(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Is South China Sea FON issue prelude to another Gulf of Tonkin Resolution?
BY George Koo
14/07/2016
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สหรัฐฯด้วยการหนุนหลังของญี่ปุ่นคือผู้อยู่เบื้องหลังการดึงเอาศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน โดยที่ฝ่ายอเมริกันนั้นมีแผนจะประทับตราจีนให้กลายเป็นผู้รุกราน เพื่อที่กองเรือรบของสหรัฐฯจะได้สามารถเคลื่อนขบวนไปรอบๆ ทะเลจีนใต้ในนามของการฝึกซ้อมและการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ
เมื่อตอนที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration หรือ PCA) ในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ ประกาศผลการวินิจฉัยตัดสินของตนในกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ชนะเหนือจีนนั้น ปรากฏว่าฝ่ายที่ดีอกดีใจที่สุดคือสหรัฐอเมริกา
โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯรีบประกาศทันทีว่าคำตัดสินนี้มีผลทางกฎหมายและผูกมัดทุกๆ ฝ่ายตั้งแต่บัดนี้ไปจนตลอดกาล ท่าทีเช่นนี้ต้องถือว่าแปลกประหลาดเนื่องจากในอดีตเมื่อมีคำตัดสินของ PCA ซึ่งไม่เป็นที่พึงปรารถนาของวอชิงตันแล้ว สหรัฐฯก็เพิกเฉยไม่แยแสไปเสียเลย
สำหรับจีนนั้นปฏิกิริยาตอบโต้ในทันทีคือการออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับ โดยระบุว่าคำตัดสินนี้ผิดกฎหมายและยิ่งกว่านั้นยังไร้ความหมายอีกด้วย ไร้ความหมายเนื่องจากในการพิจารณาตัดสินลักษณะอนุญาโตตุลาการใดๆ ก็ตามที ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นชอบต่อการยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการตัดสิน ทว่าจีนไม่เคยเห็นชอบที่จะเข้าร่วมในกรณีนี้เลย
ส่วนที่ว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างเป็นผู้ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า UNCLOS) และในฐานะที่เป็นผู้ลงนาม ข้อตกลงที่เป็นข้อผูกมัดในทางกฎหมายก็คือ ฝ่ายต่างๆ จะทำการเจรจากันในเรื่องใดๆ ก็ตามทีที่พิพาทกัน
สำหรับสหรัฐฯนั้นไม่เคยให้สัตยาบันอนุสัญญา UNCLOS ดังนั้นจึงเป็นได้เพียงแค่แขกผู้ไม่ได้รับเชิญในข้อพิพาทนี้เท่านั้น
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าลุงแซมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียงใดๆ กับเขาเลย ตรงกันข้ามสหรัฐฯคือผู้ที่กำลังจงใจเพิ่มความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ และวางแผนจัดฉากให้อดีตประธานาธิบดีเบนีโญ อากีโน ของฟิลิปปินส์ ยื่นประเด็นปัญหานี้เพียงลำพังฝ่ายเดียวต่อ PCA เพื่อขอให้วินิจฉัยตัดสิน
PCA นั้นไม่ใช่ศาลตัดสินคดีความทางกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ได้มีผู้พิพากษาถาวรมาทำหน้าที่พิจารณาคดีความ แท้ที่จริงแล้ว ศาลอนุญาโตตุลาการแห่งนี้มีรายชื่อผู้ที่จะเป็นอนุญาโตตุลาการได้ และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในข้อพิพาทต้องทำความตกลงกันว่า คณะตุลาการที่จะมาพิจารณากรณีพิพาทของพวกเขานั้นจะประกอบด้วยผู้ใดบ้าง
เนื่องจากจีนไม่ได้ยินยอมเห็นชอบที่จะเข้าร่วม จึงเห็นได้ชัดว่าจีนไม่ได้มีสิทธิมีส่วนในการเลือกสรรคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้เลย
อิทธิพลของฝ่ายญี่ปุ่น?
แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ชุนจิ ยาไน (Shunji Yanai) ในฐานะที่เป็นประธานของศาลทางคดีกฎหมายทะเลต่างหาก คือผู้ที่แต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการทั้ง 5 มาพิจารณาตัดสินข้อพิพาทนี้ ยาไนเป็นอดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำวอชิงตัน, เป็นเพื่อนที่ดีของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น, และขึ้นชื่อลือชาในเรื่องทัศนะความคิดเห็นแบบขวาจัดสุดโต่งของเขา –ซึ่งดูแล้วก็ไม่เข้าข่ายเป็นฝ่ายไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย
มีบางคนโต้แย้งว่าจีนนั้นมองเห็นอยู่แล้วว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการพิจารณาตัดสินอย่างยุติธรรมภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งในหลายๆ ประการซึ่งทำให้ปักกิ่งปฏิเสธไม่ยอมเข้ามีส่วนร่วม
ปรากฏว่าคณะอนุญาโตตุลาการของศาล PCA คณะนี้ ไม่เพียงตัดสินเข้าข้างจุดยืนของฟิลิปปินส์ทุกอย่างทุกประการเท่านั้น หากแต่ยังตัดสินในคราวเดียวกันนี้ด้วยว่า อีตู อาบา (Itu Aba) ไม่ได้เป็นเกาะ หากแต่เป็นเพียงอะทอลล์ (atoll) ซึ่งก็คือเป็นเกาะรูปวงแหวนที่เกิดจากหินปะการัง
รัฐบาลสาธารณรัฐจีนของไทเปได้เข้าควบคุม อีตู อาบา (และเรียกชื่อว่าเกาะไท่ผิง Taiping Dao) นับตั้งแต่ได้รับมอบจากพวกทหารญี่ปุ่นซึ่งตั้งประจำอยู่ที่นั่นในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาะไท่ผิงนั้นมีน้ำจืดและมนุษย์สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ที่นั่นได้แม้กระทั่งตั้งแต่ก่อนสงครามโลกคราวนั้นแล้ว ไต้หวันได้สร้างลานขึ้นลงเครื่องบินแห่งหนึ่งและอู่เรือแห่งหนึ่งขึ้นที่นั่นด้วยซ้ำ มันมีทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเกาะๆ หนึ่งสมควรจะต้องมี และไม่ได้เป็นเพียงพืดหินหรือเกาะปะการังที่โผล่เหนือทะเลในเวลาน้ำขึ้นอย่างแน่นอน
คำตัดสินแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยจากกรุงเฮก โดยที่ไทเปไม่ได้รับทราบแม้กระทั่งเรื่องที่ว่าพวกเขากลายเป็นฝ่ายหนึ่งในข้อพิพาทคราวนี้ด้วย ถือได้ว่าเป็นการตบใส่อย่างหยาบคายที่ใบหน้าของรัฐบาลไช่ อิงเหวิน และใครก็ตามทีที่ประกาศอ้างอำนาจอธิปไตย
ทุกๆ คนทราบกันดีอยู่แล้วว่า สหรัฐฯที่ได้รับการหนุนหลังจากญี่ปุ่นนั่นแหละ อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวที่จะดึงเอาองค์กรอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จุดมุ่งหมายก็เพื่อจัดวางพื้นเวทีสำหรับทุกๆ ประเทศรอบๆ ทะเลจีนใต้เข้ามาชุมนุมคัดค้านการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน
ไต้หวันกลายเป็นผู้ที่เจอลูกหลง
ไต้หวันกลายเป็นผู้ที่เจอลูกหลงจากการต่อสู้ต่อยตีกันของพวกมหาอำนาจยิ่งใหญ่ และรัฐบาลไต้หวันก็ยังคงไม่ทันฟื้นตัวดีนักจากอาการช็อกที่ถูกทรยศหักหลังจากผู้ซึ่งพวกเขาเชื่อมาตลอดว่าเป็น 2 “เพื่อนมิตรสุดดี” ของพวกเขา ซึ่งพวกเขาสามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ว่าจะคอยพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของไต้หวัน
ถือว่าเป็นตลกร้ายเรื่องหนึ่งทีเดียว เมื่อคำตัดสินของ PCA คราวนี้ได้นำเอาไต้หวันมาอยู่ข้างเดียวกันกับเพื่อนบ้านแผ่นดินใหญ่ของตนอย่างหนักแน่นมั่นคง ทั้งสองฟากฝั่งของช่องแคบไต้หวันต่างอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของพวกเขาโดยอิงอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างเดียวกัน และแนวเส้นประ 9 เส้นรูปตัว U อันเดียวกัน เวลานี้พวกเขาก็ต้องอยู่ข้างเดียวกันในการป้องกันข้ออ้างกรรมสิทธิ์อันเดียวกันของพวกเขา และทั้งคู่ต่างก็ออกมาประกาศปฏิเสธไม่ยอมรับไม่แยแสต่อคำตัดสินของ PCA คราวนี้
วอชิงตันนั้นยืนกรานว่ากิจกรรมของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการถมทะเลและสร้างลานบินขึ้นในเกาะต่างๆ ที่อยู่ในความครอบครองของจีนนั้น คือการสร้างภัยคุกคามต่อเสรีภาพในการเดินเรือ (Freedom of Navigation ใช้อักษรย่อว่า FON)
ปักกิ่งทำการตอบโต้โดยชี้ว่าเวียดนามและฟิลิปปินส์ได้เคยกระทำการปรับปรุงทำนองเดียวกันนี้บนเกาะต่างๆ ที่พวกเขายึดครองเอาไว้ นานนักหนาก่อนที่จีนกระทำเสียอีก แถมยังกระทำในสถานที่ต่างๆ ของทะเลจีนใต้มากแห่งกว่าด้วยซ้ำ แล้วทำไมสหรัฐฯจึงไม่ได้แสดงความวิตกกังวลทำนองเดียวกันนี้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้?
