xs
xsm
sm
md
lg

“คาร์เตอร์” เตือนจีนกำลังสร้าง “กำแพงใหญ่” โดดเดี่ยวตัวเอง ย้ำสหรัฐฯ จะ “ตอบโต้” หากเกาะของฟิลิปปินส์ถูกรุกล้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ขึ้นกล่าวปาฐกถาในการประชุมด้านความมั่นคงภูมิภาคเอเชีย แชงกรี-ลา ไดอะล็อก ที่สิงคโปร์ วันนี้ (4 มิ.ย.)
เอเอฟพี - แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุวันนี้ (4 มิ.ย.) ว่า วอชิงตันต้องการที่จะยกระดับความร่วมมือทางทหารกับจีน แต่สหรัฐฯ และพันธมิตรก็จะไม่นิ่งเฉย หากปักกิ่งรุกล้ำเข้าไปสร้างสาธารณูปโภคบนหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ที่ฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์อยู่

ในการประชุมความมั่นคงภูมิภาคเอเชีย “แชงกรี-ลา ไดอะล็อก” ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์ คาร์เตอร์ เตือนว่า จีนอาจกำลังสร้าง “กำแพงใหญ่โดดเดี่ยวตนเอง” (Great Wall of self-isolation) จากการขยายอิทธิพลในน่านน้ำพิพาท แต่ขณะเดียวกัน ก็เสนอให้ทั้ง 2 ชาติเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับทวิภาคี เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการกระทบกระทั่ง

“ผมหวังว่า พัฒนาการเช่นนี้คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะนั่นหมายถึงสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคจะต้องดำเนินการตอบโต้บางอย่าง ซึ่งไม่เพียงเพิ่มความตึงเครียด แต่จีนก็จะถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นด้วย” คาร์เตอร์ ระบุ หลังสื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ระหว่างฟิลิปปินส์ และ จีน

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ ซึ่งมีฐานในฮ่องกง รายงานว่า จีนเตรียมที่จะเข้าไปก่อสร้างสาธารณูปโภคบนเกาะปะการังสการ์โบโรห์ ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งฟิลิปปินส์เพียง 230 กิโลเมตร และ มะนิลา ก็ยืนยันว่า เกาะแห่งนี้ยังอยู่ภายในเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone) ของตน

ไม่กี่ปีมานี้ จีนได้เข้าไปถมทะเลสร้างเกาะเทียมขึ้นบริเวณแนวปะการังพิพาท และได้สร้างทางวิ่งเครื่องบินที่สามารถใช้ประโยชน์ทางทหารไว้บนเกาะเทียมบางแห่งด้วย

หลังเกิดเหตุเผชิญหน้ากลางทะเล ระหว่างกองเรือจีน กับฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2012 เกาะปะการังสการ์โบโรห์ ก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของปักกิ่ง โดยจีนได้ส่งเรือตรวจการณ์ไปคอยขับไล่ชาวประมงฟิลิปปินส์ให้ออกไปจากน่านน้ำบริเวณดังกล่าว

แหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลกับเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ ระบุว่า ฐานที่มั่นบนเกาะปะการังสการ์โบโรห์จะช่วยให้ศักยภาพในการลาดตระเวนทางอากาศของจีน “สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น” ซึ่งก็บ่งบอกเป็นนัย ๆ ว่า จีนอาจมีแผนทางวิ่งเครื่องบินบนเกาะแห่งนี้ด้วย

รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ที่กรุงเฮก (Permanent Court of Arbitration) เพื่อขอให้ช่วยชี้ขาดเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้กับปักกิ่ง และคาดว่า ศาลจะประกาศคำตัดสินออกมาในเร็ว ๆ นี้

แหล่งข่าวชี้ว่า ทางการจีนคงจะเร่งก่อสร้างฐานที่มั่นบนเกาะปะการังสการ์โบโรห์โดยเร็ว เพื่อตอบโต้การพิจารณาของศาลระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการไต่สวน และไม่ยอมรับว่าศาลอนุญาโตตุลาการถาวรมีอำนาจตัดสินเรื่องนี้

ในคำแถลงที่เตรียมไว้ล่วงหน้า คาร์เตอร์ ระบุว่า สหรัฐฯ มองคำพิพากษาของศาลว่าเป็น “โอกาสที่จีนและเพื่อนบ้านในภูมิภาคจะร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ในอนาคต ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต และลดความบาดหมาง แทนที่จะโหมกระพือปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น”

ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และ เวียดนาม ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับจีนในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งพลังงานและเส้นทางเดินเรือที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยแต่ละปีจะมีสินค้าที่ถูกขนส่งทางเรือผ่านน่านน้ำแถบนี้เป็นมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปักกิ่งยืนยันว่า น่านน้ำทะเลจีนใต้อยู่ในเขตอธิปไตยของตน โดยยึดแนวเส้นประ 9 เส้น ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ของจีนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1940 ทว่า จุดยืนเช่นนี้ก็ทำให้จีนต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ซึ่งคอยส่งเรือพิฆาตเข้าไปป้วนเปี้ยนรอบ ๆ เกาะเทียมของปักกิ่ง เพื่อยืนยันเสรีภาพในการเดินเรือ

“ช่างน่าเสียดายนัก หากจีนยังทำเช่นนี้ต่อไป ก็เท่ากับก่อกำแพงใหญ่โดดเดี่ยวตนเองจากโลกภายนอก” คาร์เตอร์ กล่าว

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า หัวใจสำคัญของความมั่นคงในภูมิภาค อยู่ที่การยกระดับความร่วมมือทางทหาร และการเคารพ “กฎเกณฑ์ที่เป็นแกนหลัก” เช่น การแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธีผ่านกระบวนการทางกฎหมาย และการสร้าง “เครือข่ายความมั่นคงที่มีหลักปฏิบัติร่วมกัน”

คาร์เตอร์ ย้ำว่า สหรัฐฯ และจีนจะได้ประโยชน์จากการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพให้แน่นแฟ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกัน และลดความเสี่ยงที่จะเกิดการกระทบกระทั่ง

ข้อมูลจากเพนตากอน ระบุว่า เดือนที่แล้วเครื่องบินขับไล่จีน 2 ลำ ได้ตรงเข้าสกัดเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ ที่บินอยู่ในน่านฟ้าสากลเหนือทะเลจีนใต้ “ในระยะอันตราย”

“อเมริกาต้องการขยายข้อตกลงระหว่างกองทัพต่อกองทัพกับจีน โดยไม่ใช่แค่การลดความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร่วมมือเชิงปฏิบัติอื่น ๆ ด้วย” คาร์เตอร์ กล่าว

การเดินทางมาร่วมประชุมซัมมิต แชงกรี-ลา ไดอะล็อก ของ คาร์เตอร์ ครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามผลักดันยุทธศาสตร์ “ปรับสมดุล” สู่เอเชีย เพื่อยกระดับความร่วมมือกับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในระยะยาว

รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้ว ระบุว่า จีนได้ระงับการถมทะเลบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ตั้งแต่ปลายปี 2015 และหันมาติดตั้งสาธารณูปโภคทางทหารเพิ่มเติมบนเกาะเทียมที่สร้างขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น