xs
xsm
sm
md
lg

ขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบ DF-26 ของ ‘จีน’ และแผนการรับมือของ‘สหรัฐฯ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: บิลล์ เกิร์ตซ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Access vs. anti-access: China, US posture in anti-ship missile face off
By Bill Gertz
14/12/2015

กองทัพปลดแอกประชาชนจีน นำเอา DB-26 ขีปนาวุธต่อสู้เรือรุ่นใหม่สุดไฮเทคของตน ออกมาอวดโฉมต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเมื่อสิ้นเดือนที่แล้ว นักวิจัยทางการทหารของจีน 2 คนได้เขียนบทความเปิดเผยสมรรถนะด้านต่างๆ ของขีปนาวุธที่ได้รับฉายาว่า “นักล่าสังหารเรือบรรทุกเครื่องบิน” นี้ ซึ่งสามารถติดตั้งได้ทั้งหัวรบนิวเคลียร์และหัวรบธรรมดา แถมยังสามารถยิงได้อย่างง่ายดายในขณะที่กำลังเคลื่อนที่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯก็ประกาศทันควันว่ามีแผนการเตรียมรับมืออยู่แล้ว

เมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้เปิดเผยรายละเอียดใหม่ๆ เกี่ยวกับขีปนาวุธนำวิถีต่อสู้เรือพิสัยกลาง (intermediate-range anti-ship ballistic missile) รุ่นใหม่ของตน ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า ตงเฟิง-26 (Dongfeng-26) หรือ ดีเอฟ-26 (DF-26)

ขีปนาวุธรุ่นนี้สามารถประกอบติดตั้งทั้งกับหัวรบนิวเคลียร์หรือหัวรบธรรมดา และกลายเป็นตัวเสริมส่งเพิ่มเติมให้แก่ขีปนาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรุ่นก่อนหน้านี้ นั่นคือ DF-21D ซึ่งมีพิสัยทำการสั้นกว่า แต่ทั้งสองรุ่นล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในยุทธศาสตร์ทางทหารของจีน ซึ่งมุ่งสร้างอาวุธที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อบังคับให้กองทัพสหรัฐฯต้องปฏิบัติการจากอาณาบริเวณที่ถอยห่างจากชายฝั่งของจีนออกไปอีก

DF-26 ถูกนำออกมาอวดโฉมต่อหน้าสาธารณชนในเดือนกันยายน ระหว่างการเดินสวนสนามครั้งใหญ่ในกรุงปักกิ่ง ขีปนาวุธรุ่นนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวจีนด้วยฉายาว่า “นักล่าสังหารเกาะกวม” (Guam killer) เนื่องจากทำให้พวกนักวางแผนสงครามของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน มีความสามารถใหม่ๆ ในการเล็งเป้าหมายใส่ศูนย์การทหารแห่งใหญ่ของสหรัฐฯบนเกาะทางแปซิฟิกใต้แห่งนั้น หลังจากที่ขีปนาวุธพิสัยใกล้และขีปนาวุธพิสัยกลางของแดนมังกรรุ่นก่อนๆ ไม่สามารถยิงไปถึง (ในข้อเขียนอื่นๆ จำนวนมากระบุว่า ฉายาของ DF-26 คือ “นักล่าสังหารเรือบรรทุกเครื่องบิน”(carrier killer) ดังเช่นข้อเขียนเรื่อง The U.S. Navy Wants to Show China Who’s Boss (กองทัพเรือสหรัฐฯต้องการแสดงให้จีนเห็นว่าใครกันแน่ที่เป็นพี่เบิ้ม) ของ แดน เดอลุซ (Dan De Luce) ในนิตยสารฟอเรนจ์ โพลิซี (Foreign Policy Magazine) ดูรายละเอียดได้ที่ http://foreignpolicy.com/2015/12/14/the-u-s-navy-wants-to-show-china-whos-boss/ -ผู้แปล)

(ในข้อเขียนเรื่อง China’s 2,500 mile-range ‘carrier-killer’ missile: A nuclear threat? (ขีปนาวุธ ‘นักล่าสังหารเรือบรรทุกเครื่องบิน’ พิสัยทำการ 2,500 ไมล์ของจีน เป็นภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ด้วยใช่หรือไม่?) ของ แฮร์รี เจ. คาเซียนิส (Harry J. Kazianis) ตีพิมพ์ในนิตยสาร “เดอะ เนชั่นแนล อินเทอเรสต์” (The National Interest) พูดถึงวิธีทำงานของขีปนาวุธรุ่นนี้เอาไว้ว่า:
ในการยิงขีปนาวุธ DF-26 นั้น จะเป็นการปล่อยออกจากเครื่องยิงซึ่งติดตั้งอยู่บนรถบรรทุกที่ขับเคลื่อนได้ ขีปนาวุธจะถูกปล่อยให้ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ โดยที่มีระบบเรดาร์แบบ over-the-horizon radar ซึ่งสามารถติดตามเป้าหมายที่อยู่ในระยะไกลมาก, ระบบติดตามด้วยดาวเทียม, และเป็นไปได้ว่าอาจจะมีอากาศยานไร้นักบินด้วย คอยทำหน้าที่นำทาง DF-26 ยังถูกประกอบเข้ากับหัวรบบังคับการเคลื่อนที่ (maneuverable warhead หรือ MaRV) เพื่อช่วยในการค้นหาเป้าหมาย ตลอดจนเพื่อเอาชนะระบบป้องกันขีปนาวุธของข้าศึก ขีปนาวุธนี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีเรือซึ่งอยู่ในทะเลเปิด หรือใช้ในการปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่อาจเป็นปรปักษ์เดินทางเข้ามาในพื้นที่ขัดแย้ง ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://nationalinterest.org/blog/the-buzz/chinas-2500-mile-range-carrier-killer-missile-nuclear-threat-14669 –ผู้แปล)

ในหนังสือพิมพ์ “เยาวชนจีนรายวัน” (China Youth Daily) ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน ได้ตีพิมพ์บทความของ หวัง ฉางชิน (Wang Changqin) กับ ฟาง กวงหมิง (Fang Guangming) 2 นักวิเคราะห์ทางการทหารจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การทหารแห่งประเทศจีน (China Academy of Military Sciences) ซึ่งเปิดเผยรายละเอียดใหม่ๆ เกี่ยวกับ DF-26 (หมายเหตุผู้แปล – ข้อความส่วนที่อ้างอิงถึงบทความของ หวัง กับ ฟาง ชิ้นนี้ มีบางส่วนที่ผู้แปลได้นำมาจากข้อเขียนเรื่อง China’s 2,500 mile-range ‘carrier-killer’ missile: A nuclear threat? ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้เรื่องนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น)

บทความนี้กล่าวว่า “ตรงกันข้ามกับขีปนาวุธ DF-21 D คุณสมบัติอันโดดเด่นของ DF-26 นั้น อยู่ตรงที่สามารถเป็นทั้งอาวุธนิวเคลียร์และทั้งอาวุธธรรมดาได้เสร็จสรรพภายในหนึ่งเดียว กล่าวคือ ลำตัวของขีปนาวุธรุ่นนี้ สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ เพื่อใช้ในการโจมตีทางนิวเคลียร์ใส่ข้าศึก หรือไม่ก็บรรทุกหัวรบธรรมดา เพื่อให้เป็นการโจมตีด้วยกำลังไฟตามแบบแผนธรรมดาใส่ข้าศึก คุณสมบัติที่สามารถ “เปลี่ยนหัวรบ ไม่ใช่เปลี่ยนขีปนาวุธ” เช่นนี้ ทำให้สามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างการเป็นอาวุธนิวเคลียร์กับการเป็นอาวุธธรรมดาได้อย่างรวดเร็ว”

