xs
xsm
sm
md
lg

ซัมมิตจี20 ‘เมดอินไชน่า’ และความสำคัญทาง‘ภูมิเศรษฐกิจ’

เผยแพร่:   โดย: เปเป้ เอสโคบา

Made in China G20 and its geoeconomic significance
By Pepe Escobar
05/09/2016

สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองหางโจว ประเทศจีน เมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ มีความสำคัญทางภูมิเศรษฐกิจ (geoeconomic) เป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่เริ่มต้นเลยปักกิ่งก็ปฏิบัติต่อการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี20 (กลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก) คราวนี้อย่างหนักแน่นจริงจัง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะกำหนดวางแผนให้มันเป็นงานปาร์ตี้ของจีน ไม่ใช่เป็นงานปาร์ตี้ของโลกตะวันตกที่กำลังเสื่อมทรุด และยิ่งไม่ใช่งานปาร์ตี้ของวอชิงตัน

ขณะกล่าวสรุปเค้าโครงของระเบียบวาระสำหรับการอภิปรายถกเถียงกันในการประชุมซัมมิตคราวนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็พูดตรงแน่วถึงจุดนี้ ซึ่งมีนัยทางภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย โดยเขาบอกว่า: ความคิดจิตใจแบบยุคสงครามเย็นที่เร่อร้าล้าสมัยไปแล้ว ควรที่จะต้องถูกขจัดออกไปเสียที พวกเรามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาแนวความคิดทางด้านความมั่นคงแบบใหม่ ซึ่งทั้งรวมเอาทุกๆ ฝ่ายเข้ามาร่วม, ครอบคลุมทั่วด้าน, มุ่งเน้นความร่วมไม้ร่วมมือ, และมุ่งเน้นความยั่งยืน”

สียังกล่าวเปรียบเทียบความคิดจิตใจแบบยุคสงครามเย็น กับสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น “ตำรับยา 4 ขนาน” (four prescriptions) ซึ่งจำเป็นสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้กลับเฟื่องฟูขึ้นมาใหม่ อันได้แก่ “ความริเริ่ม (innovative), ความกระปี้กระเปร่ามีชีวิตชีวา (invigorated), การติดต่อเชื่อมโยงกัน (interconnected), และการให้ทุกฝ่ายเข้ามีส่วนร่วม (inclusive)

ด้วยการแสดงบทบาทเหมือนกับเป็นประธานรัฐบุรุษโลกในทางพฤตินัย สีเดินหน้าต่อไป ณ พิธีเปิดการประชุมซัมมิตคราวนี้ด้วยการแนะนำแพกเกจข้อเสนออันใหญ่โตทะเยอทะยาน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการวางแผนอย่างเหนื่อยยากเป็นเวลาแรมเดือนก่อนหน้าจะถึงการพบปะหารือที่หางโจว

แพกเกจข้อเสนอนี้วางแผนจัดทำขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่จะขับดันเศรษฐกิจโลกให้พุ่งทะยานกลับขึ้นไปสู่การเติบโตขยายตัว และในขณะเดียวกันนั้นก็สถาปนากฎกติกาสำหรับโครงสร้างสถาปัตยกรรมและธรรมาภิบาลของเศรษฐกิจโลก ซึ่ง “เมด อิน ไชน่า” และก็มีความเป็นมิตรกับจีนเพิ่มมากขึ้น

เป้าหมายของแพกเกจข้อเสนอนี้คงไม่สามารถที่จะสูงส่งทะเยอทะยานยิ่งไปกว่านี้ได้แล้ว นั่นคือ: เพื่อทำลายอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านการค้าและต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่กำลังก่อตัวรุนแรงขึ้นทุกที, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลอดทั่วทั้งโลกตะวันตก ตั้งแต่ “เบร็กซิต” ไปจนถึง โดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมๆ กันนั้น แพกเกจข้อเสนอนี้ก็มุ่งที่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่ท่านผู้ชมผู้ฟังที่ได้รับการคัดสรรมา ณ การประชุมริมทะเลสาบซีหู ของนครหางโจวคราวนี้ ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการชุมนุมบรรดาผู้นำโลกครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนได้ทีเดียว ทว่าในเวลาเดียวกันนั้นเมื่อมองกันในระยะยาว แพกเกจข้อเสนอนี้แหละยังมีจุดมุ่งหมายที่จะแซงหน้ามีชัยเหนือระเบียบเก่าซึ่งโลกตะวันตกที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำเข้าครอบงำบงการอยู่

