เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.) ประชาชนชาวเวเนซุเอลาไม่ต่ำกว่า 25,000 คนข้ามพรมแดนเข้าโคลอมเบียเพื่อซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็น หลังจากประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ประกาศให้เวลา 12 ชม.เปิดด่านชั่วคราว ด้านผู้นำคิวบา ราอูล คาสโต ออกแถลงการณ์กลางรัฐสภาในวันเสาร์ (9 ก.ค.) ชี้วิกฤตเศรษฐกิจเวเนซุเอลาได้ฉุดตัวเลขการเติบโตของคิวบา พร้อมสั่งการเริ่มใช้เมาตรการประหยัดพลังงาน
ฟ็อกซ์นิวส์ สื่อสหรัฐฯ รายงานในวันอาทิตย์(10 ก.ค)ว่า หลังจากที่รัฐบาลเวเนซุเอลาของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ได้เปิดด่านข้ามพรมแดนไปยังโคลอมเบียเป็นเวลา 12 ชม. หลังจากที่ปิดมาเกือบปี ทำให้ประชาชนชาวเวเนซุเอลาอย่างน้อย 25,000 คนได้เริ่มต้นข้ามฝั่งจากเมืองSan Antonio del Tachira เมื่อเวลา 05.00 น.เพื่อข้ามสะพานนานาชาติไซมอน โบลิวาร์ (Simon Bolivar international bridge) เพื่อไปหาซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็นในเมืองกูกูตา (Cúcuta) เมืองเอกของ จ.นอร์เตเดซันตันเดร์ (Norte de Santander) ในโคลอมเบีย
“เรามาจาก San Antonio และความเป็นจริงแล้ว พวกเราไม่มีอาหารจะให้ลูกๆ รับประทานแล้ว ดังนั้นดิฉันไม่คิดว่าเป็นการยุติธรรมที่จะยังคงปิดด่านข้ามพรมแดนต่อไป” หญิงเวเนฯ รายหนึ่งให้ความเห็นกับสื่อ EFE ในเมืองกูกูตา ทั้งนี้หญิงผู้นี้ที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อได้ข้ามสะพานนานาชาติพร้อมสามีและบุตรอีก 2 คนในวัย 5 ปี และ 2 ปีเข้ามายังโคลอมเบียเพื่อซื้ออาหาร
ฟ็อกซ์นิวส์รายงานว่า สะพานข้ามระหว่างรัฐตาชีรา และ จ.นอร์เตเดซันตันเดร์ ได้ถูกปิดลงตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2015 หลังจากที่มาดูโรได้ประกาศมาตรการสู้กับการลักลอบขนสินค้าเถื่อนบริเวณพรมแดน และยังป้องกันไม่ให้กลุ่มติดอาวุธเดินทางเข้าสู่เวเนซุเอลา
สื่อสหรัฐฯ รายงานเพิ่มเติมว่า และหลังจากนั้นมาดูโรได้ลงนามคำสั่งปิดด่านข้ามพรมแดนทุกจุดตลอดแนวยาวร่วม 2,219 กม.
ก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ (9 ก.ค.) โฮเซ เกรกอริโอ วีลมา โมรา (Jose Gregorio Vielma Mora) ผู้ว่าการรัฐตาชีรา ได้ออกแถลงการณ์ประกาศว่าด่านข้ามพรมแดนจะเปิดขึ้นในคำสั่งของประธานาธิบดีเวเนซุเอลา และเมื่อสิ้นเสียงประกาศหลังจากนั้นประชาชนชาวเวเนซุเอลาหลายร้อยคนได้เริ่มเข้าแถวยาวเพื่อรอการข้ามสะพานนานาชาติไซมอน โบลิวาร์
โดยในแถลงการณ์ของวีลมา โมราได้ชี้ต่อว่า “การข้ามพรมแดนครั้งที่ 2 ของพลเมืองเวเนซุเอลาเป็นแผนการที่วางไว้กลุ่มการเมืองปีกขวา ด้วยข้ออ้างเพื่อการซื้ออาหารและยารักษาโรคที่จำเป็น”
อย่างไรก็ตาม เบตตี โรญาส (Betty Rojas) ประชาชนชาวเวเนซุเอลาที่กำลังเดินทางมุ่งหน้ากลับบ้านหลังหาซื้อของใช้เสร็จได้ให้ความเห็นถึงการเปิดด่านครั้งนี้ว่า “พวกเราซื้อข้าวสาร เส้นพาสตา น้ำตาล กระดาษชำระ และทุกสิ่งที่เราสามารถนำกลับเข้ามาได้ เรามีเพียงพอสำหรับทุกสิ่งแล้ว” และโรญาสยังให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อว่า เธออยากจะขอขอบคุณรัฐบาลโคลอมเบียไว้ ณ ที่นี้ด้วย ซึ่งโรญาสและเพื่อนต่างตั้งเป้าหมายที่จะเดินทางไปซื้อหาอาหารและของจำเป็นในทุกครั้งที่ด่านบริเวณพรมแดนเปิดขึ้นอีกครั้ง
