xs
xsm
sm
md
lg

สิบห้าปีภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ‘อเมริกา’ ยังคงอยู่ในสงครามที่ดูไม่มีวันสิ้นสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ลำแสงแฝดระลึกถึงอาคารแฝด “เวิลด์เทรดเซนเตอร์” ที่พังทลายไปในเหตุการณ์โจมตี 9/11 ปรากฏขึ้นเหนือขอบฟ้าของย่านแมนฮัตตัน เมื่อมองจากสวนบรูคลิน บริดจ์ ปาร์ค ในย่านบรูคลิน นครนิวยอร์ก ในคืนวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2016 </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เหตุการณ์โจมตีสยองขวัญด้วยการบังคับเครื่องบินโดยสารพุ่งชนตึก ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2011 ได้เปลี่ยนแปลงอเมริกาไปตลอดกาล รวมทั้งกลับหัวกลับหางทั้งนโยบายด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งลากดึงให้ประเทศนี้เข้าสู่สงครามต่อสู้ปราบปรามพวกนักรบญิฮัดตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ทว่าไม่สามารถก่อให้เกิดผลในทางระงับความปั่นป่วนวุ่นวายในตะวันออกกลางแต่อย่างใดทั้งสิ้น

บารัค โอบามา ผู้ซึ่งจะอำลาจากทำเนียบขาวไปในเดือนมกราคมปีหน้า คือประธานาธิบดีอเมริกันที่พยายามนำเอากองทัพสหรัฐฯ ให้หลุดออกจากปลักโคลนในอิรักและอัฟกานิสถาน ภายหลังที่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประมุขสหรัฐฯ คนก่อนหน้าเขาได้เปิดฉากทำ “สงครามปราบปรามการก่อการร้าย” ที่มีแต่สร้างความวิบัติหายนะในประเทศทั้งสอง สืบเนื่องจากเหตุการณ์โจมตี 9/11 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปร่วมๆ 3,000 คน

อย่างไรก็ดี มรดกในแนวรบด้านนี้ที่โอบามาทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง อย่างเก่งที่สุดคงจะพูดได้เพียงว่ามีทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยที่จวบจนถึงบัดนี้กองทหารสหรัฐฯ ก็ยังคงปรากฏตัวอยู่ในทั้ง 2 ประเทศ

และขณะที่เขาทำงานอย่างหนักเพื่อนำเอาอเมริกาเข้าไปชิดใกล้กับโลกมุสลิมให้มากขึ้น พวกผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่า เขาจะออกจากตำแหน่งไปในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงติดแหง็กอยู่ในความขัดแย้งที่ดูไม่มีวันสิ้นสุดกับพวกอิสลามิสต์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

“ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายของพวกอิสลามิสต์ที่ค่อยๆ พัฒนาคลี่คลายออกมาให้เห็น บังคับให้ประธานาธิบดีโอบามาต้องกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับความโน้มเอียงส่วนตัวของเขาเอง โดยเข้าพัวพันทางทหารในอิรักอีกครั้งหนึ่ง และจากนั้นก็ต่อเนื่องไปถึงในซีเรียและลิเบียอีกด้วย” ทามารา คอฟแมน วิตส์ ผู้อำนวยการของศูนย์เพื่อนโยบายตะวันออกกลาง แห่งสถาบันบรูกกิ้งส์ ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็น

“สงครามในสมรภูมิต่างๆ ในตะวันออกกลาง, การแพร่กระจายตัวของกลุ่มไอซิส (ไอเอส), การแปรไปเป็นพวกหัวรุนแรงโดยทางออนไลน์ และการโจมตีอย่างต่อเนื่องตามเมืองใหญ่ต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา เหล่านี้ทำให้ยากลำบากเหลือเกินที่จะขับไสแบบแผนแนวความคิดว่าด้วย “การทำสงครามเพื่อต่อสู้การก่อการร้ายทั่วโลก” ให้ออกพ้นไปจากกระแสหลัก แม้กระทั่งหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ผ่านพ้นไปแล้ว 15 ปี” วิตส์เขียนเอาไว้เช่นนี้ในเว็บไซต์ของ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม

