xs
xsm
sm
md
lg

คำตัดสินของ‘ศาลกรุงเฮก’ไม่ได้ก่อให้เกิดคลื่นแรงใน‘ทะเลจีนใต้’

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

UN award causes no waves in South China Sea
By M.K. Bhadrakumar
15/07/2016

คำตัดสินในวันที่ 12 กรกฎาคม ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก เป็นการตีกระหน่ำใส่จีนอย่างหนักหน่วง ขณะที่ทำให้ฟิลิปปินส์มีขอบเขตอำนาจทางพฤตินัยในการควบคุมดูแลเหนือพื้นน้ำแทบทั้งหมดของหมู่เกาะสแปรตลีย์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่าความตึงเครียดในทะเลจีนใต้กำลังรุนแรงบานปลายออกไป ดังที่พวกสื่อมวลชนตะวันตกพากันทำนายทายทักเอาไว้

คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) อันเป็นองค์การที่ได้รับการหนุนหลังจากสหประชาชาติ ในกรณีพิพาทระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน เป็นการตีกระหน่ำใส่ฝ่ายหลังอย่างหนักหน่วงถึงแม้มันจะไม่ใช่สิ่งที่มิได้มีการคาดหมายกันมาก่อน แน่นอนทีเดียวว่าจีนต้องเสียหน้า เนื่องจากวิทยาศาสตร์แห่งแสงและสายตาย่อมจะต้องระบุว่า แดนมังกรกำลังว่ายน้ำทวนกระแสสวนทิศทางกับมติของโลก

คำตัดสินคราวนี้เป็นการทำให้ฟิลิปปินส์มีขอบเขตอำนาจทางพฤตินัยในการควบคุมดูแลเหนือพื้นน้ำแทบทั้งหมดของหมู่เกาะสแปรตลีย์ ศาลได้ปฏิเสธไม่ยอมรับความถูกต้องชอบด้วยกฎหมายของสิ่งที่เรียกกันว่า “แนวเส้นประ 9 เส้น” (nine-dash line) ของจีน ซึ่งได้ถูกปักกิ่งใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการอ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Seas หรือ UNCLOS)

ถึงแม้จะพูดได้เช่นนี้ก็จริงอยู่ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดยังคงอยู่ในบรรยากาศแห่งการเสแสร้งไม่จริงจังอยู่นั่นเอง ทั้งนี้ขอให้เราลองพิจารณาถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ดังต่อไปนี้:

--คำตัดสินนี้ไม่สามารถนำไปบังคับใช้ได้

--จีนปฏิเสธคำตัดสินนี้ โดยที่ได้ตัดตัวเองไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆ กับกระบวนการพิจารณาไต่สวนในคดีนี้มาตั้งแต่ต้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/2016-07/12/c_135507744.htm)

--ฟิลิปปินส์ขาดมัดกล้ามที่จะไปสถาปนาเขตอำนาจควบคุมดูแล ตามที่คำตัดสินนี้มอบหมายให้มา

--สหรัฐฯกับญี่ปุ่นกำลังส่งเสียงดังลั่นว่าคำตัดสินนี้มีลักษณะผูกมัดให้ต้องปฏิบัติตาม ทว่าก็ไม่สามารถทำให้แน่ใจได้อยู่ดีว่าจีนจะยินยอมตามนั้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.cctv-america.com/2016/07/12/US-STATEMENT-ON-THE-HAGUES-DECISION-ON-SOUTH-CHINA-SEA-ARBITRATION และ http://www.mofa.go.jp/PRESS/RELEASE/PRESS4E_001204.HTML)

--รัฐสมาชิกทั้ง 10 ของสมาคมอาเซียน กำลังแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ อย่างสิ้นหวัง โดยที่มีฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, และเวียดนามอยู่ทางข้างหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็ไปอยู่อีกข้างหนึ่ง ซึ่งหากไม่วางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด (สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ไทย, และพม่า) ก็แสดงตัวสนับสนุนจีน (บรูไน, กัมพูชา, และลาว) ไปเลย และ

--มีฉันทามติเห็นพ้องต้องกันอย่างกว้างขวางในโลกว่า จำเป็นที่ทุกๆ ฝ่ายจะต้องแสดงความยับยั้งชั่งใจตนเอง และหลีกเลี่ยงจากความประพฤติการปฏิบัติแบบยั่วยุ

ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ อินเดียได้กระทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยการใช้จุดยืนเป็นกลางอย่างมีหลักการ เหมือนกับนั่งอยู่บนรั้วกั้นและขยับแกว่งเท้าไปมา โดยไม่มีการส่งเสียงแสดงความคิดเห็นทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mea.gov.in/press-releases.htm?dtl/27019/Statement_on_Award_of_Arbitral_Tribunal_on_South_China_Sea_Under_Annexure_VII_of_UNCLOS) เส้นทางเดินอื่นๆ อีกทางเดียวเห็นจะเป็นการปิดปากเงียบสนิทไปเลย ซึ่งคือสิ่งที่มอสโกกระทำอยู่จวบจนกระทั่งถึงขณะนี้

ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่าความตึงเครียดในทะเลจีนใต้กำลังรุนแรงบานปลายออกไป ภายหลังคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮกคราวนี้ ดังที่พวกสื่อมวลชนตะวันตกพากันทำนายทายทักเอาไว้ จีนนั้นกล่าวย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ตนเองจะไม่ใช้จังหวะก้าวอย่างหุนหันพลันแล่นใดๆ แต่ถ้าสหรัฐฯพยายามผลักดันจนเกินเลยแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปักกิ่งจะต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างแข็งขัน

แน่นอนทีเดียว มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สหรัฐฯสามารถกระทำได้เพื่อเป็นการยั่วยุแหย่เย้าจีน อาทิเช่น การส่งกองกำลังหรืออาวุธอะไรบางสิ่งบางอย่างเข้ามาประจำการในภูมิภาคแถบนี้, การอวดกล้ามสำแดงแสนยานุภาพให้บ่อยครั้งขึ้น ด้วยการเดินเรือผ่านน่านน้ำต่างๆ ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์อยู่, หรือออกตรวจการณ์ลาดตระเวนร่วมกับญี่ปุ่น แต่วอชิงตันเองก็ไม่สามารถที่จะทำให้ตนเองแลดูเป็นพวกงี่เง่า เพราะเมื่อไล่เรียงกันไปถึงที่สุดแล้ว วอชิงตันยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีของ UNCLOS ด้วยซ้ำ อีกทั้งคณะตุลาการของศาลอนุญาโตตุลาการยังเคยปฏิเสธไม่ยอมรับคำร้องของสหรัฐฯที่จะขอเป็น “ผู้สังเกตการณ์” ในระหว่างการพิจารณาไต่สวน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://nationalinterest.org/blog/the-buzz/why-the-united-states-needs-join-unclos-16948?page=show)

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จีนได้ตีลูกกลับมาในคอร์ตของฝ่ายอเมริกันแล้ว เป็นหน้าที่ของวอชิงตันแล้วที่จะต้องตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในทางเบื้องหลังฉากแล้ว มหาอำนาจใหญ่ 2 รายนี้ก็ดูเหมือนมีการพูดจากันอย่างเงียบๆ ทั้งนี้มีการจัด “แทร็ก 2” ขึ้นในสหรัฐฯเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยตัวแทนระดับสูงของฝ่ายจีนที่เข้าร่วม คือ ไต้ ปิงกว๋อ ผู้เป็นมนตรีแห่งรัฐ (State Councilor) ทำหน้าที่ดูแลนโยบายการต่างประเทศของจีน คนก่อนหน้านี้ (ปัจจุบัน ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ ซึ่งในจีนถือว่าเทียบเท่ากับรองนายกรัฐมนตรีนั้น คือ หยาง เจียฉือ –ผู้แปล) คำปราศรัยของ ไต้ ในกรุงวอชิงตัน เรียกความสนอกสนใจได้มากจากน้ำเสียงที่ฟังดูสมเหตุสมผล และปลอดจากการกรีดร้องคร่ำครวญหรือการท้าตีท้าต่อยอย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้าม ไต้ กลับแสดงให้เห็นถึงการศึกษามาเป็นอย่างดี เกี่ยวกับการที่สหรัฐฯมีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนไปมากระทั่งขัดแย้งกันเองในเรื่องของหมู่เกาะสแปรตลีย์ (ดูรายละเอียดที่http://www.globaltimes.cn/content/992645.shtml)

เมื่อพิจารณาจากการที่มหาอำนาจใหญ่ทั้ง 2 ต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแล้ว สงครามก็เป็นสิ่งที่ไม่พึงคิดเลยว่าจะเกิดขึ้น ทว่าโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกันนั้นยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแต่ละฝ่ายไม่ได้อ่านไพ่ของอีกฝ่ายได้อย่างถูกต้องทะลุปรุโปร่ง ดังนั้นจึงต้องถือว่าฝ่ายจีนเป็นผู้เสียเปรียบ ในทางเป็นจริงแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกจะประหลาดๆ ประการหนึ่งจากความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ได้แก่การที่จีนจัดตั้งหน่วยงานคลังสมองแห่งหนึ่งขึ้นในกรุงวอชิงตัน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการทางการทูตภาคสาธารณะของตน ซึ่งมุ่งสร้างความสนับสนุนและความเข้าใจขึ้นมาในสหรัฐฯ ต่อข้อพิพาททางทะเลที่เกิดขึ้น

เวลาเดียวกัน เราสามารถคาดหมายได้ว่าจีนจะต้องมองหาลู่ทางโอกาสในการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ โดยที่ประมุขแดนตากาล็อกที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้นี้ได้ส่งสัญญาณออกมาแล้วว่า มีความสนใจที่จะละทิ้งเส้นทางแห่งการประจันหน้ากัน จีนรู้สึกได้ว่าดูเตอร์เตให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ แก่การร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน ทว่ายังไม่เป็นที่แน่นอนว่าสหรัฐฯจะยินยอมให้เขามีอิสระเสรีในการเดินหน้าไปตามเส้นทางอันละเอียดอ่อนแห่งการมีปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับปักกิ่งหรือไม่ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ปักกิ่งก็ฝากความหวังเอาไว้ว่า ดูเตอร์เตเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถจะมารังแกกันได้ง่ายๆ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.globaltimes.cn/content/993626.shtml)

