เอเอฟพี - ระเบิดดาวกระจาย (cluster bombs) ที่ยังไม่ทำงานหลังถูกเครื่องบินรบของกลุ่มพันธมิตรซาอุดีอาระเบียนำมาโปรย ส่งผลให้ภาคเหนือของเยเมนกลายสภาพเป็น “เขตทุ่นระเบิด” ซึ่งอาจทำให้พลเรือนล้มตายหรือพิการเสียแขนขา
องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International - AI) แถลงวันนี้ (23 พ.ค.) ว่า ชาวเยเมนที่ถูกฆ่าหรือทำให้พิการด้วยทุ่นระเบิดเหล่านี้มีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติส่งทีมเก็บกู้ระเบิดเข้าไปช่วยเคลียร์พื้นที่ และขอให้กลุ่มพันธมิตรซาอุฯ ยุติการใช้อาวุธชนิดนี้
“ประเทศที่มีอำนาจต่อรองควรกดดันให้ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรหยุดใช้ระเบิดดาวกระจาย ซึ่งเป็นอาวุธที่นานาชาติคว่ำบาตร และสามารถฆ่าคนโดยไม่เลือก”
กองทัพซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรอาหรับได้ส่งเครื่องบินเข้าไปโจมตีฐานที่มั่นของกบฏฮูตีนิกายชีอะห์ และหน่วยทหารที่ยังภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ปี 2015 โดยหวังที่จะคืนอำนาจปกครองอันชอบธรรมให้แก่ประธานาธิบดีอาเบดรับบูห์ มันซูร์ ฮาดี ที่ถูกพวกกบฏยึดเมืองหลวง และตามไล่ล่าจนต้องหนีออกนอกประเทศ
อย่างไรก็ตาม ฝูงบินขับไล่ของกลุ่มพันธมิตรซาอุฯ กลับถูกนักสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมาก และยังนำอาวุธร้ายแรงอย่างระเบิดดาวกระจายมาใช้
เอไอซึ่งมีฐานที่กรุงลอนดอนระบุว่า ครอบครัวชาวเยเมนที่เดินทางกลับไปยังบ้านเรือนของตนทางตอนเหนือของประเทศหลังจากที่มีประกาศหยุดยิงเมื่อเดือน มี.ค. กำลังเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรง หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต
“แม้การสู้รบจะยุติลง แต่ชีวิตของพลเรือนเยเมน รวมถึงเด็กๆ ยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะที่ๆ พวกเขากลับไปก็คือเขตทุ่นระเบิดดีๆ นี่เอง” ลามา ฟากิห์ ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายวิกฤตการณ์ของเอไอ ระบุ
“พวกเขาไม่อาจมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย จนกว่าระเบิดดาวกระจายและระเบิดชนิดอื่นๆ ที่ตกค้างอยู่ในดินรอบๆ บ้านและไร่นาของพวกเขาจะถูกเก็บกู้”
เจ้าหน้าที่เอไอซึ่งเข้าไปปฏิบัติภารกิจในภาคเหนือของเยเมน พบหลักฐานบ่งชี้ว่าพันธมิตรซาอุฯ ใช้ระเบิดดาวกระจายที่ผลิตในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และบราซิล ทั้งยังรายงานเข้ามาด้วยว่า มีพลเรือนถูกสังหารหรือบาดเจ็บจากระเบิดดาวกระจายรวมทั้งสิ้น 16 คน ระหว่างช่วงเดือน ก.ค.ปี 2015 จนถึงเดือน เม.ย.ปีนี้
ชาวเยเมนร้อยละ 82 กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน เนื่องจากผลของสงครามที่คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 6,400 คน และทำให้มีผู้พลัดถิ่นฐานอีกราว 2.8 ล้านคน