นี่ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์พยากรณ์ได้ล่วงหน้า แต่กระนั้นมันก็ยังคงเป็นการก้าวผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นของประเทศจีน ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากโลกาภิวัตน์เช่นเดียวกับชาติอื่นๆ ทั้งหลาย โดยที่การเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของแดนมังกรในรอบระยะเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วได้รับการขับดันจากการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศและจากการส่งออกอย่างชนิดทะลักทลาย

อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้ภูมิเศรษฐกิจโลกได้เดินมาถึงพื้นที่แห่งความปั่นป่วนวุ่นวายอันน่าวิตกกังวลอย่างยิ่งยวดแล้ว นับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็นเมื่อปี 1989 เป็นต้นมา มันไม่เคยที่จะย่ำแย่เลวร้ายกันถึงขนาดนี้เลย ความละโมบได้นำโลกาภิวัตน์ไปสู่ “ความพ่ายแพ้” ด้วยการทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวอย่างย่อๆ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ –สืบเนื่องจากมีการแข่งขันกันในระดับทั่วโลก— ได้นำไปสู่การใช้นโยบายการเงินแบบที่เรียกกันว่า มุ่งขยายตัวอย่างไม่มีบันยะบันยัง ซึ่งทำให้เกิดภาวะล้นเกินทั้งในภาคที่อยู่อาศัย, การศึกษา, และการดูแลสุขภาพ จนกำลังสร้างแรงบีบคั้นแสนสาหัสต่อชนชั้นกลาง แต่ขณะเดียวกันก็กำลังเปิดทางให้ทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งอย่างไร้ขีดจำกัด ไหลทะลักไปสู่คนกลุ่มน้อยเจ้าของทรัพย์สินซึ่งมีจำนวนคิดเป็นเพียงแค่ 1% ของประชากร

ทว่าแม้กระทั่งในช่วงระยะแห่งการถอนคันเร่งแล้ว จีนก็ยังคงเป็นผู้รับผิดชอบความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกถึงกว่า 25% เมื่อปี 2015 แดนมังกรยังคงเป็นเครื่องยนต์ไอพ่นเครื่องสำคัญของโลก –โดยที่ในขณะเดียวกันนั้นก็กำลังเข้าแบกรับภาระที่จัดสรรให้แก่ตนเอง ในการเป็นตัวแทนของ “ฝ่ายใต้แห่งโลก” (Global South หมายถึงพวกประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย -ผู้แปล) ในการดูแลธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจของโลก

ในช่วงเวลา 7 เดือนแรกของปี 2016 การลงทุนในต่างประเทศของจีนได้พุ่งพรวดขึ้นมา 62% จนแตะระดับทำสถิติใหม่ที่ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ตามตัวเลขข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของจีน ทว่ามีปัญหาอยู่ประการหนึ่ง ซึ่งพวกนักเศรษฐกิจเรียกขานกันเป็นศัพท์เทคนิคว่า สภาพแวดล้อมทางการลงทุนอสมมาตร” (asymmetric investment environment) นั่นคือ จีนยังอยู่ในสภาพที่ปิดกั้นกีดกันการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับชาติสมาชิกอื่นๆ ของกลุ่ม “บริกส์” (BRICS ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ทั้ง 5 ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้ -ผู้แปล) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ

