(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Q&A: China expert Susan Shirk updates her view of Sino-US relations
BY George Koo
03/03/2016
ศาสตราจารย์ซูซาน เซิร์ค ผู้เขียนหนังสือเรื่อง China, Fragile Superpower (จีน-อภิมหาอำนาจที่อ่อนแอ) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2007 ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่เอเชียไทมส์ที่เป็นเสมือนการพูดถึงพัฒนาการต่างๆ ของภูมิภาคแถบนี้ในเวลาต่อจากนั้น ทั้งนี้เธอระบุว่าวิกฤตการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2008 ได้เปลี่ยนแปลงทัศนะที่จีนมองสหรัฐฯ โดยนำไปสู่ความรับรู้ความเข้าใจอันผิดพลาดที่ว่า สหรัฐฯกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอย อีกทั้งไม่ให้เครดิตแก่โมเดลแบบอเมริกัน และเนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤตคราวนั้นได้รวดเร็วที่สุด ทั้งประชาชนและชนชั้นนำของจีนจึงเกิดอารมณ์ความรู้สึกประเภทเห็นว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น จนกระทั่งมีการใช้นโยบายการต่างประเทศแบบยืนกรานแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้พวกชาติเพื่อนบ้านพากันกังวลใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของแดนมังกร
เมื่อเร็วๆ นี้ จอร์จ คู นักเขียนเจ้าประจำรายหนึ่งของเอเชียไทมส์ ได้สัมภาษณ์ ซูซาน แอล. เชิร์ค (Susan L. Shirk) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง China, Fragile Superpower (จีน-อภิมหาอำนาจที่อ่อนแอ) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2007 และได้รับการยกย่องชมเชยมาก ศาสตราจารย์เชิร์ค เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองจีนที่มีอิทธิพลสูง โดยเธอเคยดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ (deputy assistant secretary of state) ในยุคคณะบริหารของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน เธอได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรคนหนึ่งในรายการสนทนาที่ใช้หัวข้อเรื่องว่า “ทำไมสหราชอาณาจักรมองจีนเป็นเพื่อนมิตร ทว่าสหรัฐฯไม่ได้เห็นเช่นนั้น” (Why the UK sees China as a friend and the US doesn’t ) ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการ 100 (Committee of 100)[1] และ สโมสรคอมมอนเวลธ์ (Commonwealth Club)[2] เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่เมืองปาโล อัลโต (Palo Alto), มลรัฐแคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา เชิร์คซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ บัณฑิตวิทยาลัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและแปซิฟิกศึกษา (Graduate School of International Relations and Pacific Studies) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานดิเอโก (University of California, San Diego) ได้รับเชิญให้เป็นผู้แสดงทัศนะของฝ่ายสหรัฐฯ ทั้งนี้ คู เป็นผู้ดำเนินรายการสนทนาดังกล่าว และหลังจากนั้นได้พูดคุยกับ เชิร์ค เพื่อนำมาเป็นบทสัมภาษณ์พิเศษสำหรับนำเสนอในเอเชียไทมส์คราวนี้
คู: มาร์ติน ฌาคส์ (Martin Jacques) เชื่อว่าสหราชอาณาจักรมองจีนว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร เขายังเชื่อต่อไปว่า การที่สหรัฐฯอยู่ในฐานะเป็นเจ้าผู้กำลังครองโลกอยู่ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯไม่สามารถมองจีนในในทางเดียวกันกับสหราชอาณาจักรได้ นั่นก็คือ สหรัฐฯดูจะมองจีนว่าเป็นคู่แข่งขันมากกว่า หรือกระทั่งมองเป็นศัตรูมากกว่าเป็นเพื่อนมิตรด้วยซ้ำไป คุณมีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้? (รายละเอียดความเห็นของ มาร์ติน ฌาคส์ ติดตามได้ที่ http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9590000026514)
