(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Q&A: Author Martin Jacques explains UK’s pivot to China
BY George Koo
24/02/2016
มาร์ติน ฌาคส์ ผู้เขียนหนังสือติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ทั่วโลกเรื่อง “When China Rules the World” ให้สัมภาษณ์ระบุว่า การที่อังกฤษปรับท่าทีใหม่ซึ่งถือเอาการก้าวผงาดขึ้นมาของจีนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่ออนาคตของตนเอง ทว่าสหรัฐฯกลับยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ เป็นเพราะสหรัฐฯต้องการรักษาฐานะการเป็นเจ้าผู้ครอบงำโลกของตนเอาไว้ และถือว่าจีนคือภัยคุกคามต่อฐานะดังกล่าวนี้
เมื่อเร็วๆ นี้ จอร์จ คู นักเขียนเจ้าประจำผู้หนึ่งของเอเชียไทมส์ ได้สัมภาษณ์ มาร์ติน ฌาคส์ (Martin Jacques) ผู้เขียนหนังสือที่ติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ในทั่วโลกเรื่อง “When China Rules the World” (เมื่อจีนปกครองโลก) มาร์ติน ฌาคส์ นักหนังสือพิมพ์และนักวิชาการชาวอังกฤษผู้นี้ ได้ไปเป็นวิทยากรคนหนึ่งในรายการสนทนาซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการ 100 (Committee of 100) [1] และ สโมสรคอมมอนเวลธ์ (Commonwealth Club) [2] เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่เมืองปาโล อัลโต (Palo Alto), มลรัฐแคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้หัวข้อเรื่องของรายการสนทนาในวันนั้นคือ “ทำไมสหราชอาณาจักรมองจีนเป็นเพื่อนมิตร ทว่าสหรัฐฯไม่ได้เห็นเช่นนั้น” (Why the UK sees China as a friend and the US doesn’t ) คู เป็นผู้ดำเนินรายการสนทนาดังกล่าว และหลังจากนั้นได้พูดคุยกับ ฌาคส์ เพื่อนำมาเป็นบทสัมภาษณ์พิเศษสำหรับนำเสนอในเอเชียไทมส์คราวนี้
คู: สหราชอาณาจักรและจีนทั้งคู่ต่างอ้างว่าเวลานี้ความสัมพันธ์ของพวกเขากำลังเข้าสู่ยุคทอง ทำไมพวกเขาจึงพูดเช่นนี้? มันหมายความว่าอย่างไรกันแน่?
ฌาคส์: เมื่อก่อนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับจีนไม่ได้มีลักษณะเป็นด้านบวกอะไร กระทั่งช่วงระยะหลังมากๆ มานี้ สหราชอาณาจักรก็ยังคงมุ่งเน้นย้ำสิ่งที่เป็นด้านลบของประเทศจีนอยู่เสมอเรื่อยๆ มา เป็นต้นว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน และการไม่มีความเป็นประชาธิปไตย มากพอๆ กับที่เน้นย้ำสิ่งที่เป็นด้านบวก ความสัมพันธ์อย่างใหม่ระหว่างประเทศทั้งสองจึงควรต้องถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่โตทีเดียว เวลานี้สหราชอาณาจักรมองจีนในแง่บวกอย่างท่วมท้นเต็มที่ สหราชอาณาจักรมองการก้าวผงาดขึ้นมาของจีนว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่ออนาคตของสหราชอาณาจักรเอง สหราชอาณาจักรกำลังเสาะแสวงการมีปฏิสัมพันธ์อย่างรอบด้านกับจีน และมองว่าการมีปฏิสัมพันธ์เช่นนี้กับจีนคือสิ่งที่เป็นแกนกลางสำหรับอนาคตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร
ทางฝ่ายจีนก็แสดงความยินดีต้อนรับการปรับเปลี่ยนเช่นนี้ของสหราชอาณาจักร พวกเขาทั้งคู่กำลังมุ่งมองไปที่ผลในทางปฏิบัติและไม่ยินยอมให้อดีตมาเป็นตัวขัดขวางเส้นทางเดินของพวกเขา ข้อเท็จจริงที่ว่าอังกฤษนั้นเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอเมริกาในตลอดกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้จีนมองว่า การมีความสัมพันธ์แบบใหม่กับอังกฤษเช่นนี้แหละยิ่งเป็นรางวัลที่มีค่ามากขึ้นไปอีก
คู: คุณเพิ่งชี้ให้เห็นว่า การที่สหราชอาณาจักรกระชับการติดต่อสัมพันธ์กับจีนเช่นนี้ เป็นการตัดสินใจเมื่อเร็วๆ นี้เองของรัฐบาล (นายกรัฐมนตรี เดวิด) คาเมรอน ขอให้ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้ยังไง?