ความก้าวหน้าของกลุ่มบริกส์

การประชุมเฉพาะของกลุ่มบริกส์ ซึ่งจัดขึ้นในฐานะเป็นการหารือข้างเคียงของซัมมิต จี20 คราวนี้ โดยตัวมันเองแล้วไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ ทว่า ณ ที่ประชุมนี้เองซึ่ง สี ได้แถลงแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับวาระสำหรับ จี20 ซึ่งจีนตระเตรียมเอาไว้ รวมทั้งเป็นการเกริ่นนำสร้างบรรยากาศสำหรับการประชุมซัมมิตประจำปีครั้งที่ 8 ของบริกส์ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเมืองกัว ประเทศอินเดีย เดือนหน้า ตามรายงานฉบับหนึ่งที่จัดทำโดยกลุ่มคลังสมองทางเศรษฐกิจของบริกส์ (BRICS Economic Think Tank) ณ มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) ในปักกิ่ง เสนอแนะเอาไว้ว่า จีนจะต้องเร่งปรับปรุงยกระดับพวกคอนเนกชั่นระดับพหุภาคี เฉกเช่นกลุ่มบริกส์นี้ “เพื่อให้มีบทบาทมีเสียงดังยิ่งขึ้น และผลักดันฝ่ายตะวันตกให้ถอยหลังกลับไปในเรื่องการกำหนดจัดวางกฎกติการะหว่างประเทศ”

นี่เป็นการพูดถึงเป้าหมายในระยะยาว –ทว่าก็มีการดำเนินการให้คืบหน้ากันแล้ว จู เจียจิน (Zhu Jiejin) จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) ในนครเซี่ยงไฮ้ กล่าวสรุปว่า “บริกส์ คือการทดสอบปรัชญาใหม่ของจีนในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ –ถึงแม้ว่าผลของมันจะต้องใช้เวลายาวนานทีเดียวกว่าจะสุกงอม”

ต้องติดต่อเชื่อมโยงกัน ไม่เช่นนั้นก็ต้องตาย

ทุกสิ่งทุกอย่างในหางโจวได้ถูกคำนวณเอาไว้อย่างละเอียดในระดับเป็นมิลลิเมตรทีเดียว

ตัวอย่างเช่น เก้าอี้นั่งที่โต๊ะประชุมซัมมิต จี20 เป็นเก้าอี้แบบคลาสสิกสำหรับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักสมัยราชวงศ์หมิง มีเบาะสีเทาอ่อน ขณะที่บนโต๊ะตรงหน้าของผู้นำแต่ละคนปูด้วยม้วนกระดาษที่กางคลี่ออก ทั้งสองข้างของม้วนกระดาษมีที่ทับกระดาษทำด้วยหยกสีเขียวอ่อนทับเอาไว้, มีจานเคลือบวางปากกาไว้ 1 ด้าม, มีถ้วยน้ำชาเคลือบสีเขียว 1 ใบ, และมี “ตราประทับ” หยกรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งมีขนาดใหญ่แทบจะเท่ากับพระราชลัญจกรของพระจักรพรรดิ 1 ชิ้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นสวิตช์ใช้เปิดปิดไมโครโฟน

คราวนี้มาดูสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของการถ่ายภาพหมู่อย่างเป็นทางการ ของบรรดาผู้นำที่เข้าร่วมประชุมกันบ้าง ปรากฏว่า แมร์เคิล ของเยอรมนี กับแอร์โดอัน ของตุรกี ยืนอยู่ชิดกับ สี เพราะตุรกีเป็นเจ้าภาพซัมมิต จี20 ปีที่แล้ว และในปีหน้าจะเป็นคิวของเยอรมนี ถัดจากนั้นเป็นปูตินกับโอบามายืนอยู่คนละข้างอย่างสมมาตรกัน แล้วก็มีความสมมาตรกันของสมาชิกกลุ่มบริกส์อีก 2 ราย นั่นคือ โมดีของอินเดีย กับ เทเมอร์ ของบราซิล ซึ่งยืนอยู่คนละปลายสุดทว่ายังอยู่ในแถวแรก สำหรับอาเบะของญี่ปุ่นยืนอยู่ในแถวที่สอง เช่นเดียวกับ เรนซี ของอิตาลี และ เมย์ ของอังกฤษ