“เมื่อพิจารณาจากสภาพที่จีนมีจำนวนอาวุธนิวเคลียร์อย่างจำกัด เช่นเดียวกับขีปนาวุธนำวิถีพิสัยกลางก็มีอยู่อย่างจำกัด การที่ DF-26 สามารถเปลี่ยนไปติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ในนาทีสุดท้ายเมื่อมีความจำเป็นขึ้นมา จึงทำให้มันกลายเป็นสมรรถนะทางการป้องปรามทางนิวเคลียร์และสมรรถนะในการโจมตีตอบโต้ทางนิวเคลียร์ระดับพิสัยกลางและพิสัยใกล้ ตลอดจนมีบทบาทในเชิงยุทธศาสตร์และในทางยุทธการ” บทความนี้กล่าวในอีกตอนหนึ่ง

หวัง กับ ฟาง ยังแจกแจงคุณสมบัติความโดดเด่นของ DF-26 ในเรื่องความง่ายดายในการยิงไปสู่เป้าหมาย โดยกล่าวว่า “หากเปรียบเทียบกับขีปนาวุธนำวิถีที่ยิงจากไซโล และที่ยิงจากสถานที่ปล่อยขีปนาวุธแล้ว คุณสมบัติอันโดดเด่นอีกประการหนึ่งของ DF-26 ก็คือสามารถที่จะปล่อยออกมาขณะที่มีการเคลื่อนที่โดยไม่ต้องมีการสนับสนุนใดๆ เลย ทั้งนี้การปล่อยขีปนาวุธแบบเคลื่อนที่จากภาคพื้นดินในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยแบบเคลื่อนที่ขณะอยู่บนรางรถไฟหรืออยู่บนถนนก็ตามที ล้วนแต่ต้องมีการตระเตรียมสถานที่ปล่อยเอาไว้เป็นการล่วงหน้า ถึงแม้ในช่วงก่อนการทำสงครามและในช่วงระหว่างการทำสงคราม สามารถที่จะทำการเคลื่อนที่ขีปนาวุธภายในอาณาบริเวณอันกว้างขวาง แต่จุดหมายปลายทางของการเคลื่อนที่นี้ก็ยังคงเป็นสถานที่ปล่อยขีปนาวุธซึ่งเตรียมการเอาไว้เสมอ เนื่องจากสถานที่เตรียมปล่อยขีปนาวุธซึ่งเตรียมการเอาไว้ย่อมมีจำนวนจำกัดและง่ายต่อการเสียลับ เมื่อสถานที่ปล่อยขีปนาวุธถูกทำลายไปก็อาจส่งผลทำให้เกิดสถานการณ์อันเลวร้ายของการที่มีขีปนาวุธแต่ไม่สามารถที่จะปล่อยไปสู่เป้าหมาย นอกจากนั้นแล้ว ขีปนาวุธชนิดนั้นยังต้องการเวลายาวนานในการติดตั้งและในการเตรียมพร้อม ณ สถานที่ปล่อยซึ่งกำหนดไว้ ซึ่งกลายเป็นข้อเสียเปรียบใหญ่โตเมื่อเผชิญกับข้าศึกที่กำลังรุกล้ำเข้ามาด้วยความสามารถในการเคลื่อนที่อันแข็งแกร่ง รวมทั้งสามารถดำเนินการปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว

“ทว่า DF-26 ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสถานที่สำหรับการยิงแบบเคลื่อนที่ ขีปนาวุธนี้ยังสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีข้อเรียกร้องอันเข้มงวดว่าจะต้องปล่อยที่ไหน ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายกองกำลังขีปนาวุธไปได้ทุกที่และทำได้อย่างปิดลับ อีกทั้งยังเป็นขีปนาวุธซึ่งสามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว, ทำการยิงได้อย่างรวดเร็ว, และโยกย้ายส่วนประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบได้อย่างรวดเร็ว จึงเพิ่มพูนโอกาสที่จะอยู่รอดของกองกำลังขีปนาวุธ และเพิ่มพูนความสามารถในการโจมตีของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องยิงใส่เป้าหมายที่มีความอ่อนไหวในด้านเวลา เป็นต้นว่า เรือผิวน้ำ ก็สามารถปล่อย DF-26 เข้าโจมตีในนาทีสุดท้าย ทันทีที่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของเรือ ซึ่งหมายความว่าเรือดังกล่าวจะไม่สามารถหลบหนีไปได้”

หวัง กับ ฟาง ยังบอกว่า ระบบของ DF-26 นั้นอาศัยเครื่องยิงที่สามารถเคลื่อนที่ไปตามถนน จึงทำให้เป็นการยากสำหรับหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯที่จะค้นพบและติดตาม อีกทั้งสามารถต่อสู้กับระบบป้องกันขีปนาวุธ “เอจิส” (Aegis) ซึ่งติดตั้งอยู่ในเรือรบจำนวนหนึ่งของสหรัฐฯ ตลอดจนระบบสกัดกั้นต่อต้านขีปนาวุธ THAAD พิสัยไกล (long-range THAAD anti-missile interceptor) บนเกาะกวม

นักวิเคราะห์ 2 รายนี้ระบุว่า ขีปนาวุธรุ่นนี้ช่วยยกระดับสมรรถนะการโจมตีด้วยกำลังไฟร่วม ทั้งทางภาคพื้นดิน, ทะเล, และอากาศ โดยกล่าวว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขีปนาวุธนี้เมื่อใช้ร่วมกับกองกำลังโจมตีผิวน้ำและใต้น้ำส่วนหน้า ที่เข้าไปประจำการอยู่ก่อนแล้ว ตลอดจนร่วมกับกองกำลังประจำเรือ, ประจำชายฝั่ง, และกองกำลังสงครามทางอากาศ ก็จะสามารถทำการโจมตีแบบผสมผสานทั้งพิสัยไกล, พิสัยกลาง, และพิสัยใกล้ เข้าใส่เรือขนาดใหญ่ในทะเล ตลอดจนทำการโจมตีผสมผสานกันทั้งภาคพื้นดิน, ทะเล, และอากาศ

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ DF-26 ก็คือ ด้วยลักษณะที่เป็นหน่วยโมดูลย่อยๆ ซึ่งสามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกัน ทำให้ขีปนาวุธนี้ประกอบติดตั้งหัวรบได้หลายๆ ประเภท เป็นต้นว่า หัวรบแบบ nuclear re-entry vehicle 2 ประเภท, และหัวรบธรรมดาหลายหลากชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีสมรรถนะในการทำลายแตกต่างกัน เป็นต้นว่า หัวรบเพื่อการโจมตีพื้นที่ ซึ่งใช้สำหรับโจมตีพวกสนามบินและท่าเรือ, หัวรบแบบเจาะทะลุพื้น เพื่อใช้ในการโจมตีเป้าหมายที่อยู่ใต้ดิน, และวัตถุระเบิดเชื้อเพลิง-อากาศ (fuel-air explosives) เพื่อใช้โจมตีพวกเป้าหมายทางอิเล็กทรอนิกส์

