รอยเตอร์ - ญี่ปุ่นระบุในวันนี้ (8 ส.ค.) ว่า พวกเขาจะตอบสนองอย่างเด็ดขาดหลังจากที่เรือของรัฐบาลจีนรุกล้ำเข้าสู่สิ่งที่โตเกียวเรียกว่าเป็นน่านน้ำทางอาณาเขตใกล้หมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนตะวันออก 14 ครั้งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ส่งผลให้ความตึงเครียดสองฝ่ายรุนแรงยิ่งขึ้น
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ สุกะ กล่าวว่า โตเกียวจะยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้จีนอย่าทำให้ข้อพิพาททะเลจีนตะวันออกรุนแรงขึ้นในขณะเดียวกันก็จะตอบสนองเด็ดขาดและเยือกเย็นด้วย
สุกะบอกในการแถลงข่าวว่า เรือรัฐบาลจีนทั้งหมด 14 ลำได้เข้าสู่ “น่านน้ำต่อเนื่อง” ซึ่งอาจถูกควบคุมสำหรับการละเมิดกฎหมายศุลกากรและกฎหมายควบคุมการเข้าเมืองในช่วงไม่กี่วันมานี้ และรุกล้ำเข้าสู่สิ่งที่ญี่ปุ่นพิจารณาว่าเป็นน่านน้ำอาณาเขตของตน 14 ครั้ง
เรือจีน 12 ลำยังคงอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงเช้ามืดวันนี้ (8) เขากล่าว หน่วยงานต่างๆ รวมถึงหน่วยยามชายฝั่งจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดการกับสถานการณ์นี้ สุกะกล่าว
กิจกรรมของจีนใกล้หมู่เกาะแห่งนี้ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่าเซ็นกากุส่วนจีนเรียกว่าเตี้ยวอี๋ว์มีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (5) นำมาซึ่งการประท้วงจากโตเกียวหลายครั้งรวมถึง 3 ครั้งในวันเสาร์ (6) เพียงวันเดียว
เรือประมงจีนราว 230 ลำก็อยู่ในพื้นที่นี้เมื่อวันเสาร์ (6) กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นระบุ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ถึงเดือนหลังจากที่ศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮกตัดสินให้การอ้างสิทธิของจีนในทะเลจีนใต้เป็นโมฆะ ในคดีซึ่งยื่นฟ้องโดยฟิลิปปินส์
จีนปฏิเสธที่จะยอมรับคำตัดสินนี้ ญี่ปุ่นเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามคำตัดสินซึ่งพวกเขาระบุว่าเป็นข้อผูกมัด กระตุ้นให้ปักกิ่งออกโรงเตือนโตเกียวว่าอย่าแทรกแซง
เมื่อวันเสาร์ (6) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน หวา ชุนอิง กล่าวในถ้อยแถลงในเว็บไซต์กระทรวงฯว่า จีนมีอำนาจอธิปไตยอย่างที่ไม่อาจโต้แย้งได้เหนือหมู่เกาะแห่งนี้และน่านน้ำโดยรอบ
เมื่อวันศุกร์ (5) จีนกล่าวหา โทโมมิ อินาดะ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนใหม่ของญี่ปุ่นว่าบอกเล่าประวัติศาสตร์อย่างไม่ถูกต้องหลังจากที่เธอปฏิเสธที่จะกล่าวว่าทหารญี่ปุ่นเคยสังหารหมู่พลเรือนในจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่
อินาดะตอบรับความคิดเห็นของสุกะและกล่าวในวันนี้ (8) ว่า กองทัพญี่ปุ่นจะทำการตรวจการทางอากาศเพื่อให้ข้อมูลแก่หน่วยยามชายฝั่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 และอันดับ 3 ของโลก ถูกกัดเซาะจากความขัดแย้งทางดินแดนนี้, มรกดจากการที่ญี่ปุ่นเคยยึดครองส่วนหนึ่งของจีนในช่วงสงคราม และความเป็นปฏิปักษ์ในภูมิภาค