xs
xsm
sm
md
lg

In Clips : “เอลลี วีเซล” เหยื่อรอดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นาซีจากเอาชวิตซ์ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ เสียชีวิตในวัย 87 ทั่วโลกร่วมอาลัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม เอลลี วีเซล(ขวา) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา(กลาง) และนายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล(ซ้าย)ในวันที่ 5 มิถุนายน 2009 ในการเดินทางกลับไปยังค่ายกักกันบูเคนวัลด์( Buchenwald )เยอรมันตะวันตก
เอเอฟพี - เอลลี วีเซล (Elie Wiesel) อดีตเหยื่อผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซีเอาชวิตซ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 1986 รวมไปถึงเจ้าของผลงานบันทึกความทรงจำเปิดเผยชีวิตในค่ายกักกันนาซีที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกได้เสียชีวิตลงในวัย 87 ปี และมีผู้นำทั่วโลกร่วมไว้อาลัย บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ชี้ความทรงจำที่โหดร้ายในวัยเยาว์ของวีเซลได้เปลี่ยนให้กลายเป็นแคมเปญที่เข้มแข็งในการสร้างความเท่าเทียมและสันติภาพของโลก

เอเอฟพีรายงานวันนี้ (3 ก.ค.) ว่า เอลลี วีเซล (Elie Wiesel) พลเมืองสหรัฐฯ ซึ่งเกิดในโรมาเนีย อดีตเหยื่อผู้รอดคนชีวิตจากค่ายนาซีเอาชวิตซ์ (Auschwitz) เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 1986 และเป็นผู้ตีพิมพ์บันทึกความทรงจำจากค่ายกักกันนาซีภายใต้ชื่อ “ไนต์” (Night)ได้เสียชีวิตลงด้วยอายุ 87 ปี

วีเซลได้เสียชีวิตลงอย่างสงบภายในบ้านพักของตนเองในแมนแฮตตัน รัฐนิวยอร์ก ในวันเสาร์ (2 ก.ค.) หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงาน ด้านนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ได้เคยชักชวนวีเซลเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2014 ได้เรียกเขาว่า “เป็นตัวอย่างของมนุษยชาติ” โดยในแถลงการณ์ เนทันยาฮูกล่าวว่า “วีเซลผู้ที่เป็นเอกด้านภาษา สะท้อนจากคุณสมบัติพิเศษและงานเขียนถึงชัยชนะของมนุษยชาติท่ามกลางความป่าเถื่อน”

และในแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีอิสราเอลยังชี้ว่า “ในยามที่มืดมิดที่สุดของความโหดเหี้ยมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เอลลี วีเซลได้กลายเป็นลำแสงแห่งการส่องสว่างและตัวอย่างแห่งมนุษยชาติที่มีความเชื่อในคุณความดีของมนุษย์”

เอเอฟพีรายงานต่อว่า วีเซลเกิดในวันที่ 30 กันยายน 1928 ในเมืองเล็กๆ ของโรมาเนียในครอบครัวชาวยิวที่เขาและพี่สาวน้องสาวอีก 3 คนอาศัยอยู่จนกระทั่งคนทั้งหมดถูกส่งเข้าค่ายกักกันเอาชวิทซ์ในขณะที่วีเซลเป็นวัยรุ่น และในค่ายแห่งนี้แม่และน้องสาว 1 คนถูกนาซีเยอรมันสังหารในห้องรมแก๊สพิษ ในขณะที่ผู้เป็นพ่อต้องเสียชีวิตจากโรคบิดและการขาดอาหารที่ค่ายกักกันบูเคนวัลด์ (Buchenwald) ซึ่งเป็นที่เดียวกันที่เขาได้รับการช่วยเหลือจากทหารสหรัฐฯในขณะที่มีอายุได้ 17 ปี

หลังจากนั้นวีเซลได้พบกับพี่สาวอีก 2 คนในฝรั่งเศสในเวลาต่อมา และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส Sorbonne ที่มีชื่อเสียง โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ได้แถลงว่า “ฝรั่งเศสเป็นหนี้ต่อเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่และความพยายามที่ไม่เคยสิ้นสุดในการแสวงหาสันติภาพ”

เอเอฟพีรายงานต่อว่า หลังจากที่วีเซลได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1986 แล้วภรรยาของเขาได้ก่อตั้งมูลนิธิวีเซลฟาวเดชันเพื่อมนุษยชาติขึ้น (The Elie Wiesel Foundation for Humanity) โดยมีเป้าหมายเพื่อเอาชนะความแตกต่างด้านผิวสี และความไม่เป็นธรรมผ่านการเจรจาในระดับประชาคมโลกและโครงการที่มุ่งเน้นด้านเยาวชน

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงถึงวีเซลว่า “เรื่องราวของวีเซลนั้นเปี่ยมไปด้วยน้ำหนักของประสบการณ์ท่วมท้นซึ่งทุกคนต้องไม่ลืมเลือน เป็นประสบการณ์ที่เราต่างอ้อนวอนขอให้อย่าได้เกิดขึ้นในช่วงยุคสมัยของพวกเราทั้งหลาย”

ในขณะที่เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติได้แถลงถึงเอลลี วีเซล ว่าความทรงจำที่โหดร้ายในวัยเยาว์ของวีเซลได้เปลี่ยนให้กลายเป็นแคมเปญที่เข้มแข็งในการสร้างความเท่าเทียมและสันติภาพของโลก และชี้ต่อว่า “โลกได้สูญเสียหนึ่งในประจักษ์พยานสำคัญของความโหดร้ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และนักรบผู้กล้าหาญในการต่อสู้กับการได้มาซึ่งสันติภาพและการไม่แบ่งแยก”






กำลังโหลดความคิดเห็น