ปักกิ่งยังชี้ต่อไปว่า ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์การขัดขวางการเดินเรือใดๆ ขึ้นมาเลยไม่ว่าก่อนหน้าหรือตั้งแต่ที่จีนเริ่มต้นเข้ายึดครองเกาะเหล่านี้ จีนกระทั่งเป็นผู้จัดสร้างประภาคารหลายๆ แห่งขึ้นตามสถานที่ทางยุทธศาสตร์ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้มีความปลอดภัยในการเดินเรือทะเลด้วยซ้ำไป
มุ่งประทับตราให้จีนกลายเป็นผู้รุกราน
เอาเข้าจริงแล้วเห็นได้ชัดว่า สาเหตุแท้จริงของการโต้แย้งวิวาทกันคราวนี้ มาจากแผนอุบายของฝ่ายอเมริกันที่จะประทับตราจีนให้กลายเป็นผู้รุกราน เพื่อที่กองเรือรบของสหรัฐฯจะได้สามารถเคลื่อนขบวนไปรอบๆ ทะเลจีนใต้ในนามของการฝึกซ้อมและการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ
มันเป็นการโกหกชัดๆ ที่เที่ยวชี้ให้เห็นถึงความปั่นป่วนซึ่งถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลังโดยหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกัน 2 หมู่ แล้วกล่าวหาว่าจีนคือผู้ที่กวนให้น้ำขุ่นด้วยการถมทะเลสร้างเกาะเทียม --นี่เป็นกรณีที่อันธพาลเที่ยวกล่าวหาคนอื่นว่ากำลังทำตัวเป็นพวกก่อกวนยุยงโดยแท้ทีเดียว
สาธารณชนชาวอเมริกันน่าจะยังจำได้ถึงกรณีฉาวโฉ่ที่เรียกกันว่า “ญัตติอ่าวตังเกี๋ย” (Gulf of Tonkin resolution) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน มีข้ออ้างสำหรับการเข้าไปทำสงครามในเวียดนาม
ญัตติของรัฐสภาอเมริกันฉบับนั้นผ่านออกมา โดยอาศัยข้อกล่าวหาที่ว่าพวกเรือปืนของเวียดนามเหนือได้แสดงพฤติการณ์ก้าวร้าวรุกราน ซึ่งปรากฏความจริงออกมาในภายหลังว่า นี่เป็นเพียงเรื่องโกหกที่ฝ่ายสหรัฐฯกุขึ้นมา
ดังนั้นขณะที่เรือรบอเมริกันแล่นอยู่ในทะเลจีนใต้เพื่อสำแดงถึงเสรีภาพในการเดินเรือ มันก็อาจจะเกิดเรื่องแบบเดียวกันขึ้นมาบ้าง (ตามแต่ที่ฝ่ายคลั่งสงครามในวอชิงตันปรารถนาให้เกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาใด) และกลายเป็นข้ออ้างบังหน้าที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเหตุผลความชอบธรรมให้แก่การผ่านญัตติอ่าวตังเกี๋ยอีกฉบับหนึ่ง ฮิลลารี คลินตัน คือผู้วางแผนบงการยุทธศาสตร์เช่นนี้ ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ --และน่าสงสัยอยู่หรอกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ก็คงสามารถที่จะเฉไฉบิดเบี้ยวในทำนองเดียวกันนี้ได้เช่นกัน
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ฉบับเร็วๆ นี้ มีกว่า 70 ประเทศทีเดียวที่แสดงความเห็นพ้องอย่างเปิดเผยกับจีน ในเรื่องที่ว่าข้อพิพาททะเลจีนใต้สมควรที่จะแก้ไขคลี่คลายด้วยการเจรจากันระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งพิพาทกันอยู่ ไม่ใช่ผ่านการตัดสินชนิดฟังความข้างเดียวของอนุญาโตตุลาการ มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่สนับสนุนฟิลิปปินส์และเห็นว่าคำตัดสินนี้ชอบด้วยกฎหมาย
