เอเอฟพี -สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไต้หวันร้องรัฐบาลให้สืบสวนถึงความเป็นไปได้ว่าบริษัทฟอร์โมซามีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุปลาตายจำนวนมหาศาลในเวียดนามหรือไม่ ด้วยนักเคลื่อนไหวระบุว่ามลพิษทางอุตสาหกรรมจากโรงงานเหล็กมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์อาจเป็นต้นเหตุของภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมครั้งนี้
หากฟอร์โมซาอยู่เบื้องหลังการตายของปลาจำนวนหลายตันที่เริ่มถูกพัดเกยชายฝั่งภาคกลางของเวียดนามเมื่อ 2 เดือนก่อน อาจเป็นอันตรายต่อนโยบายของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ในการส่งเสริมการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีน
"มันจะไม่มีจุดสิ้นสุดของปัญหา สำหรับนโยบายมุ่งสู่ใต้ หากรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีไช่ไม่จัดการอย่างรอบคอบต่อความวิตกที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชาวเวียดนามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาวุโสของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ที่เป็นพรรครัฐบาล กล่าว
เหตุการณ์ปลาตายเกยตื้นจำนวนมากส่งผลกระทบชาวประมงท้องถิ่นและก่อให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ประชาชนเวียดนาม รวมทั้งการชุมนุมประท้วงที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลายอย่างรุนแรงและจับกุมตัวนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก
ในเบื้องต้น สื่อทางการของเวียดนามพุ่งเป้าไปที่โรงงานเหล็กของบริษัทฟอร์โมซาในจ.ห่าติ๋ง แต่ได้ถอนคำพูดในภายหลัง ขณะที่รัฐบาลได้ดำเนินการตรวจสอบแต่ยังไม่มีผลสรุปอย่างเป็นทางการประกาศออกมาถึงสาเหตุที่ทำให้ปลาตาย ทำให้นักเคลื่อนไหวกล่าวหาว่าทางการอาจปกปิดความจริง
.
.
บริษัทฟอร์โมซามีชื่อเสียงย่ำแย่เกี่ยวกับเหตุอื้อฉาวด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมไปทั่วโลก ตั้งแต่รัฐเท็กซัสไปจนถึงจ.สีหนุวิลล์ ในกัมพูชา บริษัทยังถูกกล่าวหาว่าก่อมลพิษในไต้หวัน รวมทั้งศูนย์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเมืองหยุนหลิน
"เจ้าหน้าที่ในไต้หวันจำเป็นต้องก้าวเข้ามาและทำให้แน่ใจว่าบริษัทได้มาตรฐานด้านแรงงาน สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ" ประธานสมาคมนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมในไต้หวัน กล่าว
ปีเตอร์ เหวียน นักบวชชาวเวียดนามในไต้หวันกล่าวว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีไช่ ต้องทำให้แน่ใจว่าบริษัทฟอร์โมซาจัดการกับภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นและชดเชยเหยื่ออย่างเต็มที่หากพบว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
"เวียดนามต้องการนักลงทุนต่างชาติ แต่มันควรที่จะต้องได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หากสิ่งแวดล้อมและประชาชนของเราต้องทนทุกข์ มันจะก่อให้เกิดความท้าทายและปัญหาใหญ่กับอนาคตการลงทุนของไต้หวันในเวียดนาม" ปีเตอร์ เหวียน กล่าว
ไต้หวันและเวียดนามไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ แต่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิด ด้วยมีประชาชนชาวเวียดนามอาศัยอยู่ในไต้หวันราว 250,000 คน ทั้งเดินทางไปทำงานและสมรสกับชาวไต้หวัน
เดวิด หวัง จากสำนักงานการลงทุนของไต้หวัน กล่าวว่า ไต้หวันได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือในการสอบสวนของรัฐบาลเวียดนามในเหตุปลาตาย แต่ถูกปฏิเสธ และฮานอยจะเผยแพร่ผลการสอบสวนที่ดำเนินการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.
ความเคลือบแคลงสงสัยต่อบริษัทฟอร์โมซาลุกลามขึ้นในเดือนเม.ย. เมื่อหนึ่งในพนักงานของบริษัทในเวียดนามกล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่า เวียดนามต้องเลือกว่าจะจับปลาจับกุ้งหรือสร้างโรงงานเหล็ก
"เราจับปลาไม่ได้เลยตั้งแต่เดือนมี.ค. ผมหวังให้โรงงานของฟอร์โมซาปิดตัวลง เราจะได้ทะเลที่สะอาดกลับคืนมา" ชาวประมงเวียดนามอายุ 29 ปี กล่าว.