เอเจนซีส์ - ระดับกัมมันตภาพรังสีทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกลดลงอย่างรวดเร็วจนเกือบเข้าสู่ภาวะ “ปกติ” หลังวิกฤตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะของญี่ปุ่นหลอมละลายจากผลของคลื่นยักษ์สึนามิผ่านพ้นไปได้ 5 ปี ผลการศึกษาล่าสุดเผยวันนี้ (4 ก.ค.)
รัฐบาลญี่ปุ่นสั่งยุติการใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลายสิบแห่งทั่วประเทศ หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9.0 เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ปี 2011 ได้ก่อคลื่นสึนามิซัดถล่มชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
เจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าต้องสูบน้ำทะเลขึ้นมาใช้ลดอุณหภูมิของแท่งปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่หลอมละลาย แต่กลับทำให้สารกัมมันตรังสีปนเปื้อนไปกับน้ำและไหลลงสู่ท้องทะเล ก่อนจะถูกกระแสน้ำในมหาสมุทรพัดพาไปไกล
คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการวิจัยมหาสมุทร (Scientific Committee on Oceanic Research) ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายประเทศทั่วโลก พบว่า สารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะถูกกระแสน้ำพัดพาไปไกลถึงสหรัฐอเมริกา แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านงานวิจัย 20 ชิ้นว่าด้วยรังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ พบว่าระดับรังสีในมหาสมุทรแปซิฟิกลดลงอย่างรวดเร็วจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากที่เคยพุ่งสูงกว่าระดับปกติ “หลายสิบล้านเท่า” ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ
“ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2011 ปลาทะเลที่จับนอกชายฝั่งจังหวัดฟูกูชิมะราวครึ่งหนึ่งมีรังสีปนเปื้อนเกินระดับปลอดภัย แต่พอถึงปี 2015 ตัวเลขกลับลดลงจนเกินลิมิตมาแค่ไม่ถึง 1%” เพียร์ มาสก์ หนึ่งในผู้เขียนรายงานซึ่งตีพิมพ์ลงวารสาร Annual Review of Marine Science ระบุ
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาพบว่า พื้นทะเลและอ่าวใกล้ๆ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะยังคงมีกัมมันตภาพรังสีในระดับที่สูงมาก จากผลพวงของวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดถัดจากเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในยูเครนระเบิดเมื่อปี 1986
“การตรวจวัดรังสีในน้ำทะเลและสัตว์น้ำบริเวณดังกล่าวยังต้องทำต่อไปอีกเรื่อยๆ” มาสก์ อาจารย์ด้านเคมีรังสีสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัย อีดิธ โคแวน ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ระบุ
คณะนักวิจัยได้ตรวจสอบระดับสารกัมมันตรังสีซีเซียม (Caesium) ตั้งแต่บริเวณนอกชายฝั่งญี่ปุ่น ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปจดอเมริกาเหนือ
รังสีซีเซียมเป็นผลพลอยได้จากการใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้า และมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี จึงเป็นตัวชี้วัดระดับรังสีในมหาสมุทรได้ค่อนข้างแม่นยำ
แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากผลพวงของอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ แต่วิกฤตการณ์นี้ก็ทำให้ชาวญี่ปุ่นนับแสนคนต้องพลัดถิ่นฐาน และส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเดินทางกลับไปยังบ้านเรือนของตนได้ เนื่องจากเกรงอันตรายจากรังสีตกค้าง
การกำจัดรังสีตกค้างเพื่อทำให้พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะกลับมาอยู่อาศัยได้อีกครั้งถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันก็ต้องการพิสูจน์ให้สังคมเชื่อมั่นว่าพลังงานนิวเคลียร์ยังเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าและจำเป็นสำหรับแดนอาทิตย์อุทัย