เอเอฟพี - ฟิลิปปินส์รื้อฟื้นการเจรจากับกบฏมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศในวันนี้ (13) การเจรจาครั้งแรกภายใต้ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยุติความรุนแรงนานหลายทศวรรษที่คร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นคน
คณะผู้แทนเจรจาของทั้งสองฝั่ง กล่าวว่า การเจรจาในช่วงสุดสัปดาห์นี้ในมาเลเซียจะหารือกันเกี่ยวกับรายละเอียดของโรดแมปสันติภาพของดูเตอร์เต
“พวกเขาจะหารือกันเรื่องโรดแมปดังกล่าว เพื่อทำให้บางประเด็นกระจ่างชัด แต่ขอผมเตือนทุกคนก่อนว่ามันไม่ใช่งานง่าย ๆ มันซับซ้อนอย่างมาก” เฆซุส ดูเรซา ที่ปรึกษาด้านกระบวนการสันติภาพของประธานาธิบดี บอกกับรอยเตอร์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
กลุ่มแนวหน้าปลดแอกอิสลามโมโร (MILF) ซึ่งมีกำลังคน 12,000 คน ก่อการกบฏนองเลือกในภาคใต้ของแดนตากาล็อกที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 แต่สนธิสัญญาที่ถูกลงนามเมื่อปี 2014 ได้ก่อให้เกิดความหวังว่าจะมีสันติภาพที่ยั่งยืน
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว กบฏกลุ่มนี้จะวางอาวุธลงก็ต่อเมื่อหลังจากที่มีการผ่านกฎหมายกำหนดพื้นที่ปกครองตนเองในมินดาเนา และรัฐบาลส่วนภูมิภาคได้รับเลือกตั้ง
การเลือกตั้งดังกล่าวถูกวางแผนให้มีขึ้นพร้อมกับการเลือกทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2016
อย่างไรก็ตาม การบุกจู่โจมพื้นที่ของกลุ่ม MILF อย่างผิดพลาดที่ทำให้ตำรวจคอมมานโดเสียชีวิต 44 ราย ในปี 2015 ได้ทำให้การผ่านกฎหมายดังกล่าวหยุดชะงักและทำให้กระบวนการสันติภาพกับกลุ่มกบฏพังลง
ดูเรซาอธิบายการรื้อฟื้นการเจรจาในมาเลเซียครั้งนี้ ซึ่งเป็นพูดคุยอย่างเป็นทางการระหว่างทั้งฝ่ายนับตั้งแต่ที่ดูเตอร์เตเข้ารับตำแหน่ง ว่า เป็น “หมุดหมายที่สำคัญสำหรับสันติภาพในมินดาเนา”
มูรัด อิบรอฮิม หัวหน้ากลุ่ม MILF กล่าวว่า เขายินดีให้ นูร์ มิซัวรี เพื่อนกบฏมุสลิม ประธานของกลุ่มแนวหน้าปลดแอกแห่งชาติโมโร (MNLF) เข้าร่วมคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านเพื่อจัดตั้งแคว้นปกครองตนเอง “บังซาโมโร” ในภาคใต้
ในขณะที่มีบางคนในภาคใต้ขอฟิลิปปินส์ถูกปลุกปั่นโดยนักรบญิฮาดกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) อิบรอฮิม กล่าวว่า “หากกระบวนการสันติภาพประสบความสำเร็จ พวกเขา (ไอเอส) จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน”
กลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดนในฟิลิปปินส์ ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่ม MNLF กลุ่ม MILF และ กลุ่มลักพาตัวเรียกค่าไถ่อาบูเซย์ยาฟ
กองกำลังมุสลิมจับอาวุธขึ้นต่อสู้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เพื่อรัฐอิสลามอิสระ หรือสิทธิปกครองตนเองในภาคใต้ ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นบ้านของบรรพบุรุษ และความขัดแย้งนี้คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 100,000 ราย
ความขัดแย้งนี้ทำให้ประชาชนหลายล้านคนทั่วมินดาเนา ตกอยู่ในภาวะความยากจนและสร้างสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมให้กับลัทธิอิสลามหัวรุนแรง เช่น กลุ่มอาบูเซย์ยาฟที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงกลุ่มอื่น ๆ ที่ทำให้หลายพื้นที่ทุรกันดารกลายเป็นที่มั่นของพวกเขา