สหรัฐฯ ยังคงเข้าเกี่ยวข้องพัวพันทางการทหาร ถึงแม้ในลักษณะจำกัด; หรือมุ่งเน้นด้านการส่งกำลังบำรุงเป็นหลักก็ตามที ไม่ว่าจะในอัฟกานิสถาน, ไนจีเรีย, โซมาเลีย และเยเมน ทั้งนี้เพื่อตอบโต้กับภัยคุกคามอันมากมายหลายหลาก

“แนวความคิดของคณะบริหารโอบามามีอยู่ว่า พวกสงครามใหญ่ๆ ทำให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายลง” ฮุสเซน อิบิช นักวิชาการอาวุโสของสถาบันรัฐริมอ่าวอาหรับ กล่าวให้ทัศนะกับเอเอฟพี

ด้วยเหตุนี้เอง โอบามาจึงหันไปเปิดฉากยุคใหม่แห่งการทำสงครามของอเมริกัน เป็นสงครามซึ่งเน้นหนักเรื่องการให้อากาศยานไร้นักบิน (โดรน), กองทหารหน่วยรบพิเศษ และการฝึกอบรมพวกนักรบท้องถิ่นให้เข้าทำหน้าที่หลักในด้านการสู้รบ

ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านมนุษย์และด้านการเงินของการเข้าเกี่ยวข้องพัวพันในลักษณะเช่นนี้อยู่ในระดับที่น้อยกว่าการทำสงครามใหญ่เป็นอันมาก - นี่เป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญมากทีเดียว เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในช่วงปี 2001-2014 ที่อิรักและอัฟกานิสถาน บุคลากรทางทหารสหรัฐฯ ถูกสังหารไป 5,300 ราย อีก 50,000 คนได้รับบาดเจ็บ และใช้จ่ายเงินงบประมาณไปรวม 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ตามข้อมูลตัวเลขของรัฐสภาสหรัฐฯ

ยุทธศาสตร์ของโอบามาถือว่าประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2011 เมื่อทหารหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ สามารถสังหาร อุซามะห์ บิน ลาดิน หัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะห์ ที่เป็นผู้บงการใหญ่เบื้องหลังเหตุการณ์โจมตี 9/11 ในบ้านพักหลบภัยของเขาในปากีสถาน

ทว่าในความเห็นของอิบิช การใช้ “ทรัพยากรต่างๆ อย่างจำกัดเช่นนั้น ... ดูเหมือนกับเป็นการทำให้สงครามดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด”

เขาชี้ว่า การทำสงครามจำกัดวงการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างจำกัด ก็เหมือนกับเป็นการยอมปล่อยให้เกิดสงครามไปอย่างถาวร เพราะในการใช้ทรัพยากรอย่างจำกัดเช่นนี้ ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงภาวะไร้เสถียรภาพได้ และคือการยอมรับว่าความอลหม่านวุ่นวายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขคลี่คลายได้นั่นเอง
<i>เหล่าอาสาสมัครช่วยกันปักธงชาติสหรัฐฯราว 3,000 ผืน ณ สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในเมืองวินเนตกา รัฐอิลลินอยส์ เมื่อวันเสาร์ (10 ก.ย.) เพื่อรำลึกถึงชีวิตของผู้ที่สูญเสียไปในการโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2011</i>
ในซีเรีย ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะเกิดสันติภาพถาวรขึ้นมาได้ ถึงแม้เพิ่งมีข้อตกลงหยุดยิงฉบับใหม่ๆ หมาดๆ ซึ่งมีสหรัฐฯ กับรัสเซียเป็นนายหน้า โดยกำหนดเริ่มต้นบังคับใช้กันตั้งแต่วันจันทร์ (12) นี้

แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ไม่มีแผนการใดๆ ที่จะเข้าพัวพันเกี่ยวข้องกับการสู้รบอย่างขนานใหญ่ในตะวันออกกลางครั้งใหม่ ไม่ว่าในความคิดของฮิลลารี คลินตัน หรือของโดนัลด์ ทรัมป์ 2 ตัวเก็งที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สืบต่อจากโอบามา

