เอเจนซีส์ / MGR online - นิโคลา สเตอร์เจียน รัฐมนตรีคนที่ 1 หรือนายกรัฐมนตรีแห่งแคว้นสกอตแลนด์ ประกาศพร้อมพิจารณาทุกทางเลือกเพื่อปกป้องผลประโยชน์และสถานะการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของสกอตแลนด์ต่อไป ภายหลังจากที่สหราชอาณาจักรจัดการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์เพื่อก้าวออกจากอียู หรือ “เบร็กซิต” เมื่อ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา
รายงานข่าวระบุว่า นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งแคว้นสกอตแลนด์ ประกาศระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในวันจันทร์ (25 ก.ค.) โดยระบุพร้อมพิจารณาทุกทางเลือกเพื่อปกป้องผลประโยชน์และสถานะสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของสกอตแลนด์ ซึ่งหนึ่งในทางเลือกที่ว่านี้รวมถึงการนำสกอตแลนด์แยกตัวเป็น “ประเทศเอกราช” ด้วยเช่นกัน
“หากเราตระหนักว่าผลประโยชน์ของสกอตแลนด์ในฐานะสมาชิกอียูจะไม่ได้รับการปกป้องภายใต้บริบทที่เรายังเป็นส่วนหนึ่งเดียวกับสหราชอาณาจักร เมื่อถึงตอนนั้นการแยกตัวเป็นเอกราชก็จะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สกอตแลนด์จะต้องหยิบยกมาพิจารณาอย่างจริงจัง” นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งแคว้นสกอตแลนด์ระบุ
ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวระบุว่า ผู้นำแคว้นสกอตแลนด์และยิบรอลตาร์ เปิดการหารือเมื่อ 28 มิ.ย. เพื่อหาช่องทางให้ดินแดนของตนยังคงได้อยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไป หลังจากที่สหราชอาณาจักรเลือกการโหวตออกจากการเป็นสมาชิกขององค์กรความร่วมมือแห่งนี้
แม้ยิบรอลตาร์จะถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรตั้งแต่เมื่อกว่า 300 ปีก่อน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในดินแดนซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของสเปนแห่งนี้กลับลงคะแนนหนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ในกลุ่ม 28 ชาติอย่างอียูต่อไป
เช่นเดียวกับในสกอตแลนด์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ในแคว้นแห่งนี้ลงคะแนนหนุนการอยู่ร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไปเช่นกัน
คำแถลงจากรัฐบาลท้องถิ่นของยิบรอลตาร์ระบุว่า กำลังพิจารณาทุกตัวเลือกเพื่อปกป้องจุดยืนของยิบรอลตาร์ในฐานะส่วนหนึ่งของอียูในอนาคต และว่า ฟาเบียน ปิการ์โด ผู้นำรัฐบาลยิบรอลตาร์ได้หารือเรื่องนี้กับนิโคลา สเตอร์เจียน ผู้นำแคว้นสกอตแลนด์แล้วถึงความเป็นไปได้ และผลกระทบต่างๆ ของการที่ดินแดนทั้งสองแห่งนี้ของสหราชอาณาจักรจะยังคงขอเป็นส่วนหนึ่งกับอียูต่อไป
ในเวลานั้น นิโคลา สเตอร์เจียน รัฐมนตรีคนที่ 1 หรือนายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์ ได้เดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียมซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของอียู เพื่อหาช่องทางให้สกอตแลนด์มีฐานะเป็นสมาชิกอียูต่อไป ซึ่งอาจหมายถึงการจัดลงประชามติประกาศเอกราชครั้งที่ 2 เพื่อแยกตัวจากสหราชอาณาจักร หลังจากพ่ายแพ้ไปในการลงประชามติครั้งแรกเมื่อสองปีก่อน
สเตอร์เจียนย้ำว่า เธอตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะรักษาความสัมพันธ์กับอียูและคงอยู่ภายในอียูต่อไปหลังจากผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักร ซึ่งถึงแม้ผลโดยรวมออกมาว่าฝ่ายเสียงข้างมากต้องการให้แยกตัวออกจากอียู ทว่า เฉพาะผู้ออกเสียงชาวสกอตติชเองกลับสนับสนุนการคงอยู่ร่วมกับอียูต่อไปอย่างท่วมท้น เช่นเดียวกับในไอร์แลนด์เหนือ และยิบรอลตาร์
การจัดลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่นำไปสู่การก้าวเข้าสู่กระบวนการ “ถอนตัว” ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร หรือ “Brexit referendum” กลายเป็นข่าวที่ช็อกแวดวงเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก และดูเหมือนประเด็นร้อนในเรื่องนี้ยังคงนำมาซึ่งคำถามอีกมากมายที่ยังรอคำตอบอันคลุมเครือ
ผลการลงประชามติที่ออกมาล่าสุด มิได้หมายความว่าสหราชอาณาจักรจะหลุดพ้นจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปได้ในทันทีทันใด เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วกระบวนการที่จะนำไปสู่การถอนตัวเต็มรูปแบบ อาจต้องใช้ระยะเวลาอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อยและต้องอาศัยกระบวนการเจรจาเพื่อ “ปลดเปลื้องพันธนาการ” ระหว่างกันในด้านต่างๆ ตามข้อกำหนดใน “Article 50” ของสนธิสัญญาสหภาพยุโรป
ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู ซัมมิต) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ บรรดาผู้นำชาติสมาชิกที่เหลืออีก 27 ชาติในอียู ต่างแสดงจุดยืนที่สอดคล้องกันประการหนึ่งว่าสหราชอาณาจักรไม่ควร “ถ่วงเวลา” และควรเร่งดำเนินมาตรการปลดแอกตัวเองออกจากอียูไปเสียโดยเร็วตามข้อกำหนดในมาตรา 50 ภายใต้สนธิสัญญาลิสบอน
จุดยืนดังกล่าวของผู้นำอียูเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ที่ย้ำว่าผู้นำอังกฤษคงไม่สามารถเลือกเงื่อนไขการเจรจาถอนตัวตามใจชอบได้ เพราะผู้คุมเกมการเจรจาที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องเป็นฝ่ายสมาชิกที่เหลือของอียูเท่านั้น
“ใครก็ตามที่ปรารถนาจะผละจากครอบครัวนี้ไป ไม่สามารถคาดหมายเพียงว่าจะละทิ้งความผูกมัดทั้งหมดทั้งปวง แต่ยังจะเก็บอภิสิทธิ์ต่างๆ เอาไว้” แมร์เคิลกล่าวต่อรัฐสภาเยอรมนี
นอกเหนือจากผู้นำหญิงของเยอรมนีแล้ว ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซี แห่งอิตาลีซึ่งถือเป็นผู้นำของ 3 ชาติสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดของอียูในเวลานี้ ต่างก็แสดงจุดยืนที่สอดคล้องกันว่ารัฐบาลอังกฤษควรเร่งเดินหน้ากระบวนการออกจากการเป็นสมาชิกอียูในทันทีเช่นกัน