าที “เรื่องมันแล้วไปแล้ว” ต่อการที่สหรัฐฯเข้าไปแทรกแซงอย่างล้ำลึกในระบบการเมืองและระบบความมั่นคงของฟิลิปปินส์ การแทรกแซงที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนี้ทั้งนองเลือด, เต็มไปด้วยความทุจริตเลวร้าย, และยังคงต่อเนื่องมาจนถึงเวลานี้ (โดยที่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้ชนชั้นนำของฟิลิปปินส์บางคนมีอำนาจขึ้นมาและร่ำรวยมั่งคั่งขึ้นมา)

ดูเตอร์เตคือผู้ที่สร้างความปั่นป่วนรวนเรให้แก่บทสคริปต์นี้ เพราะอาชีพทางการเมืองของเขาเจริญเติบโตขึ้นมาบนเกาะมินดาเนา เกาะใหญ่ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และเขาก็มีความคุ้นเคยกับปลายหอกอันเส็งเคร็งที่คอยแต่จะทิ่มแทง ของกองทหารสหรัฐฯมาเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้ว

ผมเคยเขียนเอาไว้แล้วเรื่องที่ดูเตอร์เตมีประสบการณ์ตรงอันไม่น่าพึงพอใจเกี่ยวกับละครตบตาลวงโลกด้านข่าวกรองการทหารของสหรัฐฯ ในกรณีของ ไมเคิล เมริ่ง (Michael Meiring) จารชนนักทำระเบิดของสหรัฐฯ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://atimes.com/2016/05/meiring-murder-subversion-and-treason-dutertes-beef-with-us/)

ผมยังโพสต์ข้อเขียนชิ้นยาวลงในบล็อก “China Matters” นี้ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://chinamatters.blogspot.com/2016/05/duterte-victory-reminds-us-that.html) เพื่อถกเถียงอภิปรายถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เมริ่งเป็นเพียงกรณีหนึ่งใน “โครงกระดูกในตู้” ทั้งเก่าและปัจจุบันอีกมากมาย ซึ่งพร้อมที่จะส่งเสียงลั่นเลื่อนเกรียวกราวออกมาจากตู้ ถ้าหากดูเตอร์เตหันเหวาทกรรมทางการเมืองจากเรื่อง “สหรัฐฯจับมือฟิลิปปินส์เคียงบ่าเคียงไหล่กันต่อต้านปักกิ่งในทะเลจีนใต้!” มาเป็นการสำรวจตรวจสอบเรื่องราวเยอะแยะที่สหรัฐฯเข้าไปยุ่งวุ่นวายในฟิลิปปินส์ ในนามของความมั่นคง, การต่อต้านปราบปรามการก่อกบฏ, และการต่อต้านการก่อการร้าย ตลอดช่วงระยะเวลา 115 ปีที่ผ่านมา

...

ท้องถิ่นที่เป็นฐานทางการเมืองของดูเตอร์เต อยู่บนเกาะมินดาเนา ซึ่งประชากรราวๆ 20% เป็นชาวมุสลิม เขาเป็นนายกเทศมนตรีของนครดาเวา ซึ่งมีประชากร 1.4 ล้านคน จึงมีฐานะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของมินดาเนา และใหญ่เป็นอันดับ 4 ของทั่วทั้งฟิลิปปินส์

มินดาเนามีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องพัวพันกับสหรัฐฯอย่างมากมาย เป็นประวัติศาสตร์อันเลวร้ายและนองเลือด และเป็นประวัติศาสตร์ที่ส่งอิทธิพลหล่อหลอมทัศนคติที่ดูเตอร์เตมีต่อสหรัฐฯ

ในหลายๆ แง่มุมแล้ว มินดาเนาคือสถานที่ซึ่งนำเสนอคำบรรยายที่แตกต่างออกไปจากคำบอกเล่าพรรณนาของพวกชนชั้นนำฟิลิปปินส์ในยุคหลังพ้นจากสภาพอาณานิคม ชนชั้นนำเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก และก็เป็นผู้ครอบงำวาทกรรมทางการเมืองของฟิลิปปินส์มาช้านาน

กระบวนการแห่งการที่สเปนเข้าพิชิตปราบปรามฟิลิปปินส์นั้น อย่างหนึ่งที่พวกเขานำมาใช้คือการบังคับให้เปลี่ยนมาเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนในดินแดนอาณาจักรสุลต่านมุสลิมต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยตั้งเรียงรายกันเป็นสายยาว ตั้งแต่ช่องแคบมะละกาขึ้นไปจนถึงพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงมะนิลาแห่งยุคสมัยใหม่

