เอเจนซีส์ - ฟิลิปปินส์ยืนยันจีนไม่ได้เป็นผู้ชนะจาก “แถลงการณ์ร่วมอาเซียน” เนื่องจากไม่ใช่เวทีวิจารณ์กรณีพิพาททะเลจีนใต้ ด้านจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศย้ำสนับสนุนมะนิลาในการเปิดเจรจากับแดนมังกร ขณะที่ปักกิ่งตำหนิ “คำแถลงการณ์ อเมริกา-ออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น” ไม่รู้จักกาลเทศะและไม่สร้างสรรค์ ชี้พยายามสุมไฟทั้งที่ประเทศในภูมิภาคต้องการผ่อนคลายสถานการณ์
เปอร์เฟ็กโต ยาซาย รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ แถลงที่กรุงมะนิลาเมื่อวันพุธ (27 ก.ค.) ยืนยันว่าฟิลิปปินส์ไม่ได้พยายามขอความสนับสนุนจากสมาคมอาเซียนหรือนานาชาติ สำหรับกรณีคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ที่บอกปัดไม่ยอมรับข้ออ้างสำคัญของจีนในการถือกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนจำนวนมากในทะเลจีนใต้ รวมทั้งฟิลิปปินส์ก็ไม่ต้องการผลักดันประเด็นนี้จนกระทั่งเสี่ยงที่จะทำให้อาเซียนแตกแยกหรือกลายเป็นการยั่วยุจีน
คำแถลงนี้มีขึ้นภายหลังยาซายเดินทางกลับจากการประชุมประจำปีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ลาวช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าแถลงการณ์ร่วมของเหล่ารัฐมนตรีอาเซียนไม่ได้ระบุพาดพิงถึงคำตัดสินเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก
รัฐมนตรีต่างประเทศแดนตากาล็อกสำทับว่า รายงานที่ว่าจีนชนะในเวทีประชุมอาเซียนเนื่องจากมะนิลาตกลงที่จะไม่กล่าวถึงคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการนั้นไม่เป็นความจริง เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของฟิลิปปินส์กับจีนเท่านั้น จึงไม่ควรนำเข้าหารือในอาเซียน ดังนั้นจึงไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะในการประชุมที่เวียงจันทน์ และแถลงการณ์ร่วมคือชัยชนะของอาเซียนทั้งหมด
ขณะเดียวกัน เคร์รีที่เดินทางเยือนมะนิลาภายหลังเข้าร่วมการประชุมที่เวียงจันทน์เช่นกัน ได้แสดงความพอใจกับแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเนื่องจากสะท้อนว่าสมาชิกอาเซียนสนับสนุนตัวบทกฎหมาย
ทั้งนี้ นักการทูตเผยว่า ในตอนแรกฟิลิปปินส์และเวียดนามต้องการให้แถลงการณ์ร่วมของอาเซียนอ้างอิงถึงคำตัดสินของศาลกรุงเฮก รวมทั้งเรียกร้องให้เคารพกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ ทว่า กัมพูชาซึ่งเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของจีนในอาเซียน คัดค้านและเห็นดีกับปักกิ่งในการเรียกร้องให้เปิดการเจรจาทวิภาคี ทำให้ที่สุดแล้วมะนิลาต้องยอมถอย เนื่องจากกลัวว่าอาเซียนจะไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์รอบ 49 ปีของสมาคม
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังสนับสนุนข้อเรียกร้องของยาซายให้จีนตอบตกลงเพื่อเริ่มการเจรจากับฟิลิปปินส์ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่ามะนิลาจะใช้วิจารณญาณอย่างถูกต้องในการเดินหน้าแก้ไขข้อพิพาทนี้
ทั้งนี้ เคร์รีมีกำหนดร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ในวันพุธ (27) และหารือแนวทางในการดำเนินการตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังแย้มว่า ระหว่างพบกับผู้นำมะนิลา เคร์รีอาจแสดงความกังวลเกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์อันไม่น่าอภิรมย์” ในฟิลิปปินส์จากการวิสามัญฆาตกรรมและการใช้ความรุนแรงกับสื่อ
วันเดียวกันนั้น หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ออกคำแถลงวิจารณ์แถลงการณ์ร่วมของอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลียเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ที่ออกมาภายหลังรัฐมนตรีต่างประเทศ 3 ประเทศนี้ได้หารือกันนอกรอบระหว่างเข้าร่วมงานประชุมของอาเซียนที่เวียงจันทน์ โดยหวังระบุว่า แถลงการณ์ร่วมของประเทศทั้ง 3 รังแต่โหมกระพือให้ความตึงเครียดในภูมิภาคให้ลุกลามออกไป ทั้งที่ประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่งตกลงกันว่าจะหาทางผ่อนคลายสถานการณ์
“นี่คือเวลาในการทดสอบว่าคุณคือผู้รักษาสันติภาพหรือตัวสร้างปัญหา” หวังกล่าว และยังวิจารณ์ว่า แถลงการณ์ของสามประเทศไม่สร้างสรรค์และไม่ถูกกาลเทศะ
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวเรียกร้องให้จีนยุติการสร้างป้อมค่ายทางทหารและการถมทะเลสร้างเกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศการสนับสนุนอย่างชัดเจนต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกรณีพิพาทแย่งชิงสิทธิ์ในทะเลจีนใต้กับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์และเวียดนาม