แล้วทำไมจึงมาจัดประชุมกันที่หางโจว? คำตอบก็คือ เนื่องจากที่นี่คือประเทศจีน ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเริ่มต้นจากอุปมาอุปไมยทางประวัติศาสตร์ หางโจวได้รับสมญานามว่าเป็น “ภูมิลำเนาของผ้าไหม” ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดพัฒนาการที่กลายเป็น “เส้นทางสายไหม” โบราณ ขึ้นมาด้วยซ้ำไป คราวนี้ก็ลองนำเอาหางโจวมาเชื่อมต่อโยงใยเข้ากับโครงการ “เส้นทางสายไหมสายใหม่” อันใหญ่โตมโหฬารสุดๆ ของ สี โดยที่ทางการจีนเรียกชื่อย่อๆ ของโครงการนี้ในภาษาอังกฤษว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road และใช้อักษรย่อว่า OBOR) แล้วก็มีนักวิเคราะห์ชาวจีนบางคนสนุกสนานกับกับบรรยายโครงการนี้ว่า เป็น “บทเพลงซิมโฟนีสมัยใหม่แห่งการติดต่อเชื่อมโยง” (a modern symphony of connectivity)

ในทางเป็นจริงแล้ว OBOR ก็คือ “ตำรับยา 4 ขนาน” ของสีในภาคปฏิบัตินั่นเอง เป็นการสร้างความเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งขับดันโดยการติดต่อเชื่อมโยงแบบ “ให้ทุกฝ่ายเข้ามีส่วนร่วม” ขนาดของการต่อต่อเชื่อมโยงนี้ช่างมหึมามโหฬารชนิดเรียกได้ว่าบ้าระห่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อเชื่อมโยงในระหว่างชาติกำลังพัฒนาต่างๆ

คณะผู้นำปักกิ่งแสดงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวผูกพันกับ OBOR อย่างเต็มตัว โดยถือเป็นแรงขับดันแห่งการเปลี่ยนแปลงพลิกผันทางภูมิเศรษฐกิจอย่างสุดๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก เป็นการผูกโยงส่วนต่างๆ แทบทั้งหมดของเอเชียให้เข้ากับจีน –และก็ผูกโยงเข้ากับยุโรป และแน่นอนทีเดียวทั้งหมดเหล่านี้ก็ถักร้อยสอดประสานอย่างเต็มที่กับการเร่งเครื่องตีความกระบวนการโลกาภิวัตน์เสียใหม่ของ สี นั่นแหละคือเหตุผลที่ทำให้ผมเคยเขียนแสดงความคิดเห็นไว้ว่า นี่คือโครงการ “เว่อร์วังอลังการ” สุดๆ สำหรับศตวรรษที่ 21 อันเยาว์วัยนี้ ทว่า “โครงการ” ที่สหรัฐฯส่งเข้ามาประกวดแข่งขัน ก็ยิ่งปั่นป่วนอลเวงกว่านี้เสียอีก (ดูรายละเอียดได้ที่ https://sputniknews.com/columnists/20160831/1044816377/g20-geopolitical-juncture.html)

กระทั่งก่อนมาถึงซัมมิตหางโจว บรรดารัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม จี20 ได้จัดการประชุมกันที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกของจีน ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม เพื่ออภิปรายถกเถียงกันเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการติดต่อเชื่อมโยงกันในระยะโลก ปรากฏว่าแถลงการณ์ซึ่งออกมาจากการประชุมเฉิงตู ก็ต้องย้ำยืนยันสิ่งที่มองเห็นกันได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว นั่นคือ การติดต่อเชื่อมโยงกันให้กว้างขวางใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก คือความเรียกร้องต้องการอันชัดแจ้งของเศรษฐกิจโลกแห่งศตวรรษที่ 21 และคือกุญแจสำคัญสำหรับการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการจัดสรรแบ่งปันความมั่งคั่งรุ่งเรือง

ทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับ OBOR ก็คือเรื่องอย่างนี้แหละ เอสดับเบิลยูเอส รีเสิร์ช (SWS Research) บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติจีน ประมาณการเอาไว้ในรายงานว่าด้วย OBOR ชิ้นหนึ่งว่า เงินลงทุนโดยรวมทั้งหมดซึ่งจำเป็นต้องใช้สำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของโครงการนี้ จะอยู่ในระดับเกือบจะถึง 3.26 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว

โครงการเด่นๆ ใน OBOR ก็มีดังเช่น ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor ใช้อักษรย่อว่า CPEC) ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีนให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า เป็น “มูฟเมนต์แรกของบทเพลงซิมโฟนีแห่งแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” แล้วจากนั้นก็ยังมีเครือข่ายเส้นทางรถไฟไฮสปีดอีกเป็นกะตั๊ก เป็นต้นว่า เส้นทางรถไฟจีน-ไทย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางรถไฟสายทรานส์เอเชีย (Trans-Asia Railway network) ตลอดจนเส้นทางรถไฟไฮสปีด จาการ์ตา-บันดุง (Jakarta-Bandung high-speed railway) ในอินโดนีเซีย

บทบาทของ แจ๊ก หม่า แห่ง อาลีบาบา

ยังมีผู้เล่นชาวจีนระดับท็อปอีกหลายๆ คนที่อยู่เบื้องหลังการขยายตัวของโครงการ OBOR ตลอดจนวิสัยทัศน์ของสีในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจของโลก (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ http://www.scmp.com/news/china/policies-politics/article/2014676/xis-right-hand-men-some-big-players-chinese-presidents?utm_content=buffer2a5ef&utm_medium=social&utm_source=twitter.com&utm_campaign=buffer) เราจะไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าจีนกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนถ้าหากไม่พิจารณาถึงบทบาทของพวกเขาเหล่านี้แต่ละคน

และแน่นอนทีเดียว ยังมีเมืองหางโจวเองด้วย –เมืองซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นศูนย์เทคโนโลยีแห่งหนึ่งของจีน ที่มีความเป็นเลิศในด้านเศรษฐกิจสารสนเทศ (information economy) และระบบการผลิตอัจฉริยะ (intelligent manufacturing)

อาจจะกล่าวได้ว่า นอกเหนือจากสีแล้ว ดารายิ่งใหญ่ที่สุดของ จี20 คราวนี้ ก็คือ แจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ช “อาลีบาบา” ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาในปี 1999 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในปี 2014 และเป็นผู้รวบรวมเป็นผู้ทำให้ปรากฏบริษัทจีนนับหมื่นนับแสนราย ซึ่งก่อตัวขึ้นเป็นลวดลายจำหลักอย่างใหม่ของประเทศจีน (new Chinese imprint)

สำนักงานใหญ่ของอาลีบาบาตั้งอยู่ในเมืองหางโจว และไม่ใช่เป็นเหตุบังเอิญเลยที่ทุกๆ คน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา ไปจนถึงประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซีย ต่างเดินทางไปเยือนแคมปัส ซีซี ปาร์ก (Xixi Park) ของบริษัทแห่งนี้ โดยที่มีหม่าเป็นมัคคุเทศก์ ด้วยสายตาที่มองหาช่องทางในการส่งเสริมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของประเทศพวกเขา ผ่านทางแพลตฟอร์มของอาลีบาบา ใกล้ๆ ที่นั่นยังมี “ดรีมทาวน์” (Dream Town) –ศูนย์ช่วยเหลือซึ่งกระตุ้นส่งเสริมให้มีกิจการสตาร์ทอัพของจีนขึ้นมากว่า 680 กิจการภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว

ก่อนหน้าการประชุมซัมมิต จี20 มีการประชุมที่เรียกว่า บี20 นั่นคือซัมมิตของภาคธุรกิจ ซึ่งมุ่งโฟกัสที่การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (small and medium enterprises หรือ SMEs) ในการประชุมดังกล่าว หม่าผู้เจ้าเล่ห์ ขณะพูดยอมรับว่า “เรากำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนไม่ชอบโลกาภิวัตน์หรือการค้าเสรี” เขาก็ถือโอกาสโปรโมตอย่างมีพลังถึงการกำเนิดของแพลตฟอร์มการค้าระดับโลกทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic world trade platform หรือ eWTP) หม่าบรรยายอธิบายถึง eWTP ว่า เป็น “กลไกสำหรับการสนทนากันระหว่างภาคสาธารณะกับภาคเอกชน ในการพัฒนาการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน” ซึ่งจะ “ช่วยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย, ผู้หญิงและคนรุ่นหนุ่มสาว ให้เข้าร่วมในเศรษฐกิจโลก”