ผู้เขียนบทความนี้ทั้ง 2 ยกย่อง DF-26 ว่าเป็นขีปนาวุธที่ประณีตล้ำยุค และเป็นทรัพย์สมบัติอันมีค่าของจีน ซึ่งสามารถสนับสนุนแนวความคิดทางการทหารที่ว่า “ใช้การรุกมาช่วยเหลือการป้องกัน” (use offense to assist defense)

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าอาวุธชนิดนี้พุ่งเป้าหมายตรงมาที่สหรัฐฯ อันเป็นประเทศซึ่งผู้เขียนทั้งสองระบุว่า กำลังดำเนินการสั่งสมกำลังทหารในเอเชีย และโหมกระพือป่าวร้องว่าจีนเป็นภัยคุกคาม

พวกเขากล่าวหาว่า สหรัฐฯกำลังใช้แนวความคิดว่าด้วยการทำสงครามผสมผสานทางอากาศ-ทางทะเล (Air Sea Battle Concept) ซึ่งเวลานี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “Joint Concept for Access and Maneuver in the Global Commons” เพื่อมุ่งแบ่งแยกภูมิภาคแถบนี้ และก่อกวนเสถียรภาพ

อเมริกา “ได้เร่งการเตรียมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง” สำหรับการปฏิบัติการทางทหารในภูมิภาคนี้ พวกเขาระบุ

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาเหล่านี้ หวัง กับ ฟาง บอกว่า DF-26 จึงเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงความสำคัญที่สุดของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ถึงแม้ในการใช้งานจะมีความซับซ้อนซึ่งเรียกร้องต้องการ ข้อมูลสำหรับการสู้รบในระดับเครือข่ายจากอุปกรณ์เซนเซอร์จำนวนมากตลอดจนจากระบบอื่นๆ เพื่อใช้ในการเล็งเป้าหมายและทำการโจมตี

เมื่อหันมามองจากฝั่งของอเมริกา อาวุธใหม่ๆ ของจีนอย่าง DF-26 นี้ เท่ากับเป็นการยุติยุคสมัยอันยาวนานประมาณสิบปีซึ่งกองทัพสหรัฐฯคาดการณ์ว่า แทบไม่มีหรือกระทั่งไม่มีความเสี่ยงต่อพลังอำนาจของตนเลย “ยุคสมัยดังกล่าวนี้ได้จบสิ้นลงแล้ว” โธมัส มาห์นเคน (Thomas Mahnken) ผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยกองทัพจีน ของวิทยาลัยสงครามนาวีสหรัฐฯ (US Naval War College) กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างการประชุมซึ่งมีมูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) เป็นเจ้าภาพ

ทุกวันนี้ กองทัพสหรัฐฯกำลังพัฒนาการตอบโต้แบบอสมมาตร (asymmetric responses) ต่ออาวุธอย่างเช่น DF-26 ของจีน ซึ่งทางเพนตากอนเรียกชื่อว่า เป็นอาวุธ “ต่อต้านการเข้าถึง / ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่” (anti-access, area denial) ขณะที่ฝ่ายจีนเรียกว่าเป็นอาวุธ “ต่อต้านการเข้ามาแทรกแซง” (counter-intervention)

“จีนอยู่ในแถวหน้าอย่างแท้จริงทีเดียว ในการติดตามเพื่อให้ได้สมรรถนะการต่อต้านการเข้าแทรกแซงเหล่านี้บางแบบบางชนิด และนั่นก็กลายเป็นการท้าทายอย่างสำคัญต่อสหรัฐฯ” มาห์นเคน กล่าว

“จีนกำลังติดตั้งประจำการพวกสมรรถนะที่มุ่งป้องปรามสหรัฐฯและพันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่ให้ดำเนินปฏิบัติการในระยะประชิดจีน” เขากล่าวต่อ “การติดตั้งประจำการเหล่านี้กำลังทำให้ทางเรามีค่าใช้จ่ายโดยรวมอันมหาศาลยิ่ง และสมรรถนะเหล่านี้ก็ทำให้ปักกิ่งได้โมเมนตัม”

การตอบโต้ของเพนตากอนต่ออาวุธใหม่ๆ ของจีนเหล่านี้ เท่าที่ผ่านมายังอยู่ในระดับเพียงแค่พอประมาณ ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาวะขาดแคลนงบประมาณด้านกลาโหม ตลอดจนความเรียกร้องต้องการการสนับสนุนทางทหารในตะวันออกกลางเพื่อต่อสู้ปราบปรามลัทธิก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส)

การสั่งสมกำลังทหารของสหรัฐฯในเอเชียเท่าที่ผ่านมา อยู่ในรูปของการประจำการทหารจำนวนหลายพันคนในออสเตรเลีย, การนำเรือรบประเภทเรือสู้รบชายฝั่ง (Littoral Combat Ship ใช้อักษรย่อว่า LCS) เข้าประจำการในสิงคโปร์, และการเพิ่มเรือดำน้ำโจมตี ตลอดจนการหมุนเวียนส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 และ B-2 ไปยังเกาะกวมอยู่เป็นประจำ

ยังมีการวางแผนซึ่งกำหนดให้จัดส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีอีกหมู่หนึ่ง ซึ่งจะเป็นหมู่ที่ 2 เข้าไปประจำการในภูมิภาคนี้ในอนาคต

ผู้กำหนดนโยบายของเพนตากอนผู้หนึ่ง ออกมาพูดสรุปถึงบางขั้นบางตอนที่กองทัพสหรัฐฯกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากองกำลังของสหรัฐฯและของพันธมิตรยังคงสามารถเข้าถึงเส้นทางทะเลและท่าเรือต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกได้ แม้ต้องเผชิญกับการสั่งสมทางด้านขีปนาวุธและความแข็งกร้าวยืนกรานของฝ่ายจีน

อับราฮัม เอ็ม. เดนมาร์ก (Abraham M. Denmark) รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายเอเชียตะวันออก (deputy assistant defense secretary for East Asia) ออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กองกำลังสหรัฐฯจะไม่ยอมถูกบังคับให้ล่าถอยเมื่อต้องเผชิญกับอาวุธใหม่ๆ ของจีน

“ผมต้องการเน้นย้ำว่า ความมุ่งมั่นผูกพันกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมาประเมินค่าให้ต่ำกว่าความเป็นจริง” เดนมาร์ก กล่าว “ไม่ควรมีการมาตั้งคำถามข้อสงสัยกันเลยว่า วันนี้สหรัฐฯยังคงสามารถรักษาความเหนือกว่าอย่างเด็ดขาดในทางทหารเอาไว้ได้หรือไม่ รวมทั้งเรายังกำลังลงมือปฏิบัติการต่างๆ เพื่อการสงวนรักษาและส่งเสริมสนับสนุนพลังการป้องปรามที่มิใช่นิวเคลียร์ของเราในระยะยาว”

เขาประกาศด้วยว่า สิ่งที่สหรัฐฯจะโยกย้ายเข้ามายังเอเชียในทันที ประกอบด้วยอาวุธที่ดีที่สุดและที่ใหม่ที่สุดจำนวนหนึ่ง ในเวลาเดียวกัน สหรัฐฯก็กำลังหนุนหลังบรรดาพันธมิตรด้วยการจัดหาอาวุธให้และด้วยการให้ความสนับสนุนด้านข่าวกรอง

เดนมาร์กไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสมรรถนะใหม่ๆ ซึ่งวางแผนจะนำมาใช้ในเอเชีย แต่เขายืนยันหนักแน่นว่า กำลังทหารสหรัฐฯกำลังเพิ่มขึ้นทั้งทางด้านคุณภาพและทางด้านปริมาณ

