เอเอฟพี - ประธานฝ่ายกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวเตือนผู้นำตุรกีให้ “เคารพหลักนิติธรรม” หลังรัฐบาลอังอาราสั่งจับกุมผู้ต้องสงสัยกว่า 6,000 คนฐานพัวพันความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่อียูชี้ว่ารัฐบาลตุรกีดูเหมือนจะเตรียม “รายชื่อ” บุคคลที่จะกวาดล้างเอาไว้ล่วงหน้า
“เราขอให้มีการปกป้องหลักนิติธรรมในตุรกี และไม่ควรอ้างเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นในการนำพาประเทศให้หันเหออกไปจากแนวทางนี้” เฟเดริกา โมเกรินี ประธานฝ่ายกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงของอียูให้สัมภาษณ์วันนี้ (18 ก.ค.) ระหว่างที่มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์
“ในฐานะที่เราเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เรียกร้องให้มีการปกป้องประชาธิปไตยและสถาบันที่มีความชอบธรรมตามกฎหมายในค่ำคืนแห่งความโศกเศร้า (คืนวันศุกร์ที่ 15 ก.ค.) วันนี้ดิฉันและรัฐมนตรีทั้งหลายจะขอกล่าวย้ำร่วมกันว่า หลักนิติธรรม กระบวนการตรวจสอบ และการถ่วงดุลอำนาจในตุรกี ต้องไม่ไร้ความหมาย แต่กลับจะต้องได้รับการปกป้องเพื่อประโยชน์ของตุรกีเอง”
รัฐบาลตุรกีซึ่งปรารถนาที่จะเข้าร่วมกลุ่มสหภาพยุโรป ยังคงเดินหน้าจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนพัวพันกับการก่อรัฐประหาร ท่ามกลางความกังวลของนานาชาติที่เกรงว่าการกวาดล้างครั้งนี้จะลุกลามเกินขอบเขต
ตลอดช่วงสุดสัปดาห์ ทางการตุรกีได้จับกุมพลเมืองไม่น้อยกว่า 6,000 คน รวมถึงบรรดานายพลและผู้พิพากษา หลังจากที่ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ได้ประกาศจะบดขยี้พวก “ไวรัส” ที่อยู่เบื้องหลังความพยายามโค่นล้มอำนาจของเขา
โยฮันเนส ฮาห์น กรรมาธิการด้านนโยบายเพื่อนบ้านและการขยายอาณาเขตของอียู (Commissioner for European Neighbourhood Policy and Enlargement Negotiations) ซึ่งดูแลเรื่องการสมัครเข้าร่วมกลุ่มอียูของตุรกี ชี้ว่า รัฐบาลอังการาดูเหมือนมีการตระเตรียมรายชื่อบุคคลที่จะกวาดล้างเอาไว้ล่วงหน้า ก่อนที่การรัฐประหารจะเกิดขึ้นเสียอีก
“การที่รัฐบาลสามารถลงมือจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้น แสดงว่าได้มีการเตรียมรายชื่อเอาไว้ เพื่อให้พร้อมลงมือได้ทันทีในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง” เขาให้สัมภาษณ์
ความพยายามของตุรกีที่จะเข้าร่วมกลุ่มอียู 28 ประเทศต้องชะงักงันไปในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากผู้นำยุโรปยังคงกังวลเกี่ยวกับนโยบายของ เออร์โดกัน ที่โน้มเอียงไปในทางเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ
อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปได้ตกลงที่จะเร่งรัดกระบวนการรับตุรกีเข้าเป็นสมาชิกใหม่ และอนุมัติให้ชาวตุรกีเดินทางเข้าอียูได้โดยไม่ต้องขอวีซา เพื่อแลกกับการที่อังการาจะยอมรับผู้อพยพที่ลักลอบข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปถึงเกาะของกรีซ
ฌอง มาร์ก-เอโรต์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวย้ำเช่นกันว่า “หลักนิติธรรมจะต้องคงอยู่”
“รัฐบาลฝรั่งเศสขอประณามการก่อรัฐประหารในตุรกี คุณจะยอมให้ทหารเข้ายึดอำนาจไม่ได้... และในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ทางการตุรกีบังคับใช้นโยบายที่บั่นทอนประชาธิปไตย”