ฌาคส์: เมื่อปี 2012 คาเมรอนพบปะหารืออย่างเปิดเผยกับทะไลลามะ ทางปักกิ่งได้ตอบโต้ด้วยการแช่แข็งความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับอังกฤษ นั่นดูเหมือนจะเป็นประสบการณ์ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพนะ เมื่อมีการฟื้นคืนเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นปกติระหว่างกันแล้ว อังกฤษก็เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและอย่างห้าวหาญ เพื่อทำให้จีนบังเกิดความมั่นใจขึ้นมาใหม่ว่า อังกฤษมีความตั้งใจดีและมีความปรารถนาที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ชนิดที่แตกต่างไปจากเดิมขึ้นมา ฝ่ายอังกฤษได้ใช้ช่วงระยะเวลาที่ถูกอยู่ในการแช่แข็งอย่างชาญฉลาด กล่าวคือ พวกเขาไม่ได้มองโลกในวิถีทางที่ถือตะวันตกเป็นจุดศูนย์กลางอย่างเด็ดขาดเต็มที่อีกต่อไปแล้ว แต่หันมามองว่าจีนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดทั้งต่ออนาคตของสหราชอาณาจักรและต่ออนาคตของโลก
คู: เมื่อเร็วๆ นี้ คุณได้ไปพูดให้รัฐบาลอังกฤษฟังเกี่ยวกับการที่สหราชอาณาจักรปักหลุดถือจีนเป็นศูนย์กลาง และเรื่องนี้มีความหมายอย่างไรสำหรับอนาคต ยังมีผู้คนจำนวนมากในสหราชอาณาจักรใช่ไหมที่ไม่ได้เข้าอกเข้าใจเรื่องลักษณะและเหตุผลของการที่ต้องมีความสัมพันธ์อย่างใหม่กับประเทศจีน ?
ฌาคส์: ไม่ใช่เป็นการเกินเลยไปหรอกที่จะระบุว่า การที่สหราชอาณาจักรปรับเปลี่ยนไปมีทัศนคติอย่างใหม่ต่อจีนนั้น คือการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งมากครั้งหนึ่ง มันเป็นสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับสติปัญญาตามแบบแผนดั้งเดิมเยอะแยะทีเดียว คนจำนวนมากในแวดวงการเมืองและในแวดวงสื่อมวลชนยังคงกำลังร้องเพลงจากแผ่นเนื้อเพลงสวดบทเก่าๆ เดิมๆ กันอยู่เลย ยังคงกำลังเน้นย้ำด้านลบกันมากกว่าด้านบวก
คู: สหราชอาณาจักรเข้าร่วมใน AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย) โดยฝ่าฝืนความปรารถนาของสหรัฐฯ ทำไมสหราชอาณาจักรจึงทำเช่นนี้? เรื่องนี้บอกอะไรเราในเรื่องความสัมพันธ์ที่สหราชอาณาจักรมีอยู่กับจีน และความสัมพันธ์ที่สหราชอาณาจักรมีอยู่กับสหรัฐฯ?
ฌาคส์: การที่สหรัฐฯคัดค้านการจัดตั้งธนาคาร AIIB นั้น โดยสาระสำคัญแล้วเป็นเพราะเขามองธนาคารแห่งนี้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯที่ดำรงคงอยู่ในเวลานี้ ตลอดจนพวกสถาบันของระเบียบโลกดังกล่าว อย่างเช่น ไอเอ็มเอฟ และเวิลด์แบงก์ แต่สหราชอาณาจักรนั้นมีทัศนะที่แตกต่างออกไป เขามอง AIIB ว่าเป็นสถาบันซึ่งสามารถช่วยให้บรรลุความต้องการทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีอยู่อย่างมากมายกว้างขวางเหลือเกินในเอเชีย นอกจากนั้น รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังมองการเข้าร่วม AIIB ว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะสาธิตให้จีนตลอดจนส่วนอื่นๆ ของโลก ได้มองเห็นถึงมิติใหม่ของเขาในการอ้าแขนต้อนรับจีน ผมไม่คิดว่าเราควรคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานใดๆ ในความสัมพันธ์ที่อังกฤษมีอยู่กับสหรัฐฯ ยกเว้นแต่ว่าเวลานี้อังกฤษได้แสดงให้เห็นแล้วถึงความอกเต็มใจที่จะกระทำการอย่างเป็นอิสระจากสหรัฐฯ และกระทั่งกระทำสิ่งที่ขัดกับความปรารถนาของสหรัฐฯ นี่แหละคือเรื่องที่ใหม่
คู: สหรัฐฯกระทำความผิดพลาดฉกรรจ์ทีเดียวใช่ไหมที่ไม่เข้าร่วมใน AIIB? ทำไมสหรัฐฯถึงไม่เข้าร่วม? ที่จริงแล้วสหรัฐฯควรจะทำอย่างไร?
