เอพี/เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ปักกิ่งกับโตเกียวทะเลาะกันวุ่น สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาที่ว่าเครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่นล็อกเรดาร์ควบคุมการยิงใส่เครื่องบินรบของจีนเมื่อกลางเดือนที่แล้ว ในบริเวณเหนือน่านน้ำซึ่งสองประเทศพิพาทช่วงชิงกันอยู่ในทะเลจีนตะวันออก
กระทรวงกลาโหมจีนแถลงเมื่อคืนวันจันทร์ (4 ก.ค.) ว่า ขณะที่เครื่องบินไอพ่นแบบ Su-30 ของจีนจำนวน 2 เครื่องกำลังออกตรวจการณ์ตามกิจวัตร ได้มีเครื่องบินขับไล่ F-15 ของญี่ปุ่น 2 ลำบินเข้ามาใกล้ด้วยความเร็วสูง และล็อกเรดาร์ควบคุมการยิงใส่เครื่องบินของฝ่ายจีน ทำให้นักบินจีนต้องดำเนิน “มาตรการทางยุทธวิธี” ก่อนที่เครื่องบินฝ่ายญี่ปุ่นจะปล่อยเป้าลวงอินฟราเรดและหลบหนีไป
“พฤติการณ์ยั่วยุของเครื่องบินไอพ่นฝ่ายญี่ปุ่นเช่นนี้ สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุในท้องฟ้าได้อย่างง่ายดาย, เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยส่วนบุคคลของทั้งสองฝ่าย และเป็นการทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค” คำแถลงของกระทรวงกลาโหมจีนระบุ “เราเรียกร้องญี่ปุ่นให้ยุติพฤติการณ์ยั่วยุทุกๆ อย่าง”
ทางด้านญี่ปุ่นได้ออกมาปฏิเสธในวันนี้ (5) ว่าเครื่องบินขับไล่ของฝ่ายตนไม่ได้ปฏิบัติการยั่วยุใดๆ ระหว่างการเผชิญหน้ากันคราวนี้ และระบุว่าไอพ่นของญี่ปุ่นต้องรีบทะยานขึ้นฟ้าก็เพื่อสกัดกั้นเครื่องบินของฝ่ายจีน
โคอิชิ ฮากิอูดะ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงว่า กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่นรีบส่ง F-15 ทั้ง 2 ลำขึ้นฟ้า ภายหลังตรวจพบเครื่องบินรบของจีนทั้ง 2 ลำกำลังเข้าสู่พื้นที่น่านน้ำพิพาท
“ไม่มีหลักฐานใดๆ โดยสิ้นเชิงว่าฝ่ายญี่ปุ่นมีการปฏิบัติการยั่วยุเครื่องบินทหารของฝ่ายจีนตามที่กระทรวงกลาโหมจีนแถลง” เขากล่าวและยืนยันว่า “ไม่มีหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้นว่ามีการล็อกเรดาร์ควบคุมการยิง”
ฮากิอูดะบอกว่า การเปิดเรดาร์ควบคุมการยิงเข้าสู่ “โหมดค้นหา” เพื่อยึดกุมตำแหน่งที่ตั้งของอีกฝ่ายหนึ่งเอาไว้ให้มั่นคงนั้น เป็นเรื่องธรรมดามากในกรณีของการเข้าสกัดกั้น เขาเสริมด้วยว่าการทำเช่นนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และไม่ควรถือว่าเป็นการยั่วยุ
ในคำแถลงที่เป็นฉบับภาษาจีนนั้น กระทรวงกลาโหมแดนมังกรไม่ได้ใช้คำว่า “ล็อก” (lock on) แต่บอกว่าไอพ่นฝ่ายญี่ปุ่นใช้เรดาร์ “แผ่คลื่นออกมาใส่” (shine on) เครื่องบินฝ่ายจีน กระนั้น ปักกิ่งก็เรียกการกระทำเช่นนั้นว่า “ยั่วยุ” อยู่ดี
ก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุง ของญี่ปุ่น ได้อ้างแหล่งข่าวรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยหลายรายระบุว่า เครื่องบินของฝ่ายจีนปฏิเสธไม่ยอมล่าถอยทั้งๆ ที่ถูกเตือน นอกจากนั้นเครื่องบินของทั้งสองฝ่ายยังบินเข้าหากันและกันอยู่หลายครั้ง
เพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย ไอพ่นญี่ปุ่นลำหนึ่งจึงปล่อยเป้าลวงอินฟราเรด เป็นการป้องกันไว้ก่อนกรณีที่อาจถูกยิงใส่ด้วยขีปนาวุธ จากนั้นจึงบินออกจากพื้นที่ดังกล่าว รายงานข่าวของโยมิอูริระบุ
การเผชิญหน้ากันในวันที่ 17 มิถุนายนคราวนี้ เกิดขึ้นใกล้ๆ กับเกาะเล็กๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างอ้างกรรมสิทธิ์ โดยที่จีนเรียกชื่อว่า เตี้ยวอี๋ว์ ส่วนญี่ปุ่นเรียกว่า เซงกากุ เมื่อปี 2013 ตอนที่จีนประกาศจัดตั้งเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันทางอากาศ (Air Defence Identification Zone หรือ ADIZ) ในทะเลจีนตะวันออกนั้น มีพื้นที่ครอบคลุมเหนือน่านฟ้าของหมู่เกาะนีด้วย อีกทั้งทับซ้อนกับเขต ADIZ ซึ่งญี่ปุ่นประกาศเอาไว้ก่อนหน้านั้น
กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นแถลงในวันอังคารว่า ญี่ปุ่นต้องขึ้นสกัดกั้นเครื่องบินทหารของจีนถึงราว 200 ครั้งในเดือนเมษายน, พฤษภาคม และมิถุนายนที่ผ่านมา สูงขึ้นมากว่า 80 ครั้งจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนั้นโตเกียวยังแสดงความกังวลเรื่องที่ปักกิ่งเพิ่มกิจกรรมทางทหารในภูมิภาคแถบนี้อีกด้วย
เมื่อกลางเดือนมิถุนายน เครื่องบินตรวจการณ์ของญี่ปุ่นลำหนึ่ง ได้พบเรือหาข่าวกรองของจีนลำหนึ่งกำลังเข้าสู่น่านน้ำอาณาเขตของญี่ปุ่น และโตเกียวระบุว่าถือเป็นรายงานชิ้นแรกที่พบเห็นเรือของกองทัพเรือจีนกระทำเช่นนี้ในช่วงเวลากว่า 1 ทศวรรษ