xs
xsm
sm
md
lg

ขุนคลังอังกฤษโว "เอาอยู่" ชูเศรษฐกิจผู้ดีเข้มแข็ง ย้ำไม่เร่งกระบวนการออกจากอียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – รัฐมนตรีคลังอังกฤษพยายามฟื้นความเชื่อมั่นในตลาด หลังการโหวตออกจากอียูแบบเหนือความคาดหมายเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วฉุดตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งยังทุบค่าเงินปอนด์ทำนิวโลว์ ขุนคลังเมืองผู้ดียังยืนยันด้วยว่า สหราชอาณาจักรไม่รีบร้อนเข้าสู่กระบวนการถอนตัว แม้ถูกกดดันอย่างหนักจากผู้นำยุโรปก็ตาม

จอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษ แถลงเมื่อวันจันทร์ (27) ว่าเศรษฐกิจเมืองสิงโตคำรามยังแข็งแกร่งตามที่ควรจะเป็นในการรับมือกับผลลบที่ตามมา ภายหลังการลงประชามติถอนตัวจากสหราชอาณาจักร (อียู) หรือเบร็กซิตเมื่อวันพฤหัสบดี (2) ที่สร้างความกังวลว่าจะทำให้สหราชอาณาจักรแตกเป็นเสี่ยง

ออสบอร์นย้ำกับชาวอังกฤษและประชาคมโลกก่อนที่ตลาดหุ้นยุโรปจะเปิดการซื้อขายไม่นานว่า อังกฤษพร้อมเผชิญกับทุกสิ่งที่อนาคตหยิบยื่นให้อย่างเข้มแข็ง

กระนั้น ดัชนี FTSE 100 ของตลาดลอนดอนยังร่วงลงอีก 0.8% ทันทีที่เปิดตลาด หลังดำดิ่งเมื่อวันศุกร์ (24) ขณะที่ตลาดหุ้นปารีสและแฟรงก์เฟิร์ตดีดขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของออสบอร์น หยุดยั้งการอ่อนค่าของเงินปอนด์เมื่อเทียบดอลลาร์ได้เพียงชั่วคราว หลังอ่อนลง 2% ในตลาดเอเชีย

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางไปยังลอนดอนช่วงเย็นวันจันทร์ หลังแวะที่บรัสเซลส์ ส่วนผู้นำเยอรมนี ฝรั่งเศสและอิตาลีนัดหารือเพื่อจัดการวิกฤตเบร็กซิตที่เบอร์ลินในวันเดียวกัน

นอกจากพยายามฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนแล้ว ออสบอร์นยังย้ำว่า อังกฤษจะไม่รีบร้อนเริ่มต้นมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งจะเริ่มต้นกระบวนการเจรจาเพื่อถอนตัวจากอียูที่กำหนดระยะเวลาไว้สองปี จนกว่าจะมีภาพชัดเจนเกี่ยวกับระบบการจัดการใหม่กับเพื่อนบ้านในยุโรป

มหาอำนาจในอียูต่างเรียกร้องให้อังกฤษเร่งดำเนินการ เนื่องจากกลัวว่าจะเกิดปรากฏการณ์โดมิโนในประเทศสมาชิกที่มีกระแสต่อต้านยุโรปรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มพันธมิตรที่มีสมาชิก 28 ชาตินี้

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ยืนกรานว่าการเจรจาดังกล่าวต้องรอจนกว่าพรรคอนุรักษ์นิยมจะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่มาแทนตน ซึ่งคงจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม

เมื่อวันอาทิตย์ (26) มาร์ติน ชูลซ์ ประธานสภายุโรป เตือนว่า สถานการณ์ที่ไร้ความแน่นอนจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงยิ่งขึ้น การประชุมผู้นำอียูในวันอังคาร (28) ซึ่งคาเมรอนจะเข้าประชุมด้วยนั้น เป็นโอกาสเหมาะที่จะเริ่มกระบวนการถอนตัว

ทว่านักการทูตหลายคนของอียูตั้งข้อสังเกตว่า อังกฤษอาจไม่เริ่มมาตรา 50 เลยก็เป็นได้

ทั้งนี้ การที่คนอังกฤษเพิกเฉยต่อคำเตือนเรื่องการโดดเดี่ยวตัวเองและหายนะทางเศรษฐกิจ และเทคะแนนโหวต 52% ต่อ 48% เพื่อถอนตัวจากอียูนั้น กวาดมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกให้หายวับไปถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันศุกร์ ทั้งยังทุบเงินปอนด์ร่วงทำสถิติต่ำสุดในรอบ 30 ปี ในการซื้อขายช่วงเช้าที่ตลาดเอเชีย เนื่องจากเทรดเดอร์กังวลว่า สถานการณ์ไม่แน่นอนจะยืดเยื้อนานหลายเดือน

การทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์ที่สองฝ่ายต่อสู้กันในประเด็นเศรษฐกิจและผู้อพยพนั้น ทำให้สหราชอาณาจักรร้าวลึก โดยเฉพาะในสก็อตแลนด์ที่โหวตขออยู่ต่อกับอียูด้วยคะแนนถึง 62% และผลสรุปที่ออกมาตรงข้ามกับเจตนารมณ์ของชาวสก็อตต์ ได้ปลุกกระแสการเรียกร้องขอแยกตัวจากอังกฤษคุกรุ่นอีกครั้ง

นายกรัฐมนตรี นิโคลา สเตอร์เจียน ของสก็อตแลนด์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวโน้มสูงมากที่อาจจัดให้มีการทำประชามติเพื่อประกาศเอกราชรอบสอง นอกจากนั้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันเสาร์ (26) ยังตกลงเริ่มร่างกฎหมายที่จำเป็น

ที่ลอนดอน หลังจากคาเมรอนประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันศุกร์ ล่าสุด เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและสนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อ ถูกบีบให้ลาออกเช่นเดียวกัน โดยบรรดาสมาชิกชั้นนำในรัฐบาลเงาของคอร์บินจำนวนมากยื่นจดหมายลาออกเมื่อวันอาทิตย์ แต่เจ้าตัวยืนยันว่าจะไม่ลาออก และคาดว่าจะมีการลงมติไม่ไว้วางใจคอร์บินในการประชุมพรรควันจันทร์

ทางด้านพรรคอนุรักษ์นิยมนั้น บรรดาตัวเก็งผู้สืบทอดตำแหน่งของคาเมรอน ซึ่งรวมถึง "บอริส จอห์นสัน" ผู้นำการรณรงค์เบร็กซิตและอดีตนายกเทศมนตรีลอนดอน เริ่มขอเสียงสนับสนุนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจอห์นสันยืนยันผ่านบทความในหนังสือพิมพ์เดลิเทเลกราฟว่า มีการประโคมข่าวผลกระทบแง่ลบจากเบร็กซิตเกินจริง แต่กลับละเลยการพูดถึงข้อดี


กำลังโหลดความคิดเห็น