เชิร์ค: มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้อยู่แล้วว่าสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรจะต้องมีทัศนะต่อจีนจากพื้นฐานแห่งผลประโยชน์ของพวกเขาเอง สหราชอาณาจักรนั้นให้ความสนใจอันดับแรกสุดในเรื่องผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่จีนสามารถมอบให้ได้ ขณะที่สหรัฐฯให้คุณค่าแก่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน แต่ก็มีผลประโยชน์อื่นๆ ที่กว้างขวางกว่านั้นด้วย เป็นผลประโยชน์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงของภูมิภาคเอเชีย, สิทธิมนุษยชน, การไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ฯลฯ
แต่สิ่งที่ทำให้ดิฉันรู้สึกไม่สบายใจเอามากๆ เลยเกี่ยวกับเรื่องที่สหราชอาณาจักรกำลังเกี้ยวพาราสีจีนอยู่ในปัจจุบันก็คือว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากจีนได้แช่แข็งความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่กับอังกฤษเอาไว้เป็นเวลา 1 ปีสืบเนื่องจากนายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้พบปะกับทะไลลามะ การกระทำที่เท่ากับเป็นการบิดแขนในทางการทูตและในทางเศรษฐกิจชนิดนี้ไม่มีความเหมาะสมและไร้ความสง่างามสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะเป็นมหาอำนาจระดับโลก
ทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯต่างไม่ได้โต้แย้งในเรื่องที่ว่า ทิเบตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน แน่นอนว่าดิฉันมีความเป็นห่วงในเรื่องที่สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯกำลังแยกห่างจากกันในเรื่องวิธีการติดต่อกับจีน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ดิฉันมีความเป็นห่วงที่อังกฤษกำลังให้รางวัลจากการที่จีนใช้วิธีการบิดแขนอย่างนี้ และด้วยเหตุนี้จึงกำลังส่งเสริมสนับสนุนให้ปักกิ่งนำยุทธวิธีทำนองเดียวกันนี้มาประยุกต์ใช้ในการติดต่อรับมือกับชาติอื่นๆ ด้วย
คู: เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลปักกิ่งได้เปิดตัวแผนการริเริ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหลายๆ อย่าง เป็นต้นว่า ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asia Infrastructure Investment Bank) และแผนการริเริ่มหนึ่งแถบเศรษฐกิจหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) สหรัฐฯควรที่จะมีนโยบายต่อแผนการริเริ่มเหล่านี้อย่างไร?
เชิร์ค: ความเห็นของดิฉันก็คือ สหรัฐฯไม่ควรที่จะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงเกินเหตุ ซึ่งเลยทำให้เราดูขาดความหนักแน่นมั่นคงจนน่าสมเพท แน่นอนทีเดียวว่า เป็นธรรมดาที่จีนย่อมต้องการขยายอิทธิพลในระดับภูมิภาคของเขาให้แผ่กว้างออกไป เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ไม่สมควรหรือที่เราจะส่งเสริมสนับสนุนจีนให้ส่งผ่านความทะเยอทะยานของเขาออกไปในรูปของแผนการริเริ่มทางเศรษฐกิจและทางการทูต แทนที่จะเป็นแผนการริเริ่มทางการทหาร? เราควรที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้จีนสร้างความมั่นใจขึ้นมาว่า โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายของเขาจะสอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศ อย่างเช่นในเรื่องความโปร่งใสทางการเงิน, การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม, และการปฏิบัติตามมาตรฐานทางด้านแรงงาน แต่ปรากฏว่าเรากลับทำความผิดพลาดเมื่อแสดงตัวออกไปในลักษณะที่เป็นพวกมุ่งขัดขวางคัดค้าน
คู: การกระทำของจีนในทะเลจีนใต้และในทะเลจีนตะวันออก กำลังส่งผลกระทบกระเทือนอย่างไรต่อความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่กับเพื่อนบ้านในเอเชียทั้งหลาย? สหรัฐฯควรที่จะแสดงบทบาทอย่างไรในข้อพิพาทเหล่านี้?
