เอเจนซีส์ /MGR online – รัฐบาลสหราชอาณาจักรยืนยันกำลังสืบสวนรายงานข่าวแพร่สะพัดที่ระบุ ทางการซาอุดีอาระเบียมีการนำ “ระเบิดพวง” ที่ผลิตในเมืองผู้ดีไปใช้ในสงครามที่เยเมน พร้อมยืนยัน อังกฤษไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับความขัดแย้งในเยเมนเวลานี้
ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (23 พ.ค.) ทางองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ออกรายงานซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า มีหลักฐานซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าทางการซาอุดีอาระเบียมีการนำ “ระเบิดพวง” ที่ผลิตในสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1970 ไปใช้ในสงครามที่เยเมน
ในอดีต เป็นที่เชื่อกันว่ารัฐบาลเมืองผู้ดีได้จำหน่ายระเบิดพวง ให้แก่ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นจำนวนมาก ก่อนหน้าที่อาวุธประเภทนี้จะกลายเป็นยุทโธปกรณ์ต้องห้ามในมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 และ 1990
ในวันอังคาร (24 พ.ค.) ฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน กำลังดำเนินการสืบสวนรายงานข่าวดังกล่าวว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ยืนยันว่า ที่ผ่านมา อังกฤษได้รับการยืนยันจากทางการซาอุดีอาระเบียมาโดยตลอดว่า จะไม่มีการนำอาวุธประเภทนี้ออกมาใช้งานอีก และย้ำว่า การใช้ระเบิดพวงได้กลายเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และขัดต่อหลักกฎหมายของอังกฤษไปแล้ว
รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษยังยืนยันว่า รัฐบาลของตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับความขัดแย้งในเยเมนเวลานี้
ทั้งนี้ ระเบิดพวงคือระเบิดที่บรรจุลูกระเบิดขนาดเล็กเอาไว้ภายในจำนวนมากมีลักษณะ กลไก และรูปแบบการทำงานหลายแบบ ขณะที่วิธีการใช้นั้น ระเบิดชนิดนี้สามารถทิ้งลงได้จากทั้งเครื่องบิน หรือยิงโดยปืนใหญ่จากพื้นดินสู่พื้นที่เป้าหมายและจะระเบิดกลางอากาศเพื่อ ปล่อยลูกระเบิดย่อยให้กระจายเป็นวงกว้าง
อย่างไรก็ดี ระเบิดพวงมีอัตราความคลาดเคลื่อนผิดพลาดจากเป้าหมายและไม่ระเบิดสูง จึงทำให้ลูกระเบิดขนาดเล็กตกค้างบนพื้นดิน ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้ในภายหลัง ประชาคมระหว่างประเทศจึงพิจารณาเห็นว่า ระเบิดพวงเป็นอาวุธที่ส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมสูง
นับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2015 เป็นต้นมา ซาอุดีอาระเบียได้เปิดการโจมตีทางอากาศต่อเยเมนเพื่อสกัดการรุกคืบของกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ที่เป็นพวกมุสลิมนิกายชีอะห์และมีสายสัมพันธ์กับอิหร่าน โดยทางการซาอุฯมีเป้าหมายเพื่อนำอับด์ รับบูห์ มันซูร์ ฮาดี อดีตประธานาธิบดีของเยเมนที่มีจุดยืน “ฝักใฝ่ซาอุฯ” กลับคืนสู่อำนาจ หลังต้องระเห็จออกนอกประเทศ เพราะการรุกคืบของฝ่ายกบฏดังกล่าว