ทว่า มินดาเนา ซึ่งเวลานั้นอยู่ใต้การปกครองของสุลต่านแห่งซูลู (Sultan of Sulu) พิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าดื้อดึงหัวแข็งกว่านักหนา

ผมมีความเห็นว่าการต่อสู้ดิ้นรนของมินดาเนาจากการถูกบังคับปราบปรามอย่างต่อเนื่อง แรกทีเดียวโดยฝีมือของพวกสเปน ถัดมาก็เป็นอเมริกัน และเวลานี้โดยรัฐบาลกลางในมะนิลานั้น ควรต้องถือเป็นการก่อกบฎแข็งข้อครั้งที่ครอบคลุมระยะเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลกทีเดียว โดยกินเวลาไปถึงประมาณ 400 ปี บ่อยครั้งที่การต่อต้านมักมีส่วนประกอบซึ่งเป็นคนจีนเข้าไปมีบทบาทอันสำคัญอยู่ด้วย ผมขอแนะนำอย่างหนักแน่นเลยให้ผู้ที่สนใจไปอ่านเรื่อง “Spanisn-Moro Conflict” (สงครามความขัดแย้งสเปน-โมโร) ซึ่งโพสต์อยู่ใน Wikipedia (https://en.wikipedia.org/wiki/Spanish%E2%80%93Moro_conflict#cite_note-1 https://en.wikipedia.org/wiki/Spanish%E2%80%93Moro_conflict#cite_note-1)

ครั้นอเมริกันมีชัยชนะในการทำสงครามกับสเปนเมื่อปี 1898 ฟิลิปปินส์ก็กลายเป็นขั้นหนึ่งของบันไดหิน ซึ่งอเมริกันจะใช้ในการก้าวขึ้นเป็นจักรวรรดิ ...

และรอยเท้าของอเมริกันก็ประทับเอาไว้อย่างหนักแน่นที่สุดในมินดาเนา ซึ่งทำการต้านทานสหรัฐฯอย่างขมขื่นใน “สงครามโมโรปี 1898-1902” (Moro War of 1898-1902) (ประธานาธิบดีรูสเวลต์ประกาศว่า “ภารกิจบรรลุเสร็จสิ้นแล้ว” ในปี 1902 ทว่าความไม่สงบและการสังหารหมู่ยังคงดำเนินต่อไปอีกนานหลังจากเวลาดังกล่าว)

...

หนึ่งในการสังหารหมู่ซึ่งมีชื่อเหม็นโฉ่ที่สุด ได้แก่ครั้งที่เรียกกันว่า “สงครามแห่งบัด ดาโจ ครั้งแรก” (First Battle of Bud Dajo) หรือเป็นที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อว่า “การสังหารหมู่ที่ปล่องภูเขาไฟโมโร” (Moro Crater Massacre) ในปี 1906 โดยที่กองทหารสหรัฐฯซึ่งไล่ติดตาม “พวกนอกรีต” ชาวโมโรบนเกาะซูลู ได้ต้อนพวกเขาเข้าไปจนมุมในชุมชนแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในปล่องภูเขาไฟที่สงบเงียบไปนานมากแล้วของภูเขาไฟบัด ดาโจ กองทหารอเมริกันดึงลากเอาพวกปืนใหญ่กองทัพเรือ และปืนกลมาตั้งประจำอยู่ตรงบริเวณขอบปากปล่อง จากนั้นก็สาดกระสุนเข้าใส่แบบไม่มีบันยะบันยัง เข่นฆ่าสังหารทั้งชาย, หญิง, และเด็กไปในระหว่าง 800 ถึง 1,000 คน ตามรายงานข่าวระบุว่ามีชาวโมโรรอดชีวิตมาได้เพียง 6 คน ส่วนทหารอเมริกันตายไป 15 คน

...

ถึงแม้เห็นกันว่าสงครามโมโรได้สิ้นสุดลงเมื่อถึงปี 1913 แต่ความไม่สงบที่ยังดำเนินอยู่ก็สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนให้แก่ภูมิภาคแถบนี้ในตลอดทั่วทั้งช่วงแห่งการตกเป็นอาณานิคมของสหรัฐฯ, การถูกญี่ปุ่นเข้ายึดครอง, และกระทั่งหลังจากฟิลิปปินส์ได้รับเอกราช

...