เชิร์ค: จีนกำลังทำให้การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทางทะเลเหล่านี้ มีลำดับความสำคัญสูงกว่าผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติของเขาเองไปแล้ว การกระทำต่างๆ ของจีนในทะเลจีนใต้ได้กลายเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยต่อบรรดาเพื่อนบ้านของเขา และทำให้เพื่อนบ้านเหล่านี้เกิดความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์ในระยะยาวต่อภูมิภาคนี้ของปักกิ่ง เวลานี้ดูเหมือนกับว่าปักกิ่งมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะยืนกรานการอ้างกรรมสิทธิ์แบบแผ่อำนาจของตนเหนือทะเลจีนใต้ แม้กระทั่งเมื่อต้องควักกระเป๋าจ่ายในรูปของการมีความขัดเคืองอย่างต่อเนื่องกับเพื่อนบ้านทั้งหลายของเขา เพื่อนบ้านของเขาจำนวนมากทีเดียวเวลานี้กำลังแสวงหาความคุ้มครองของสหรัฐฯ เพื่อให้ช่วยป้องกันพวกเขาจากสิ่งที่ในเวลานี้พวกเขามองเห็นว่าคือภัยคุกคามจากจีน จีนนั้นมีความปรารถนาที่จะให้สหรัฐฯลดทอนหรือกระทั่งถอนยวงการปรากฏตัวทางทหารของสหรัฐฯในเอเชีย แต่จากการที่จีนสร้างเกาะเทียมและทำการก่อสร้างทางการทหาร นี่กลับกำลังก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม กล่าวคือกำลังนำเอาการทหารของสหรัฐฯเข้ามามากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ
สหรัฐฯนั้นเลือกที่จะไม่มีจุดยืนใดๆ ในกรณีพิพาททางอธิปไตยเหล่านี้ ความกังวลสนใจเบื้องแรกสุดของเขาก็คือว่า ต้องการให้ฝ่ายต่างๆ ในกรณีพิพาทเหล่านี้ แก้ไขความแตกต่างของพวกเขาในลักษณะสันติซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และโดยที่พัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจะต้องไม่กลายเป็นเครื่องขัดขวางแทรกแซงเสรีภาพในการเดินเรือ สหรัฐฯนั้นเดินตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea ใช้ตัวย่อว่า UNCLOS) ทว่ากลับยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว หวังใจว่ารัฐสภาชุดหน้าจะทำเรื่องนี้ให้จบไปในที่สุด เรากำลังถูกมองแบบน่าหัวเราะเยาะ จากการที่เรากำลังเทศนาสั่งสอนเรื่องให้ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่แล้วเราเองกลับยังไม่ได้ประกาศเห็นพ้องกับกฎหมายเหล่านี้อย่างเป็นทางการ
คู: เรื่องที่คณะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเวลานี้ไม่มีความมั่นคงภายในประเทศ มีอิทธิพลอย่างไรต่อนโยบายการต่างประเทศของเขา? ภายใต้ประธานาธิบดีสี พวกเขากำลังรู้สึกมีความมั่นคงเพิ่มขึ้นหรือลดลง? วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008- 09 มีอิทธิพลขนาดไหนในการเปลี่ยนแปลงความรับรู้ความเข้าใจที่จีนมีต่อสหรัฐฯ?
