เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเปิดเผยในวันนี้ (22 ก.พ.) ว่าเซ็นเซอร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะในประเทศญี่ปุ่น ตรวจพบน้ำที่มีกัมมันตภาพรังสีระดับสูงรั่วไหลออกสู่ทะเล เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุ
บริษัท โตเกียว อิเลกทริก เพาเวอร์ (เทปโก) ระบุว่า เซ็นเซอร์ดังกล่าวซึ่งติดตั้งบริเวณท่อของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ที่ปล่อยน้ำฝนและน้ำใต้ดินไปยังอ่าวใกล้ๆ นั้นตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของสารกัมนตภาพรังสีมากกว่าที่เคยเป็นถึง 70 เท่า
เทปโกชี้แจงว่า ได้ทำการตรวจสอบฉุกเฉินบรรดาแท็งก์กักเก็บน้ำเสียที่เป็นกากนิวเคลียร์ แต่ก็ยังไม่พบความผิดปกติใดๆ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ตัดสินใจปิดท่อดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีไหลออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
เทปโกอธิบายเพิ่มเติมว่า การปนเปื้อนที่สูงมากกว่าระดับปกติ ถูกตรวจพบเมื่อเวลา 10.00 น. (ประมาณ 08.00 น.ตามเวลาไทย) โดยเซ็นเซอร์ได้แสดงให้เห็นว่ามีระดับกัมมันตภาพรังสีสูงกว่าปกติ 50-70 เท่า
“แม้ว่าระดับการปนเปื้อนจะลดลงอย่างรวดเร็วภายในวันนี้ แต่เซ็นเซอร์ตัวนี้ก็ยังคงแสดงให้เห็นว่าระดับการปนเปื้อนยังคงสูงกว่าปกติราวๆ 10-20 เท่า เบื้องต้นยังไม่ชัดเจนว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ระดับการปนเปื้อนพุ่งขึ้นสูงแล้วค่อยๆ ลดลงมา” โฆษกของเทปโก ระบุ
เขาบอกกับเอเอฟพีว่า จากการตรวจสอบฉุกเฉินบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเฝ้าสังเกตการณ์เซ็นเซอร์ตัวอื่นๆ ยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่าแทงก์กักเก็บน้ำเสียที่เป็นกากกัมมันตภาพรังสีเกิดการรั่ว
“เราได้ปิดท่อและกำลังเฝ้าสังเกตการณ์บรรดาเซ็นเซอร์อยู่ในตอนนี้ เพื่อดูกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น” เขากล่าว
เหตุครั้งล่าสุดนี้คือหนึ่งในเหตุร้ายหลายครั้งที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการควบคุมและดำเนินการปิดเครื่องปฏิกรณ์ ซึ่งเคยเกิดการระเบิดและหลอมละลาย หลังเผชิญภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในเดือนมีนาคม 2011
ที่ผ่านมา เทปโกยังไม่สามารถหาหนทางรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับน้ำที่ปนเปื้อนซึ่งเพิ่มมากขึ้นทุกที โดยน้ำเหล่านี้ถูกใช้ในการทำความเย็นให้แก่เครื่องปฏิกรณ์และเชื้อเพลิงแบบหลอมเหลวที่อยู่ภายใน แล้วถูกเก็บไว้ในแทงก์ขนาดใหญ่
นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องที่เทปโกต้องปวดหัว นั่นก็คือ น้ำใต้ดินที่ไหลมาจากภูเขาใกล้ๆ ซึ่งไหลผ่านใต้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อนจะไปออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) เพิ่งจะออกมาระบุเมื่อไม่นานนี้ว่า เทปโก มีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด ในการจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังแนะนำว่าญี่ปุ่นควรจะพิจารณาหาหนทางอื่นๆ ในการปล่อยน้ำเสียที่เป็นภัยออกสู่ทะเล รวมถึงหาวิธีที่ปลอดภัยมากขึ้นในการรับมือกับวิกฤตน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี