คำประกาศยกเลิกคว่ำบาตรค้าอาวุธแก่เวียดนามของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากจะเรียกเสียงฮือฮาไปทั้งภูมิภาค ยังนับเป็นก้าวสำคัญในการขยายบทบาทของสหรัฐฯ ในทวีปเอเชีย หรือที่ โอบามา ใช้คำว่า “ปักหมุด” (pivot) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์จากภูมิภาคนี้ให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ของ โอบามา ที่เหลืออีกเพียงแค่ไม่กี่เดือน หลายฝ่ายจึงอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า หุ้นส่วนในเอเชียจะเชื่อมั่นในพันธกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีต่อภูมิภาคนี้ได้มากน้อยแค่ไหนในระยะยาว
การเยือนฮานอยครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกสำหรับ โอบามา ซึ่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 3 ซึ่งเดินทางมาเยือนขณะอยู่ในตำแหน่ง นับตั้งแต่สงครามเวียดนามที่อเมริกามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในปี 1975 ได้รูดม่านปิดฉากลง
การเพิกถอนนโยบายคว่ำบาตรค้าอาวุธที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม ชี้ให้เห็นว่า การสยายอิทธิพลของปักกิ่งในทะเลจีนใต้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเกาะเทียม หรือการนำระบบเรดาร์ และขีปนาวุธเข้าไปติดตั้งในเขตน่านน้ำพิพาท ดูจะเป็น “เรื่องใหญ่” ในสายตาวอชิงตันมากกว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม
สหรัฐฯ ย้ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า มาตรการคว่ำบาตรค้าอาวุธแก่เวียดนามจะถูกยกเลิกก็ต่อเมื่อฮานอยมีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการที่จะรับรองเสรีภาพในด้านการแสดงออก การนับถือศาสนา การชุมนุม รวมถึงปลดปล่อยนักโทษการเมือง
ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดี เจิ่น ได กวาง แห่งเวียดนาม เมื่อวันจันทร์ (23) โอบามา ระบุว่า รัฐบาลฮานอยได้แก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนไป “มากพอสมควร” และการที่สหรัฐฯ เลิกคว่ำบาตรค้าอาวุธก็เพื่อให้สอดคล้องต่อรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แน่นแฟ้นยิ่งกว่าเก่า “ไม่ได้เกี่ยวข้องกับจีน”
อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ โกลบอล ไทม์ส ซึ่งเป็นสื่อแท็บลอยด์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้วิจารณ์ โอบามา ว่าพูดจา “โกหกอย่างน่าอดสู” และชี้ว่า สหรัฐฯ ยอมที่จะลดมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนลงมาก็เพื่อตีกรอบจีน
โอบามา ยังพยายามโน้มน้าวฮานอยให้เล็งเห็นว่า สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานไม่ได้บั่นทอนเสถียรภาพของประเทศ พร้อมประกาศจะให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มเขี้ยวเล็บแก่หน่วยยามฝั่ง และยกระดับแสนยานุภาพทางทะเลของเวียดนาม
โอบามา ยกย่องความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ชาติว่า มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ระดับปกติในปี 1995 นอกจากนี้ ยังพยายามผลักดันความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งจะช่วยทลายกำแพงภาษีในกลุ่ม 12 ประเทศริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีมูลค่าจีดีพีรวมกันถึง 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นราวๆ 40% ของโลก
เศรษฐกิจเวียดนามซึ่งเน้นภาคการผลิต และการส่งออกถูกมองว่า จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลงทีพีพี
การค้าระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนามซึ่งเคยมีมูลค่าเพียง 450 ล้านดอลลาร์ต่อปีในยุคที่ฟื้นความสัมพันธ์กันใหม่ๆ ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2015 และวอชิงตัน ก็ถือเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าประเภทโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน เครื่องนุ่งห่ม และอาหารทะเลจากเวียดนาม
