xs
xsm
sm
md
lg

รัฐรีโอเดจาเนโรประกาศ “ภัยพิบัติสาธารณะ” หลังเผชิญวิกฤตถังแตก ก่อนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - รัฐรีโอเดจาเนโรของบราซิลซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2016 ในเดือนสิงหาคม ประกาศ “ภัยพิบัติสาธารณะ” (state of public calamity) เมื่อวันศุกร์ (17 มิ.ย.) หลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนงบประมาณอย่างรุนแรง

การออกกฤษฎีกาประกาศภัยพิบัติสาธารณะจะเปิดทางให้ผู้บริหารของรัฐสามารถ “ใช้ทุกมาตรการที่จำเป็น เพื่อบริหารจัดการบริการสาธารณะ ให้สามารถรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิก ที่จะมีขึ้น”

“หากสถาบันต่างๆ ไม่มีเสถียรภาพ ก็จะบั่นทอนภาพลักษณ์ของประเทศ” คำประกาศซึ่งผ่านการลงนามรับรองจาก ฟรานซิสโก ดอร์เนลเลส ผู้ว่าการรัฐรีโอเดจาเนโร ระบุ

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนระหว่างวันที่ 5-21 ส.ค. และพาราลิมปิกเกมส์ในวันที่ 7-18 ก.ย. ถือเป็นครั้งแรกที่จะจัดขึ้นในภูมิภาคอเมริกาใต้

เนื้อหาในกฤษฎีกา ระบุว่า ภารกิจในการเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับโลกทั้ง 2 งานทำให้รัฐรีโอเดจาเนโร "ต้องประสบปัญหาด้านการให้บริการสาธารณะ จนอาจถึงขั้นเกิดการล่มสลายของมาตรการรักษาความปลอดภัย ระบบสาธารณสุข การศึกษา การคมนาคมขนส่ง และการบริหารจัดการสภาพแวดล้อม”

ราคาน้ำมันที่ตกต่ำส่งผลให้สถานะทางการคลังของรัฐรีโอเดจาเนโรย่ำแย่ลง ขณะที่เศรษฐกิจของแดนแซมบ้าโดยรวมก็เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง

ตำรวจ ครู และพนักงานของรัฐในรีโอเดจาเนโรต่างได้รับเงินเดือนล่าช้าเนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ ส่วนผู้สูงอายุวัยเกษียณก็เริ่มออกมาประท้วงที่ไม่ได้เงินบำนาญ

เศรษฐกิจบราซิลหดตัวถึง 3.8% ในปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นภาวะตกต่ำร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และนักวิเคราะห์ตลาดออกมาเตือนว่า สถานการณ์จะย่ำแย่พอกันในปีนี้

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International - AI) ออกมาแสดงความกังวลเรื่องบริการสาธารณะที่ถูกตัดทอนลงก่อนการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ซึ่งอาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยความมั่นคงที่ต้องคอยปราบปรามแก๊งมิจฉาชีพตามชุมชนแออัด

ปีนี้รัฐรีโอเดจาเนโรประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณที่จำเป็นถึง 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าสัมปทานน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลักก็คาดว่าจะลดลงจาก 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2014 เหลือแค่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

ดอร์เนลเลส ผู้ว่าการรัฐรีโอเดจาเนโร ชี้ว่า วิกฤตการณ์การคลังคราวนี้เป็นเรื่องที่ “น่าสลดใจ” และเรียกร้องให้รัฐบาลกลางมีมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงพิจารณาขายทรัพย์สินของรัฐบางส่วนเพื่อนำเงินสดมาหมุน

กำลังโหลดความคิดเห็น