เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ - ผู้ประท้วงคัดค้าน “เบร็กซิต” จำนวนหลายหมื่นคน เดินขบวนในกรุงลอนดอนเมื่อวันเสาร์ (2 ก.ค.) โดยพากันโบกธงยุโรปพร้อมตะโกนก้องว่า “เรารักคุณ อียู” ขณะที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงเรียกร้องให้พสกนิกรอยู่ในความสงบ ภายหลังเสียงส่วนข้างมากในสหราชอาณาจักรลงประชามติ ให้ประเทศถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
ตำรวจไม่ได้ให้ตัวเลขประมาณการจำนวนผู้คนที่เข้าร่วมเดินขบวนคราวนี้ซึ่งเป็นการประท้วงใหญ่ตามท้องถนนในลอนดอนครั้งที่ 2 ภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ แต่พวกผู้จัดระบุว่ามีมากกว่า 40,000 จนถึง 50,000 คน โดยที่ผู้เข้าร่วมเหล่านี้จำนวนมากพากันโบกแผ่นป้ายสีสันสดใสเขียนข้อความต่างๆ อาทิ “Bregret” (Br+regret สหราชอาณาจักรเสียใจ), “Breverse” (Br+reverse สหราชอาณาจักรถอยกลับไปสู่อียู) และ “The Leave Campaign Lied” (พวกรณรงค์ให้ออกจากอียู โกหก)
พวกเขาตะโกนว่า “เราต้องการอะไร? อยู่ในอียูต่อไป” ขณะมุ่งหน้าเข้าสู่เขตเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นย่านสถานที่ทำการด้านการเมืองการปกครองของกรุงลอนดอน พร้อมกับซาวนด์แทร็กเสียงเพลงต่างๆ เป็นต้นว่า “Never Gonna Give You Up” (ไม่มีวันปล่อยคุณไป) เพลงฮิตยุคทศวรรษ 1980 ของ ริก แอสต์ลีย์ และ “I Will always Love You” (ฉันจะรักคุณเสมอ) ของวิตนีย์ ฮิวส์ตัน
พวกผู้ประท้วงพากันตะโกนว่า “หน้าไม่อาย” ขณะเดินขบวนผ่านถนนดาวนิ่งสตรีท ซึ่งเป็นที่ตั้งทำเนียบนายกรัฐมนตรี ด้วยความโกรธเกรี้ยวในตัวเดวิด คาเมรอน ผู้กำลังจะก้าวลงจากเก้าอี้หัวหน้ารัฐบาล สืบเนื่องจากการที่เขาเป็นผู้จัดให้มีการลงประชามติเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การต้องถอนตัวออกจากอียู
“ผมคิดว่าพวกรณรงค์เรียกร้องให้ถอนตัวนะโฆษณาให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างผิดๆ เราตัดสินใจผิดเพราะการโกหกเหล่านี้” เคซีย์ ผู้ประท้วงวัย 37 ปีบอกกับเอเอฟพี
การออกเสียงลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ฝ่ายที่ต้องการให้ถอนตัวออกจากอียูชนะไปด้วยคะแนน 51.9% ต่อ 48.1% ผู้โหวต “เบร็กซิต” จำนวนมากหยิกยกเรื่องที่มีผู้อพยพเข้ามามากมาย เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปรารถนาจะออกจากสหภาพยุโรป รวมทั้งการที่ผู้รณรงค์ให้ออกจากอียู อ้างว่า เบร็กซิต” จะทำให้ประหยัดเงินได้มหาศาล ซึ่งสามารถนำไปเป็นงบประมาณเพิ่มเติมให้ NHS (สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ) อย่างไรก็ตาม ในประเด็นหลังนี้ภายหลังการลงประชามติแล้ว พวกผู้นำการรณรงค์ “เบร็กซิต” ต่างพากันออกตัวว่าไม่ได้พูดเช่นนั้น หรือแก้ตัวว่าเรื่องนี้ต้องแล้วแต่รัฐบาล