เชิร์ค: พวกผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังรู้สึกไม่มั่นคงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา พวกเขายังคงวิตกว่าการปกครองของพวกเขาอาจจบสิ้นลงภายในชั่วเวลาเพียงแค่ข้ามคืน ทำนองเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต พรรคคอมมิวนิสต์ที่ไหนก็ตามที ยังจะสามารถปกครองสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากการปฏิรูปต่างๆ ทางการตลาดและการเปิดกว้างต่อโลกภายนอกได้อีกหรือ? จุดโฟกัสของสี จิ้นผิง ในปัจจุบัน กำลังเน้นหนักไปที่ภัยคุกคามภายในประเทศ มากนักหนายิ่งกว่าภัยคุกคามระหว่างประเทศ และเวลานี้จากการที่อัตราเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจกำลังชะลอลง จนกระทั่งประชาชนอาจจะกำลังต้องเผชิญกับความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจกันจริงๆ แล้ว ภัยคุกคามจากความไม่พอใจของประชาชนจึงดูจะใหญ่โตเพิ่มมากขึ้นอีก คำถามใหญ่อยู่ที่ว่าสี จิ้นผิง จะทำหรือไม่ทำ ในการหันไปใช้วิธีปลุกระดมประชาชนให้สามัคคีกันอยู่รอบๆ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยการเติมเชื้อไฟลัทธิชาตินิยมแบบต่อต้านต่างชาติ และกระทั่งเป็นไปได้ว่าจะพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของพวกเขาออกไปจากปัญหาภายในประเทศทั้งหลาย ด้วยการยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้ากันในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเล แต่แน่นอนล่ะ มันสามารถที่จะทำในอีกทิศทางหนึ่งก็ได้ เขาอาจจะประพฤติตัวด้วยความระมัดระวังมากขึ้นทั้งต่อเพื่อนบ้านต่างๆ ของจีนและต่อสหรัฐฯ เพื่อประคับประคองบริบทระหว่างประเทศอันสันติเอาไว้ แล้วจีนจะได้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาภายในประเทศทั้งหลายของเขา ซึ่งนี่คือสิ่งที่จีนทำอยู่ก่อนหน้าปี 2008
วิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2008 นั้นได้เปลี่ยนแปลงทัศนะที่จีนมองสหรัฐฯ โดยกำลังนำไปสู่ความรับรู้ความเข้าใจอันผิดพลาดที่ว่า สหรัฐฯกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอย และไม่ให้เครดิตแก่โมเดลแบบอเมริกัน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นมาจากวิกฤตคราวนั้นได้รวดเร็วที่สุด ประชาชนในจีนจึงเกิดอารมณ์ความรู้สึกประเภทเห็นว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น ก่อนถึงเวลาอันสมควรที่จะมองเช่นนั้น ทั้งสาธารณชนชาวจีนและชนชั้นนำของจีนต่างเริ่มต้นเรียกร้องต้องการนโยบายการต่างประเทศซึ่งมีลักษณะยืนกรานแข็งกร้าวเพิ่มมากขึ้น แล้วการแผ่อำนาจบารมีที่เกิดตามมาก็ส่งผลให้พวกชาติเพื่อนบ้านพากันกังวลใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของจีน ผลลัพธ์สุทธิก็ออกมาว่ามันสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์แห่งชาติของจีนเอง
คู: ในหนังสือของคุณ คุณได้แจกแจงให้เห็นถึงแรงบีบคั้นกดดันภายในประเทศทั้งหลายที่ดำรงอยู่ภายในจีน ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารกับสหรัฐฯอย่างไม่ตั้งใจทว่าก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายขึ้นมาได้ โดยที่ลัทธิชาตินิยมที่บานปลายจนควบคุมไม่อยู่ ก็เป็นแรงบีบคั้นกดดันอย่างที่ว่านี้ประการหนึ่ง สำหรับทางฝ่ายสหรัฐฯล่ะ คุณมองเห็นว่ามีอะไรไหมที่สามารถเป็นแนวเทียบกันหรือเกิดขึ้นคู่ขนานกัน ซึ่งก็อาจนำไปการขัดแย้งสู้รบกันแบบไม่เจตนา อย่างเช่น เป็นต้นว่าในทะเลจีนใต้?