เราไม่มีโอกาสได้เห็นผลการสำรวจความคิดเห็นของประเทศต่างๆ ในเอเชียทำนองนี้ ในหัวข้อว่าพวกเขารู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่ภายใต้ร่มเงาของกองเรือรบอเมริกัน แต่อย่างที่ไต้หวันประสบพบเจอในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายๆ ชาติต้องรู้สึกวุ่นวายใจอย่างแน่นอนต่อความสับปลับหลอกลวงของอเมริกัน
ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่เชื่อว่าอำนาจคือความถูกต้อง และการเผชิญหน้าคือแนวทางที่ดีที่สุดในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งสามารถนึกออกในทันที ได้แก่ โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์
เขาไม่ได้มองว่าคำตัดสินในทางเข้าข้างฟิลิปปินส์ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร คือตอนจบของเรื่องนี้แล้ว หากแต่มองชัยชนะคราวนี้ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการเจรจาต่อรองกับจีนเพื่อการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระยะยาว การปรับปรุงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของฟิลิปปินส์ด้วยความช่วยเหลือจากจีน เป็นต้นว่าพวกท่าเรือและในเรื่องรถไฟความเร็วสูง จะสร้างผลประโยชน์แก่แดนตากาล็อกยิ่งกว่าการได้มองเห็นเรือรบอเมริกันแล่นไปมาอยู่เป็นครั้งคราวมากมายนัก
ดร. จอร์จ คู เพิ่งเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้จากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลก แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจ ของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100, the Pacific Council for International Policy และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media
(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)
Is South China Sea FON issue prelude to another Gulf of Tonkin Resolution?
BY George Koo
14/07/2016
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า สหรัฐฯด้วยการหนุนหลังของญี่ปุ่นคือผู้อยู่เบื้องหลังการดึงเอาศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน โดยที่ฝ่ายอเมริกันนั้นมีแผนจะประทับตราจีนให้กลายเป็นผู้รุกราน เพื่อที่กองเรือรบของสหรัฐฯจะได้สามารถเคลื่อนขบวนไปรอบๆ ทะเลจีนใต้ในนามของการฝึกซ้อมและการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ
เมื่อตอนที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration หรือ PCA) ในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ ประกาศผลการวินิจฉัยตัดสินของตนในกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ชนะเหนือจีนนั้น ปรากฏว่าฝ่ายที่ดีอกดีใจที่สุดคือสหรัฐอเมริกา
โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯรีบประกาศทันทีว่าคำตัดสินนี้มีผลทางกฎหมายและผูกมัดทุกๆ ฝ่ายตั้งแต่บัดนี้ไปจนตลอดกาล ท่าทีเช่นนี้ต้องถือว่าแปลกประหลาดเนื่องจากในอดีตเมื่อมีคำตัดสินของ PCA ซึ่งไม่เป็นที่พึงปรารถนาของวอชิงตันแล้ว สหรัฐฯก็เพิกเฉยไม่แยแสไปเสียเลย