ฌาคส์: ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสหรัฐฯกระทำความผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ในเรื่องนี้ การที่อังกฤษตัดสินใจเข้าร่วมก็ยิ่งสาธิตให้เห็นความผิดพลาดนี้อย่างชัดเจนมาก หลังจากที่อังกฤษประกาศการตัดสินใจของตน ได้มีอีก 24 ประเทศ ซึ่งรวมถึงพวกประเทศยุโรปรายสำคัญๆ อย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส ต่างยื่นแสดงความจำนงขอเข้าร่วม AIIB ทำให้รวมแล้วมีทั้งสิ้น 57 แทนที่จะมีสมาชิกเพียงแค่ 22 ประเทศอย่างแต่เดิม ปัจจุบันมีอีก 30 ประเทศซึ่งยื่นแสดงความจำนง และอยู่ในรายชื่อผู้รอคอยที่จะเข้าร่วม นี่จะทำให้เกือบจะถึง 90 ประเทศทีเดียว สหรัฐฯจึงประสบความสำเร็จในการโดดเดี่ยวตัวเองโดยที่มีเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่เป็นเพื่อนของเขา
คู: คุณอธิบายได้ไหมว่าทำไมจึงมีทัศนะที่แตกต่างกันเป็น 2 แบบเช่นนี้ขึ้นมา ?
ฌาคส์: สหรัฐฯนั้นเป็นเจ้าผู้ครอบงำโลก (global hegemon) ระเบียบโลกในปัจจุบันออกแบบขึ้นมาโดยอเมริกา และโดยสาระสำคัญแล้วก็บริหารโดยอเมริกาด้วย เขาจึงมีความวิตกทุกข์ร้อนอย่างสุดๆ ที่จะต้องรักษาฐานะการครอบงำโลกของเขาเอาไว้ เขาถือว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อฐานะเช่นนี้ แต่สหราชอาณาจักรอยู่ในจุดยืนที่แตกต่างออกไปมาก เขาหมดฐานะความเป็นเจ้าผู้ครอบงำโลกมานานนักหนาแล้ว ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่มีความสนใจที่จะต้องทำการพิทักษ์ปกป้องฐานะอะไรแบบนี้ เขาสาละวนอยู่แต่กับเรื่องวิธีการในการส่งเสริมเพิ่มพูนโชคชะตาทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร และเขาก็มองเห็นว่าจีนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องนี้
คู: ในสายตาของสหรัฐฯแล้ว จีนเป็นผู้ที่แอบโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ เป็นเหตุให้สหรัฐฯต้องสูญเสียตำแหน่งงานไปเป็นล้านๆ ตำแหน่ง สำหรับอังกฤษนั้น มีความกังวลมากน้อยแค่ไหนในเรื่องการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของจีน ?