แผนการต่างๆ ที่จัดวางเอาไว้นั้น เรียกร้องให้เอาชนะอาวุธไฮเทคของจีน ด้วยอาวุธใหม่ๆ และสมรรถนะทางทหารใหม่ๆ ซึ่งจะสามารถทำให้ความได้เปรียบที่ทำท่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของจีนกลายเป็นโมฆะไป

สำหรับ DF-26 นั้น เพนตากอนวางแผนว่าจะก่อกวนเล่นงานระบบอันซับซ้อนเพื่อสร้างสมรรถนะการโจมตีพิสัยไกลของขีปนาวุธนี้ โดยใช้สิ่งต่างๆ อย่างเข่น การโจมตีทางไซเบอร์ต่อระบบอาวุธและระบบเซนเซอร์ การโจมตี ทั้งในรูปของการเล่นงานทางอิเล็กทรอนิกส์และการโจมตีที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (non-kinetic) อย่างอื่นๆ โดยจะมุ่งไปที่การรบกวนสิ่งซึ่งเรียกกันว่า “สายโซ่แห่งการล่าสังหาร” (kill chain) ซึ่งหมายถึงภารกิจอันยากลำบากในการค้นหา, การติดตาม, การเล็งเป้าหมาย, และการนำทางขีปนาวุธ ก่อนที่ขีปนาวุธเหล่านี้จะสามารถโจมตีเรือตลอดจนเป้าหมายอื่นๆ ได้สำเร็จ

“เรายังกำลังลงทุนอย่างมากมายในพลานุภาพเพื่อการปฏิบัติการทางทหารในเอเชีย-แปซิฟิก เป็นต้นว่า การทำสงครามใต้ผิวน้ำ (subsurface warfare), สงครามอิเล็กทรอนิกส์, อวกาศ, ไซเบอร์, การป้องกันขีปนาวุธ, และอื่นๆ” เขาบอก

เดนมาร์กระบุว่า สหรัฐฯนำเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารใหม่ๆ เข้ามาในเอเชียมากน้อยแค่ไหน จะขึ้นอยู่กับความประพฤติของจีน

“จีนจะก้าวผงาดขึ้นมาอย่างไร และมีความสัมพันธ์อย่างไรกับระเบียบที่อิงอยู่กับหลักการ โดยที่ระเบียบนี้ได้โอบอุ้มสันติภาพ, เสถียรภาพ, และความมั่นคงของภูมิภาคนี้ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา (การแสดงออกของจีนนี้แหละ) จะเป็นตัวแปรอันสำคัญยิ่งในการกำหนดโครงสร้างทางด้านความมั่นคงของเอเชีย-แปซิฟิกในอนาคต” เขาบอก

การที่จีนเปิดเผยเรื่องของขีปนาวุธ DF-26 เมื่อเร็วๆ นี้ และรายงานเกี่ยวกับแผนการของเพนตากอนนั้น แสดงให้เห็นว่าความเป็นคู่แข่งขันแบบมหาอำนาจใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยังคงกำลังทวีขึ้นขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้สองรัฐนี้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางการค้าที่ใกล้ชิดกันมากก็ตามที

บิลล์ เกิร์ตซ์ เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนหนังสือ ซึ่งติดตามรายงานข่าวด้านกลาโหมและกิจการความมั่นคงแห่งชาติมาอย่างยาวนานหลายสิบปี เขาเขียนหนังสือว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติมาแล้ว 6 เล่ม สามารถติดต่อเขาได้ทางทวิตเตอร์ที่ @BillGertz

หมายเหตุผู้แปล

เว็บไซต์ของนิตยสาร “ฟอเรนจ์ โพลิซี” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ได้เสนอรายงานเรื่อง The U.S. Navy Wants to Show China Who’s Boss (กองทัพเรือสหรัฐฯต้องการแสดงให้จีนเห็นว่าใครกันแน่ที่เป็นพี่เบิ้ม) เขียนโดย แดน เดอลุซ (Dan De Luce) หัวหน้าผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงแห่งชาติของนิตยสารฉบับนี้ มีเนื้อหาพูดถึงการที่ผู้บังคับบัญชาทหารของสหรัฐฯกำลังมองหาขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบใหม่ๆ ตลอดจนจัดทำหลักนิยมว่าด้วยการสู้รบทำสงครามในแปซิฟิกกันใหม่ เมื่อเผชิญกับการแข่งขันทางการทหารอันดุเดือดเพิ่มขึ้นทุกทีจากปักกิ่ง ผู้แปลจึงขอเก็บความรายงานนี้ นำมาเสนอดังต่อไปนี้:

<กองทัพเรือสหรัฐฯต้องการแสดงให้จีนเห็นว่าใครกันแน่ที่เป็นพี่เบิ้ม
โดย แดน เลอลุซ

ด้วยความกังวลในเรื่องที่จีนกำลังขยายแสนยานุภาพทางนาวี กองทัพเรือสหรัฐฯจึงกำลังเร่งรีบซื้อหาขีปนาวุธต่อสู้เรือ (anti-ship missile) รุ่นใหม่เข้ามาเป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลาหลายสิบปี อีกทั้งกำลังโยนตำราคู่มือเล่มเก่าว่าด้วยยุทธศาสตร์สงครามในแปซิฟิกทิ้งไป

ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา กองทัพอเมริกันอยู่ในฐานะที่สามารถบงการครอบงำอาณาเขตทะเลหลวงได้อย่างชนิดไร้คู่แข่งขัน โดยไม่ได้มีกองนาวีชาติอื่นใดซึ่งทำท่าจะกลายเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงจริงจังเอาเลย แต่แล้วในช่วงตลอดระยะเวลาประมาณสิบปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้สร้างสมกำลังทางเรือของตนขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนกระทั่งใครๆ ต้องจับตามอง โดยที่มีการใช้จ่ายงบประมาณปีละหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อผลิตเรือรบใหม่ๆ ทุกๆ ขนาดเป็นจำนวนหลายสิบลำ ตลอดขยายคลังแสงขีปนาวุธอันเกรียงไกรซึ่งพุ่งเป้าเพ่งเล็งไปที่การตัดทอนพื้นที่บริเวณซึ่งกองกำลังเรือรบของอเมริกาจะสามารถเคลื่อนที่เข้าๆ ออกๆ โดยไม่ต้องเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม

ในอีกด้านหนึ่งรัสเซียก็ได้เริ่มต้นเบ่งกล้ามสำแดงแสนยานุภาพทางทะเลของตนบ้างภายหลังอยู่ในช่วงตกต่ำมาอย่างยาวนาน เป็นต้นว่าเมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้เอง ได้โชว์การปล่อยจรวดร่อน (cruise missile) เข้าสู่เป้าหมายต่างๆ ในซีเรีย โดยยิงออกมาจากเรือดำน้ำ “รอสตอฟ-ออน-ดอน” (Rostov-on-Don) ซึ่งเป็นเรือดำน้ำรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสเตลธ์ ที่สามารถหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภัยคุกคามที่ปรากฏขึ้นมาจากจีน กำลังเป็นปัจจัยเร่งรัดให้เหล่าผู้บังคับบัญชาทหารเรืออเมริกันทั้งหลายต้องทำการประเมินยุทธศาสตร์การสู้รบทำสงครามของพวกเขากันใหม่ และตัดสินใจทำงานอย่างรีบด่วนในการจัดหาขีปนาวุธต่อสู้เรือรุ่นใหม่มาติดตั้งให้แก่เรือผิวน้ำของตน