พูดกันจริงๆ แล้ว มินดาเนาดูมีลักษณะเหมือนกับมาเลเซียมากกว่าฟิลิปปินส์เสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมือนกับรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย ซึ่งอยู่คนละฟากช่องแคบกับมินดาเนา “บังซาโมโร” (Bangsamoro) เป็นคำที่พวกต่อสู้เรียกร้องการปกครองตนเอง/เอกราชของชาวมุสลิม ใช้เรียกผู้คนในดินแดนแถบนี้ “บังซา” เป็นคำในภาษามาเลย์ แปลว่า “คน” ดังนั้น “บังซาโมโร” ก็คือ “คนโมโร”

...

น่าสนใจมากว่า “โมโร” นั้น อันที่จริงเป็นคำเรียกชาติพันธุ์หลายๆ ชาติพันธุ์รวมกัน โดยเป็นคำที่เพิ่งประดิษฐ์สังเคราะห์กันขึ้นมาค่อนข้างใหม่ทีเดียว

เมื่อตอนที่พวกสเปนก่อตั้งอาณานิคมของพวกเขาขึ้นในฟิลิปปินส์นั้น พวกเขาเรียกบรรดาปรปักษ์ของพวกเขาซึ่งต่อต้านไม่ยอมเปลี่ยนศาสนามาเป็นคาทอลิกว่าพวกมัวร์ (Moor)

ไม่ใช่เนื่องจากคนเหล่านั้นผิวคล้ำหรอก แต่เป็นเพราะคนเหล่านั้นเป็นมุสลิม ทำนองเดียวกับชาวอาหรับแอฟริกาเหนือ ซึ่งเข้ามาครอบครองคาบสมุทรไอบีเรีย (Iberian peninsula) และทางกองทัพต่างๆ ของชาวสเปนเพิ่งสามารถรบชนะคนเหล่านี้ได้ไม่นานก่อนหน้านั้น

...

ภายในบริบทดังที่กล่าวมานี้ ขอให้เราหวนกลับมามองที่โรดริโก ดูเตอร์เต กันอีกครั้งหนึ่ง

ดูเตอร์เตนั้นไม่ได้เป็นคนพื้นเมืองของเกาะมินดาเนา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ อันที่จริงแล้วครอบครัวของเขาอพยพมาจากกลุ่มเกาะทางตอนกลางของฟิลิปปินส์ ที่เรียกกันว่าหมู่เกาะวิสายาส์ (Visayas) ทั้งนี้มีชาวคริสต์จากหมู่เกาะวิสายาส์และภูมิภาคอื่นๆ ถูกสหรัฐฯ (ซึ่งปกครองฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมอยู่ในเวลานั้น) และรัฐบาลฟิลิปปินส์ ระดมให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในมินดาเนา โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่จะเอาประชากรจากที่อื่นๆ เข้ามาจนมีจำนวนท่วมท้นล้นเกินชาวโมโร, มีการนำเอาที่ดินชั้นเยี่ยมและทรัพยากรชั้นดีต่างๆ มาแบ่งปันแจกจ่ายแก่พวกตั้งถิ่นฐานใหม่ตลอดจนบริษัทต่างๆ, และทำให้ชาวโมโรมีความสำคัญลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางการเมือง, รวมทั้งทำให้การต่อต้านของชาวโมโรกลายเป็นอาชญากรรม ซึ่งผู้สังเกตการณ์ทั้งหลายคงจะรู้สึกคุ้นเคยว่าคล้ายคลึงกับยุทธวิธีที่ใช้กันอยู่ในทิเบต, ซินเจียง, และปาเลสไตน์ นั่นเอง

มันดูเหมือนได้ผลทีเดียวจนถึงจุดที่ว่า ชาวโมโรน่าจะมีจำนวนเท่ากับเพียงแค่ 17% ของประชากรในมินดาเนาทุกวันนี้ ลดลงฮวบฮาบจากที่เคยเท่ากับ 90% ในปี 1900

