เพิ่งเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์ได้ไม่กี่วัน นโยบายประกาศสงครามกับอาชญากรของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ก็เริ่มที่จะเห็นผลเป็นรูปธรรม เมื่อปรากฏว่ามีผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศแห่เข้ามอบตัวกับทางการเพื่อหลีกเลี่ยงการถูก “ล่าสังหาร” แล้วกว่าพันคน
ผู้ที่เข้ามอบตัวกว่าครึ่งมาจากเมืองปาเซย์, เกซอน, กาลูกัน, วัมโบอันกา, จังหวัดริซาล, จังหวัดอิซาเบลา และภูมิภาคคารากา โดยทุกคนจะต้องลงชื่อรับรองในเอกสารว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ หลังจากที่ผู้นำฟิลิปปินส์ได้ยื่นคำขาดว่าจะตามล่าพวกอาชญากรให้หมดสิ้นไปจากประเทศ
ดูเตอร์เต ซึ่งรั้งเก้าอี้นายกเทศมนตรีเมืองดาเวามาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี ชนะศึกเลือกตั้งผู้นำแดนตากาล็อกอย่างถล่มทลายไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค. และเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.
อดีตพ่อเมืองรายนี้ประกาศจะใช้มาตรการที่ดุดันแข็งกร้าวเพื่อกวาดล้างอาชญากรรมให้หมดไปจากฟิลิปปินส์ เช่น การรื้อฟื้นโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ อนุมัติให้หน่วยงานความมั่นคงกระทำวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย และตั้งเงินรางวัลเป็นค่าหัวผู้ค้ายาเสพติด เป็นต้น
ดูเตอร์เต ได้ให้สัญญากับประชาชนว่าจะปราบปรามอาชญากรรมและปัญหายาเสพติดให้หมดสิ้นภายในเวลา 6 เดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง และยังกล่าวเตือนบรรดานายกเทศมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายค้ายาเสพติดว่าพวกเขาจะถูกดำเนินคดีไม่ต่างจากอาชญากรทั่วไปทันทีที่ตนได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี
ดร.เอเดรียน เซมอร์ลัน อาจารย์ด้านสังคมวิทยาเอเชีย ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์เอเชียไทม์สว่า การแห่มอบตัวของผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดนับเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังเครือข่ายยานรกเริ่มที่จะ “สละเรือ” เอาตัวรอด
“ทั้งผู้ค้าและผู้เสพรู้ดีว่าพวกเขาไม่มีใครคอยปกป้องอีกต่อไป ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือมอบตัวต่อทางการเพื่อรักษาชีวิตไว้” เซมอร์ลันกล่าว
ในบรรดาผู้ที่เข้ามอบตัวกับตำรวจช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เยาว์รวมอยู่ด้วย 3 คน
โรนัลด์ เดลา โรซา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์คนใหม่ ได้มีคำสั่งด่วนให้ตำรวจกว่า 2,000 นายเข้ารับการตรวจหาสารเสพติดเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามี 9 นายที่ผลตรวจเป็นบวก และกำลังถูกดำเนินคดี ทั้งนี้หากพบว่ามีความผิดจริง ตำรวจเหล่านี้ก็จะถูกไล่ออกจากราชการ
ดูเตอร์เต ยังออกมาสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปสังหารผู้ที่ต้องสงสัยเป็นอาชญากร รวมถึงพวกที่ใช้ยาเสพติด
“ถ้าท่านรู้จักใครที่ติดยาก็ขอให้ฆ่าได้เลย เพราะพ่อแม่เขาคงเจ็บปวดเกินกว่าจะเป็นคนลงมือฆ่าลูกตัวเอง”
ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.เป็นต้นมา มีผู้ต้องสงสัยเป็นหัวหน้าแก๊งยาเสพติดถูกตำรวจกระทำวิสามัญฆาตกรรม หรือ “ตายปริศนา” ไปแล้วอย่างน้อย 12 คน โดยบางศพนั้นมีป้ายข้อความ “ผมเป็นราชายาเสพติด” ประจานความชั่วเอาไว้ด้วย
เจนนิเฟอร์ กอมโปซา อาจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นมินดาเนา ชี้ว่า การแห่เข้ามอบตัวของผู้ค้ายาเสพติดในช่วงไม่กี่วันมานี้เป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยตรงต่อคำขู่ของประธานาธิบดีดูเตอร์เต ซึ่งหลังจากนี้รัฐบาลมะนิลาควรจะจัดโครงการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ค้าและผู้เสพยา เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนเหล่านี้ที่จะกลับไปใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป หลังจากที่เคยพึ่งพายาเสพติดมาเป็นเวลานาน
เมื่อปี 2009 คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษแห่งฟิลิปปินส์ประเมินจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดทั่วประเทศไว้ราว 6.9 ล้านคน หรือคิดเป็นราวๆ 7% ของประชากรฟิลิปปินส์ แต่ ส.ว.วีเซนเต ซ็อตโต ซึ่งเป็นหัวหอกในการผลักดันกฎหมายต่อต้านยาเสพติด เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านั้นมาก
เว็บไซต์ เดอะ ฟิลิปปินส์ สตาร์ รายงานว่า แดนตากาล็อกได้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกยาเสพติดผิดกฎหมาย โดยมีสารเสพติดจำพวกเมทแอมเฟตามีนถูกส่งออกไปยังออสเตรเลีย แคนาดา จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอีกส่วนน้อยถูกส่งไปยังเกาะกวม และเกาะไซปัน
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์คนใหม่เชิญชวนให้นายตำรวจระดับสูงที่พัวพันกับเครือข่ายค้ายาเสพติดมอบตัวภายใน 48 ชั่วโมงนับจากวันที่ประกาศข้อเสนอ “หรือไม่ก็ผันตัวเองไปเป็นผู้ค้ายาเสพติดแบบเต็มเวลา และเตรียมตัวทำสงครามกับรัฐบาล”
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ตำรวจและหน่วยปราบปรามยาเสพติดฟิลิปปินส์ตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติก 180 ถุงได้ที่เมืองคลาเวเรียในจังหวัดคากายัน และอยู่ระหว่างสอบสวนว่ายาเสพติดล็อตนี้ถูกลักลอบนำเข้ามายังฟิลิปปินส์ หรือผลิตในประเทศ
ก่อนที่จะรับตำแหน่งประธานาธิบดี ดูเตอร์เตได้เอ่ยย้ำหลายครั้งว่า ฟิลิปปินส์กำลังกลายเป็นรัฐการเมืองยาเสพติด (narco-politics country) ซึ่งทำลายอนาคตของเยาวชน และปรากฏการณ์ที่ผู้ค้าและผู้ใช้ยาเสพติดแห่มอบตัวอย่างต่อเนื่องนี้ก็ดูเหมือนจะยืนยันถึงความเกี่ยวพันระหว่างพวกราชายาเสพติด กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ดร.เซมอร์ลันชี้ว่า ผู้นำที่อ่อนจะไม่มีทางกวาดล้างเครือข่ายค้ายาเสพติดและอาชญากรรมที่เป็นปัญหาเรื้อรังในฟิลิปปินส์ได้
“สิ่งที่เราต้องการคือประธานาธิบดีอย่าง ลี กวนยู แห่งสิงคโปร์ ที่กล้าใช้ระบอบกำปั้นเหล็ก และบังเอิญเหลือเกินที่เรากำลังจะได้เห็นการใช้อำนาจลักษณะนี้จากประธานาธิบดีดูเตอร์เต”
นโยบายของผู้นำฟิลิปปินส์คนใหม่อาจสร้างความตื่นเต้นฮือฮาในระยะแรกๆ แต่คงจะต้องจับตามองกันต่อไปว่า สงครามต่อต้านอาชญากรรมของเขาจะให้ผลที่เป็นรูปธรรมในระยะยาวหรือไม่ และ ดูเตอร์เต จะมีมาตรการอย่างไรเพื่อควบคุมปฏิบัติการกวาดล้างให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายอย่างที่เขาได้เคยรับปากไว้