ฌาคส์: โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าข้ออ้างเหล่านี้เป็นการพูดเกินความเป็นจริงไปมากเหลือเกิน มันเป็นข้ออ้างที่อยู่ในปริมณฑลของการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าจะเป็นความเป็นจริง เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เท่าที่เป็นอยู่จนถึงเวลานี้สหราชอาณาจักรค่อนข้างจะไม่วิตกกังวลอะไรเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ แน่นอนทีเดียว เขาไม่ได้แสดงอาการวิตกจริตเกินเหตุอะไรทำนองนี้เลย
อันที่จริงเมื่อพิจารณากันในบริบทนี้ ควรที่จะต้องตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่สหรัฐฯแสดงท่าทีเป็นศัตรูต่อบริษัทหัวเว่ย (Huawei )[3] นั้น อังกฤษกลับมีท่าทีกระตุ้นส่งเสริมให้หัวเว่ยทำการลงทุนขนาดใหญ่ๆ ในสหราชอาณาจักร ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หัวเว่ยกำลังทำอยู่จริงๆ ในตอนนี้
คู: รัฐบาลคาเมรอนกำลังเผชิญกับปริศนาซึ่งยังไม่มีคำไขที่ชัดเจน ในเรื่องที่ว่าจะยังคงอยู่เป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่ โดยกำลังให้สัญญาที่จะจัดการลงประชามติทั่วประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ปมปัญหาอันยุ่งยากยุ่งเหยิงนี้มีอิทธิพลขนาดไหนต่อนโยบายด้านจีนของสหราชอาณาจักร
ฌาคส์: รัฐบาลอังกฤษชุดปัจจุบันนั้นเชื่อว่าสหราชอาณาจักรควรที่จะอยู่ในอียูต่อไป เราต้องระลึกเอาไว้ด้วยว่า เพลเยอร์สำคัญ 2 รายในอียู ได้แก่ เยอรมนีและฝรั่งเศส ต่างเห็นสอดคล้องกับอังกฤษและกำลังใช้ท่าทีใหม่ต่อจีนด้วยเช่นกัน ขณะที่จีน ก็เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ให้ความสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการที่สหราชอาณาจักรจะยังคงเป็นสมาชิกรายหนึ่งของอียู
คู: สหรัฐฯนั้นเชื่อเสมอมาว่าประเทศอื่นๆ ควรยอมรับนำเอาหลักการทางประชาธิปไตยและค่านิยมทางประชาธิปไตยของตนไปใช้ ทว่าจีนนั้นมาจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปอย่างลึกล้ำเหลือเกิน มันจะต้องแตกต่างกันมากๆ เสมอไปหรือไม่? สหรัฐฯจะสามารถยอมรับได้หรือไม่ว่าจีนจะต้องแตกต่างออกไปเสมอ ?
ฌาคส์: เป็นเรื่องยากมากๆ ทีเดียวสำหรับสหรัฐฯที่จะยอมรับว่าจีนเป็นอย่างนั้น และก็จะเป็นอย่างนั้นเสมอ นั่นคือมีความแตกต่างจากสหรัฐฯอย่างล้ำลึก สหรัฐฯเชื่อว่าทุกๆ ประเทศในโลกควรต้องเหมือนๆ กับสหรัฐฯ ความคิดจิตใจแบบมิชชันนารีหมอสอนศาสนาประเภทนี้เป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอของอเมริกา ทว่าจีนนั้นไม่ใช่และก็จะไม่มีวันใช่ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าสหรัฐฯล้มเหลวไม่ยอมรับความเป็นจริงนี้แล้ว อนาคตของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และของสันติภาพในโลกก็จะมืดมนหมดหวังเอามากๆ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯสามารถที่จะมีทัศนคติแบบใหม่ได้ ตัวอย่างเช่น เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) ได้ยอมรับความแตกต่างนี้และก็หยิบยกเหตุผลมาโต้แย้งเพื่อให้ยอมรับความแตกต่างนี้มาตั้งนานแล้ว ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์และเหตุผลทางวัฒนธรรม จีนจะแตกต่างออกไปอย่างมากมายอยู่เสมอ
คู: เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือ ที่จากการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนก็จะต้องเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ และเกิดลักษณะแบบ “สงครามเย็น” ขึ้นมา? ประวัติศาสตร์บอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับการผงาดขึ้นและการเสื่อมโทรมลงของมหาอำนาจต่างๆ ?
ฌาคส์: ในความเห็นของผมแล้ว เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้มีอันเสื่อมโทรมลงในช่วงหลังๆ มาจากการที่จีนก้าวผงาดขึ้นมาเรื่อยๆ และสหรัฐฯก็มาถึงจุดที่ถือว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคามเพิ่มขึ้นทุกทีต่อฐานะความเป็นผู้ครอบงำโลกของตนเอง นี่ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการแห่งความสัมพันธ์ที่เสื่อมโทรมนี้จะต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จนกระทั่งนำไปสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ และแม้กระทั่งอาจนำไปสู่สงครามความขัดแย้งกันอย่างเปิดเผย ทว่าสหรัฐฯนั้นจำเป็นที่จะต้องยอมรับให้มากขึ้นๆ ว่าความสัมพันธ์ที่ตนมีอยู่กับจีนนั้นจะต้องเป็นความสัมพันธ์แบบผู้ที่มีฐานะเสมอภาคกัน แทนที่จะเป็นแบบที่ตนมีความสำคัญสูงสุด เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์แล้ว มันก็ไม่ได้เป็นความจริงเสมอไปที่ว่ามหาอำนาจที่กำลังก้าวขึ้นมากับมหาอำนาจที่กำลังเสื่อมโทรมลงไป จะนำไปสู่การเกิดสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ตัวอย่างข้อยกเว้นระดับคลาสสิกเลยของสิ่งที่เรียกว่า “กับดัก ทิวซิดิเดส” (Thucydides Trap) นี้ ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอังกฤษในช่วงเวลาหลังจากปี 1945 ตอนนั้นสหรัฐฯกำลังก้าวผงาดขึ้นมา ส่วนสหราชอาณาจักรกำลังเสื่อมโทรมลงไป ทั้งนี้สหราชอาณาจักรได้หันมายอมรับว่าเขาไม่สามารถที่จะแข่งขันกับสหรัฐฯได้แล้ว และด้วยเหตุนี้จึงหันมาเลือกสิ่งที่เรารู้จักเรียกขานกันว่า “ความสัมพันธ์แบบพิเศษ” กับสหรัฐฯ
คู: ความยากลำบากในปัจจุบันที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้แก่เศรษฐกิจจีนนั้นมีความหนักหนาสาหัสขนาดไหน? มีโอกาสแค่ไหนที่เขาจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ? เศรษฐกิจจีนมีลู่ทางโอกาสมากน้อยแค่ไหน ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว?