มีรายงานข่าวกึ่งๆ บทความสรรเสริญยอเกียรติสั้นๆ ชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ออกมาตั้งแต่เมื่อปี 2015 (ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=10153078787571018&id=341533621017) ที่มีประโยชน์มากทีเดียว ในแง่ของการให้ทัศนะมุมมองของดูเตอร์เต ตลอดจนความมุ่งมั่นใส่ใจของเขาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องมินดาเนา/ความมั่นคง ซึ่งอยู่นอกเหนือการใส่ร้ายป้ายสีว่าเขาเป็น “ตัวตลกจอมฆาตกร” ที่ปรากฏอยู่ในสื่อตะวันตก ผมจึงจะขอคัดลอกนำมาเสนอในที่นี้กันอย่างยาวๆ เลย เพราะผมไม่คิดว่าคุณจะได้มีโอกาสอ่านทัศนะมุมมองแบบนี้อะไรนักจากสื่อมวลชนตะวันตก

รายงานข่าวกึ่งบทความยอเกียรติชิ้นนี้ มีเนื้อหาสำคัญดังนี้:

ในฐานะผู้นำของเมืองใหญ่ซึ่งมีส่วนต้องแบกรับความเจ็บปวดจากความรุนแรงและการก่อการร้ายอันเชื่อกันว่าเป็นฝีมือการกระทำชั่วช้าของพวกสุดโต่งอิสลามิสต์ โดยที่มีผู้ถูกเข่นฆ่าไปรวม 45 คนทีเดียวในเหตุการณ์โจมตีด้วยระเบิด 3 ครั้งในปี 1993 ถึง 2003 แต่กระนั้น โรดี้ ดูเตอร์เต นายกเทศมนตรีนครดาเวา ก็ยังคงมีความหวังว่า การตกลงรอมชอมกันโดยผ่านการเจรจาจะสามารถยุติสงครามความขัดแย้งในภาคใต้ฟิลิปปินส์ที่ยืนยาวยืดเยื้อมาหลายชั่วอายุคนแล้ว

“ถ้าหากจะมีใครซึ่งปรารถนาจะให้ปัญหานองเลือดนี้ยุติลงในเร็ววันแล้ว มันก็ต้องเป็นผมนี่แหละ เนื่องจากผมเป็นทั้งชาวโมโรและชาวคริสต์” ดูเตอร์เตกล่าว

“ผมรู้สึกได้ผมรับรู้สัมผัสได้ถึงความหวาดกลัวของชาวคริสต์ และผมก็มีส่วนร่วมอยู่ในความฝันต่างๆ ของประชาชนชาวโมโร ผู้ซึ่งรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกแย่งยึดถูกพลัดพรากจากที่ดินของพวกเขาและจากอัตลักษณ์ของพวกเขา” นายกเทศมนตรีผู้นี้บอก

ดูเตอร์เตกล่าวยอมรับอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกว่า คุณยายของเขานั้นเป็นคนเชื้อสายโมโร

“ส่วนหนึ่งของตัวผมนั้นเป็นชาวโมโร” เขากล่าว

ความผูกพันที่ดูเตอร์เตมีอยู่กับชาวมุสลิมแห่งภาคใต้ ยังยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้นไปอีก เนื่องจาก เปาโล (Paolo) บุตรชายคนหัวปีของเขา ซึ่งเวลานี้ยังดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกเทศมนตรีนครดาเวาด้วยนั้น ได้หันไปนับถือศาสนาอิสลามเมื่อตอนที่เขาแต่งงานกับหญิงสาวชาวเทาซุก (Tausug) ซึ่งเป็นมุสลิม

“ผมมีหลานปู่หลานตาทั้งที่เป็นมุสลิมและที่เป็นคริสต์ แล้วผมจะอยากเห็นสถานการณ์ในอนาคตที่แม้กระทั่งหลานปู่หลานตาของผมเองจะถูกลากดึงเข้าไปในสงครามความขัดแย้งนี้หรือ?” เขาตั้งคำถาม

...

ภายหลังเกิดเหตุระเบิดเหล่านี้ขึ้นมา รัฐบาลแห่งชาติในกรุงมะนิลาก็ได้อนุมัติตามข้อเสนอแนะของทางนคร ที่จะจัดตั้งกองกำลังที่ใช้ชื่อว่า “หน่วยเฉพาะกิจดาเวา” (Task Force Davao) โดยเป็นกลุ่มที่มีส่วนประกอบแบบกองทหาร คอยทำหน้าที่จัดตั้งด่านตรวจต่างๆ ขึ้นมาทั่วทั้งนคร เพื่อควบคุมไม่ให้มีการนำวัตถุระเบิดและปืนเข้ามาในเมือง

