xs
xsm
sm
md
lg

ระทึก! เรือรบไต้หวันยิง “ขีปนาวุธสงเฟิง-3” พุ่งเป้าไปทาง “จีน” อ้างเป็นอุบัติเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เรือรบลำหนึ่งของไต้หวันยิงขีปนาวุธเร็วเหนือเสียง ที่ได้ฉายาว่า “ผู้พิฆาตเรือบรรทุกเครื่องบิน” (aircraft carrier killer) ออกไปในทิศทางสู่จีนแผ่นดินใหญ่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (1 ก.ค.) โดยกองทัพเรืออ้างว่าเป็น “ความผิดพลาด” ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองเพื่อนบ้านที่กำลังระอุหนัก

กองทัพเรือไต้หวันแถลงว่า ขีปนาวุธสงเฟิง 3 (Hsiung-feng III) ที่ไต้หวันพัฒนาขึ้นเอง และมีพิสัยเดินทางประมาณ 300 กิโลเมตร ได้ถูกยิงออกไปโดยไม่เจตนา และพุ่งแหวกอากาศเป็นระยะทางราว 75 กิโลเมตร ก่อนจะตกลงสู่ทะเลนอกหมู่เกาะเผิงหู (Penghu)

ทางกองทัพอ้างว่ายังไม่ทราบว่าขีปนาวุธลูกนี้ถูกยิงออกไปได้อย่างไร แต่คาดว่าน่าจะเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์

“จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า ขีปนาวุธถูกปล่อยออกไป โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง” พล.ร.ท.เหม่ย เจีย-ชู ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว พร้อมยืนยันว่าทางกองทัพกำลังตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด

จรวดลูกนี้ถูกยิงออกจากเรือรบระวางขับน้ำ 500 ตัน ระหว่างปฏิบัติการฝึกซ้อมเมื่อเวลา 08.10 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยเรือดังกล่าวจอดเทียบอยู่ที่ฐานทัพเรือในเมือง Zuoying ทางตอนใต้

กองทัพไต้หวันได้ส่งเฮลิคอปเตอร์และเรือออกติดตามค้นหาจรวดลูกนี้ และได้แจ้งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Conference) รับทราบแล้ว

ด้านสภากิจการแผ่นดินใหญ่ (Mainland Affairs Council) ซึ่งรับผิดชอบด้านความสัมพันธ์กับจีน ยังปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่า ไต้หวันได้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้ปักกิ่งทราบหรือไม่

ปักกิ่งได้ประกาศระงับกลไกการสื่อสารอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไต้หวันไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงที่รัฐบาลไต้หวันชุดใหม่ปฏิเสธหลักการ “จีนเดียว” (one China)

พรรคคอมมิวนิสต์จีน และพรรคก๊กมินตั๋งของไต้หวัน ได้บรรลุ “ฉันทามติ” เมื่อปี 1992 ซึ่งระบุว่าจีนมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น โดยแต่ละฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะตีความความหมายนั้นในแบบของตัวเอง

นักวิเคราะห์ชี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ (1) ชี้ให้เห็นผลกระทบของการปิดช่องทางสื่อสารระหว่าง 2 เพื่อนบ้านคู่อริ

“สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของกลไกสื่อสารระหว่างทั้งสองฝ่าย เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้น” อเล็กซานเดอร์ หวง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทัมกัง ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

“จะรอให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นเสียก่อนหรือ?” เขาตั้งคำถาม

ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนเริ่มเขม็งเกลียวอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านจีน ได้รับชัยชนะในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือน ม.ค.

ไต้หวันปกครองตนเองมาตั้งแต่ปี 1949 หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง แต่ทางการจีนยังถือว่าเกาะแห่งนี้เป็น “มณฑล” หนึ่งที่รอการผนวกรวมเข้ากับแผ่นดินใหญ่ในอนาคต แม้จะต้องใช้กำลังบังคับก็ตาม

กำลังโหลดความคิดเห็น