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) วางแผนการที่จะดัดแปลงพวกขีปนาวุธที่มีอยู่แล้วในเวลานี้แต่เบื้องต้นทีเดียวมุ่งออกแบบเอาไว้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นๆ โดยเริ่มต้นด้วยจรวดร่อน “โทมาฮอว์ก” (Tomahawk) ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาถูกใช้เพื่อยิงโจมตีใส่พวกเป้าหมายอยู่กับที่บนภาคพื้นดิน

พวกเจ้าหน้าที่กองทัพเรือยังกำลังยอมรับว่า สหรัฐฯไม่สามารถที่จะตั้งข้อสมมัติฐานได้อีกต่อไปแล้วว่าตนจะสามารถบงการครอบงำท้องทะเลมหาสมุทร หรือจะสามารถหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตายมากๆ ได้ ถ้าหากเกิดสงครามความขัดแย้งกับจีนขึ้นมา แนวความคิดแบบเก่าของการรณรงค์สู้รบอย่างเป็นระบบแบบแผนโดยมุ่งทำลายการป้องกันทางอากาศและการป้องกันด้านอื่นๆ ของข้าศึกศัตรู กำลังถูกแทนที่ด้วยการสมมุติสถานการณ์ที่กองทหารสหรัฐฯจะเคลื่อนกำลังไปอย่างรวดเร็วและปิดลับมากขึ้น และเข้าตอบโต้ข้าศึกโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนองตอบต่อแนวทางใหม่ดังกล่าวนี้ พวกเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯจึงมุ่งโฟกัสไปที่การรับประกันสร้างความมั่นใจว่า กองทหารอเมริกันสามารถเข้าถึงฐานทัพอากาศทั้งหลายที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วหมู่เกาะแปซิฟิกต่างๆ อันไกลโพ้น โดยมองว่านี่จะเป็นการลดจุดอ่อนของการพึ่งพาพวกฐานทัพใหญ่ๆ ซึ่งอยู่ในพิสัยการโจมตีของขีปนาวุธจีน

ครั้งสุดท้ายที่กองทัพเรืออเมริกันเคยจมเรือของชาติอื่นๆ นั้น ต้องย้อนหลังไปจนถึงปี 1988 เมื่อเรือฟริเกตติดขีปนาวุธนำวิถี “ยูเอสเอส ซิมป์สัน” (USS Simpson) ซึ่งเป็นฟริเกตชั้นโอลิเวอร์ ฮาร์ซาร์ด เพอร์รี (Oliver Hazard Perry-class) ได้น็อกเอาต์เรือปืนขนาดเล็กลำหนึ่งของอิหร่าน 4 วันหลังจากที่ทุ่นระเบิดของอิหร่านได้เล่นงานถูกเรือรบอเมริกันอีกลำหนึ่งในอ่าวเปอร์เซีย ทั้งนี้เรือซิมป์สันเพิ่งถูกปลดระวางจากกองทัพเรือเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง

ช่วงเวลาหลายๆ ปีนับตั้งแต่การประจันหน้ากันคราวนั้น กองเรือรบอเมริกันได้พัฒนาทั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ, อากาศยานไร้นักบิน (โดรน), ระบบโซนาร์, เครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ๆ , ตลอดจนยุทโธปกรณ์อื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไฮเทคล้ำสมัย ทว่าสำหรับขีปนาวุธต่อสู้เรือแล้ว นาวีอเมริกันยังคงมีแต่แบบ “ฮาร์พูน” (Harpoon) ซึ่งนำเข้าประจำการครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 1977

พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอเมริกันเชื่อว่า ถ้าหากเกิดการสู้รบกันขึ้นมา เป็นไปได้ที่เรือรบจีนจะสามารถยิงใส่ขีปนาวุธฮาร์พูนที่ล้าสมัยแล้วให้ตกลงมากลางทาง หรือบังคับเรือของตนให้เคลื่อนที่หลบหลีกอาวุธชนิดนี้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาอาวุธไฮเทคล้ำยุคเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อทำให้สหรัฐฯมีพลานุภาพที่จะตอบโต้ข้าศึกได้อย่างน่าไว้วางใจ

ผลของการนี้ก็คือ กองทัพเรือสหรัฐฯกำลังผลักดันเร่งรัดให้เรือรบผิวน้ำและเรือดำน้ำของตน ติดตั้งขีปนาวุธต่อสู้เรือที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีระยะทำการไกลขึ้น รวมทั้งมีโอกาสที่จะหลบเลี่ยงและฝ่าทะลุระบบป้องกันแบบไฮเทคได้มากขึ้นด้วย มีรายงานว่าคณะนักวิจัยได้ทำการทดสอบโทมาฮอว์กรุ่นปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์เสียใหม่ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อดูว่ามันจะสามารถพุ่งเข้าใส่เป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่ในทะเลได้หรือไม่ และพวกเจ้าหน้าที่กลาโหมเฉลยว่าการทดสอบประสบความสำเร็จเป็นอันดี กองทัพเรืออเมริกันวางแผนการเริ่มนำเอาอาวุธชนิดนี้เข้าติดตั้งประจำการใน “กองเรือรบของตนในช่วงสองสามปีข้างหน้า” เรือโท โรเบิร์ต ไมเออส์ (Lt. Robert Myers) โฆษกผู้หนึ่งของกองทัพเรือระบุ

ไม่เพียงเท่านั้น กองทัพเรือสหรัฐฯยังกำลังศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ที่จะดัดแปลงอาวุธประเภทใหม่ยิ่งขึ้นไปอีก นั่นก็คือ “ขีปนาวุธต่อสู้เรือพิสัยไกล” (Long Range Anti-Ship Missile) ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ยิงจากเครื่องบิน นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่นๆ เป็นต้นว่า ขีปนาวุธโจมตีเรือของนอร์เวย์ซึ่งอยู่ในสายการผลิตเรียบร้อยแล้ว หรือไม่ก็ดัดแปลงปรับปรุงระบบป้องกันขีปนาวุธไฮเทคล้ำสมัยรุ่น เอสเอ็ม-6 (SM-6) เสียใหม่

เพื่อรับมือกับการแข่งขันแย่งชิงอำนาจและอิทธิพลทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งกำลังดุเดือดเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ พวกผู้บังคับบัญชาทหารของสหรัฐฯดูมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาฐานะที่ตนยังคงนำหน้ากองทัพจีนเอาไว้ให้ได้ ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เรือรบผิวน้ำของสหรัฐฯมีกำลังยิง (firepower) เพิ่มมากขึ้น แทนที่จะคอยพึ่งพาอาศัยพลังโจมตีของเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือดำน้ำเป็นสำคัญ ทำให้เกิดคำขวัญอย่างไม่เป็นทางการแต่เป็นที่นิยมพูดกันในหมู่นายทหารเรืออาวุโสว่า “ถ้ามันลอยได้ มันต้องรบได้” (If it floats, it fights.)