เมื่อดูเตอร์เตออกคำสั่งว่า ต่อจากนี้ไป ทางนครดาเวาจะไม่ยินยอมให้นำเอาอาวุธปืนอานุภาพร้ายแรงทั้งหลายเข้ามาในเมือง โดยที่ปกติแล้ว พวกองครักษ์อารักขาเหล่านักการเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจากจังหวัดโคตาบาโต (Cotabato) และจังหวัดมากีนดาเนา (Maguindanao) นั่นแหละเป็นพวกที่พกพานำปืนเหล่านี้เข้ามา ปรากฏว่าทุกๆ คนต่างเชื่อฟังยอมปฏิบัติตามโดยดี

“นครแห่งนี้เปิดกว้างต้อนรับทุกๆ คนโดยไม่คำนึงว่าเป็นเผ่าอะไรหรือนับถือศาสนาไหน ตราบใดก็ตามที่พวกคุณยังทำตามกฎหมายอยู่” ดูเตอร์เตเคยประกาศออกมาเช่นนี้ เมื่อตอนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปรากฏตัวในเมืองดาเวาของพวกสมาชิกทั้งของกลุ่ม “แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร” (Moro National Liberation Front หรือ MNLF) และกลุ่ม “แนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front หรือ MILF)

นูร์ มิซูอารี (Nur Misuari) ประธานของกลุ่ม MNLF มีภรรยาคนหนึ่งซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในนครดาเวา

พวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของกลุ่ม MILF ก็เป็นที่เชื่อกันว่ามีบ้านอยู่ในนครดาเวา โดยใช้เป็นที่พักอาศัยของลูกๆ หลานๆ ของพวกเขาขณะมาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเมืองนี้

ด้วยเหตุนี้ ดาเวาจึงกลายเป็นแบบอย่างของ “เมืองสันติ” แบบหนึ่งในทุกวันนี้ โดยที่มีพวกสมาชิกของกลุ่มต่างๆ ที่ทำการสู้รบกันอยู่ ไมว่าจะเป็น กบฏโมโร, สมาชิกกองทัพประชาชนใหม่ (New People's Army หรือ NPA) อันเป็นกองกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์, ตำรวจ, และทหาร ต่างพำนักใช้ชีวิตและเคารพปฏิบัติตามกฎกติกาอันเข้มงวดของเมืองภายใต้การนำของ โรดี้ ดูเตอร์เต

นอกจากนั้น เมืองนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน “นครที่มีความปลอดภัยมากที่สุดในโลกในการเข้าพำนักอาศัย” (one of the Safest Cities in the World to Live In)

พวกนักธุรกิจชาวมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมาราเนา (Maranao) สาบานว่าพวกเขาไม่เคยถูกรบกวนรังควาญอะไรทั้งสิ้นขณะอยู่ในนครดาเวาเพื่อค้าขายสินค้าต่างๆ ของพวกเขา แตกต่างจากที่แห่งอื่นๆ ในฟิลิปปินส์ซึ่งพวกเขามักตกเป็นเหยื่อสุดโปรดของพวกตำรวจทุจริตคอร์รัปชั่น โดยพวกนั้นจะคอยเรียกร้องเอาค่าปรับค่าน้ำร้อนน้ำชา จากรายได้อันน้อยนิดของพวกเขา

ทว่าความใฝ่ฝันของดูเตอร์เตในเรื่องสันติภาพนั้น มีขอบเขตกว้างไกลเกินกว่าเส้นเขตแดนของนครของเขาเท่านั้น

“ตราบใดที่ความเข้าใจผิดกันความไม่เข้าใจกันระหว่างรัฐบาลกับชาวโมโรกลุ่มต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปแล้ว เราก็จะต้องอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพเรื่อยไป” เขากล่าว

ดูเตอร์เตมีความตระหนักเป็นอย่างดีว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขกันได้ง่ายๆ

เขาบอกว่าการที่ประชาชนชาวโมโรถูกเข้าใจผิดนั้น ส่วนใหญ่เนื่องมาจากพวกเขาเคารพนับถือศาสนาซึ่งไม่เป็นที่รู้จักของชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากในภูมิภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศ

ในอีกด้านหนึ่ง อารมณ์ความรู้สึกที่ว่าพวกเขาไม่ได้ร่วมส่วนอยู่ในสังคมชาวฟิลิปปินส์คริสต์ซึ่งเป็นประชากรส่วนมากของประเทศ และอารมณ์ความรู้สึกที่ว่าพวกเขาไม่เคยได้รับความสำคัญอะไรจากรัฐบาลกลางในเรื่องการกำหนดจัดทำนโยบายระดับชาติและการตัดสินใจนโยบายระดับชาติ ก็กระตุ้นให้ชาวมุสลิมในภาคใต้ดิ้นรนต่อสู้เรียกร้องเอกราชและสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองเรื่อยมา

