xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’เดินหน้าสู่ ‘การประชุมใหญ่รีพับลิกัน’วันจันทร์นี้ ท่าทีน้ำเสียงแข็งกร้าวคงเดิม ถึงแม้ถูกวิจารณ์หนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<i>โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ชี้ไปที่ผู้ว่าการรัฐอินดีแอนา ไมก์ เพนซ์ ภายหลังแนะนำตัว เพนซ์ ว่าเป็นผู้ที่เขาเลือกให้ลงชิงชัยเป็นรองประธานาธิบดีในทีมของเขา  ณ การแถลงข่าวที่แมนฮัตตัน, นครนิวยอร์ก เมื่อวันเสาร์ (16 ก.ค.) </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – โดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์จอมคุยโว กำลังจะขึ้นถึงจุดสูงสุดแห่งการเข้าเทคโอเวอร์พรรครีพับลิกันอย่างสุดพลิกล็อกของเขา ในการประชุมใหญ่ที่เมืองคลิฟแลนด์ซึ่งกำหนดเริ่มต้นขึ้นวันจันทร์ (18 ก.ค.) นี้ ท่ามกลางบรรยากาศของการโต้เถียงขัดแย้งและความแตกต่างผิดแผกจากที่เคยเป็นมา

อดีตสมาชิกพรรคเดโมแครตและมือใหม่ในทางการเมืองผู้นี้ กำลังจะได้รับการรับรองจากการประชุมใหญ่รีพับลิกันคราวนี้ให้เป็นผู้สมัครชิงทำเนียบขาวของพรรคอย่างเป็นทางการ หลังจากที่เขาชนะการหยั่งเสียงเลือกตั้งขั้นต้นมาได้อย่างเหลือเชื่อน่าตื่นตะลึง

การชุมนุมกันทุกๆ รอบ 4 ปีเช่นนี้ วางแผนกันไว้ว่าเพื่อนำเอาชาวรีพับลิกันเข้ามารวมตัวกัน, เลือกผู้สมัครลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ, และสร้างโมเมนตัมเหวี่ยงให้พรรคพุ่งแรงเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้

ทว่าสำหรับทรัมป์แล้ว เขาต้องเผชิญกับภารกิจหนักหนาสาหัสในการเอาชนะพวกที่วิพากษ์วิจารณ์เขาอยู่ภายในพรรค ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเสียด้วย

คำพูดโวหารอันแสบสันต์ตลอดจนข้อความหาเสียงแบบประชานิยมที่เขาประกาศออกมาในช่วงรณรงค์เลือกตั้งขั้นต้น ทำให้พวกอนุรักษนิยมที่ถือเป็นแกนหลักของรีพับลิกันพากันโกรธเกรี้ยว และเร่งให้เกิดสงครามเพื่อค้นหาจิตวิญญาณอันแท้จริงของพรรค

จำนวนมากทีเดียวยังคงมองเห็นว่านี่คือการเข้าเทคโอเวอร์แบบเป็นปรปักษ์

“ผมปฏิเสธไม่ยอมรับโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเป็นผู้นำพรรคของเรา” เจบ บุช หนึ่งในคู่แข่งรีพับลิกันซึ่งถูกทรัมป์พิชิตกล่าว ขณะที่พวกผู้แทนของสมาชิกพรรคเดินทางมุ่งสู่เมืองคลิฟแลนด์

สิ่งหนึ่งที่เตะตามากเป็นพิเศษก็คือ การชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญเป็นเวลา 4 วันคราวนี้ ปรากฏว่าไม่มีอดีตประธานาธิบดีสักคนเดียว, แทบไม่มีบุคคลชื่อดังของพรรคเอาเลย, และมีเพียงผู้ดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันเท่าใดจำนวนหนึ่ง

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช, จอห์น แมคเคน, และ มิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของรีพับลิกัน 3 คนท้ายสุด ต่างพากันถอยห่างไม่ได้มาเข้าร่วม

ทรัมป์จึงจะต้องพึ่งพาคู่หูลงสมัครเป็นรองประธานาธิบดีในทีมของเขา ซึ่งได้แก่ ไมก์ เพนซ์ ผู้ว่าการมลรัฐอินดีแอนา และครอบครัวของเขาเองไม่ว่าจะเป็น เมลาเนีย ผู้ภรรยา, บุตรสาว 2 คนได้แก่ อีแวนกา และ ทิฟฟานี และบุตรชาย โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ มาช่วยขึ้นพูดช่วยปูทางสร้างบรรยากาศในที่ประชุมให้แก่ตัวเขา

