รอยเตอร์ - หนังสือพิมพ์ฝักใฝ่รัฐบาลตุรกีฉบับหนึ่งพาดหัวตัวโต ชี้ความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากซีไอเอและบัญชาการโดยนายพลสหรัฐฯ เกษียณอายุรายหนึ่งผ่านเครือข่ายในอัฟกานิสถาน ส่วนอีกฉบับระบุสายลับซีไอเอใช้โรงแรมบนเกาะนอกอิสตันบูลเป็นศูนย์รวม
ชาวเติร์กกระพือทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ เกี่ยวกับผู้ที่ช่วยเหลือวางแผนความพยายามก่อรัฐประหารแต่ล้มเหลว ซึ่งเกือบโค่นล้มประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน โดยมีสหรัฐฯ พันธมิตรนาโต้ผู้ใกล้ชิดอยู่ในบัญชีต้องสงสัยลำดับต้นๆ
“รัฐประหารสั่งการโดยชายคนนี้” พาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เยนิ ซาฟัค ระบุ โดยข้างๆ เป็นรูปของพลเอก จอห์น เอฟ. แคมป์เบลล์ นายทหารเกษียณอายุสหรัฐฯ และผู้บัญชาการคนสุดท้ายของกองกำลังที่นำโดยนาโต้ในอัฟกานิสถาน ที่ก่อนหน้านั้นเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ คนที่ 34
สื่อมวลชนแห่งนี้ระบุว่ารัฐประหารล่มครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากซีไอเอผ่านธนาคารยูไนเต็ด แบงก์ ฟอร์ แอฟริกา (ยูบีเอ) ของไนจีเรีย และนายพลตุรกีประจำอัฟกานิสถาน 2 นายถูกควบคุมตัวที่ดูไบ เมื่อวันอังคาร (26 ก.ค.) ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้วางแผนของนายพลแคมป์เบลล์
ธนาคารยูบีเอปฏิเสธความเกี่ยวข้องและบอกว่าข้อกล่าวหาต่างๆ ไม่เป็นจริงแม้แต่น้อย ส่วนนายพลแคมป์เบลล์บอกว่าข้อกล่าวหานี้ไร้สาระ และวอชิงตันระบุคำกล่าวอ้างที่ว่าอเมริกามีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเหลวไหลสิ้นดี
ประธานาธิบดีแอร์โดอันกล่าวโทษนายเฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาอิสลามคนดังที่พำนักอยู่ในสหรัฐฯ เป็นผู้บงการความพยายามรัฐประหารดังกล่าว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 240 ราย และเรียกร้องให้วอชิงตันส่งตัวเขากลับประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน
แอร์โดอันกล่าวหานายกูเลนว่าสร้างโครงสร้างคู่ขนานภายในศาลยุติธรรม ระบบการศึกษา สื่อมวลชน และกองทัพในความพยายามโค่นอำนาจเขา ข้อกล่าวหาที่นักการศาสนาวัย 75 ปีปฏิเสธ ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่ในวันอังคาร (26 ก.ค.) พบว่า 2 ใน 3 ของชาวเติร์กเชื่อว่านายกูเลนอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร แม้มีเพียง 3.8 เปอร์เซ็นต์ที่กล่าวโทษอเมริกา
นายกรัฐมนตรี บินาลี ยิลดิริม แห่งตุรกีบอกว่า ประเทศใดๆ ที่ยืนหยัดอยู่ข้างนายกูเลน จะถูกมองว่าอยู่ในภาวะสงครามกับตุรกี ส่วนซูเลย์มัน ซอยลู รัฐมนตรีแรงงานกล่าว 1 วันหลังความพยายามรัฐประหารระบุชัดเจนว่า “อเมริกาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง” แม้ต่อมาโฆษกของนายแอร์โดอันพยายามแก้ต่างว่ารัฐมนตรีรายนี้ไม่สบายตอนให้สัมภาษณ์
วอชิงตันบอกว่าจะส่งตัวนายกูเลนในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนก็ต่อเมื่อตุรกีมอบหลักฐานที่แสดงถึงการทำผิดของเขา ซึ่งสำหรับเหล่าผู้สนับสนุนแรงกล้าของนายแอร์โดกัน มองว่าท่าทีอึกอักเช่นนี้คือหลักฐานเพิ่มเติมที่บ่งชี้ถึงการสมรู้ร่วมคิดของสหรัฐฯ
ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวเติร์กได้เล่าย้อนความถึงเหตุรัฐประหารที่ผ่านๆ มา โดยหลายคนเห็นหลักฐานว่าสหรัฐฯ สนับสนุนการยึดอำนาจในปี 1980 ในช่วงระอุสุดของสงครามเย็น โดยอ้างเอกสารลับของหัวหน้าซีไอเอในอังการา ที่ระบุว่า “เด็กของเราเป็นคนทำเอง” นอกจากนี้แล้วยังคงมีปริศนาห้อมล้อมเหตุรัฐประหารครั้งแรกของตุรกีในปี 1960 ซึ่งโค่นล้มนายกรัฐมนตรีฝักใฝ่อเมริกา ทว่าผู้ก่อการกลับนำโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝนจากวอชิงตัน
ซาบาห์ หนังสือพิมพ์ฝักใฝ่รัฐบาลตุรกีอีกฉบับเผยแพร่ภาพถ่ายโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่ระบุว่าเป็นศูนย์รวมของสายลับซีไอเอ ที่ช่วยวางแผนรัฐประหารช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา “ซีไอเอทำงานในโรงแรมแห่งนี้ในคืนนั้น” พาดหัวข่าวระบุอยู่เหนือภาพถ่ายของโรงแรมสเปลนดิด บนเกาะบูยูคาดา เกาะใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะในทะเลมาร์มะรา นอกชายฝั่งอิสตันบูล
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ระบุว่าคนกลุ่มนี้มีอยู่ 17 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เข้าเช็กอินที่โรงแรมหนึ่งวันก่อนความพยายามรัฐประหาร และบอกว่าโรงแรมแห่งนี้เคยถูกใช้เป็นศูนย์บัญชาการของทหารอังกฤษระหว่างบุกยึดอิสตันบูลในปี 1919