“อันตรายของสภาวการณ์เช่นนี้ก็คือ ถ้าหากประเด็นปัญหาอันชอบธรรมเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลายแล้ว มันก็จะเกิดภาพสถานการณ์อันเลวร้ายที่ชาวโมโรรุ่นหนุ่มสาวกำลังเอนเอียงหันเห กำลังถูกดึงดูดจากพวกองค์การอิสลามิสต์หัวรุนแรงต่างๆ” ดูเตอร์เตชี้

“ผมจะเป็นคนสุดท้ายที่จะยินยอมเห็นชอบกับการแบ่งแยกประเทศชาติแห่งนี้ออกเป็นเสี่ยงๆ ” ครั้งหนึ่งเขาเคยประกาศเอาไว้เช่นนี้

ดูเตอร์เตยืนยันว่า ขณะที่เขาเข้าใจถึงอารมณ์ความโกรธเกรี้ยวของชาวบังซาโมโร (Bangsamoro) เมื่อถูกเรียกขานว่าเป็นชาวฟิลิปปินส์ สืบเนื่องจากความเชื่อที่ว่า นาม “ฟิลิปปินส์” เป็นชื่อที่สเปนบังคับนำเอามาเรียกพวกเขา แต่กระนั้นเขาก็เชื่อว่าทั้งชาวคริสต์และชาวมุสลิมในประเทศนี้ต่างก็เป็นคนชาติพันธุ์หนึ่งเดียวกัน

“เราสามารถเรียกตัวเราเองด้วยชื่ออื่นๆ อะไรก็ได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าเราเป็นพี่น้องกันก็จะดำรงคงอยู่เสมอเรื่อยไป” เขากล่าว

...

เขาบอกอีกว่า ขณะที่คณะผู้เจรจาสันติภาพของฟิลิปปินส์มีเจตนารมณ์อันทรงเกียรติสูงส่งที่จะหาทางบรรลุสันติภาพกับกลุ่ม MILF ในภาคใต้ฟิลิปปินส์ ทว่าพวกเขาก็ล้มเหลวไม่ได้พิจารณาถึงความเป็นจริงทางวัฒนธรรมบางประการเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ต่างๆ ของชาวโมโรในภาคใต้

“ชาวโมโรที่อยู่ตามหมู่เกาะของภาคใต้ มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจนจากชาวมากีนดาเนา, ชาวมาราเนา, และชาวอิรานุน (Iranun) ของแผ่นดินใหญ่มินดาเนา การเสนอหนทางแก้ไขแบบกว้างๆ เป็นการทั่วไป เพื่อคลี่คลายปัญหาและความกังวลเฉพาะอย่างต่างๆ ของพวกเขานั้น อาจจะไม่ได้ผลใช้การไม่ได้เอาเลย” ดูเตอร์เต อธิบาย

ชาวเทาซุก ไม่มีทางที่จะรู้สึกสบายอกสบายใจเลยในการที่ต้องอยู่ภายใต้คณะผู้นำซึ่งเป็นชาวมากีนดาเนา หรือชาวมาราเนา แล้วถ้าสถานการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม มันก็จะเป็นความจริงเช่นเดียวกัน ดูเตอร์เตอธิบายต่อไปว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความล้มเหลวของการจัดตั้ง “ภูมิภาคปกครองตนเองในมินดาเนามุสลิม” (Autonomous Region in Muslim Mindanao ใช้อักษรย่อว่า ARMM) ขึ้นมา ซึ่งตอนแรกสุดเลยมี มิซูอารี ผู้นำของกลุ่ม MNLF เป็นผู้ว่าการของภูมิภาคปกครองตนเองนี้ด้วยซ้ำ

ดูเตอร์เตยังกล่าวด้วยว่า ขณะที่เขาวาดหวังว่าร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (Bangsamoro Basic Law ใช้อักษรย่อว่า BBL) จะสามารถผ่านรัฐสภาออกมาประกาศใช้ได้ แต่สัญชาตญาณนักกฎหมายของตัวเขาก็บอกกับเขาว่า กฎหมายฉบับนี้คงจะถูกยื่นฟ้องร้องให้ศาลสูงสุดตีความ เนื่องจากมีบางแง่มุมอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ

มันจะเป็นเรื่องลำบากทีเดียวที่จะสร้างความรอมชอมระหว่างรัฐบาลเขตปกครองตนเองที่อิงตามระบบรัฐสภา กับรัฐบาลส่วนกลางที่เป็นระบบประธานาธิบดี เขาชี้

ดูเตอร์เต ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์จาก ซาน เบดา (San Beda) เสนอว่าควรต้องมีแผนสำรองเตรียมเอาไว้ ถ้าหากร่างกฎหมาย BBL ล้มเหลวถูกวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ

“เราไม่สามารถแบกรับไหวหรอก ถ้าหากเรื่องนี้ล้มเหลวลงไป” เขากล่าว พร้อมกับแนะว่า การเปลี่ยนฟิลิปปินส์ที่มีฐานะเป็นรัฐเดี่ยว ให้กลายเป็นสหพันธรัฐ โดยที่ทางภาคใต้นั้นให้จัดตั้งเป็นรัฐของสหพันธ์ขึ้นมา 2 รัฐ น่าจะเป็นหนทางแก้ไขที่ดีเยี่ยมที่สุด

ฟิลิปปินส์ที่เป็นสหพันธรัฐและมีรูปแบบรัฐบาลในระบบรัฐสภา ไม่เพียงจะสามารถรับใช้ผลประโยชน์ของภูมิภาคต่างๆ ของประเทศชาติที่ถูกละเลยทอดทิ้งมายาวนานเท่านั้น แต่ยังจะสามารถโอบอุ้มตอบสนองความปรารถนาต่างๆ ของชาวบังซาโมโรทางภาคใต้ได้ด้วย

รัฐสหพันธ์ 2 รัฐในภาคใต้ที่ดูเตอร์เตเสนอนั้น รัฐหนึ่งจะครอบคลุมชาวมากีนดาเนา, ชาวมาราเนา, ชาวอิรานุน, และชาวโมโรเผ่าอื่นๆ ของเกาะใหญ่มินดาเนา ส่วนอีกรัฐหนึ่งจะครอบคลุมชาวเทาซุก, ซามา (Sama), ยาคาน (Yakan), และชาวเผ่าที่อยู่ตามเกาะอื่นๆ นี่แหละจึงจะสามารถรับมือกับประเด็นปัญหาทางวัฒนธรรมได้

ดูเตอร์เตบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้มันหวนกลับไปเป็นอย่างเดิมได้แล้ว ทว่าก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความปรองดองภายในชาติขึ้นมา

“ทั้งหมดทั้งสิ้นที่เราสามารถทำให้แก่พี่น้องชาวมุสลิมของเราได้ในเวลานี้ ก็คือการให้สิ่งที่ติดค้างพวกเขาอยู่แก่พวกเขา ซึ่งก็รวมถึงการเคารพในอัตลักษณ์พิเศษเฉพาะของพวกเขา และการเคารพในการเรียกร้องของพวกเขาต่อสิ่งซึ่งเป็นของพวกเขาอย่างถูกต้องชอบธรรม” เขากล่าว




เกี่ยวกับเรื่องที่ชาวโมโรรังเกียจคำว่า “ชาวฟิลิปปินส์” นั้น ผมต้องขอบอกว่า ผมก็รู้สึกมันเป็นเรื่องพิลึกพิลั่นอักโขอยู่หรอก ในการที่ชาติเอเชียชาติหนึ่งยังคงตัดสินใจที่จะนำเอาพระนามของพระเจ้าฟิลิป ที่ 2 (Philip II) แห่งสเปน มาเป็นชื่อประเทศของตนเองต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผมมองด้วยว่า การนำเอาชื่อ “อเมริกา” มาใช้ ตามชื่อของกลาสีเรือชาวอิตาเลียนคนหนึ่งนั้น ก็เป็นเรื่องพิลึกพิลั่นพอๆ กันนั่นแหละ

...