สำหรับจีนนั้นปฏิกิริยาตอบโต้ในทันทีคือการออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับ โดยระบุว่าคำตัดสินนี้ผิดกฎหมายและยิ่งกว่านั้นยังไร้ความหมายอีกด้วย ไร้ความหมายเนื่องจากในการพิจารณาตัดสินลักษณะอนุญาโตตุลาการใดๆ ก็ตามที ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นชอบต่อการยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการตัดสิน ทว่าจีนไม่เคยเห็นชอบที่จะเข้าร่วมในกรณีนี้เลย
ส่วนที่ว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างเป็นผู้ลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า UNCLOS) และในฐานะที่เป็นผู้ลงนาม ข้อตกลงที่เป็นข้อผูกมัดในทางกฎหมายก็คือ ฝ่ายต่างๆ จะทำการเจรจากันในเรื่องใดๆ ก็ตามทีที่พิพาทกัน
สำหรับสหรัฐฯนั้นไม่เคยให้สัตยาบันอนุสัญญา UNCLOS ดังนั้นจึงเป็นได้เพียงแค่แขกผู้ไม่ได้รับเชิญในข้อพิพาทนี้เท่านั้น
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าลุงแซมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียงใดๆ กับเขาเลย ตรงกันข้ามสหรัฐฯคือผู้ที่กำลังจงใจเพิ่มความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ และวางแผนจัดฉากให้อดีตประธานาธิบดีเบนีโญ อากีโน ของฟิลิปปินส์ ยื่นประเด็นปัญหานี้เพียงลำพังฝ่ายเดียวต่อ PCA เพื่อขอให้วินิจฉัยตัดสิน
PCA นั้นไม่ใช่ศาลตัดสินคดีความทางกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ได้มีผู้พิพากษาถาวรมาทำหน้าที่พิจารณาคดีความ แท้ที่จริงแล้ว ศาลอนุญาโตตุลาการแห่งนี้มีรายชื่อผู้ที่จะเป็นอนุญาโตตุลาการได้ และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในข้อพิพาทต้องทำความตกลงกันว่า คณะตุลาการที่จะมาพิจารณากรณีพิพาทของพวกเขานั้นจะประกอบด้วยผู้ใดบ้าง
เนื่องจากจีนไม่ได้ยินยอมเห็นชอบที่จะเข้าร่วม จึงเห็นได้ชัดว่าจีนไม่ได้มีสิทธิมีส่วนในการเลือกสรรคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้เลย
อิทธิพลของฝ่ายญี่ปุ่น?
แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ชุนจิ ยาไน (Shunji Yanai) ในฐานะที่เป็นประธานของศาลทางคดีกฎหมายทะเลต่างหาก คือผู้ที่แต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการทั้ง 5 มาพิจารณาตัดสินข้อพิพาทนี้ ยาไนเป็นอดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำวอชิงตัน, เป็นเพื่อนที่ดีของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น, และขึ้นชื่อลือชาในเรื่องทัศนะความคิดเห็นแบบขวาจัดสุดโต่งของเขา –ซึ่งดูแล้วก็ไม่เข้าข่ายเป็นฝ่ายไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย
มีบางคนโต้แย้งว่าจีนนั้นมองเห็นอยู่แล้วว่าพวกเขาจะไม่ได้รับการพิจารณาตัดสินอย่างยุติธรรมภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งในหลายๆ ประการซึ่งทำให้ปักกิ่งปฏิเสธไม่ยอมเข้ามีส่วนร่วม
ปรากฏว่าคณะอนุญาโตตุลาการของศาล PCA คณะนี้ ไม่เพียงตัดสินเข้าข้างจุดยืนของฟิลิปปินส์ทุกอย่างทุกประการเท่านั้น หากแต่ยังตัดสินในคราวเดียวกันนี้ด้วยว่า อีตู อาบา (Itu Aba) ไม่ได้เป็นเกาะ หากแต่เป็นเพียงอะทอลล์ (atoll) ซึ่งก็คือเป็นเกาะรูปวงแหวนที่เกิดจากหินปะการัง