อันที่จริงแล้ว ภายหลังช่วงเวลาหลายเดือนของการเดินหน้าไปด้วยความขรุขระ เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ผู้มีชื่อโด่งดังจากการเป็นดาราเรียลลิตี้โชว์ผู้นี้ ดูเหมือนกำลังก้าวเข้าสู่การประชุมใหญ่พรรค ในท่ามกลางสถานการณ์อันเอื้ออำนวยอยู่มากทีเดียว

ผลโพลระดับชาติหลายๆ สำนักแสดงว่าเขามีคะแนนนิยมคู่คี่กับ ฮิลลารี คลินตัน ผู้เผชิญผลกระทบหนักจากกรณีอื้อฉาวเรื่องการจัดการกับอีเมลยุคที่เธอนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ จนกระทั่งเอฟบีไอระบุว่าเธอ “สะเพร่าอย่างรุนแรง”

ในวันเสาร์ (16) ทรัมป์จัดแถลงข่าวเปิดตัวคนที่เขาเลือกให้ลงสมัครเป็นรองประธานาธิบดีในทีมของเขาอย่างเป็นทางการ โดยที่เขาอธิบายสรรพคุณว่า ผู้ว่าการเพนซ์ผู้นี้เป็นคนที่ “หนักแน่น” และเป็นผู้ที่สามารถสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวรีพับลิกันได้

“หนึ่งในเหตุผลข้อใหญ่ๆ ที่ผมเลือก ไมก์ –หนึ่งในเหตุผลเหล่านั้น— ก็คือความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวของพรรค” ทรัมป์กล่าวในการแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นที่แมนฮัตตัน

บางคนในหมู่ผู้ที่ข้องใจสงสัยในตัวทรัมป์ แสดงความรู้สึกพอใจกับการเลือกเพนซ์ นักอนุรักษนิยมตัวจริงเสียงจริงจากรัฐที่เดโมแครตเคยช่วงชิงไปได้เมื่อปี 2008

“ผู้ว่าการเพนซ์ ทำให้ทีมผู้สมัครทีมนี้มีความเข็มแข็งมากขึ้น ด้วยจุดยืนอนุรักษนิยมอันหนักแน่นมั่นคงและไร้ข้อสงสัย” มัวรีน บลูม ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมใหญ่คราวนี้คนหนึ่งจากวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้ที่หนุนหลัง มาร์โค รูบิโอ คู่แข่งที่พ่ายแพ้ไปอีกคนหนึ่งของทรัมป์ บอกกับเอเอฟพี
<i>บรรยากาศการจัดเวทีภายใน “ควิกเกน โลนส์ อารีนา” เมืองคลิฟแลนด์ เมื่อวันเสาร์ (16 ก.ค.) สำหรับการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน ที่จะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ (18) </i>
ทว่าเมื่อการประชุมใหญ่ขยับใกล้เข้ามา ทรัมป์กลับพบว่าตัวเองต้องตกลงไปอยู่ในท่ามกลางคลื่นใหญ่ลมแรงอีกครั้งหนึ่ง

การที่เขาดูเหมือนกับลังเลใจ ในการตัดสินใจ “ครั้งสุดท้าย ครั้งสุดท้ายแล้ว” เรื่องเลือกผู้สมัครรองประธานาธิบดีในทีมของเขา อาจจะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้แก่ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำที่กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของเขา

ทั้งนี้ทรัมป์กำหนดเปิดตัวรองประธานาธิบดีของเขาเอาไว้ในวันศุกร์ (15) แต่แล้วก็บอกงดการแถลงข่าวไปโดยอ้างเรื่องเกิดการโจมตีแบบก่อการร้ายในเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมาเดินหน้าใหม่ในท้ายที่สุดในวันเสาร์ (16)

ทว่าจากการเปิดตัวครั้งนี้เอง ก็ทำให้เกิดคำถามแรงๆ ขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับความสามารถของทีมรณรงค์หาเสียงของเขา

ถึงแม้เพนซ์จะไม่เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันเลยในท้องที่อื่นๆ ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ แต่ทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ก็ดูไม่ได้ใช้ความพยายามอะไรนักเพื่อแนะนำสร้างความประทับใจในตัวเขาต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้ง

ภาระหน้าที่ดังกล่าวกลับตกเป็นของทีมหาเสียงของฮิลลารี คลินตัน ซึ่งภายในเวลาไม่กี่นาทีก็ได้เผยแพร่ทั้งอีเมล, ข้อความ, คลิปวิดีโอ, และโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย บรรยายให้เห็นว่าเพนซ์เป็นพวกต่อต้านผู้หญิงและต่อต้านเกย์

