เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา ออกมาระบุเมื่อวันจันทร์ (11 ก.ค.) ว่าธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็นเอ เตรียมปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (foreign currency accounts) ของรัฐบาลภายใน 30 วัน พร้อมประณามท่าทีของสถาบันการเงินที่เป็นสื่อกลางการค้าระหว่างการากัสกับต่างชาติรายนี้ว่าเข้าข่าย “กีดกัน”
“ซิตี้แบงก์แจ้งมาว่าจะปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลาง (Central Bank) และแบงก์ ออฟ เวเนซุเอลา (Banco de Venezuela) ภายใน 30 วัน โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้ามาก่อน” มาดูโรกล่าว พร้อมชี้ว่าการกระทำลักษณะนี้เข้าข่าย “กีดกันทางการเงิน” ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ควรจะเข้ามาตรวจสอบ
“ท่านคิดว่ามาตรการกีดกันทางการเงินของพวกเขาจะหยุดเราได้อย่างนั้นหรือ? ไม่หรอก... ท่านสุภาพบุรุษทั้งหลาย ไม่มีใครหยุดยั้งเวเนซุเอลาได้”
ผู้นำเวเนฯ อธิบายว่า รัฐบาลใช้บัญชีเงินฝากซิตี้แบงก์เพื่อทำธุรกรรมการเงินภายใน 24 ชั่วโมงกับสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศทั่วโลก
ธนาคารซิตี้แบงก์ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท ซิตี้กรุ๊ป อิงค์ ยังไม่ออกมาให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับมาตรการโดดเดี่ยวที่เตรียมจะใช้กับธนาคารกลางเวเนซุเอลา และแบงก์ ออฟ เวเนซุเอลา ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อธุรกิจรายย่อยขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐละตินอเมริกาแห่งนี้
ก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง มาดูโรได้ประกาศว่ารัฐบาลจะเข้าควบคุมการผลิตที่โรงงานของบริษัท คิมเบอร์ลีย์-คลาร์ก ในเวเนซุเอลาที่เพิ่งจะปิดตัวลงไป
คิมเบอร์ลีย์-คลาร์ก ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศแผนปิดโรงงานในเวเนซุเอลาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (9) โดยอ้างถึงสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย อุปสรรคในการเข้าถึงสกุลเงินแข็งที่จะใช้ซื้อวัตถุดิบ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อรุนแรง
บริษัทยังเตือนด้วยว่า หากรัฐบาลเวเนซุเอลาจะเข้าไปควบคุมการผลิตที่โรงงาน คิมเบอร์ลีย์-คลาร์ก “ก็จะต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของพนักงาน ทรัพย์สินทางกายภาพ เครื่องไม้เครื่องมือ และเครื่องจักรกลภายในโรงงาน”
เวเนซุเอลาซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) กำลังเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินอย่างรุนแรง จนทำให้บริษัทต่างชาติทยอยถอนกิจการ หรือไม่ก็ต้องลดกำลังการผลิตลง
นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ชี้ว่านโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของมาดูโร และอดีตประธานาธิบดี อูโก ชาเบซ คือต้นเหตุที่นำมาสู่หายนะของเวเนซุเอลาในวันนี้ ขณะที่มาดูโรก็กล่าวหาว่าพวกกลุ่มฝ่ายค้านและนักธุรกิจพยายามทำ “สงครามเศรษฐกิจ” โค่นล้มรัฐบาล
เวเนซุเอลาใช้นโยบายควบคุมการเงินเข้มงวดมาตั้งแต่ปี 2003 และพึ่งพาซิตี้แบงก์ในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