โอบามา ระบุว่า สหรัฐฯ ต้องการยกระดับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมกับเวียดนาม และสนับสนุนให้ทุกฝ่ายคลี่คลายข้อพิพาททะเลจีนใต้ด้วยสันติวิธี พร้อมทั้งเหน็บจีนเป็นนัยๆ ว่า “ประเทศใหญ่ไม่ควรรังแกประเทศที่เล็กกว่า”
องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งในแผน “ปักหมุดเอเชีย” ของโอบามา ก็คือ การส่งทหารอเมริกันเข้ามา “หมุนเวียน” ประจำการตามเมืองท่าที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยเป้าหมายของสหรัฐฯ ไม่ใช่การเข้ามาปักหลักอย่างถาวร แต่ต้องการให้เรือรบของอเมริกาสามารถเข้าไปแวะจอดเติมเชื้อเพลิง รวมถึงฝึกยุทธวิธีร่วมกับกองกำลังท้องถิ่น จนเกิดเป็นเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็ง
ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เริ่มขึ้นที่เมืองดาร์วิน ในออสเตรเลีย และกำลังจะขยายเข้ามาถึงอ่าวซูบิก ในฟิลิปปินส์ รวมถึงที่อ่าวคัมรานห์ (Cam Ranh) ในเวียดนาม หากว่าการเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับฮานอยในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ และเครือข่ายฐานทัพเหล่านี้ก็จะช่วยให้สหรัฐฯ มีเหตุผลที่จะส่งเรือรบแล่นผ่านน่านน้ำที่จีนอ้างว่า อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน
โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เคยใช้ชีวิตวัยเด็กในภูมิภาคนี้ โดยเข้าเรียนชั้นประถมที่อินโดนีเซีย และดูเหมือนเขาจะมีความเชื่ออย่างจริงจังว่า สหรัฐฯ ทุ่มเททรัพยากรให้แก่ตะวันออกกลางมากมายเกินความจำเป็น แต่กลับลงทุนในเอเชียน้อยเกินไป
อย่างไรก็ตาม สถานะของรัฐบาลโอบามาในเวลานี้ไม่ผิดไปจากคำว่า “เป็ดง่อย” ด้วยเวลาในการบริหารประเทศที่เหลือน้อยเต็มที และยังต้องถูกเตะสกัดจากพรรครีพับลิกันที่ครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา
นอกจากนี้ จุดยืนในอนาคตของสหรัฐฯ ก็ถูกมองว่า เป็นสิ่งที่ไม่แน่ไม่นอนอีกต่อไป โดยเฉพาะหากบัลลังก์ประธานาธิบดีคนใหม่ตกเป็นของมหาเศรษฐีผู้มีแนวคิดยั่วยุสุดโต่งอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์
ทรัมป์ ซึ่งกำลังจะคว้าตั๋วลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดี ในนามพรรครีพับลิกัน ได้ชูแนวคิดสุดโต่งที่สร้างความปั่นป่วนแก่แวดวงการเมืองสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้สร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโกเพื่อสกัดผู้อพยพ, ห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯ, ขู่ถอนทหารอเมริกันออกจากเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และเสนอให้โซล และโตเกียวพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้ป้องกันตนเอง
แม้แต่ ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครตัวเต็งในสายเดโมแครต ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการเจรจาผลักดันทีพีพีสมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลโอบามาหนึ่ง ก็ออกมาพลิกจุดยืน “ไม่เห็นด้วย” ต่อข้อตกลงการค้าเสรีของ โอบามา โดยอ้างว่า ไม่เป็นไปตาม “มาตรฐานสูง” ของเธอ ซึ่งหวังว่าข้อตกลงฉบับนี้จะต้องช่วยสร้างงานให้แก่ชาวอเมริกัน เพิ่มค่าแรง และยกระดับความมั่นคงภายในของสหรัฐฯ
ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ความยั่งยืนของยุทธศาสตร์ และนโยบายที่ บารัค โอบามา ได้วางเอาไว้จึงเป็นสิ่งที่กำลังถูกตั้งคำถาม และคงไม่น่าแปลกอะไร หากในอนาคตเราจะได้เห็นบรรดาผู้นำชาติเอเชียให้การต้อนรับประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ อย่างอบอุ่น ก่อนจะตบเท้าออกไปเจรจาความร่วมมือกับ “มอสโก” และ “ปักกิ่ง” ทันทีในอีกไม่กี่วันถัดไป