เชิร์ค: เมื่อตอนที่ดิฉันเขียนหนังสือของดิฉันนั้น เวลานั้นมีภาพจำลองสถานการณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เราสามารถจินตนาการได้ว่าเป็นไปได้ที่จะนำเอาจีนกับสหรัฐฯมาเปิดศึกกัน นั่นคือ ไต้หวัน แต่เวลานี้มันมีถึง 4 เรื่องทีเดียว ได้แก่ ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้, ความขัดแย้งระหว่างจีน-ญี่ปุ่นว่าด้วยทะเลจีนตะวันออก, และการล่มสลายลงไปอย่างรุนแรงของเกาหลีเหนือ, เป็นการเพิ่มเติมขึ้นมาอีกจากกรณีการเกิดวิกฤตขึ้นในช่องแคบไต้หวัน
ดิฉันไม่เชื่อว่าในสหรัฐฯเรามีเงื่อนไขที่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ ในสหรัฐฯนี่ เรามีนักการเมืองซึ่งกังวลใจแต่เฉพาะการเอาชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ใช่นักการเมืองซึ่งกังวลใจเกี่ยวกับการอยู่รอดของระบอบการปกครอง พวกนักการเมืองชาวอเมริกันพยายามที่จะเรียกเสียงสนับสนุนจากผู้ออกเสียงด้วยการกล่าวประณามจีนว่าเป็นตัวการทำให้เราเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งพูดเกินเลยความเป็นจริงในเรื่องที่จีนเป็นภัยคุกคาม ด้วยเหตุนี้เราจึงได้ยินได้ฟังคำพูดคำแถลงที่ไร้ความรับผิดชอบเยอะแยะไปหมดในระหว่างการรณรงค์หาเสียง ทว่าถ้อยคำโวหารในระหว่างการรณรงค์หาเสียง ไม่เคยไปถึงระดับที่จุดชนวนให้เกิดการปฏิบัติการทางทหารเลย ยิ่งกว่านั้น ในช่วงเวลานี้เราไม่ได้มีความเสี่ยง เพราะประชาชนชาวอเมริกันรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการขัดแย้งสู้รบทางการทหาร และรู้สึกลังเลใจไม่อยากจะให้กำลังทหารของเราไปทำการแทรกแซงระหว่างประเทศใหม่ๆ ใดๆ อีก
คู: เมื่อตอนที่คุณเขียนหนังสือของคุณนั้น ทะเลจีนใต้มีความสงบมากกว่าเมื่อเทียบกับในเวลานี้ คุณจะให้คำจำกัดความอย่างไรเกี่ยวกับลักษณะของความสัมพันธ์ที่จีนมีอยู่กับเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, และสหรัฐฯในปัจจุบัน?
เชิร์ค: เวลานี้ทะเลจีนใต้ได้กลายเป็นจุดร้ายแรงที่สุดจุดหนึ่งของการโต้เถียงกันระหว่างสหรัฐฯกับจีน สหรัฐฯกับเหล่าเพื่อนบ้านของจีนกำลังมองว่า จีนไม่ได้เป็นเพียงที่มาของความตึงเครียดระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่การกระทำต่างๆ ของเขายังกำลังก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับเจตนารมณ์ในระยะยาวของจีนอีกด้วย
จุดพลิกผันที่สำคัญยิ่งจุดหนึ่ง อาจจะเป็นคดีที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องร้องสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเวลานี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการที่ใช้อำนาจตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ถ้าหากศาลตัดสินออกมาในทางเล่นงานจีน แล้วจีนปฏิเสธไม่ยอมรับไม่ยอมกระทำตาม โลกควรที่จะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างไร? จะมีผลพวงต่อเนื่องใดๆ ต่อจีนหรือไม่จากการดูหมิ่นเหยียดหยามกฎหมายระหว่างประเทศเช่นนี้? เราจะสามารถกระตุ้นจูงใจจีนกันอย่างไรให้เขาปีนลงมาจากการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์แบบแผ่ขยายอำนาจจนเกินเลย โดยอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้แทบทั้งหมดทีเดียว แล้วหันมาใช้จุดยืนซึ่งสอดคลองกับกฎหมายระหว่างประเทศ?