ฌาคส์: จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่มากครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ปี 1978 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของเขาวางอยู่บนโมเดลของเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งเน้นที่การมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว, การส่งออก, การลงทุนในระดับสูงมาก, และแรงงานราคาถูก เวลานี้โมเดลนี้ไม่สามารถที่จะใช้ต่อไปได้แล้ว จีนจึงกำลังพยายามปรับเปลี่ยนไปสู่โมเดลทางเศรษฐกิจแบบใหม่ซึ่งอิงอยู่กับการบริโภคภายในประเทศ, การมีภาคบริการที่ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิมมาก, และการที่เงินทุนและแรงงานต่างจะต้องมีผลิตภาพซึ่งสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่าการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้จะประสบความสำเร็จ อีกทั้งขณะที่ดำเนินไปตามเส้นทางนี้ก็น่าที่จะต้องมีการทำความผิดพลาดอย่างมากมายทีเดียว มันจะเป็นการเดินทางที่ขรุขระกระแทกกระทั้น แต่ผมก็มีความเชื่อมั่นว่าในระยะยาวแล้วจีนจะประสบความสำเร็จ
คู: การที่สหราชอาณาจักรหันมาปักหมุดถือเอาจีนเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ เป็นการสะท้อนถึงการแตกร้าวในความเป็นพันธมิตรระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐฯใช่หรือไม่ ?
ฌาคส์: การที่สหราชอาณาจักรหันมาปักหมุดถือเอาจีนเป็นศูนย์กลางนั้น แสดงให้เห็นว่าเขามีท่าทีเกี่ยวกับจีนซึ่งแตกต่างออกไปจากของสหรัฐฯ นี่คือความไม่ลงรอยกันครั้งสำคัญที่สุดระหว่างประเทศทั้งสองนับตั้งแต่ปี 1956 (เมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ)[4] แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์อันชิดเชื้อสนิทสนมระหว่างสหรัฐฯกับสหราชอาณาจักรกำลังมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว มันเป็นไปไม่ได้อย่างที่สุด แต่มันก็บ่งชี้ให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรนั้นมีความประสงค์ที่จะขบคิดพิจารณาอนาคตของเขาในหนทางที่ค่อนข้างเป็นอิสระมากขึ้นเมื่อคำนึงถึงสหรัฐฯ ยิ่งกว่าที่เขาเคยขบคิดพิจารณานับตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา
ดร. จอร์จ คู เพิ่งเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้จากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลก แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจ ของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100, the Pacific Council for International Policy และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media
หมายเหตุผู้แปล
[1] คณะกรรมการ 100 (Committee of 100) เป็นกลุ่มของชาวอเมริกันเชื้อสายจีนคนสำคัญ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 1990 โดยมีภารกิจที่จะ “ทุ่มเทความเข้มแข็งและประสบการณ์ของพวกเขาออกมาร่วมกัน เพื่อรับมือกับประเด็นปัญหาสำคัญต่างๆ ซึ่งเป็นที่สนใจและห่วงใยของประชาคมชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ตลอดจนประเด็นปัญหาซึ่งกระทบกระเทือนถึงความสัมพันธ์จีน-อเมริกัน” (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[2] สโมสรคอมมอนเวลธ์ (Commonwealth Club) มีชื่อเต็มว่า สโมสรคอมมอนเวลธ์แห่งแคลิฟอร์เนีย ( Commonwealth Club of California) เป็นองค์การการศึกษาที่ไม่แสวงหากำไรและไม่สังกัดกลุ่มใด ซึ่งตั้งฐานอยู่ในภาคเหนือของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สโมสรคอมมอนเวลธ์ก่อตั้งขึ้นในปี 1903 ถือเป็นเวทีจัดการอภิปรายถกเถียงกิจการสาธารณะซึ่งเก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และเปิดกว้างให้ทุกๆ คนสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[3] บริษัทหัวเว่ย (Huawei) มีชื่อเต็มว่าบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลจีส์ จำกัด (Huawei Technologies Co. Ltd.) เป็นบริษัทระดับนานาชาติสัญชาติจีนซึ่งทำกิจการด้านเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคม และอุปกรณ์ตลอดจนบริการด้านสื่อสารโทรคมนาคม สำนักง่านใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง บริษัทแห่งนี้กลายเป็นผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก ภายหลังเข้าเทคโอเวอร์บริษัทอีริคสัน ในปี 2012
หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นในปี 1987 โดย เหริน เจิ้งเฟย อดีตวิศวกรในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ตอนที่ก่อตั้ง บริษัทมุ่งโฟกัสที่การผลิตแผงสวิตช์โทรศัพท์ แต่ต่อจากนั้นก็ได้ขยายธุรกิจออกไปทางด้านการสร้างเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคม, การดำเนินการและการให้คำปรึกษาด้านบริการและด้านอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมแก่ภาคธุรกิจและองค์กรทั้งในและนอกประเทศจีน, และการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารสำหรับตลาดผู้บริโภค ณ เดือนกันยายน 2015 หัวเว่ยมีลูกจ้างพนักงานทั้งสิ้นกว่า 170,000 คน โดยที่ราว 76,000 คนเป็นผู้ที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนา และมีศูนย์วิจัยและพัฒนาในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
ในปี 2014 หัวเว่ยทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 34,200 ล้านหยวน (5,500 ล้านดอลลาร์) ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทมีใช้อยู่ในกว่า 140 ประเทศ และปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการแก่ 45 ใน 50 ผู้ให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก
หัวเว่ยเรียกตนเองว่าเป็นบริษัท “ที่ลูกจ้างพนักงานเป็นเจ้าของ” ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นวิธีตอบโต้กับความรับรู้ความเข้าใจกันทั่วไปที่ว่าบริษัทนี้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน อย่างไรก็ตาม โครงสร้างกรรมสิทธิ์แท้จริงของบริษัทนั้นมีความกำกวมและแวดล้อมด้วยวัฒนธรรมที่มุ่งปิดลับ พวกลูกจ้างพนักงานไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารใดๆ เกี่ยวกับการถือครองหุ้นของพวกเขา และหุ้นที่ระบุว่าพวกเขาถือครองอยู่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขามีสิทธิมีเสียงใดๆ ในการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
[4] วิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) หมายถึงเหตุการณ์รุกรานอียิปต์ในช่วงปลายปี 1956 นำโดยอิสราเอล และติดตามด้วยสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส จุดมุ่งหมายของการรุกรานเหล่านี้ก็เพื่อให้ฝ่ายตะวันตกกลับเข้าเป็นผู้ควบคุมคลองสุเอซ และโค่นล้มประธานาธิบดีกามัล อับเดล นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ของอียิปต์ลงจากอำนาจ หลังจากการสู้รบเริ่มต้นขึ้น สหรัฐฯ, สหภาพโซเวียต, และสหประชาชาติ ได้บังคับกดดันจนทำให้ผู้รุกรานทั้ง 3 ถอยออกมา
ทั้งนี้ ประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ของสหรัฐฯ ได้เคยตักเตือนสหราชอาณาจักรอย่างแข็งขันว่าอย่าได้รุกรานอียิปต์ และเมื่อเกิดการสู้รบ ก็คุกคามที่จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบการเงินของสหราชอาณาจักร พวกนักประวัติศาสตร์สรุปว่า วิกฤตการณ์คราวนี้ถือเป็นสัญญาณแสดงถึงการที่สหราชอาณาจักรยุติบทบาทความเป็นหนึ่งในมหาอำนาจรายใหญ่ของโลก
จากวิกฤตการณ์คราวนี้ คลองสุเอซถูกปิดใช้งานไม่ได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 1956 จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม 1957
(ข้อมูลจาก Wikipedia)