รัฐบาลสาธารณรัฐจีนของไทเปได้เข้าควบคุม อีตู อาบา (และเรียกชื่อว่าเกาะไท่ผิง Taiping Dao) นับตั้งแต่ได้รับมอบจากพวกทหารญี่ปุ่นซึ่งตั้งประจำอยู่ที่นั่นในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาะไท่ผิงนั้นมีน้ำจืดและมนุษย์สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ที่นั่นได้แม้กระทั่งตั้งแต่ก่อนสงครามโลกคราวนั้นแล้ว ไต้หวันได้สร้างลานขึ้นลงเครื่องบินแห่งหนึ่งและอู่เรือแห่งหนึ่งขึ้นที่นั่นด้วยซ้ำ มันมีทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเกาะๆ หนึ่งสมควรจะต้องมี และไม่ได้เป็นเพียงพืดหินหรือเกาะปะการังที่โผล่เหนือทะเลในเวลาน้ำขึ้นอย่างแน่นอน
คำตัดสินแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยจากกรุงเฮก โดยที่ไทเปไม่ได้รับทราบแม้กระทั่งเรื่องที่ว่าพวกเขากลายเป็นฝ่ายหนึ่งในข้อพิพาทคราวนี้ด้วย ถือได้ว่าเป็นการตบใส่อย่างหยาบคายที่ใบหน้าของรัฐบาลไช่ อิงเหวิน และใครก็ตามทีที่ประกาศอ้างอำนาจอธิปไตย
ทุกๆ คนทราบกันดีอยู่แล้วว่า สหรัฐฯที่ได้รับการหนุนหลังจากญี่ปุ่นนั่นแหละ อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวที่จะดึงเอาองค์กรอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จุดมุ่งหมายก็เพื่อจัดวางพื้นเวทีสำหรับทุกๆ ประเทศรอบๆ ทะเลจีนใต้เข้ามาชุมนุมคัดค้านการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน
ไต้หวันกลายเป็นผู้ที่เจอลูกหลง
ไต้หวันกลายเป็นผู้ที่เจอลูกหลงจากการต่อสู้ต่อยตีกันของพวกมหาอำนาจยิ่งใหญ่ และรัฐบาลไต้หวันก็ยังคงไม่ทันฟื้นตัวดีนักจากอาการช็อกที่ถูกทรยศหักหลังจากผู้ซึ่งพวกเขาเชื่อมาตลอดว่าเป็น 2 “เพื่อนมิตรสุดดี” ของพวกเขา ซึ่งพวกเขาสามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ว่าจะคอยพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของไต้หวัน
ถือว่าเป็นตลกร้ายเรื่องหนึ่งทีเดียว เมื่อคำตัดสินของ PCA คราวนี้ได้นำเอาไต้หวันมาอยู่ข้างเดียวกันกับเพื่อนบ้านแผ่นดินใหญ่ของตนอย่างหนักแน่นมั่นคง ทั้งสองฟากฝั่งของช่องแคบไต้หวันต่างอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของพวกเขาโดยอิงอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างเดียวกัน และแนวเส้นประ 9 เส้นรูปตัว U อันเดียวกัน เวลานี้พวกเขาก็ต้องอยู่ข้างเดียวกันในการป้องกันข้ออ้างกรรมสิทธิ์อันเดียวกันของพวกเขา และทั้งคู่ต่างก็ออกมาประกาศปฏิเสธไม่ยอมรับไม่แยแสต่อคำตัดสินของ PCA คราวนี้
วอชิงตันนั้นยืนกรานว่ากิจกรรมของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการถมทะเลและสร้างลานบินขึ้นในเกาะต่างๆ ที่อยู่ในความครอบครองของจีนนั้น คือการสร้างภัยคุกคามต่อเสรีภาพในการเดินเรือ (Freedom of Navigation ใช้อักษรย่อว่า FON)
ปักกิ่งทำการตอบโต้โดยชี้ว่าเวียดนามและฟิลิปปินส์ได้เคยกระทำการปรับปรุงทำนองเดียวกันนี้บนเกาะต่างๆ ที่พวกเขายึดครองเอาไว้ นานนักหนาก่อนที่จีนกระทำเสียอีก แถมยังกระทำในสถานที่ต่างๆ ของทะเลจีนใต้มากแห่งกว่าด้วยซ้ำ แล้วทำไมสหรัฐฯจึงไม่ได้แสดงความวิตกกังวลทำนองเดียวกันนี้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้?