เวลาผ่านไป 15 ปีหลังจากอาคารแฝด “เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์” พังทลายลงมา และเปลี่ยนแปลงภาพริมขอบฟ้าของนครนิวยอร์กไปตลอดกาล การก่อการร้ายอิสลามิสต์ก็ยังคงไม่ได้สิ้นสุดลง โอบามากล่าวว่าเวลานี้ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่อเมริกันเผชิญอยู่ “มีการเปลี่ยนแปลงคลี่คลายไป” โดยเขาหมายถึงการก่อเหตุโจมตีของ “หมาป่าผู้โดดเดี่ยว” ในสหรัฐฯ ทำนองเดียวกับเหตุโจมตีสังหารหมู่ไนต์คลับในเมืองออร์แลนโดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

“ดังนั้น ในอัฟกานิสถาน, อิรัก, ซีเรีย และถัดออกมาจากนั้น เราจะยังคงต่อสู้อย่างไม่ลดละกับพวกผู้ก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์และกลุ่มไอซิส (ไอเอส) ต่อไป เราจะทำลายพวกเหล่านี้ และเราก็จะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในอำนาจของเราเพื่อพิทักษ์ปกป้องมาตุภูมิของเรา” เขากล่าวเช่นนี้ในคำแถลงประจำสัปดาห์ของเขาเมื่อวันเสาร์ (10) ที่ผ่านมา
<i>ดอกไม้วางอยู่บนชื่อของจารึกรายชื่อเหยื่อเหตุการณ์โจมตี 11 กันยายน ณ อนุสรณ์สถาน 11 กันยายน แห่งชาติของสหรัฐฯ ในย่านแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก เมื่อวันเสาร์ (10 ก.ย.) </i>
อย่างที่ เอมี กรีน นักวิจัยชาวอเมริกัน แห่งสถาบันการเมืองศึกษา (Institute of Political หรือ Sciences-Po) อันมีชื่อเสียงโด่งดังในกรุงปารีส ได้ชี้ออกมาให้เห็น “ไม่มีเหตุการณ์โจมตีเกิดขึ้นในดินแดนสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในขนาดเดียวกัน” กับการโจมตี 9/11 ขึ้นมาอีก

แต่แน่นอนทีเดียว วอชิงตันยังคงหวั่นเกรงกับการโจมตีขนาดย่อมๆ ลงมา ซึ่งก่อขึ้นโดยพวกคนร้ายที่กำเนิดเติบใหญ่ขึ้นในอเมริกาเอง ทำนองเดียวกับการกราดยิงที่ออร์แลนโดซึ่งมีคนตายไป 49 ราย หรือการโจมตีที่ซานเบอร์นาร์ดิโนเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไป 14 ราย

เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ สหรัฐฯ ก็ได้สร้างกลไกตรวจตราเฝ้าระวังขนาดใหญ่โตมโหฬารขึ้นมาทั้งภายในบ้านและในต่างแดน

งบประมาณของซีไอเอ, เอฟบีไอ และสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ ได้เพิ่มขึ้นมาเกือบเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2001

ขณะที่ภายหลัง 9/11 แล้ว ชาวอเมริกันก็ดูจะยอมรับแนวความคิดที่จะต้องสละเสรีภาพบางประการของพวกเขาเอง

ทั้งนี้ ตามผลการสำรวจซึ่งจัดทำโดยศูนย์พิว รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ ชาวอเมริกันจำนวน 40% ทีเดียวยังคงมีความหวาดกลัวว่า “ความสามารถของพวกผู้ก่อการร้ายที่จะเปิดการโจมตีใหญ่ในสหรัฐฯ นั้น เวลานี้อยู่ในระดับใหญ่โตกว่าที่พวกเขาเคยมีเมื่อครั้งทำการโจมตี 9/11 เสียอีก”

เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวนี้ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา

กำลังโหลดความคิดเห็น