จากความพ่ายแพ้แบบเฉียดฉิว กระตุ้นให้เกิดความโกรธขึ้งในหมู่พวก Remain หรือพวกที่ต้องการให้ประเทศอยู่ในอียูต่อไป และเวลานี้มีประชาชนกว่า 4 ล้านร่วมลงชื่อในคำร้องซึ่งเรียกร้องให้จัดการลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง
“ต้องจัดการลงประชามติครั้งที่ 2 ทุกๆ คนรู้ดีว่าถ้ามีอีกครั้ง ... พวกเราจะต้องโหวต Remain” นิโคลัส ไลต์ อดีตโปรดิวเซอร์ทีวีวัย 82 ปี กล่าวขณะร่วมการเดินขบวนในวันเสาร์ (2)
บ็อบ เกลดอฟ นักดนตรีและนักเคลื่อนไหวชื่อดังซึ่งนำขบวนเรือต่างๆ แล่นไปตามแม่น้ำเทมส์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เคลื่อนไหวของฝ่ายให้อยู่ในอียูต่อไปนั้น ก็ออกมาเร่งเร้าผู้สนับสนุนของเขาเมื่อวันเสาร์ (2) ให้ “ออกมา (ประท้วง) ตามท้องถนน”
“ออกมา ลงมือทำกันเลยกับเพื่อนฝูงของคุณ กับเพื่อนร่วมงานของคุณ และกับเพื่อนบ้านในย่านที่อยู่ของคุณ” เขาบอก
ขี้แพ้ชวนตี
อย่างไรก็ตาม การประท้วงคราวนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการแสดงความกราดเกรี้ยวแบบพวกขี้แพ้ชวนตี พร้อมกับย้ำว่าประชาชนเสียงส่วนข้างมากนั้นสนับสนุนให้ถอนตัวออกจากอียู
แดเนียล ฮันนัน สมาชิกรัฐสภายุโรปที่สังกัดพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ทวิตว่า “เตือนกันเบาๆ เพื่อนๆ ชาว “Remain” ทั้งหลาย มีคนโหวตให้ออกจากอียูมากกว่าที่โหวตให้อะไรอย่างอื่นเท่าที่เคยมีมา”
เขากล่าวต่อไปว่า การอ้างว่าพวกออกเสียงให้ถอนตัว เป็นผู้ที่ “ไม่ยอมรับฟังอะไรเลย” และ “เอาแต่เกลียดผู้อพยพ” นั้น เป็นวิธีคิดแบบเห็นว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ผู้หนึ่งระบุว่าการเดินขบวนเช่นนี้เป็นสิ่งที่ “น่าสมเพท” และกล่าวต่อไปว่า “เป็นเพียงพวกที่แสดงความเกรี้ยวกราดจากข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นผู้ชนะ”
ส่วนคนอื่นๆ พากันแชร์ภาพของเด็กทารกกำลังแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด และเปรียบเปรยว่าเหมือนกับพวกเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วง
ทางด้านผู้อ่านเว็บไซต์บีบีซีนิวส์ จำนวนไม่น้อยได้ส่งอีเมลแสดงความคิดเห็นในทำนองเดียวกันนี้
เป็นต้นว่า แคเธอรีน อิสต์วูด จากเคนต์ เขียนว่า “ที่ยังมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเบร็กซิต คือสิ่งที่น่าสมเพท พวกที่เข้าร่วมการประท้วงเหล่านี้ยังคงดูหมิ่นเหยียดหยามพวกเราซึ่งโหวตให้ถอนตัว ด้วยการพูดอะไรต่างๆ หลายอย่าง
“ดิฉันตัดสินใจอย่างที่ทำไปแล้วก็เพราะสหราชอาณาจักรเป็นสังคมประชาธิปไตย และดิฉันไม่ต้องการถูกบงการจากอียู ดังนั้นเนื่องจากเรายังกำลังอยู่กันในระบอบประชาธิปไตย พวกหนุน Remain จึงควรยอมรับผลของการลงประชามติ”
อยู่ในความสงบและเดินหน้าต่อไป
ไม่ว่าจะมีความคิดเห็นไปในทางใด แต่ข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่า การลงประชามติคราวนี้ ได้เปิดเผยให้เห็นถึงความแตกแยกอย่างร้ายแรงในสหราชอาณาจักร