สหรัฐฯนั้นควรหลีกเลี่ยงอย่าได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางข้อพิพาททะเลจีนใต้เหล่านี้ แล้วก็ขออย่าได้ขยายเรื่องความเสี่ยงที่มีต่อความมั่นคงของสหรัฐฯให้เกินเลยความเป็นจริงไป นี่มันไม่ใช่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) นะ มันเป็นประเด็นปัญหาระดับภูมิภาคซึ่งก่อนอื่นเลยควรได้รับการแก้ไขคลี่คลายโดยพวกประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์และโดยสมาคมอาเซียน แต่สถานการณ์ในปัจจุบันกำลังก่อให้เกิดความตึงเครียดระดับภูมิภาคขึ้นมา และด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยการพูดจาถกเถียงแบบพหุภาคีในกรอบของการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum) ตลอดจนเวทีพหุภาคีอื่นๆ เมื่อปี 1999 จริงๆ แล้วจีนได้เริ่มต้นหารือเรื่องการจัดทำแนวทางปฏิบัติ (Code of Conduct) ในทะเลจีนใต้กับอาเซียน ทว่าการเจรจาไม่มีความคืบหน้า และนับแต่นั้นจีนก็ใช้วิธีเตะถ่วงไปเรื่อยๆ
คู: คุณเขียนเอาไว้ในหนังสือของคุณว่า “รัฐบาลจีนนั้นไม่เคยประกาศลัทธิมอนโร (Monroe Doctrine) ในเวอร์ชั่นเอเชีย เพื่อกีดกันสหรัฐฯให้ออกห่างจากแถวบ้านของเขา” เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการที่เกิดขึ้นมาเร็วๆ นี้ภายหลังจากที่หนังสือของคุณได้รับการตีพิมพ์ คุณคิดว่าคำกล่าวของคุณในเรื่องนี้ยังคงเป็นความจริง หรือไม่ค่อยเป็นความจริงเสียแล้ว?
เชิร์ค: มันยังเป็นความจริงอยู่ ทั้งนี้ มันจะเป็นเรื่องไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเอาเลย ถ้าหากจีนคิดคาดหมายว่าจะเข้าครอบงำเอเชียด้วยการใช้วิธีการของสหรัฐฯ ซึ่งในขณะเป็นมหาอำนาจที่ก้าวผงาดขึ้นมา ได้ประกาศเข้าครอบงำทะเลแคริบเบียนและละตินอเมริกา ภูมิภาคเหล่านี้มีความแตกต่างกันมากเหลือเกิน ในเอเชียนั้นยังมีประเทศที่ใหญ่โตและทรงอำนาจรายอื่นๆ อยู่อีก เป็นต้นว่า อินเดีย, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถที่จะมีเจ้าระดับภูมิภาคเพียงรายเดียวขึ้นมาได้ กระทั่งว่าถ้าหากกองกำลังทหารของสหรัฐฯไม่ได้อยู่ในเอเชียอีกต่อไปแล้ว มันก็จะเป็นไปไม่ได้อยู่ดีที่จีนจะหวนกลับไปสร้างระบบลำดับชั้นในภูมิภาคเอเชียแบบที่เคยมีอยู่ในยุคราชวงศ์ชิง จีนกำลังจะต้องหาหนทางทำงานร่วมกับมหาอำนาจระดับภูมิภาครายอื่นๆ บนพื้นฐานที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันให้มากขึ้น
คู: ในหนังสือของคุณ คุณบรรยายให้เห็นถึงวิธีการที่จีนพยายามทำให้พวกประเทศเพื่อนบ้านเกิดความมั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อใครเลย ดูเหมือนว่าในตอนนี้พวกเขาก็กำลังทำเช่นนี้อยู่ แล้วจีนในเวลานี้ทำเรื่องนี้ได้อย่างบังเกิดผลมากขึ้นหรือว่าแย่ลง?
