เอเจนซีส์ - ชาวอังกฤษหลายสิบล้านคนทยอยเข้าคูหาหย่อนบัตรเมื่อวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย.) ในศึกประชามติที่เชือดเฉือนกันอย่างเผ็ดร้อน ท่ามกลางความหวาดวิตกของตลาดการเงินและนักการเมืองทั่วโลก เนื่องจากการโหวตครั้งนี้อาจส่งผลให้อังกฤษถอนตัวจากอียูและเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินภายในกลุ่มที่รวมตัวกันมานานถึง 60 ปี รวมถึงความปั่นป่วนวุ่นวายทั้งในระบบการเงินและเศรษฐกิจ
รายงานระบุว่า มีผู้มีสิทธิออกเสียงลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิคราวนี้เป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 46.5 ล้านคน ซึ่งจะตัดสินอนาคตของอังกฤษในสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีสมาชิกรวม 28 ประเทศ
ชาวอังกฤษบางคนโพสต์ภาพบัตรลงคะแนนที่กาเรียบร้อยพร้อมติดแฮชแท็ก #ivoted บนโซเชียลมีเดีย
ผลสำรวจความคิดเห็นทางโทรศัพท์ของ “คอมเรส” ที่จัดทำให้แก่หนังสือพิมพ์เดลิเมล์และสถานีไอทีวี นิวส์ ที่เผยแพร่ออกมาก่อนเปิดคูหาระบุว่า ฝ่าย “อยู่ต่อ” นำด้วยคะแนน 48% ต่อ 42% ที่เหลือคือพวกที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ
ขณะที่โพลจากอีกสองสำนักที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (22) และเป็นการสำรวจทางอินเทอร์เน็ต ให้ฝ่าย “ถอนตัว” นำ 1 หรือ 2%
ทั้งนี้ ฝ่ายถอนตัวเห็นว่าหากตัดขาดจากอียูอังกฤษจะสามารถควบคุมนโยบายผู้อพยพและดึงอำนาจกลับมาจากอียู ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์, เบลเยียม ขณะที่ฝ่ายอยู่ต่อเตือนว่า ถ้าอังกฤษออกจากอียูหรือ “เบร็กซิต” จะเกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ
ตลาดการเงินในวันพฤหัสบดี (23) ดูเหมือนมีลุ้นว่าฝ่ายอยู่ต่อจะเป็นผู้ชนะ ตัวอย่างเช่นที่ตลาดโตเกียว ค่าเงินปอนด์แข็งค่าเป็นประวัติการณ์ในรอบปีนี้ที่ 1.4844 ดอลลาร์ และตลาดหุ้นลอนดอน ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต เปิดซื้อขายช่วงเช้าวันดังกล่าวในแดนบวก
อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินพากันเสริมทีมรับมือแนวโน้มความปั่นป่วนตลอดทั้งวัน ขณะที่ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกยืนยันความพร้อมในการรับมือ ไม่ว่าผลการลงประชามติของอังกฤษจะออกมาอย่างไรก็ตาม
กลุ่มผู้นำทางอุตสาหกรรม 7 ชาติ (จี7) เตรียมออกแถลงการณ์ย้ำความพร้อมในการดำเนินมาตรการใดๆ ก็ตามที่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดหากอังกฤษถอนตัวจากอียู
ทางด้าน มอริตซ์ เครเมอร์ ประธานฝ่ายจัดอันดับตราสารหนี้ของเอสแอนด์พีเตือนว่า เบร็กซิตอาจทำให้อังกฤษถูกลดเรตติ้งรุนแรงจากอันดับ AAA ในปัจจุบัน
เวลาปิดหีบยุติการลงคะแนนคือ 22.00 น. ตามเวลาฤดูร้อนของอังกฤษ (ตรงกับ 04.00 น.วันศุกร์ เวลาเมืองไทย) แต่เนื่องจากไม่มีการทำเอ็กซิตโพล ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าผลการนับคะแนนจะเริ่มปรากฏในช่วงก่อนรุ่งสางวันศุกร์ หรือราวตอนเช้าวันศุกร์ของเมืองไทย