ด้าน พ.ต.อ.เจม บาร์เรรา (Col. Jaime Barrera) หัวหน้าตำรวจเมืองกูกูตาให้สัมภาษณ์ว่า ขอรับรองความปลอดภัยในย่านธุรกิจของเมืองกูกูตาในระหว่างที่ประชาชนชาวเวเนซุเอลาจำนวนมากข้ามแดนเข้ามาเพื่อหาซื้ออาหาร โดยทางตำรวจโคลอมเบียได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำบริเวณจุดข้ามแดน และในบริเวณย่านธุรกิจในเมืองใกล้จุดข้ามแดนเพื่อรักษาความปลอดภัย
ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจเวเนซุเอลายังส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในแถบละตินอเมริกา โดยเอพีรายงานในวันเสาร์ (9 ก.ค.) ว่า ประธานาธิบดีคิวบา ราอูล คาสโตรได้ประกาศกลางรัฐสภาคิวบาถึงผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจคิวบา พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่คิวบาเริ่มต้นใช้มาตรการประหยัดพลังงานแล้ว
เอพีรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการคิวบา Cubadebate ที่ได้รายงานถึงแถลงการณ์การประชุมรัฐสภาคิวบาในวันศุกร์ (8 ก.ค.) ว่า ประธานาธิบดีคิวบาได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า “ในรอบแรกของปีนี้ เศรษฐกิจคิวบามีการเติบโตแค่ 1% เท่านั้น เกิดมาจากปัจจัยข้อจำกัดภายนอกทางการเงิน ที่เกิดมาจากการหดตัวของรายได้ส่งออก บวกกับข้อจำกัดบางประการของประเทศคู่ค้าเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ” คาสโตรแถลง
และยังกล่าวต่อว่า “และจากสิ่งนั้น บวกเข้ากับการลดลงจำนวนหนึ่งของสินค้าพลังงานตามที่ได้ตกลงกับเวเนซุเอลา ถึงแม้ว่าจะมีความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร และประชาชนเวเนซุเอลาก็ตาม ซึ่งทำให้ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับสภาพเศรษฐกิจของคิวบาอย่างช่วยไม่ได้” ประธานาธิบดีคิวบาแถลง
ทั้งนี้ เอพีชี้ว่า ถึงแม้คาสโตรได้เคยกล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจโดยทั่วไปในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่ทว่านี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำคิวบาแถลงว่า คิวบากำลังจะได้รับสินค้าพลังงานลดลงจากเวเนซุเอลาในอนาคต
ที่ผ่านมาเวเนซุเอลาได้ส่งสินค้าน้ำมันป้อนคิวบาจำนวนเกือบ100,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานครึ่งหนึ่งที่คิวบาจำเป็นต้องใช้ อย่างไรก็ตามในการแถลงของราอูล คาสโตรล่าสุด เขาไม่ได้ให้ตัวเลขที่แน่นอนถึงจำนวนลดลงที่คาดว่า คิวบาจะได้รับจากเวเนซุเอลา และในแถลงการณ์คาสโตรยังไม่ระบุถึงผลกระทบต่อพลังงานเชื้อเพลิงที่คิวบาจำเป็นต้องใช้ หรือจำนวนพลังงานเพิ่มเติมที่ทางคิวบาได้เรียกร้อง
เอพีรายงานต่อว่า คิวบายังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการคว่ำบาตรทางการค้ากับสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามาจะยอมผ่อนคลายบางมาตรการแล้วก็ตาม ซึ่งในการประชุมรัฐสภาในวันศุกร์ (8 ก.ค.) นั้น พบว่าสื่อต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำข่าว ซึ่งแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่คิวบาชี้ว่า ในสัปดาห์นี้ ผลจากการร่วงของราคาสินค้าส่งออกและบวกกับปัญหาอื่นๆจะทำให้คิวบามีเงินสดในมือน้อยลง และมีความจำเป็นต้องเริ่มต้นใช้นโยบายรัดเข็มขัดด้านการบริโภคพลังงานในครึ่งปีหลังของปี 2016 ซึ่งในมาตรการนี้ยังรวมไปถึง การลดการให้บริการรถบัสสาธารณะ การลดการใช้เครื่องปรับอากาศในสำนักงานภาครัฐคิวบา ลดวันการทำงานลงในบางส่วน รวมไปถึงลดตัวเลขการใช้น้ำมันของรถยนต์ภาครัฐลงกึ่งนึง