“เพนซ์เป็นตัวเลือกที่สุดโต่งที่สุดในชั่วอายุคนทีเดียว” จอห์น โพเดสตา ผู้จัดการทีมรณรงค์หาเสียงของคลินตันระบุ

อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีอยู่บ้างสำหรับทรัมป์ เมื่อปรากฏว่าความพยายามในแนวคูรบแนวสุดท้ายของพวกปรปักษ์ของเขาในพรรครีพับลิกัน ที่จะเปลี่ยนแปลงกฎกติกาการเสนอชื่อของพรรคเพื่อจะได้หาทางเขี่ยเขาทิ้งไปในระหว่างการประชุมใหญ่คลิฟแลนด์คราวนี้ มีอันประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าแล้ว

แต่ถึงกระนั้นมันก็แทบไม่ได้นำไปสู่สัญญาณของการปรองดองเอาเสียเลย

ทรัมป์ทวีตส่งข้อความว่า “#NeverTrump ไม่มีเหลือแล้ว พวกเขาถูกบดขยี้ไปเมื่อคืนนี้ในคลิฟแลนด์ที่คณะกรรมาธิการกฎกติกา ด้วยคะแนน 87 ต่อ 12 MAKE AMERICA GREAT AGAIN!”

น้ำเสียงแบบไม่คิดประนีประนอมและขาดความใจกว้างเช่นนี้ ไม่น่าที่จะทำให้เขาสามารถชนะใจเพื่อนมิตรหน้าใหม่ๆ ได้
<i>บรรยากาศการรักษาความปลอดภัยบริเวณกลางเมืองคลิฟแลนด์ในวันเสาร์ (16 ก.ค.) เป็นการเตรียมพร้อมรับการประชุมใหญ่พรรครีพับลิกัน ซึ่งจะมีขึ้น 4 วันตั้งแต่วันจันทร์ (18) </i>
“ฉันต้องการโหวตให้ผู้สมัครรีพับลิกัน ฉันต้องการทำอย่างนั้นอย่างที่สุด” ลอรา เคอร์เนอร์ ซึ่งเป็นผู้แทนรีพับลิกันจากเทกซัสและเข้าร่วมประชุมใหญ่เป็นครั้งแรก กล่าว

“แต่ฉันก็ต้องการรู้สึกมั่นอกมั่นใจว่าฉันกำลังโหวตให้คนที่เป็นตัวแทนค่านิยมต่างๆ ของฉันด้วย” เธอบอก “ฉันไม่คิดหรอกว่า เขา (ทรัมป์) เป็นผู้สมัครที่ดีที่สุดสำหรับพรรครีพับลิกัน”

แม้กระทั่งตัวแทนอย่างเคอร์เนอร์ ผู้มีความปรารถนาที่จะให้โอกาสแก่ทรัมป์ ก็ยังต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในน้ำเสียงของเขาในที่ประชุมเขาคราวนี้

“ผมต้องการเห็นข้อความที่เป็นไปในทางบวก ผมต้องการให้เขาพูดในทางบวกเกี่ยวกับประเทศชาติของเรา และการรณรงค์หาเสียง ไม่ใช่เอาแต่ฉีกทำลายคนอื่นๆ” เวย์น เบนา ผู้แทนจากเนแบรสกา แสดงความคิดเห็น

พวกเจ้าหน้าที่รีพับลิกันบอกว่าธีมของการประชุมใหญ่ครั้งนี้ จะเป็นอย่างเดียวกับการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ นั่นคือคำมั่นสัญญาที่จะ “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง”

หัวข้อต่างๆ ที่จะพูดกันในที่ประชุมมีอย่างเช่น “ความมั่นคงแห่งชาติ, ผู้อพยพ, การค้าและงาน” เจฟฟ์ ลาร์สัน ซีอีโอของการประชุมใหญ่ครั้งนี้ระบุ

ท่ามกลางภูมิหลังของการเกิดเหตุโจมตีทั้งในซานเบอร์นาร์ดิโน, บรัสเซลส์, ออร์แลนโด, นีซ, และความปั่นป่วนวุ่นวายในตะวันออกกลาง, ทรัมป์อาจจะวางเดิมพันเอาไว้กับน้ำเสียงและยุทธวิธีอันแข็งกร้าวต่อไป หลังจากที่สิ่งเหล่านี้ได้นำพาเขาให้ก้าวเดินมาได้ไกลถึงขนาดนี้แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น