xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามเตือนประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้เป็นบททดสอบของอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ฝ่าม บิ่ง มีง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ขณะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 49 ในนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามได้ออกคำแถลงในช่วงค่ำวานนี้ (24) เตือนว่าประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้เป็นกรณีทดสอบความเป็นเอกภาพและบทบาทสำคัญของอาเซียน. -- Agence France-Presse/Hoang Dinh Nam.</font></b>

เอเอฟพี - เวียดนามเตือนว่าการไร้ความสามารถของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะผนึกกำลังแนวร่วมต่อต้านการเสริมแสนยานุภาพทางทหารของปักกิ่งในทะเลจีนใต้ เป็นบททดสอบของกลุ่มในการเผชิญต่อความท้าทายด้านความมั่นคงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ความเห็นจากหนึ่งประเทศสำคัญที่อ้างสิทธิในน่านน้ำพิพาทมีขึ้น เมื่อนักการทูตจาก 10 ชาติสมาชิกได้พบกันในลาวเพื่อประชุมหารือกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรมีคำตัดสินปฏิเสธการอ้างกรรมสิทธิของจีนเหนือดินแดนจำนวนมากในน่านน้ำยุทธศาสตร์ดังกล่าว

หลังการหารือของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศที่ติดขัดวานนี้ (24) กระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม ได้ออกคำแถลงในช่วงค่ำเตือนว่า ทะเลจีนใต้ได้กลายเป็นกรณีทดสอบความเป็นเอกภาพ และบทบาทสำคัญของอาเซียน

“รัฐมนตรีหลายคนเน้นย้ำในบริบทนี้ อาเซียนควรส่งเสริมความสามัคคี ความเป็นเอกภาพ และบทบาทสำคัญ” คำแถลงระบุ

บรรดานักการทูตได้พบหารือรอบใหม่ตามคำร้องของลาวในเช้าวันนี้ (25)

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ได้แสดงความเห็นในเชิงบวกว่า คำแถลงจะได้รับความเห็นชอบร่วมกัน

กัมพูชา พันธมิตรใกล้ชิดของปักกิ่งถูกกล่าวหาว่า ขัดขวางความพยายามของกลุ่มที่จะออกคำแถลงร่วมในการเรียกร้องให้ปักกิ่งปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร

4 ชาติสมาชิกในอาเซียน คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ต่างก็อ้างสิทธิเหนือน่านน้ำบางส่วนของทะเลจีนใต้แข่งกับจีนเช่นกัน

สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มต้องการที่จะรักษาแรงกดดันต่อจีนเกี่ยวกับการสร้างเกาะเทียมของจีนในน่านน้ำแห่งนี้

แต่อาเซียนดำเนินตามธรรมเนียมของฉันทมติที่เห็นชอบร่วมกัน ซึ่งหมายความว่า หากชาติสมาชิกรายใดไม่เห็นด้วยต่อชาติอื่นๆ ก็สามารถใช้สิทธิยับยั้งได้ ทำให้กลุ่มไม่สามารถออกคำแถลงที่อ้างอิงถึงคำตัดสินของศาล หรือประเด็นความมั่นคงที่สำคัญของภูมิภาค

จีนถูกกล่าวหาว่า ผูกพันธมิตรกับชาติสมาชิกอาเซียนรายเล็กๆ เช่น ลาว และกัมพูชา ผ่านการให้ความช่วยเหลือและการค้า เพื่อแบ่งแยกความเป็นเอกภาพของอาเซียน

ภาวะทางตันที่กำลังเกิดขึ้นในนครหลวงเวียงจันทน์นำไปสู่ความวิตกว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุมในกัมพูชาเมื่อปี 2555 ที่กลุ่มไม่สามารถออกคำแถลงร่วมได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอาเซียนเพราะความขัดแย้งเกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้.
กำลังโหลดความคิดเห็น