[2] วิธีทรมาน “วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” (Waterboarding) เป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมานด้วยน้ำ

หนังสือพิมพ์คมชัดลึกรายงานในปี 2013 อ้างคำอธิบายของ ดร.พญ.ปานใจ โวหารดี เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ว่า "วอเตอร์บอร์ดดิ้ง" เป็นหนึ่งในวิธีการทรมานโดยทำให้ขาดอากาศหายใจ (Asphyxiation) เหยื่อจะตกอยู่ในภาวะใกล้ขาดออกซิเจน นิยมใช้ไม้แผ่นหรือโต๊ะมาขึงยึดเหยื่อในท่านอนหงายแล้วใช้ผ้าหรือพลาสติกวาง ทับบนหน้าหรือยัดปากไว้ จากนั้นราดน้ำลงบนศีรษะหรือใบหน้า ผู้ถูกทรมานจะมีความรู้สึกขาดอากาศเหมือนจมน้ำ หลังจากทำไปไม่กี่ครั้งก็สารภาพออกมา

"วิธีนี้อันตรายมาก เพราะเหยื่อจะตื่นตระหนกรู้สึกเหมือนใกล้ตายจริงๆ หายใจได้ 2-3 เฮือกก็สารภาพบางอย่างออกมาเพื่อให้คนทำหยุด ซึ่งข้อมูลที่พูดออกมาอาจไม่ใช่ความจริงก็ได้ หรือมีการหาแพะมารับบาปแทนตัวเอง การโกหกเกิดขึ้นเสมอเพราะเหยื่อต้องการให้หยุดทำเท่านั้น วิธีนี้ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง ส่วนใหญ่หลังจากโดนวอเตอร์บอร์ดดิ้ง เหยื่อจะเกิดความบอบช้ำทางจิตใจอีกหลายปี บางคนเกิดภาพหลอนทรมานไปตลอดชีวิต" ดร.พญ.ปานใจกล่าว

[3]ข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือทางกลาโหม (Enhanced Defense Cooperation Agreement หรือ EDCA) เป็นข้อตกลงที่ทำกันระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ ด้วยเจตนารมณ์ที่จะค้ำจุนสนับสนุนความเป็นพันธมิตรกันระหว่างประเทศทั้งสอง ข้อตกลง EDCA อนุญาตให้สหรัฐฯหมุนเวียนกำลังทหารเข้ามาในฟิลิปปินส์ โดยจะสามารถประจำอยู่ได้ยาวนานกว่าปกติของการเยือนของกองทหาร รวมทั้งยังอนุญาตให้สหรัฐฯสร้างและดำเนินการสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในฐานทัพของฟิลิปปินส์ เพื่อประโยชน์ของกองทัพอเมริกันและกองทัพฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งฐานทัพถาวรใดๆ และต้องไม่นำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามา รวมทั้งสหรัฐฯจะต้องให้บุคลากรของฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงเรือและเครื่องบิน ของฝ่ายอเมริกันอีกด้วย

ข้อตกลง EDCA นี้ ถือเป็นข้อตกลงเพิ่มเติมจาก “ข้อตกลงการเยือนของกองทหาร” (Visiting Forces Agreement) ซึ่งได้เคยทำกันไว้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ข้อตกลง EDCA ลงนามโดยรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ วอลแตร์ กัซมิน และเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำฟิลิปปินส์ ฟิลิป โกลด์เบิร์ก (Philip Goldberg) ในกรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2014 ภายหลังการลงนาม ฝ่ายที่คัดค้านได้พยายามทำให้เป็นโมฆะ ด้วยการฟ้องร้องต่อศาลโดยระบุว่าขัดรัฐธรรมนูญ ทว่าในวันที่ 12 มกราคม 2016 ศาลสูงสุดฟิลิปปินส์ตัดสินด้วยคะแนน 10 ต่อ 4 ยืนยันว่าข้อตกลงนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานข่าวโดยอ้างคำพูดของ อีแวน เมเดรอส (Evan Medeiros) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชียของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวว่า “นี่ (ข้อตกลง EDCA) เป็นข้อตกลงด้านกลาโหมฉบับสำคัญที่สุดซึ่งเราสามารถตกลงจัดทำกับฟิลิปปินส์ ได้ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา”

ในเดือนเมษายน 2015 รัฐบาลสหรัฐฯได้อาศัยกรอบของข้อตกลง EDCA เสนอขอเข้าถึงฐานทัพเป็นจำนวน 8 แห่งในฟิลิปปินส์

ในวันที่ 19 มีนาคม 2016 รัฐบาลฟิลิปปินส์และรัฐบาลสหรัฐฯ ตกลงเห็นพ้องกันในเรื่องที่ตั้งของฐานทัพฟิลิปปินส์จำนวน 5 แห่ง ซึ่งจะให้ทหารอเมริกันหมุนเวียนเข้าไปประจำตามข้อตกลง EDCA

(ข้อมูลจาก Wikipedia)

กำลังโหลดความคิดเห็น