อย่างที่บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งของ “สแตรทฟอร์” (Stratfor) สำนักคลังสมองของอเมริกันรายหนึ่งเขียนเอาไว้ดังนี้ “ฝ่ายจีนกำลังยื่นมือออกมาด้วยความหวังว่า ฟิลิปปินส์ภายใต้คณะผู้นำใหม่ของดูเตอร์เต ในที่สุดแล้วจะสามารถถอนตัวออกมาจากสิ่งที่พวกเขามองเห็นว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรของสหรัฐฯซึ่งวางแผนเอาไว้ให้ทำหน้าที่ปิดล้อมจีน อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็ต้องการโน้มน้าวรัฐบาลดูเตอร์เตให้ถอยห่างออกจากการปฏิบัติการซึ่งพวกเขารู้สึกว่าจะบีบบังคับให้ต้องทำการตอบโต้ และนั่นอาจทำให้มติมหาชนระหว่างประเทศยิ่งหันมาคัดค้านพวกเขาหนักหน่วงมากขึ้นอีก เวลาเดียวกันนั้น รัฐบาลดูเตอร์เตก็ได้แสดงความพยายามในการหลีกเลี่ยงการมีพันธะข้อผูกมัดต่างๆ ว่าด้วยทะเลจีนใต้ และได้ปฏิเสธไม่ยอมรับจุดยืนของสหรัฐฯในน่านน้ำดังกล่าวนี้อย่างชนิดไม่มีเงื่อนไข เพื่อเปิดทางให้ตนเองมีช่องสำหรับการเจรจาไม่ว่าจะกับฝ่ายอเมริกันหรือกับฝ่ายจีน หากเห็นว่าตนสมควรที่จะกระทำเช่นนั้น”

เป็นอย่างนั้นจริงๆ มะนิลาแสดงปฏิกิริยาต่อคำตัดสินนี้ด้วยความสุขุมรอบคอบมาก คำแถลงของรัฐบาลฟิลิปปินส์หลีกเลี่ยงไม่ให้มีร่องรอยใดๆ ของอารมณ์ความรู้สึกแห่งชัยชนะ และที่สำคัญมากก็คือมีการใช้ถ้อยคำน้ำเสียงที่ผ่านการขบคิดพิจารณามาอย่างดี ซึ่งเป็นการเปิดประตูเอาไว้สำหรับการเจรจากับฝ่ายปักกิ่ง (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.dfa.gov.ph/index.php/newsroom/dfa-releases/9900-statement-of-the-secretary-of-foreign-affairs-2)

ผมมีความเห็นว่าคำแถลงที่รัฐบาลสิงคโปร์แถลงออกมา คือเสียงที่พอเหมาะพอดีและสมควรที่จะได้รับความใส่ใจ คำแถลงนี้แสดงการรับทราบรับรู้ UNCLOS แต่ยังคงเดินหน้าแสดงความสนับสนุนให้ “มีการปฏิบัติตาม ‘ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคในทะเลจีนใต้’ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) อย่างเต็มที่และอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้มีการจัดทำ ‘แนวปฏิบัติ’ (Code of Conduct) ที่มีผลผูกมัดทางกฎหมายขึ้นมาโดยเร็ว” (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.mfa.gov.sg/content/mfa/media_centre/press_room/pr/2016/201607/press_20160712_2.html)

อินเดียเองก็ควรที่จะส่งเสียงแสดงความคิดเห็นอย่างมีความสมดุลทำนองเดียวกันนี้ แทนที่จะคิดอาศัยอ้างอิง UNCLOS เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ปากีสถานนั้นได้แสดงความใส่ใจระมัดระวังที่จะกระทำเช่นนี้แล้ว ขณะเดียวกับที่ (แน่นอนอยู่แล้ว) กล่าวเน้นย้ำอย่างไม่มีกำกวมคลุมเครือถึงความสนับสนุนของตนที่มีต่อจุดยืนของจีน (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.mofa.gov.pk/pr-details.php?mm=MzkzMQ)

สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า ปักกิ่งและมะนิลามีความตั้งใจที่จะประคับประคองอะไรต่างๆ ให้อยู่ในความสงบ ฉันทามติอันนุ่มนวลนี้ให้ผลในทางที่เป็นประโยชน์แก่จีน ทว่าอย่าได้เข้าใจผิดไปนะครับ ปักกิ่งนั้นกำลังเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะเล็ง “ศรพรหมาสตร์” (Brahmastram ข้อมูลจาก Wikipedia ระบุว่า คติทางฮินดูถือเป็นอาวุธที่มีพลานุภาพสูงสุดเหนือกว่าอาวุธใดๆ -ผู้แปล) ของตนยิงใส่มะนิลา – ซึ่งก็คือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road เป็นชื่อย่อของ The Silk Road Economic Belt and the 21st-century Maritime Silk Road แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21)

(เก็บความจากข้อเขียนในบล็อก Indian Punchline)

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น