xs
xsm
sm
md
lg

“สี่ จิ้นผิง” เปิดการประชุมยุทธศาสตร์ “จีน-สหรัฐฯ” ย้ำสองมหาอำนาจต้อง “ไว้ใจกันมากขึ้น” เพื่อลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ของจีน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจประจำปีระหว่างจีน และสหรัฐฯ ที่กรุงปักกิ่ง วันนี้ (6 มิ.ย.) โดยย้ำเตือนให้มหาอำนาจทั้งสองมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น เพื่อลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้

จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลก และได้เข้าไปถมทะเลสร้างเกาะเทียมบริเวณแนวปะการังพิพาท ตลอดจนสร้างสาธารณูปโภคที่สามารถใช้ประโยชน์ด้านการทหาร โดยไม่ใส่ใจเสียงคัดค้านจากอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่

สหรัฐฯ ได้ประกาศยืนยันเสรีภาพในการเดินเรือด้วยการส่งเรือพิฆาตล่องเข้าไปเฉียดเกาะเทียมของจีนอยู่เนือง ๆ ซึ่งทำให้ปักกิ่งไม่พอใจอย่างยิ่ง

“จีน และสหรัฐฯ จำเป็นต้องไว้เนื้อเชื่อใจกันมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม” ประธานาธิบดี สี่ กล่าวในพิธีเปิดการหารือยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจประจำปีระหว่างจีนและสหรัฐฯ ครั้งที่ 8 และการหารือระดับสูงจีน - สหรัฐ ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนครั้งที่ 7 (The 8th round of U.S.-China Strategic and Economic Dialogues and the 7th round of U.S.-China High-Level Consultation on People-to-People Exchange) พร้อมทั้งย้ำเตือนให้มหาอำนาจทั้งสองใช้ความพยายามมากยิ่งขึ้นเพื่อจัดการความขัดแย้ง และหลีกเลี่ยง “การตัดสินใจที่ผิดพลาดทางยุทธศาสตร์”

สี่ ชี้ว่า “ความขัดแย้งบางประการอาจยังไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลานี้” แต่ทั้งสองชาติควรมี “ทัศนคติที่อิงหลักความจริงและสร้างสรรค์” ต่อปัญหาเหล่านั้น

“มหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ ควรเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือ ไม่ใช่สนามแข่งขัน” ผู้นำจีน ระบุ

ด้าน จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้แทนทำเนียบขาวไปร่วมการประชุมที่ปักกิ่ง ก็เรียกร้องให้ทุกฝ่ายคลี่คลายปัญหาทะเลจีนใต้ด้วย “วิธีทางการทูต”

“สหรัฐฯ ปรารถนาที่จะเห็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ได้รับการแก้ไขอย่างสันติ และไม่เห็นด้วยที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะยืนยันกรรมสิทธิ์ของตนผ่านการกระทำฝ่ายเดียว” เคร์รี ระบุ ซึ่งหมายความชัดเจนถึงการที่จีนขยายอิทธิพลทางทหารในทะเลจีนใต้อย่างไม่แคร์หน้าอินทร์หน้าพรหม

ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม มาเลเซีย และ ไต้หวัน ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้ ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซ รวมถึงเป็นเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ที่สำคัญมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

รัฐบาลมะนิลา กล่าวหาว่า จีนใช้กำลังเข้าควบคุมเกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ ตั้งแต่เปี 2012 และได้นำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก (Permanent Court of Arbitration) ซึ่งคาดว่าศาลจะมีคำตัดสินออกมาเร็ว ๆ นี้

จีนปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจศาลอนุญาโตตุลาการถาวร และไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนการไต่สวนด้วย

การหารือยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เปิดฉากขึ้น หลังจากที่มีการประชุมด้านความมั่นคงภูมิภาคเอเชีย “แชงกรี-ลา ไดอะล็อก” ที่สิงคโปร์ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แอชตัน คาร์เตอร์ ได้กล่าวเตือนปักกิ่ง ว่า สหรัฐฯ และพันธมิตร จะมี “มาตรการตอบโต้” อย่างแน่นอน หากปักกิ่งรุกล้ำเข้าไปสร้างสาธารณูปโภคบนเกาะปะการังสการ์โบโรห์

ซุน เจี้ยนกั๋ว รองประธานเสนาธิการกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ก็ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีที่สิงคโปร์เช่นกันว่า ปัญหาทะเลจีนใต้กำลังถูก “โหมกระพือเกินเหตุ” และจีน “ไม่กลัว” ที่จะเผชิญหน้ากับฝ่ายใดในเรื่องนี้

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ปักกิ่งอาจตัดสินใจประกาศเขตแสดงตน เพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) เหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งจะทำให้เครื่องบินพลเรือนทุกลำที่จะผ่านพื้นที่ดังกล่าวต้องแจ้งกำหนดการเดินทางให้ศูนย์ควบคุมการบินของจีนทราบล่วงหน้า

เคร์รี ได้กล่าวระหว่างเยือนมองโกเลียเมื่อวันอาทิตย์ (5) ว่า หากจีนประกาศเขต ADIZ เหนือทะเลจีนใต้จริง ก็จะถือเป็นการกระทำที่ “ยั่วยุและบั่นทอนเสถียรภาพ”

การประชุมยุทธศาสตร์ประจำปีที่กรุงปักกิ่ง ถือเป็นการหารือระดับทวิภาคีที่สำคัญที่สุดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารอันดับ 1 และ 2 ของโลก โดยเป็นโอกาสที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้บรรลุข้อตกลง หรือหาวิธีประนีประนอมความขัดแย้งทั้งในด้านความมั่นคงและการค้า

ในการประชุมครั้งที่ 8 นี้ คาดว่า วอชิงตันและปักกิ่งจะหารือกันในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากปัญหาทะเลจีนใต้ด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, ความมั่นคงทางไซเบอร์, การก่อการร้าย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงวิธีจัดการกับความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่ง เคร์รี ชี้ว่า “จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันกดดันต่อไป”







กำลังโหลดความคิดเห็น