ปักกิ่งยังชี้ต่อไปว่า ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์การขัดขวางการเดินเรือใดๆ ขึ้นมาเลยไม่ว่าก่อนหน้าหรือตั้งแต่ที่จีนเริ่มต้นเข้ายึดครองเกาะเหล่านี้ จีนกระทั่งเป็นผู้จัดสร้างประภาคารหลายๆ แห่งขึ้นตามสถานที่ทางยุทธศาสตร์ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้มีความปลอดภัยในการเดินเรือทะเลด้วยซ้ำไป
มุ่งประทับตราให้จีนกลายเป็นผู้รุกราน
เอาเข้าจริงแล้วเห็นได้ชัดว่า สาเหตุแท้จริงของการโต้แย้งวิวาทกันคราวนี้ มาจากแผนอุบายของฝ่ายอเมริกันที่จะประทับตราจีนให้กลายเป็นผู้รุกราน เพื่อที่กองเรือรบของสหรัฐฯจะได้สามารถเคลื่อนขบวนไปรอบๆ ทะเลจีนใต้ในนามของการฝึกซ้อมและการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ
มันเป็นการโกหกชัดๆ ที่เที่ยวชี้ให้เห็นถึงความปั่นป่วนซึ่งถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลังโดยหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกัน 2 หมู่ แล้วกล่าวหาว่าจีนคือผู้ที่กวนให้น้ำขุ่นด้วยการถมทะเลสร้างเกาะเทียม --นี่เป็นกรณีที่อันธพาลเที่ยวกล่าวหาคนอื่นว่ากำลังทำตัวเป็นพวกก่อกวนยุยงโดยแท้ทีเดียว
สาธารณชนชาวอเมริกันน่าจะยังจำได้ถึงกรณีฉาวโฉ่ที่เรียกกันว่า “ญัตติอ่าวตังเกี๋ย” (Gulf of Tonkin resolution) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน มีข้ออ้างสำหรับการเข้าไปทำสงครามในเวียดนาม
ญัตติของรัฐสภาอเมริกันฉบับนั้นผ่านออกมา โดยอาศัยข้อกล่าวหาที่ว่าพวกเรือปืนของเวียดนามเหนือได้แสดงพฤติการณ์ก้าวร้าวรุกราน ซึ่งปรากฏความจริงออกมาในภายหลังว่า นี่เป็นเพียงเรื่องโกหกที่ฝ่ายสหรัฐฯกุขึ้นมา
ดังนั้นขณะที่เรือรบอเมริกันแล่นอยู่ในทะเลจีนใต้เพื่อสำแดงถึงเสรีภาพในการเดินเรือ มันก็อาจจะเกิดเรื่องแบบเดียวกันขึ้นมาบ้าง (ตามแต่ที่ฝ่ายคลั่งสงครามในวอชิงตันปรารถนาให้เกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาใด) และกลายเป็นข้ออ้างบังหน้าที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเหตุผลความชอบธรรมให้แก่การผ่านญัตติอ่าวตังเกี๋ยอีกฉบับหนึ่ง ฮิลลารี คลินตัน คือผู้วางแผนบงการยุทธศาสตร์เช่นนี้ ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ --และน่าสงสัยอยู่หรอกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ก็คงสามารถที่จะเฉไฉบิดเบี้ยวในทำนองเดียวกันนี้ได้เช่นกัน
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ฉบับเร็วๆ นี้ มีกว่า 70 ประเทศทีเดียวที่แสดงความเห็นพ้องอย่างเปิดเผยกับจีน ในเรื่องที่ว่าข้อพิพาททะเลจีนใต้สมควรที่จะแก้ไขคลี่คลายด้วยการเจรจากันระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งพิพาทกันอยู่ ไม่ใช่ผ่านการตัดสินชนิดฟังความข้างเดียวของอนุญาโตตุลาการ มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่สนับสนุนฟิลิปปินส์และเห็นว่าคำตัดสินนี้ชอบด้วยกฎหมาย
เราไม่มีโอกาสได้เห็นผลการสำรวจความคิดเห็นของประเทศต่างๆ ในเอเชียทำนองนี้ ในหัวข้อว่าพวกเขารู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นหรือไม่ภายใต้ร่มเงาของกองเรือรบอเมริกัน แต่อย่างที่ไต้หวันประสบพบเจอในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายๆ ชาติต้องรู้สึกวุ่นวายใจอย่างแน่นอนต่อความสับปลับหลอกลวงของอเมริกัน
ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่เชื่อว่าอำนาจคือความถูกต้อง และการเผชิญหน้าคือแนวทางที่ดีที่สุดในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งสามารถนึกออกในทันที ได้แก่ โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์
เขาไม่ได้มองว่าคำตัดสินในทางเข้าข้างฟิลิปปินส์ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร คือตอนจบของเรื่องนี้แล้ว หากแต่มองชัยชนะคราวนี้ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการเจรจาต่อรองกับจีนเพื่อการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระยะยาว การปรับปรุงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของฟิลิปปินส์ด้วยความช่วยเหลือจากจีน เป็นต้นว่าพวกท่าเรือและในเรื่องรถไฟความเร็วสูง จะสร้างผลประโยชน์แก่แดนตากาล็อกยิ่งกว่าการได้มองเห็นเรือรบอเมริกันแล่นไปมาอยู่เป็นครั้งคราวมากมายนัก
ดร. จอร์จ คู เพิ่งเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้จากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลก แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจ ของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100, the Pacific Council for International Policy และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media
(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)