พลเรือโท โธมัส โรว์เดน (Vice Adm. Thomas Rowden) ผู้บัญชาการกองเรือผิวน้ำ (Surface Force Commander) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ กำลังเรียกร้องให้ทั่วทั้งกองเรือรบเพิ่มแสนยานุภาพในการรุกโจมตี รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะติดอาวุธให้แก่พวกเรือส่งกำลังบำรุงซึ่งเท่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการประกอบติดตั้งอาวุธใดๆ

เมื่อมีการนำเอาขีปนาวุธใหม่ๆ เข้าประจำการ ซึ่งสามารถที่จะโจมตีเล่นงานเรือของข้าศึกได้ บรรดาปรปักษ์ทั้งหลายก็ “จะต้องตื่นขึ้นมา และแทนที่จะเพียงแค่คอยกังวลติดตามเรือบรรทุกเครื่องบินหรือตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำเท่านั้น ตอนนี้พวกเขาจะต้องวิตกสนใจเรือผิวน้ำทุกๆ ชนิด ตลอดจนวิตกสนใจเกี่ยวกับความสามารถของเรือเหล่านี้ที่จะโจมตีเล่นงานพวกเขา” โรว์เดน บอกกับนิตยสาร “เอวิเอชั่นวีก” (Aviation Week) ในเดือนนี้

หันมามองกันในภาพรวมขยายกว้างกันบ้าง สหรัฐฯนั้นยังคงมีกองทัพเรือซึ่งเทคโนโลยีไฮเทคล้ำสมัยที่สุดในโลก และสามารถส่งกองเรือรบออกไปปฏิบัติการในระดับทั่วทุกมุมโลกอย่างแท้จริง นาวีอเมริกันสามารถคุยได้ว่ามีเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำรวมทั้งสิ้น 272 ลำ แล้วยังมีเรือรบอีกว่า 150 ลำอยู่ในกองเรือสำรอง ขณะที่กองทัพเรือจีนยังคงถูกทิ้งอยู่ข้างหลังห่างไกล แต่กระนั้นจากการที่ปักกิ่งมีอัตราเร็วอย่างน่าตื่นใจในการต่อเรือใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จึงหมายความว่าแดนมังกรยังคงสามารถเข้าคว้าตำแหน่งกองนาวีทรงอำนาจที่สุดเป็นอันดับ 2 ได้สำเร็จภายในปี 2020 ทั้งนี้ตามการประมาณการของบางฝ่ายบางสำนัก

ทั้งนี้หลังจากมีการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายทางทหารขึ้นไปอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา (เฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้น 9.5% ต่อปี) ทำให้เวลานี้จีนมีเรือในสังกัดกองทัพเรืออยู่มากกว่า 300ลำ ด้วยการที่งบประมาณกลาโหมจำนวน 165,000 ล้านดอลลาร์ของแดนมังกร มีถึงหนึ่งในสามทีเดียวซึ่งอุทิศให้แก่กองทัพเรือ จีนจึงสามารถทุ่มเทเงินทองในการต่อเรือรบชั้นใหม่ๆ ทั้งในประเภทเรือพิฆาต, เรือลาดตระเวน, และเรือดำน้ำ ตลอดจนนำเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกขึ้นระวางเข้าประจำการ

ทางด้านรัสเซียนั้น สหรัฐฯถือว่าเป็นภัยคุกคามในระยะใกล้ๆ น้อยกว่าจีนมาก และเพียงเมื่อเร็วๆ นี้เองมอสโกจึงเริ่มต้นดำเนินการปรับปรุงยกระดับกองนาวีอันเข้มแข็งไม่ใช่น้อยอยู่แล้วของตน โดยมีจำนวนเรือถึง 280 ลำ แต่เรือเหล่านี้นับรวมไปถึงพวกเรือรบยุคสงครามเย็นที่ล้าสมัยแล้ว แถมหลายๆ กรณีขาดแคลนทั้งกำลังพลและเครื่องมืออุปกรณ์ที่จะนำมาประกอบติดตั้ง พวกนักวิเคราะห์ทางทหารพูดกันว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่า ในสภาพที่เศรษฐกิจของรัสเซียยังคงเสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ เช่นนี้ แดนหมีขาวจะสามารถประคับประคองระดับการปฏิบัติการอันทะเยอทะยานของตนเองในปัจจุบันเอาไว้ได้หรือไม่ ซึ่งก็รวมไปถึงการรักษากลุ่มเรือสู้รบกลุ่มหนึ่งเอาไว้ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเวลานี้ด้วย

คำเตือนเกี่ยวกับเรื่องจีนกำลังไล่หลังกระชั้นกองทัพอเมริกันเข้ามาเรื่อยๆ ตลอดจนแผนการของเพนตากอนในการเสาะหาขีปนาวุธต่อสู้เรือ ต้องถือว่าเป็นดนตรีหวานเสนาะหูสำหรับพวกบริษัทรับเหมาประมูลงานกลาโหมตลอดจนพวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯซึ่งมลรัฐของพวกเขาเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการผลิตสำคัญๆ ยิ่งในเวลาที่แรงกดดันด้านงบประมาณยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉกเช่นขณะนี้ กองทัพเรืออเมริกันย่อมมีแรงกระตุ้นจูงใจที่จะไฮไลต์ย้ำเน้นภัยคุกคามทางทะเลของจีนให้เจิดจ้าเข้าไว้ เพื่อช่วยรับประกันว่าเม็ดเงินจะไหลเข้ามา ถึงแม้มีนักระแวงสงสัยหลายรายบอกว่าบางครั้งนาวีสหรัฐฯก็กระพือภัยคุกคามนี้จนใหญ่โตเกินความเป็นจริง

สภาพของกองทัพเรือในปัจจุบัน เคยเป็นจุดหนึ่งที่เกิดการถกเถียงกันในช่วงการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯคราวที่แล้วเมื่อปี 2012 โดยที่ มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันได้กล่าวหาประธานาธิบดีบารัค โอบามาว่า ทอดทิ้งละเลยกองเรือรบอเมริกัน โดยเขาบอกว่าจำนวนเรือรบในกองทัพได้ลดต่ำลงอย่างน่ากลัวอันตราย ทว่าโอบามาตอบโต้ด้วยการล้อเลียนการวิพากษ์วิจารณ์ของรอมนีย์

“ตัวอย่างเช่น คุณพูดพาดพิงถึงกองทัพเรือ และบอกว่าเรามีเรือรบน้อยกว่าที่เราเคยมีเมื่อปี 1916 เสียอีก เอ้อ ท่านผู้ว่าการครับ เราก็มีจำนวนม้าน้อยลงและมีจำนวนดาบปลายปืนน้อยลงเหมือนกันนะครับ” โอบามากล่าวในการโต้วาทีของ 2 ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรอบสุดท้าย

พวกที่หวังจะขึ้นเป็นผู้สมัครของรีพับลิกันในการรณรงค์ชิงทำเนียบขาวปี 2016 เวลานี้หลายๆ รายกำลังพูดสะท้อนเสียงเรียกร้องของรอมนีย์ในครั้งก่อนที่ต้องการให้เร่งต่อเรือรบ ทว่ากลับไม่ได้อธิบายแจกแจงว่าพวกเขาจะหาเงินจากที่ไหนมาจ่ายค่าเรือใหม่เหล่านั้น ในการโต้วาทีระหว่างผู้ที่ต้องการได้เป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันด้วยกันเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คาร์ลีย์ ฟิโอรินา (Carly Fiorina) อดีตซีอีโอของฮิวเลตต์-แพคการ์ด (Hewlett-Packard) ได้คะแนนนิยมพุ่งสูงขึ้นและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเพิ่มขึ้น หลังจากที่เธอเรียกร้องให้ขยายกำลังทางนาวีโดยจากที่มีเรือ 273 ลำในปัจจุบัน ก็ให้เพิ่มขึ้นไปจนถึง 350 ลำ