เชิร์ค: รัฐบาลจีนยังคงพูดไม่เลิกถึงความสำคัญของการมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านทั้งหลายของเขา เมื่อปีที่แล้ว สี จิ้นผิง ได้จัดการประชุมหารือในระดับสูงซึ่งมุ่งโฟกัสไปยังสิ่งที่ฝ่ายจีนเรียกว่า “การทูตชายขอบ” (periphery diplomacy) ซึ่งก็คือประเภทหนึ่งของนโยบายเพื่อนบ้านที่ดีนั่นเอง นี่ถือเป็นครั้งแรกที่จีนจัดการประชุมหารือแบบนี้ นอกจากนั้นทั้งแผนการริเริ่มหนึ่งแถบเศรษฐกิจหนึ่งเส้นทาง และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ต่างก็เป็นการสะท้อนความพยายามของจีนที่จะแสดงให้เห็นความเอื้ออารีต่อประเทศเพื่อนบ้านของเขาด้วยการลงทุนอย่างใจกว้างในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น ทว่าการกระทำต่างๆ ของปักกิ่งในทะเลจีนใต้กลับเป็นสิ่งที่ตัดรอนไมตรีจิตมิตรภาพซึ่งเขาได้รับมาจากการทำความดีทางด้านเศรษฐกิจเหล่านี้ ไปอย่างมากมายทีเดียว
จีนยังจะต้องเดินไปอีกไกล เพื่อไปสู่การลดความวิตกกังวลในภูมิภาคเกี่ยวกับภัยคุกคามจากจีน ถ้าหากเขาคิดที่จะทำงานนี้ โดยผ่านการทำให้พวกสถาบันพหุภาคีระดับภูมิภาคทั้งหลาย มีลักษณะที่ผูกมัดผูกพันเพิ่มมากขึ้นแทนที่จะเป็นเพียงเวทีพ่นน้ำลายโดยไม่เกิดผลอะไรแล้ว การแสดงให้เห็นความตั้งใจจริงที่จะผูกมัดทำตามกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานพหุภาคี ก็จะเป็นหนทางที่ดีในการทำให้ประเทศอื่นๆ กลับมีความมั่นใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของคุณ
ดร. จอร์จ คู เพิ่งเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้จากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลก แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจ ของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100, the Pacific Council for International Policy และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media
หมายเหตุผู้แปล
[1] คณะกรรมการ 100 (Committee of 100) เป็นกลุ่มของชาวอเมริกันเชื้อสายจีนคนสำคัญ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 1990 โดยมีภารกิจที่จะ “ทุ่มเทความเข้มแข็งและประสบการณ์ของพวกเขาออกมาร่วมกัน เพื่อรับมือกับประเด็นปัญหาสำคัญต่างๆ ซึ่งเป็นที่สนใจและห่วงใยของประชาคมชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ตลอดจนประเด็นปัญหาซึ่งกระทบกระเทือนถึงความสัมพันธ์จีน-อเมริกัน” (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[2] สโมสรคอมมอนเวลธ์ (Commonwealth Club) มีชื่อเต็มว่า สโมสรคอมมอนเวลธ์แห่งแคลิฟอร์เนีย ( Commonwealth Club of California) เป็นองค์การการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไรและไม่สังกัดกลุ่มใด ซึ่งตั้งฐานอยู่ในภาคเหนือของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สโมสรคอมมอนเวลธ์ก่อตั้งขึ้นในปี 1903 ถือเป็นเวทีจัดการอภิปรายถกเถียงกิจการสาธารณะซึ่งเก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และเปิดกว้างให้ทุกๆ คนสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ (ข้อมูลจาก Wikipedia)