ไม่ใช่เหตุบังเอิญอีกเช่นกันที่ประธานาธิบดีวิโดโดของอินโดนีเซีย เชื้อเชิญหม่าให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ อินโดนีเซียนั้นมีกิจการ SMEs ไม่ต่ำกว่า 56 ล้านราย ดังที่ประธานาธิบดีแดนอิเหนาผู้นี้ชี้เอาไว้ ดังนั้นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ เรื่องหนึ่งของเขาก็คือการเพิ่มพูนความร่วมมือกันระหว่างพวก SMEs ในอินโดนีเซียกับอาลีบาบา เพื่อช่วยให้พวกเขาก้าวเข้าสู่ตลาดจีนและตลาดโลก

แน่นอนทีเดียวไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสวนกุหลาบอันหอมหวนสดใสไปเสียทั้งหมด ในบรรดาสมาชิกของทีมงานเฉพาะกิจ 5 ทีมของที่ประชุมซัมมิต บี20 เราอาจสามารถค้นพบพวกผู้เล่นหลายคนซึ่งไม่น่าไว้วางใจเอาเสียเลย เป็นต้นว่า ลอเรนซ์ ฟิงค์ (Laurence Fink) นายใหญ่ของ “แบล็กร็อก” (BlackRock) กองทุนเพื่อการลงทุนรายยักษ์ใหญ่มหึมา นั่งอยู่ในคณะกรรมการการเงิน, แล้วก็มีคนของบริษัทดาว เคมิคอล (Dow Chemical) นั่งอยู่ในคณะกรรมการพาณิชย์และการลงทุน กระนั้น เป้าหมายสำคัญที่สุดและสูงส่งที่สุด ก็ต้องเป็นและยังคงเป็นการช่วยเหลือพวก SMEs ในโลกกำลังพัฒนาให้ก้าวขึ้นสู่ระดับโลก

สิ่งที่ตัดสินใจกันไปจริงๆ ในที่ประชุมซัมมิต จี20 จะสามารถผลิดอกออกผลให้มองเห็นกันได้ก็ต้องเป็นระยะยาวไกล สีกล่าวปิดประชุมซัมมิตคราวนี้โดยเน้นย้ำว่า จี20 ได้ตกลงเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมสนับสนุนลัทธิพหุภาคีทางการค้า (trade multilateralism) และเดินหน้าคัดค้านลัทธิกีดกันการค้า (ถึงแม้ในทางเป็นจริงจะมีหลักฐานมากมายบ่งบอกไปในทางตรงกันข้ามก็ตามที) โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นก็ทำการพัฒนากรอบโครงฉบับแรกของกฎกติกาสำหรับการลงทุนข้ามพรมแดน (ถึงแม้ยังมีคำถามว่าทุกๆ ประเทศจะปฏิบัติตามหรือไม่?)

เขากล่าวด้วยว่า จี20 เห็นพ้องต้องกันที่จะดำเนินการปฏิรูปไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกต่อไป เพื่อให้พวกชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายมีสิทธิมีเสียงเพิ่มมากขึ้น (นี่ไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐฯจะสนับสนุนเลย ไม่ว่าจะเป็น ฮิลลารี หรือ ทรัมป์ ขึ้นครองอำนาจ)

แต่ไม่ว่าอย่างไร “ข้อความ” ที่จีนส่งออกมาก็ไม่มีการผิดพลาด นั่นคือ จีนได้จัดวางเส้นทางแห่งภูมิเศรษฐกิจสำหรับอนาคตขึ้นมาแล้ว และจีนก็กำลังล็อบบี้อย่างหนักเพื่อให้ชาติต่างๆ อาจจะประมาณสักหลายๆ สิบราย เข้าร่วมในกรอบโครงที่ทุกๆ ฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะ และไม่ว่าอนาคตของ “การปักหมุดหวนกลับคืนสู่เอเชีย” (pivot to Asia) ซึ่งต้องครอบคลุมถึงข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ที่ถูกเรียกขานกันว่า “องค์การนาโต้ในทางการค้า” เอาไว้ด้วยนั้น จะก่อให้เกิดการประจันหน้าอย่างไรก็ตามที ปักกิ่งก็จะไม่นั่งนิ่งเงียบต่อการที่สหรัฐฯจะเข้าข่มขู่หรือเข้าคุกคามสิ่งที่ปักกิ่งพิจารณาเห็นว่า คือผลประโยชน์ด้านความมั่นคงอันสำคัญอย่างยิ่งยวด