การหาเสียงที่บ่อยครั้งใช้ถ้อยคำเผ็ดร้อน กำลังเผยให้เห็นความแตกแยกของคนอังกฤษเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอียูที่ดำเนินมานานสี่ทศวรรษ โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มผู้สูงวัยกับหนุ่มสาว และระหว่างลอนดอนและสกอตแลนด์ที่สนับสนุนอียู กับบริเวณตอนกลางของอังกฤษที่ต่อต้านอียู โดยตัวแปรสำคัญในการลงคะแนนครั้งนี้คือกลุ่มหนุ่มสาวที่ส่วนใหญ่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่ต่อ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยออกไปใช้สิทธิมากนัก
ความแตกแยกนี้สะท้อนชัดเจนบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ชั้นนำฉบับวันพฤหัสบดี เช่น “วันประกาศเอกราช” โดยเดอะซันที่หนุนเบร็กซิต และ “วันชำระบัญชี” โดยเดอะไทมส์ที่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในอียูต่อ
ข่าวการทำประชามติเป็นที่จับจ้องไม่เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น หนังสือพิมพ์โกลบัล ไทมส์ที่ตีพิมพ์โดยพีเพิลส์เดลีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เตือนว่า อังกฤษอาจสูญเสียอิทธิพลทั่วโลกหากถอนตัวจากอียู
ขณะเดียวกัน นิโคลา สเตอร์เจียน ผู้นำสกอตแลนด์ ประกาศว่า ถ้าเบร็กซิตชนะ สกอตแลนด์อาจจัดให้มีการลงประชามติว่าจะออกจากสหราชอาณาจักรหรือไม่
บอริก จอห์นสัน อดีตพ่อเมืองลอนดอนที่คนมากมายเชื่อว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไป ยืนยันระหว่างหาเสียงวันสุดท้ายว่า ชัยชนะของเบร็กซิตอยู่ใกล้แค่เอื้อม
ด้านนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ที่มีแนวโน้มถูกเรียกร้องให้ลาออกหากฝ่ายถอนตัวชนะ เรียกร้องให้ประชาชนโหวตให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อ พร้อมเตือนว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบรุนแรงหากอังกฤษถอนตัว
การถอนตัวของอังกฤษอาจนำไปสู่กระบวนการเจรจาอันยาวนานเพื่อออกจากอียู และการเสียสิทธิ์ในการเข้าถึงตลาดของชาติสมาชิกระบบตลาดเดียวของอียู และบีบให้อังกฤษต้องเจรจาต่อรองข้อตกลงการค้ากับทั่วโลกด้วยตัวเอง ขณะที่ทางฝ่ายอียูเองก็กังวลว่าจะเกิดปรากฏการณ์โดมิโนในหมู่ชาติสมาชิก ซ้ำเติมวิกฤตผู้ลี้ภัยและวิกฤตการเงินในยูโรโซนที่หนักหน่วงอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้นำอียูจึงจัดประชุมสุดยอดนานสองวันเมื่อวันอังคาร (21) เพื่อหาทางรับมือผลการลงประชามติของอังกฤษ และการรับมือความเสี่ยงว่าสมาชิกอื่นๆ อาจเจริญรอยตามจัดทำประชามติบ้าง
“โปรดอยู่กับเราต่อ” โดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรีแห่งยุโรป เรียกร้องเมื่อวันจันทร์ (20) และว่า “ถ้าไม่มีพวกคุณ ไม่เฉพาะยุโรปเท่านั้น แต่ตะวันตกทั้งหมดจะอ่อนแอลง แต่หากยังอยู่ด้วยกัน เราจะสามารถฝ่าฟันความท้าทายที่ยากเย็นยิ่งขึ้นในอนาคตได้”