นอกเหนือจากส่งผลเป็นแรงผลักดันทำให้สหรัฐฯต้องเร่งพัฒนาอาวุธใหม่ๆ เพื่อประกอบติดตั้งบนเรือรบของนาวีอเมริกันแล้ว ภัยคุกคามจากคลังแสงขีปนาวุธที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของจีน ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการขบคิดเชิงยุทธศาสตร์ของพวกผู้รับผิดชอบในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯอีกด้วย

จากจำนวนและพิสัยทำการอันน่าประทับใจของขีปนาวุธต่อสู้เรือและขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานของจีน หมายความว่ากองทัพสหรัฐฯไม่สามารถตั้งสมมุติฐานอีกต่อไปแล้วว่า ตนมีอิสรเสรีในการเข้าถึงอาณาบริเวณแปซิฟิกตะวันตกแม้กระทั่งในยามที่เกิดการสู้รบขัดแย้งขึ้นมา ขีปนาวุธชนิดต่างๆ ของกองทัพจีนนั้นมีพิสัยทำการอย่างทรงประสิทธิภาพตั้งแต่ 100 ไมล์ทะเล ไปจนกระทั่งถึงระดับ 900 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นสมรรถนะที่สามารถตรึงให้นาวีสหรัฐฯไม่กล้าขยับเข้าไป หรือปิดตายพื้นที่ซึ่งช่วงชิงกันอยู่ในแปซิฟิก

เพนตากอนนั้นมีความวิตกกังวลมากเป็นพิเศษต่อขีปนาวุธนำวิถี ตงเฟิง ดีเอฟ-21 ดี (Dongfeng DF-21D) ซึ่งได้รับสมญานามว่า “นักล่าสังหารเรือบรรทุกเครื่องบิน” (carrier killer) และได้ถูกเผยโฉมนำออกมาแสดงต่อสาธารณชนในการเดินขบวนสวนสนามเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องในวาระรำลึกชัยชนะที่จีนมีเหนือญี่ปุ่นในปี 1945 นอกจากนั้นจีนยังเริ่มนำเอาจรวดร่อน วายเจ-18 ความเร็วเหนือเสียง (supersonic YJ-18 cruise missile) เข้าประจำการ โดยเป็นที่คาดหมายกันว่านอกจากประกอบติดตั้งให้เรือผิวน้ำแล้ว ก็ยังจะนำมาประกอบติดตั้งให้เรือดำน้ำด้วย ขีปนาวุธทั้ง 2 รุ่นนี้สามารถที่จะลดทอนอานุภาพของอาวุธซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของแสนยานุภาพทางทหารของอเมริกา อันได้แก่เรือบรรทุกเครื่องบิน โดยเป็นไปได้ว่าจะบีบบังคับให้เรือลำใหญ่มหึมาประเภทนี้ตลอดจนฝูงเครื่องบินขับไล่ที่ประจำอยู่บนเรือ ต้องออกไปอยู่ห่างไกลจากพื้นที่สู้รบ ซึ่งเป็นการจำกัดลดทอนสมรรถนะของเรือและเครื่องบินเหล่านี้ลงมา

นี่ย่อมหมายความว่า แนวทางแบบเก่าของฝ่ายอเมริกันที่มุ่งใช้เวลาหลายวันในการน็อกเอาต์ระบบป้องกันภัยทางอากาศของศัตรู จากนั้นก็มีอิสรเสรีในการครอบครองน่านฟ้าและท้องทะเลนั้น เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไปแล้ว เดวิด โอชมาเนค (David Ochmanek) อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของเพนตากอน กล่าวแสดงความคิดเห็น

โอชมาเนค ซึ่งเวลานี้มีตำแหน่งเป็นนักวิเคราะห์ด้านกลาโหมของ แรนด์คอร์เปอเรชั่น (RAND Corp.) บริษัทวิจัยให้คำปรึกษาด้านกลาโหมที่ขึ้นชื่อเรื่องความใกล้ชิดกับเพนตากอน กล่าวต่อไปว่า ในการฝึกซ้อมเกมสงครามที่มีการสมมุติสถานการณ์ว่า จีนหาทางใช้กำลังทหารเข้ายึดครองไต้หวัน หรือดำเนินปฏิบัติการอื่นๆ ในทะเลจีนใต้ ปรากฏว่ากำลังทางอากาศและทางนาวีของสหรัฐฯ ซึ่งรวมศูนย์กันอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบิน และตามฐานทัพขนาดใหญ่ๆ ไม่กี่แห่งในญี่ปุ่นและบนเกาะกวม (Guam) ได้กลายเป็นจุดอ่อนเปราะที่ตกเป็นเป้าหมายโจมตีของขีปนาวุธจีน กว่าจะถึงเวลาที่กองกำลังของฝ่ายอเมริกันสามารถสถาปนาฐานะเหนือกว่าทางอากาศได้สำเร็จ มันก็ดูจะสายเกินไปเสียแล้ว ในเมื่อฝ่ายจีนได้บรรลุเป้าหมายของพวกเขาไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อพิจารณาถึงระยะทำการของขีปนาวุธพิสัยกลางและขีปนาวุธพิสัยไกลของแดนมังกรแล้ว กองกำลังสหรัฐฯจะไม่สามารถคาดหมายว่าจะได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์อีกต่อไปแล้ว ตรงกันข้ามกลับต้องมุ่งหาทางเคลื่อนไหวให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้จีนบรรลุวัตถุประสงค์ของพวกเขา โดยส่วนหนึ่งจะต้องพึ่งพาอาศัยพวกเครื่องบินที่มีเทคโนโลยีหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์

ภายใต้ภาพสมมุติสถานการณ์ดังกล่าว กองกำลังสหรัฐฯจะต้องประสบความสูญเสียและการบาดเจ็บล้มตายเพิ่มมากขึ้น “คุณคงจะต้องเสียเรือและไอพ่น รวมทั้งคนด้วย” โอชมาเนค บอก

เขากล่าวกับทางนิตยสาร ฟอเรนจ์ โพลิซี ว่า พวกผู้นำในกองทัพสหรัฐฯตระหนักยอมรับความเป็นจริงเช่นนี้ด้วยความลังเลไม่เต็มใจเลย นี่ชี้ให้เห็นว่าความท้าทายที่อเมริกาต้องเผชิญนั้น เป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวความคิด มากพอๆ กับเรื่องฮาร์ดแวร์

อันที่จริงแล้ว แม้กระทั่งก่อนหน้าที่การสั่งสมแสนยานุภาพทางนาวีของจีนจะได้รับความสนใจจากเพนตากอนเสียอีก ยุทธวิธีต่างๆ ของอิหร่านที่นำมาใช้ในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งที่สำคัญคือการพึ่งพิงเรือยนต์เร็วประกอบติดตั้งจรวดร่อนต่อสู้เรือ ก็ได้บังคับให้กองทัพเรือสหรัฐฯต้องหันกลับมาทบทวนหลักนิยมทางทหารและการวางแผนสงครามของตนกันใหม่ พวกผู้บังคับบัญชาทหารอเมริกันต่างพากันท้อใจ เมื่อการประลองเกมสงครามปรากฏผลออกมาว่า กลุ่มเรือยนต์เร็วจำนวนมากมายของอิหร่านสามารถสร้างความเสียหายและการบาดเจ็บล้มตายอย่างร้ายแรงให้แก่พวกเรือรบสหรัฐฯซึ่งลำใหญ่โตกว่าและเคลื่อนที่ได้ช้ากว่า ภัยคุกคามของอิหร่านนี้เองทำให้กองทัพเรือสหรัฐฯเริ่มต้นนำเอาพวกอาวุธเลเซอร์เข้าติดตั้งประจำการ รวมทั้งพัฒนาแผนการต่างๆ ซึ่งจะประกอบติดตั้งขีปนาวุธ “เฮลล์ไฟร์” (Hellfire) กับเรือโจมตีชายฝั่ง (Littoral Combat Ship ใช้อักษรย่อว่า LCS) ที่เป็นเรือประเภทใหม่ซึ่งมีขนาดเล็กลงกว่าเรือรบผิวน้ำประเภทเดิมๆ ของอเมริกา