ซัมมิต จี20 ในหางโจว แสดงให้เห็นว่า จีนพร้อมแล้วที่จะแสดงโอ่อวดอิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจของตน และจะแสดงบทบาทเป็นฝ่ายกระทำเพิ่มขึ้นอีกมากในทางภูมิเศรษฐกิจ เป็นที่ชัดเจนว่าปักกิ่งนั้นนิยมที่จะเล่นเกมนี้ในระบบการค้าพหุภาคีซึ่งอิงอยู่กับองค์การการค้าโลก (WTO) ตรงกันข้ามกับวอชิงตัน ซึ่งยังคงพยายามที่จะหาทางโกงเกมนี้ ด้วย กฎกติกา ใหม่ๆ อย่าง TPP และ TTIP (ข้อตกลงหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนภูมิภาคแอตแลนติก)

เหอ เว่ยเหวิน (He Weiwen) จากสมาคมเพื่อการศึกษาดับเบิลยูทีโอแห่งประเทศจีน (China Society for WTO Studies) อาจจะเป็นผู้ที่ได้กระหน่ำใส่ตะปูอย่างตรงแน่วเต็มแรงทีเดียว ในตอนที่เขาตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่า “สหรัฐฯได้พูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตนไม่สามารถปล่อยให้จีนเป็นผู้กำหนดกฎกติกาได้ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่ากฎกติกาที่สหรัฐฯตั้งขึ้นมาเองนั้นไม่ได้ชนะใจใครๆ เลย เนื่องจากมีแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น”

(ข้อเขียนนี้เก็บความมาจากเว็บไซต์ของ “อาร์ที” สื่อมวลชนเครือข่ายทีวีที่ได้รับเงินทุนจากทางการรัสเซีย ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษของข้อเขียนนี้ได้ที่ https://www.rt.com/op-edge/358326-g20-hangzhou-china-xi/ โดยที่อาร์ทีระบุว่า ข้อความคำแถลง, ทัศนะความคิดเห็นที่แสดงเอาไว้ในคอลัมน์เช่นนี้ เป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว และไม่จำเป็นว่าจะเป็นการสะท้อนข้อความคำแถลงและทัศนะความคิดเห็นของตน)

เปเป้ เอสโคบาร์ เป็นนักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์อิสระ เขาเขียนเรื่องให้แก่ RT, Sputnik, และ TomDispatch รวมทั้งยังเขียนให้เว็บไซต์ต่างๆ ตลอดจนร่วมรายการทางวิทยุและโทรทัศน์ในประเทศต่างๆ ตั้งแต่สหรัฐฯไปจนถึงเอเชียตะวันออก เขาเป็นอดีตผู้สื่อข่าวที่เที่ยวตระเวนไปทั่วให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์ เขาเกิดในบราซิล และเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 1985 โดยwfhพำนักอาศัยอยู่ตามเมืองต่างๆ ทั่วโลกทั้งลอนดอน, ปารีส, มิลาน, ลอสแองเจลิส, วอชิงตัน, กรุงเทพฯ, และฮ่องกง กระทั่งตั้งแต่ก่อน 9/11 แล้ว เขาก็มีความชำนาญเป็นพิเศษในการทำข่าวจากตะวันออกกลางไปจนถึงเอเชียกลางและเอเชียตะวันออก โดยเน้นหนักไปที่ภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจใหญ่และสงครามพลังงาน เขาเขียนหนังสือมาแล้วหลายเล่ม ได้แก่ "Globalistan" (2007), "Red Zone Blues" (2007), "Obama does Globalistan" (2009), and "Empire of Chaos" (2014), ทั้งหมดตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นิมเบิลบุ๊กส์ (Nimble Books) หนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือเรื่อง “2030” ซึ่งก็จัดพิมพ์โดยนิมเบิลบุ๊กส์เช่นเดียวกัน ออกวางจำหน่ายในเดือนธันวาคม 2015


กำลังโหลดความคิดเห็น