เอเอฟพี - อัยการญี่ปุ่นแถลงวันนี้ (22 ม.ค.) ว่า คณะผู้บริหารซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ฟูกูชิมะ” จะไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจจุดประกายให้เกิดการเผชิญหน้ากับคณะกรรมการฝ่ายพลเมือง ที่ต้องการหาตัวคนผิดในอุบัติภัยนิวเคลียร์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
เรื่องนี้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุด ของการงัดข้อกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจด้านกฎหมาย กับสาธารณชนที่กำลังเดือดดาล ภายหลังทั้งสองฝ่ายทุ่มเถียงกันว่า ใครควรเป็นตัวผู้รับผิดชอบต่อเหตุเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย หลังถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่ม เมื่อปี 2011 จนผลักให้ประชาชนเรือนแสนต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน
รายงานของรัฐสภาแดนอาทิตย์อุทัยระบุว่า หายนะฟูกูชิมะนั้นเป็นภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งเกิดจากวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น ที่มักกลัวเกรงไม่กล้าแสดงความคลางแคลงสงสัยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ แต่กลับไม่มีใครถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
เหล่าคลื่นใต้น้ำแสดงความคิดเห็นว่า การที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ควาสนิทสนมเป็นกันเองกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุม และปฏิบัติการของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้กลายเป็นเกราะปกป้องคณะผู้บริหารของบริษัท “โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์” (เทปโก) ซึ่งเป็นผู้บริหารกิจการโรงไฟฟ้าแห่งนี้
อย่างไรก็ดี อัยการได้ปฏิเสธที่จะตั้งข้อหากับฝ่ายบริหารครั้งแล้วครั้งเล่า โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดกับพวกเขา จึงมีแนวโน้มที่ศาลจะยกฟ้อง
แม้ว่าเหตุแผ่นดินไหว และสึนามิถล่ม เมื่อเดือนมีนาคม 2011 จะคร่าชีวิตประชาชนไป 18,000 คน แต่อุบัติภัยนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นตามมานั้นกลับไม่ได้เป็นสาเหตุที่ให้ประชาชนล้มตายโดยตรง
เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว คณะกรรมการสืบสวนอิสระ ที่ประกอบด้วยพลเมืองสามัญได้เรียกร้องให้มีการตั้งข้อหากับอดีตผู้บริหาร 3 คนของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เป็นผลให้อัยการต้องตรวจสอบคดีนี้ใหม่อีกครั้ง
ขณะแสดงผลการสืบสวน พวกเขากล่าวว่า เหล่าผู้บริหารบริษัทเทปโกนั้นไม่สามารถคาดคะเนได้ถึงขนาดความรุนแรงของคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งเป็นผลมาจากแผ่นดินไหวความแรงระดับ 9 ตามมาตราแมกนิจูด จึงไม่สามารถป้องกันโรงไฟฟ้าแห่งนี้ให้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติ
เรียวอิจิ นากาฮาระ รองอัยการจังหวัดโตเกียว กล่าวว่า “เราได้ข้อสรุปว่า ไม่มีหลักฐานมากเพียงพอที่บ่งชี้ได้ว่า โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ สามารถคาดการณ์ หรือสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด (อุบัติเหตุ) ได้”
นากาฮาระกล่าวว่า อัยการได้สอบถามว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม ภายหลังได้รับคำร้องจากคณะกรรมการฝ่ายพลเมืองเมื่อเดือนกรกฎาคม แต่ก็ยังคงได้ข้อสรุปเช่นเดิม
ตามกฎหมายญี่ปุ่น หากคณะกรรมการฝ่ายสืบสวนอิสระยังคัดค้านการตัดสินใจของอัยการครั้งที่สอง ทีมทนายความที่ศาลตั้งขึ้นมาก็จำต้องผลักดันให้มีการตั้งข้อหาเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ผู้บริหารทั้งสามที่ถูกเรียกร้องเอาผิด ได้แก่ สึเนฮิสะ คัตสึมาตะ อดีตประธาน, ซากาเอะ มูโตะ ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทขณะเกิดเหตุ และ อิจิโร ทาเคคุโระ อดีตรองประธาน
บรรดานักเคลื่อนไหวได้เรียกร้องให้ทางการดำเนินคดีกับพนักงานบริษัทราว 30 คน ฐานละเลยไม่ได้วางมาตรการป้องกันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้จากคลื่นยักษ์สึนามิ จนจุดชนวนให้เกิดวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดในชั่วอายุคน