รอยเตอร์ - รัฐบาลจีนระบุในวันนี้ (23) ว่า พวกเขาได้ยุติกลไกการติดต่อสื่อสารกับไต้หวันแล้ว เพราะว่ารัฐบาลชุดใหม่ของประเทศเกาะปกครองตนเองแห่งนี้ ปฏิเสธหลักการ “จีนเดียว” นับเป็นสัญญาณล่าสุดของความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศนี้
จีนซึ่งมองไต้หวันเป็นมณฑลกบฏไม่ไว้วางใจประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากพวกเขาสงสัยว่าเธอจะผลักดันวาระการประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ
ไช่ ซึ่งเป็นประธานพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งหนุนการประกาศเอกราช ระบุว่า เธอต้องการรักษาสถานะเดิมกับจีน และมีเจตนารมณ์ที่จะพิทักษ์สันติภาพ
อย่างไรก็ตาม จีนยืนกรานให้เธอยอมรับสิ่งที่เรียกว่า “ฉันทามติปี 1992” ที่ถูกบรรลุระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีน และพรรคก๊กมินตั๋ง ของไต้หวัน ซึ่งภายใต้ฉันทามตินั้นทั้งสองพรรคเห็นพ้องว่า จีนมีเพียงแค่จีนเดียวเท่านั้น โดยแต่ละฝ่ายต่างตีความความหมายนั้นในแบบของตัวเอง
ในถ้อยแถลงสรุปที่รายงานโดยสำนักข่าวซินหวาของทางการ กระทรวงกิจการไต้หวันของจีน ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม ที่ไช่เข้ารับตำแหน่ง ไต้หวันไม่ได้รับรองฉันทามติดังกล่าวแล้ว
“เนื่องจากฝ่ายไต้หวันไม่ยอมรับฉันทามติ ปี 1992 ซึ่งเป็นพื้นฐานทางการเมืองร่วมสำหรับหลักการจีนเดียว กลไกการติดต่อสื่อสารข้ามช่องแคบไต้หวันได้ยุติลงแล้ว” โฆษก อาน เฟิงฉาน กล่าว
การประกาศนี้มีออกมาในขณะที่ไต้หวันแสดงความไม่พอใจต่อการที่กัมพูชาส่งตัวชาวไต้หวัน 25 คน ที่ถูกตั้งขอหาฉ้อโกงให้กับจีนเมื่อวันศุกร์ (22) โดยเพิกเฉยต่อความพยายามของเจ้าหน้าที่ไต้หวันที่จะนำพวกเขากลับประเทศ
ไทเปกล่าวหาจีนว่า ลักพาตัวเมื่อประเทศอื่น ๆ เช่น เคนยา และมาเลเซีย ส่งตัวชาวไต้หวันหลายคนให้กับจีนจากความผิดฐานฉ้อโกงเช่นกัน
เมื่อวันศุกร์ (22) สภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน ระบุว่า พวกเขาได้แสดงความกังวลต่อกระทรวงกิจการไต้หวันเกี่ยวกับกรณีของกัมพูชา โดยใช้ระบบการติดต่อสื่อสารดังกล่าว
ระบบดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นหลังจากความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2008 และลงนามข้อตกลงการค้าและการท่องเที่ยวหลายฉบับกับจีน
ปัจจุบันไช่กำลังอยู่ระหว่างการเยือนพันธมิตรทางการทูตอย่างปานามา และปารากวัยซึ่งนับเป็นการเยือนต่างประเทศในฐานะประธานาธิบดีครั้งแรก และจะหยุดแวะที่สหรัฐฯด้วย
กองกำลังพรรคก๊กมินตั๋ง หลบหนีไปยังเกาะไต้หวัน หลังจากสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1949 ซึ่งไม่ได้จบลงอย่างเป็นทางการ จีนยังไม่เคยมีตัวเลือกในการใช้กำลังเพื่อนำไต้หวันกลับมาอยู่ภายใต้การปกครอง