xs
xsm
sm
md
lg

เอไอ-ฮิวแมนไรต์วอตช์จี้ถอด “ซาอุฯ” ออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN หลังทำสงครามเข่นฆ่าชาวเยเมน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เด็กๆ ชาวเยเมนออกมาชุมนุมที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติในกรุงซานา เพื่อประท้วงการตัดสินใจถอดซาอุดีอาระเบียและกลุ่มพันธมิตรอาหรับออกจากบัญชีดำผู้ล่วงละเมิดสิทธิเด็กของยูเอ็น เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.
เอเอฟพี - สององค์กรสิทธิมนุษยชนชั้นนำของโลกเรียกร้องวานนี้ (29 มิ.ย.) ให้มีการระงับสมาชิกภาพของซาอุดีอาระเบียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHRC) โดยอ้างเรื่องที่ริยาดทำสงครามเข่นฆ่าชาวเยเมน รวมถึงกดขี่พลเมืองในประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International - AI) และฮิวแมนไรต์วอตช์ ประกาศจะทำการล็อบบี้สมัชชาใหญ่ยูเอ็นให้โหวตระงับสมาชิกภาพของซาอุดีอาระเบียใน UNHRC แต่ก็ยอมรับว่ากระบวนการนี้คงเป็นไปได้ยาก

“ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมารัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้ทำในสิ่งที่ละเมิดขอบเขตของกฎหมาย และไม่สมควรนั่งอยู่ใน UNHRC อีกต่อไป” ฟิลิปเป โบโลพิออน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ ระบุ

ฮิวแมนไรต์วอตช์กล่าวหาว่าริยาดจงใจใช้ระเบิดดาวกระจาย (cluster bombs) ที่ถูกห้ามโดยสนธิสัญญาระหว่างประเทศสังหารชาวเยเมน ทั้งยังทำการปิดท่าเรือ จนประชาชนชาวเยเมนขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน

ซาอุดีอาระเบียและกลุ่มชาติพันธมิตรอาหรับได้ส่งเครื่องบินเข้าไปถล่ม “กบฏฮูตี” นิกายชีอะห์ ซึ่งบุกยึดกรุงซานาของเยเมนเอาไว้ตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2014 และกระจายกำลังสู่เมืองสำคัญอีกหลายแห่ง

กลุ่มพันธมิตรซาอุฯ ต้องการปราบปรามพวกกบฏที่เชื่อว่ามี “อิหร่าน” หนุนหลัง และคืนอำนาจปกครองให้แก่ประธานาธิบดี อาเบดรับบูห์ มันซูร์ ฮาดี ในขณะที่ยูเอ็นเตือนว่า สงครามที่ปะทุขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2015 ได้คร่าชีวิตชาวเยเมนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 6,400 คน และเหยื่อส่วนใหญ่ก็เป็นพลเรือน

“ซาอุดีอาระเบียอยู่ในสถานะได้เปรียบเต็มประตู” โบโลพิออนระบุในงานแถลงข่าว พร้อมชี้ว่าริยาด “เข่นฆ่าผู้คน แต่ก็ยังลอยนวลอยู่ได้ ซึ่งไม่เคยมีชาติใดทำได้เช่นนี้”

เอไอ และฮิวแมนไรต์วอตช์กล่าวหาว่ารัฐบาลซาอุฯ ใช้ความเป็นสมาชิก UNHRC ขัดขวางไม่ให้นานาชาติสอบสวนการก่ออาชญากรรมสงครามในเยเมน และยังกดดันเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี-มูน ให้ถอดซาอุฯ และกลุ่มพันธมิตรอาหรับออกจากบัญชีดำผู้ล่วงละเมิดสิทธิเด็ก โดยขู่ว่าจะถอนการสนับสนุนโครงการบรรเทาทุกข์ต่างๆ ของยูเอ็น

ซาอุดีอาระเบียออกมาปฏิเสธเรื่องการใช้กลยุทธ์กดดันยูเอ็น และยืนยันว่ากลุ่มพันธมิตรอาหรับไม่เคยจงใจพุ่งเป้าสังหารพลเรือนในเยเมน

อาเดล อัล-ญุเบร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศซาอุฯ วิจารณ์ข้อกล่าวหานี้ว่า “น่าเจ็บแค้นใจ”

“ซาอุฯ และพันธมิตรใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการล็อกเป้าหมาย เราไม่มีเจตนาทำร้ายพลเรือน” อัล-ญุเบร์ให้สัมภาษณ์ที่กรุงปารีส

ด้านเอไอชี้ว่า ทางการซาอุฯ มีนโยบายกวาดล้างผู้เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลอย่างโหดเหี้ยม และลงโทษประหารชีวิตในความผิดซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้กำหนดโทษถึงตาย

ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา นักสิทธิมนุษยชนที่มีบทบาทโดดเด่นในซาอุฯ ล้วนถูกจำคุก ข่มขู่ หรือไม่ก็ต้องหนีออกนอกประเทศเกือบหมด ริชาร์ด เบนเน็ตต์ ผู้อำนวยการเอไอประจำยูเอ็น ระบุ

ซาอุดีอาระเบียได้รับเลือกให้เข้าเป็นสมาชิก UNHRC ซึ่งมีสมาชิก 47 ชาติ เมื่อปี 2013 และการระงับสมาชิกภาพของซาอุฯ ก็จะต้องได้เสียงสนับสนุนจากสมัชชาใหญ่ยูเอ็นไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งสองแห่งและนักการทูตยูเอ็นยอมรับว่า “เป็นไปได้ยาก”

ลิเบียเป็นเพียงชาติเดียวที่เคยถูกโหวตระงับสมาชิกภาพ UNHRC เมื่อปี 2011 หลังจากที่รัฐบาล พ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี ใช้มาตรการรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง

เอไอ และฮิวแมนไรต์วอตช์ระบุว่า รัฐบาลซาอุฯ กระทำการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างหน้าตาเฉย เพราะมีสหรัฐฯ และอังกฤษคอยหนุนหลังอยู่

ซาราห์ เลียห์ วิตสัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง วิจารณ์สหรัฐฯ และอังกฤษว่า “ล้ำเส้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเยเมน” ด้วยการจัดส่งอาวุธ และสนับสนุนปฏิบัติการทางอากาศของซาอุดีอาระเบีย

กำลังโหลดความคิดเห็น