xs
xsm
sm
md
lg

“มาเลเซีย” ขยับใช้มาตรการแข็งกร้าวยิ่งขึ้น รับมือปักกิ่งรุก “ทะเลจีนใต้” ซุ่มทาบมะกันยกระดับ “หน่วยยามฝั่ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ภาพที่เผยแพร่โดย MALAYSIAN MARITIME ENFORCEMENT AUTHORITY  หรือหน่วยยามฝั่งของมาเลเซีย  ซึ่งระบุว่า เป็นภาพถ่ายเรือประมงจีนที่ล่วงล้ำน่านน้ำของแดนเสือเหลืองเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา </i>
รอยเตอร์ - มาเลเซียเริ่มแข็งขืน หลังถูกมองว่าหงอจีนเกินไปทั้งในเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้และการรุกล้ำน่านน้ำของเรือประมงและเรือยามฝั่งแดนมังกร โดยขณะนี้แดนเสือเหลืองได้จัดตั้งฐานปฏิบัติการส่วนหน้าใกล้น่านน้ำที่ถูกท้าทาย รวมทั้งซุ่มทาบทามให้อเมริกาช่วยเหลือด้านข่าวกรองและยกระดับสมรรถนะหน่วยยามฝั่ง

รัฐมนตรีอาวุโสของมาเลเซียผู้หนึ่งกล่าวกับรอยเตอร์ว่า กัวลาลัมเปอร์ต้องลุกขึ้นมาขัดขวางการรุกล้ำน่านน้ำ ขณะที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลเข้ายึดครองแนวปะการังและเกาะนับสิบในทะเลจีนใต้ขณะนี้

ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ที่อ้างสิทธิ์ในดินแดนบางส่วนในทะเลจีนใต้ ต่างแสดงความระวังระไวพฤติกรรมก้าวร้าวดังกล่าวของจีน ซึ่งได้ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันด้วย โดยที่มหาอำนาจทั้งสองต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าส่งทหารและยุทโธปกรณ์ไปประจำการในทะเลจีนใต้

ทว่า มาเลเซียกลับเฉยๆ กับกิจกรรมในทะเลจีนใต้ของจีน มิหนำซ้ำยังตีฆ้องร้องป่าวว่ามี “สัมพันธ์พิเศษ” กับปักกิ่ง และพึ่งพิงด้านการค้าและการลงทุนต่อจีนอย่างมาก

แดนเสือเหลืองยังเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อการซ้อมรบของจีนบริเวณแนวปะการัง “เจมส์” ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งรัฐซาราวักไม่ถึง 50 ไมล์ทะเลในปี 2013 และ 2014 รวมถึงคำร้องเรียนของชาวประมงมาเลเซียในเมืองมิริเมื่อปีที่แล้วที่ว่า ถูกกลุ่มติดอาวุธบนเรือยามฝั่งจีนข่มขู่คุกคาม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมีนาคมหลังจากมีผู้พบเห็นเรือประมงจีนแวะเวียนใกล้แนวปะการัง “เซาท์ลูโคเนีย” ที่อุดมด้วยสัตว์น้ำและอยู่ทางใต้ของทะเลจีนใต้ แถมครั้งหนึ่งเรือตรวจการณ์มาเลเซียยังถูกเรือยามฝั่งจีนพุ่งเข้าใส่ด้วยความเร็วสูงและบีบแตรไล่ มาเลเซียก็ตัดสินใจส่งเรือของกองทัพเรือไปยังบริเวณดังกล่าว รวมถึงเรียกเอกอัครราชทูตจีนเข้าพบ

ทว่า กระทรวงการต่างประเทศจีนแก้ต่างว่าเรือลากอวนของจีนออกไปหาปลาตามปกติใน “น่านน้ำที่เกี่ยวข้องกัน” เท่านั้น และว่า จีนและมาเลเซียมีฉันทามติร่วมกันในการจัดการข้อพิพาททางทะเลผ่านการเจรจาและการหารือกัน

กระนั้น อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมามาเลเซียประกาศแผนตั้งฐานปฏิบัติการส่วนหน้าของกองทัพเรือใกล้สนามบินตูลู ทางใต้ของมิริ โดยกระทรวงกลาโหมยืนยันว่าฐานปฏิบัติการดังกล่าวซึ่งจะส่งเฮลิคอปเตอร์ โดรน และหน่วยปฏิบัติการพิเศษไปประจำการด้วยนั้น มีเป้าหมายเพื่อปกป้องทรัพยากรน้ำมันและก๊าซของประเทศจากการโจมตีของเหล่าสาวกกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่ซ่องสุมอยู่ทางใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือหลายร้อยกิโลเมตร

ทว่า เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเป้าหมายสำคัญกว่าน่าจะเป็นกิจกรรมนอกชายฝั่งของจีน

มุมมองนี้ยังได้รับการตอกย้ำจากรัฐมนตรีอาวุโสคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า มาเลเซียต้องใช้มาตรการเด็ดขาดขึ้นกับการรุกล้ำน่านน้ำ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเสี่ยงต่อการถูกทึกทักแย่งชิงดินแดน

รัฐมนตรีคนเดิมยังย้ำความแตกต่างระหว่างการรับมือของมาเลเซียในเดือนมีนาคมกับการรับมือของอินโดนีเซียต่อเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เมื่อเรือจีนรุกล้ำน่านน้ำ อินโดนีเซียจัดการขับไล่เรือเหล่านั้นทันที ขณะที่มาเลเซียทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เดือนที่แล้วรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของมาเลเซียแถลงย้ำในสภาว่า มาเลเซียไม่ยอมรับแผนที่เส้นประ 9 เส้นที่จีนใช้อ้างสิทธิเหนือดินแดน 90% ในทะเลจีนใต้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

กระนั้น ด้วยความที่ต้องพึ่งพิงจีนอย่างมาก มาเลเซียจึงต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ โดยกำลังพิจารณายุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มสมรรถนะการตรวจตราและการป้องกัน และการส่งเสริมให้ดำเนินการไปตามแนวทางปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกับชาติอาเซียนที่ลงนามเมื่อปี 2002 ตลอดจนถึงการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับอเมริกา

เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งเผยว่า มาเลเซียซุ่มทาบทามขอให้สหรัฐฯ ช่วยเกี่ยวกับการรวบรวมข่าวกรองและพัฒนาสมรรถนะหน่วยยามฝั่ง โดยพยายามไม่ให้จีนระแคะระคายและขัดเคือง

เอียน สตอรีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลจีนใต้ของสถาบัน ISEAS Yusof Ishak ของสิงคโปร์ ชี้ว่า การกระชับสัมพันธ์กับวอชิงตันควรดำเนินการควบคู่กับการทูตอ่อนนุ่มเพื่อโน้มน้าวให้จีนลดความก้าวร้าวในการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ดี เขาคิดว่าการแก้ปัญหานี้ให้ลุล่วงหมดจดคงเป็นไปได้ยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น