ในอีกด้านหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงที่มีศักยภาพจะเกิดขึ้นได้ จากการที่ข้าศึกใช้ขีปนาวุธโจมตีใส่ฝูงเครื่องบินขับไล่หรือฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯในย่านแปซิฟิกที่ยังจอดนิ่งอยู่บนพื้นดิน เวลานี้พวกนักวางแผนทางทหารของสหรัฐฯกำลังชมชอบแนวความคิดในการกระจายเครื่องบินรบและอาวุธประเภทอื่นๆ ไปตามฐานทัพอากาศต่างๆ จำนวนมากขึ้น รวมทั้งคอยปกปิดความเคลื่อนไหวของฝูงบินและอาวุธเหล่านี้เท่าที่จะเป็นไปได้

พวกเจ้าหน้าที่เพนตากอนอธิบายว่า ยุทธศาสตร์นี้ไม่เรียกร้องให้ต้องมีพวกฐานทัพถาวรขนาดใหญ่ๆ ตรงกันข้ามกลับเรียกร้องเพียงแค่ให้สามารถเข้าถึงสนามบินต่างๆ ที่มีอยู่หลายหลากในย่านแปซิฟิก ถึงแม้จะเป็นสนามบินที่สภาพรันเวย์ค่อนข้างขาดการพัฒนาและไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ มากมายอะไรก็ตามที

เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวใหม่นี้ สหรัฐฯจึงหวังที่จะได้เข้าไปใช้ฐานทัพอากาศหลายๆ แห่งในฟิลิปปินส์ ตามที่ระบุเอาไว้ในข้อตกลงความร่วมมือทางกลาโหมฉบับสำคัญ ซึ่งวอชิงตันกับมะนิลาลงนามกันไปในปีที่แล้ว เวลานี้ข้อตกลงฉบับนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินของศาลสูงสุดฟิลิปปินส์ว่ามีความถูกต้องตามหลักกฎหมายของแดนตากาล็อกหรือไม่

เจ้าหน้าที่อเมริกันเปิดเผยด้วยว่า กองทัพสหรัฐฯยังกำลังชั่งน้ำหนักแผนการต่างๆ ที่จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมขึ้นอีกตามหมู่เกาะแปซิฟิกที่อยู่ห่างไกลทั้งหลาย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยแสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯรายหนึ่งบอกกับนิตยสาร ฟอร์เรนจ์ โพลิซี ว่า หนึ่งในข้อเสนอเหล่านี้ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้น จะทำให้กองทัพอเมริกันสามารถดำเนินการซ้อมรบและลงจอดฉุกเฉินในเกาะไซปัน (Saipan) และเกาะติเนียน (Tinian) ที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือรัฐหมู่เกาะนอร์ทเทิร์นมาเรียนา (Commonwealth of the Northern Mariana Islands) ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองของสหรัฐอเมริกา

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไซปันกับติเนียนได้กลายเป็นสมรภูมิของการสู้รบอย่างนองเลือดระหว่างทหารอเมริกันกับทหารญี่ปุ่น ภายหลังเข้ายึดครองควบคุมเอาไว้แล้ว กองทัพอเมริกันได้จัดสร้างฐานทัพอากาศพื้นที่กว้างขวางแห่งหนึ่งขึ้นบนเกาะติเนียน เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี-29 ซึ่งไปหย่อนระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ เมื่อเดือนสิงหคม 1945 ก็ทะยานขึ้นจากฐานทัพแห่งนี้เอง

นอกจากนั้นกองกำลังอเมริกันก็สามารถเข้าใช้สนามบินหลายแห่งบนเกาะปาเลา (Palau) ประเทศเอกราชซึ่งอนุญาตให้สหรัฐฯเข้ารับผิดชอบภาระหน้าที่ในด้านกลาโหม นี่ก็เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการกระจายเครื่องบินรบของสหรัฐฯ

โอชมาเนคแจกแจงว่า ความเคลื่อนไหวของเช่นนี้ของฝ่ายอเมริกัน ไม่ใช่เพียงแค่การคำนึงว่าสถานที่ห่างไกลเหล่านี้ อยู่นอกรัศมีการโจมตีของข้าศึกเท่านั้น ยังเป็นเพราะว่าการนำเอาเครื่องบินจำนวนน้อยไปกระจายไว้ในสถานที่หลายๆ แห่ง ย่อมเป็นการจำกัดความเสียหายของฝ่ายตนเองที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายของฝ่ายที่จะเข้ามาโจมตี

ถึงแม้มองเห็นกันว่าโอกาสความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะเกิดสงครามความขัดแย้งกับจีน ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกล แต่พวกเจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ของเพนตากอนก็เชื่อว่า เพียงแค่เกิดความคิดความเข้าใจขึ้นมาว่าสหรัฐฯได้สูญเสียความได้เปรียบทางการทหารของตนไปแล้ว ก็สามารถสร้างผลกระทบในรูปของความเสียหายอย่างมากมายด้านจิตวิทยา แก่เหล่าพันธมิตรและหุ้นส่วนของอเมริกาแล้ว การปรากฏสัญญาณแห่งความอ่อนแอใดๆ ของสหรัฐฯ ยังจะเป็นการปลุกเร้าให้กำลังใจฝ่ายทหารของจีน ในช่วงเวลาที่ปักกิ่งกำลังเดินหน้าบังคับเอาดินแดนตามการกล่าวอ้างของตนแบบนักลัทธิขยายอาณาเขต ทั้งในทะเลจีนใต้และในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทแห่งอื่นๆ

จีนไม่ได้ปิดบังเลยว่าตนมีเป้าหมายที่จะสร้างกองทัพเรืออันเกรียงไกรที่เข้าถึงทั่วทุกมุมโลก, สามารถที่จะปฏิบัติการใน “ท้องทะเลไกลโพ้น” ไม่เพียงแค่น่านน้ำซึ่งติดอยู่กับชายฝั่งของตนเท่านั้น และตามเอกสารยุทธศาสตร์ทางการทหารอย่างเป็นทางการของจีนซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง ปักกิ่งกำลังให้ความสำคัญลำดับสูงสุดแก่การสร้างสมอำนาจทางนาวีของตน

ทั้งนี้เอกสารฉบับนี้ของจีนระบุว่า จักต้องโยนทิ้งความคิดจิตใจแบบเดิมๆ ที่เห็นว่าพื้นดินนั้นมีน้ำหนักมากกว่าท้องทะเล และจักต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกมากมายแก่การบริหารจัดการทะเลและมหาสมุทร ตลอดจนการพิทักษ์ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ทางทะเลต่างๆ

เอกสารฉบับนี้ย้ำว่า เพื่อพิทักษ์ป้องกันอธิปไตยของประเทศตลอดจนเส้นทางเดินเรือสำคัญๆ จีนจำเป็นจะต้องสร้างตนเองให้กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเล


กำลังโหลดความคิดเห็น