ผู้ออกเสียงรุ่นอายุหนุ่มสาวกว่าซึ่งจำนวนมากมีความกังวลเกี่ยวกับสิทธิของพวกเขาในการเดินทางและในการไปทำงานในประเทศอียูต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วโหวตให้คงอยู่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป ขณะที่พวกผู้อาวุโสในรุ่น “เบบี้บูมเมอร์” มักเลือกที่จะโหวตให้ถอนตัว
ทางด้านสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงตรัสเรียกร้องให้อยู่ในความสงบ ใน “โลกที่กำลังบังเกิดความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ” และนักวิจารณ์ทางสื่อบางรายมองว่าน่าจะทรงมุ่งหมายอ้างอิงถึงสถานการณ์ภายหลังจากการลงประชามติ
“ดังที่รัฐสภาแห่งนี้ได้สาธิตให้เห็นอย่างประสบความสำเร็จมาปีแล้วปีเล่า เครื่องหมายอันโดดเด่นประการหนึ่งแห่งความเป็นผู้นำในโลกที่กำลังเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็วดังกล่าว ได้แก่การอนุญาตให้มีที่ทางอันกว้างขวางเพียงพอสำหรับการขบคิดและการไตร่ตรองอย่างเงียบๆ” องค์พระประมุขของสหราชอาณาจักรมีพระราชดำรัสเช่นนี้ในพระราชพิธีเปิดสมัยการประชุมของรัฐสภาสกอตแลนด์ที่โฮลีรูด เมืองเอดินบะระ
ไบรอัน เทย์เลอร์ บรรณาธิการข่าวการเมืองสกอตแลนด์ของบีบีซี ระบุว่า พระราชดำรัสองค์แรกสุดของสมเด็จพระราชินีภายหลังการลงประชามติ “เบร็กซิต” นี้ สามารถที่จะมองได้ว่าเป็น “การส่งข้อความให้ (พสกนิกรของพระองค์) อยู่ในความสงบและเดินหน้าต่อไป”
พระราชดำรัสองค์นี้ ดูจะทรงมุ่งหมาย “ไปที่ฝ่ายการเมืองในวงกว้างออกไป ไปยังพวกที่อยู่ในโฮลีรูด, เวสต์มินสเตอร์ และที่อื่นๆ ซึ่งเวลานี้ต้องรับมือกับผลกระทบจากการโหวตให้ถอนตัวออกจากอียู” เทย์เลอร์เขียนเอาไว้เช่นนี้
ทั้งนี้ ผู้ออกเสียงในสกอตแลนด์, ไอร์แลนด์เหนือ และเขตเมืองหลวงลอนดอน ส่วนใหญ่หนุนให้อยู่ในอียูต่อไป ขณะที่พวกซึ่งเลือกที่จะให้ถอนตัวนั้น ส่วนมากเป็นผู้ออกเสียงในพื้นที่ค่อนข้างยากจนกว่า ในเขตการปกครองอังกฤษและเขตการปกครองเวลส์
ผลการลงประชามติคราวนี้ กลายเป็นชนวนทำให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันอีกครั้งว่าสกอตแลนด์ควรแยกตัวออกไปเป็นประเทศเอกราชหรือไม่ หลังจากที่พวกผู้ออกเสียงเคยเลือกที่จะอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรต่อไปในการลงประชามติเมื่อปี 2014
นิโคลา สเตอร์เจียน รัฐมนตรีคนที่ 1 หรือก็คือนายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์ เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ในสัปดาห์ที่แล้วเพื่อแสดงให้เห็นความปรารถนาของสกอตแลนด์ที่จะอยู่ในอียูต่อไป และบอกด้วยว่าการจัดลงประชามติกันอีกครั้งว่าจะแยกตัวเป็นเอกราชหรือไม่ เวลานี้กลายเป็นวาระที่พร้อมจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันแล้ว