รอยเตอร์ - เครื่องบินขับไล่ของจีนได้สกัดกั้นอากาศยานสอดแนมของสหรัฐฯ ซึ่งปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนตามปกติในน่านฟ้าสากลเหนือทะเลจีนตะวันออกเมื่อวันอังคาร (7 มิ.ย.) โดยเป็นการบินเฉียดในระยะที่ “ไม่ปลอดภัย”
กองบัญชาการภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ (US Pacific Command) แถลงว่า เครื่องบินสอดแนม RC-135 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ถูกสกัดโดยเครื่องบินขับไล่ J-10 ของจีน 2 ลำ
“เครื่องบินของจีนลำหนึ่งได้บินสกัด RC-135 ในระยะใกล้เกินไป จากการประเมินเบื้องต้นพบว่านี่เป็นวิธีปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมทางการบิน เนื่องจากไม่ได้มีพฤติกรรมยั่วยุ หรือการกระทำที่อาจเป็นอันตรายเกิดขึ้นก่อน”
ทั้งนี้ กองบัญชาการภาคแฟซิฟิกของสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเครื่องบินจีนเฉียดเข้าไปใกล้อากาศยานสอดแนมของสหรัฐฯ มากขนาดไหน
“กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังพูดคุยกับทางการจีนผ่านช่องทางทางการทูตและการทหารที่เหมาะสม” คำแถลงจากฝ่ายสหรัฐฯ ระบุ
ด้านกระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศจีนยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อเรื่องนี้
เมื่อเดือน พ.ค. เพนตากอนระบุว่า เครื่องบินขับไล่จีน 2 ลำได้บินสกัดเครื่องบิน EP-3 ของสหรัฐฯ เหนือทะเลจีนใต้ ด้วยระยะห่างเพียงแค่ 15 เมตร ซึ่งทางสหรัฐฯ ถือว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงที่ทั้งสองรัฐบาลทำร่วมกันเมื่อปีที่แล้ว
ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์นี้ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ถึงกับเตือนว่า หากจีนประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) เหนือทะเลจีนใต้ จะถือเป็นการกระทำที่ “ยั่วยุ และบั่นทอนเสถียรภาพ”
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แสดงความกังวลว่า ปักกิ่งอาจใช้วิธีประกาศเขต ADIZ เหนือทะเลจีนใต้เหมือนอย่างที่เคยทำมาแล้วกับทะเลจีนตะวันออกเมื่อปี 2013 เพื่อท้าทายอำนาจศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก (Permanent Court of Arbitration) ซึ่งคาดว่าจะประกาศคำพิพากษาออกมาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า กรณีที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ร้องขอให้ศาลช่วยตัดสินข้อพิพาทระหว่างมะนิลากับปักกิ่งในทะเลจีนใต้
จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ และได้เข้าไปถมทะเลสร้างเกาะเทียมบริเวณแนวปะการังพิพาท ตลอดจนสร้างสาธารณูปโภคที่สามารถใช้ประโยชน์ด้านการทหาร โดยไม่ใส่ใจเสียงคัดค้านจากอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่
ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม มาเลเซีย และไต้หวัน ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้ ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซ รวมถึงเป็นเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ที่สำคัญมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ในการประชุมด้านความมั่นคงภูมิภาคเอเชีย “แชงกรี-ลา ไดอะล็อก” ที่สิงคโปร์ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แอชตัน คาร์เตอร์ ได้กล่าวเตือนปักกิ่งว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรจะมี “มาตรการตอบโต้” อย่างแน่นอน หากปักกิ่งรุกล้ำเข้าไปสร้างสาธารณูปโภคบนเกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ซึ่งมะนิลาอ้างว่ายังอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน
วอชิงตันกล่าวหาปักกิ่งว่าพยายามแผ่อิทธิพลในทะเลจีนใต้ด้วยการถมทะเลสร้างเกาะเทียมขึ้น ในขณะที่จีนก็วิจารณ์เรื่องที่สหรัฐฯ ส่งเรือรบเข้ามาตรวจการณ์และซ้อมรบในเอเชียบ่อยขึ้นเรื่อยๆ