รอยเตอร์ - สื่อแดนมังกรรายงานในวันพุธ (17 ส.ค.) ว่าจีนและกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเป้าจะทำการกำหนดกรอบระเบียบปฏิบัติเพื่อลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ให้ได้ในช่วงกลางปีหน้า
นับตั้งแต่ปี 2010 จีนและ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนได้เคยหารือกันถึงกฎระเบียบปฏิบัติเพื่อเลี่ยงการปะทะกันระหว่างคู่ขัดแย้งที่ต่างก็อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้
เมื่อเดือนที่แล้ว ศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก ได้ตัดสินว่าจีนไม่ได้เป็นเจ้าของทะเลจีนใต้ตามประวัติศาสตร์อย่างที่จีนกล่าวอ้าง แถมจีนยังละเมิดอธิปไตยของฟิลิปปินส์ในน่านน้ำบริเวณนั้นด้วย การตัดสินดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจแก่จีน ที่มีการประกาศไว้ก่อนแล้วว่าจะไม่ยอมรับคำตัดสิน
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นั้นมาจีนดูจะกระตือรือร้นมากขึ้นที่จะให้กลับมาใช้การเจรจาด้านการทูตเพื่อแก้ปัญหานี้
หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี รายงานว่า ในการประชุมที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจะกำหนดกรอบการทำงานเพื่อจัดทำระเบียบปฏิบัติให้ได้ภายในช่วงกลางปี 2017 ทั้งยังอนุมัติแนวทางสำหรับการจัดตั้งสายด่วนฮอตไลน์ จีน-อาเซียน เพื่อใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางทะเล
สื่อจีนระบุด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันเรื่องข้อตกลงที่เกี่ยวกับการเผชิญหน้ากันทางทะเลแบบมิได้คาดหมาย ที่ลงนามในปี 2014 โดยหลายประเทศในภูมิภาคนี้ให้นำมาใช้ในทะเลจีนใต้
ไชน่า เดลี รายงานคำพูดของ หลิว เจิ้นหมิน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่ระบุว่า เอกสารข้อตกลงที่เกี่ยวกับเรื่องสายด่วนฮอตไลน์และการเผชิญหน้าโดยมิได้คาดหมายจะถูกส่งไปให้บรรดาผู้นำประเทศทำการอนุมัติขั้นตอนสุดท้ายในเดือนหน้าที่ประเทศลาว ตอนมีการประชุมระหว่างจีนและชาติสมาชิกอาเซียน
“นี่เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ เราได้มติเอกฉันท์ในการผลักดันไปสู่การเจรจาเรื่องระเบียบปฏิบัติใทะเลจีนใต้“” สื่อจีนรายงานคำพูดของหลิว
“ทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้มีการเจรจากันบ่อยขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่มีใครรบกวน รวมถึงหาทางร่างกรอบการทำงานเรื่องระเบียบปฏิบัติให้เสร็จในช่วงกลางปีหน้า” เขากล่าว
ทั้งนี้ นี่เป็นการประชุมครั้งที่สามในปีนี้ เกี่ยวกับเรื่องระเบียบปฏิบัติดังกล่าว “มันแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ในทะเลจีนใต้กำลังซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการแทรกแซงจากอำนาจภายนอก ชาติอาเซียนและจีนได้ตระหนักแล้วว่าเราต้องคว้ากุญแจแก้ปัญหาทะเลจีนใต้มาไว้ในมือเราเอง” หลิวกล่าว
ทั้งนี้ จีนได้โทษอเมริกาและชาติพันธมิตรในภูมิภาคดังกล่าว อาทิ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ว่าเป็นคนเพิ่มความตึงเครียดในทะเลจีนใต้