xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯคาเมรอนประกาศ “ลาออก” หลังประชามติให้ “เบร็กซิต” หวั่น “สกอตแลนด์” จะขอเป็นเอกราช หลายรัฐยุโรปก็จะตีจากอียูบ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ประกาศจะลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังผลการลงประชามติออกมาว่า ฝ่าย “เบร็กซิต” เป็นผู้ชนะ  เขาแถลงเรื่องนี้ที่ด้านนอกทำเนียบเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ในกรุงลอนดอน เมื่อวันศุกร์ (24 มิ.ย.) โดยมี ซาแทนธา ภรรยาของเขายืนอยู่ข้างๆ </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - สหราชอาณาจักรออกเสียงลงประชามติ แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ผลการนับคะแนนระบุในวันนี้ (24 มิ.ย.) นับเป็นการหวดกระหน่ำอย่างรุนแรงใส่อียู อีกทั้งกำลังแพร่กระจายความตื่นตระหนกไปยังตลาดการเงินต่าง ๆ ทั่วโลก โดยที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงลดค่าวูบลงมาสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 31 ปี ขณะที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ประกาศจะขอลาออกจากตำแหน่ง

บรรดานักลงทุนพากันวิ่งวุ่นอลหม่านเทขายเงินปอนด์, น้ำมัน และหุ้น ขณะที่สหราชอาณาจักรเดินซวนเซเข้าสู่ดินแดนซึ่งไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อน เมื่อกลายเป็นชาติแรกที่ลาออกจากในประวัติศาสตร์ 60 ปีของอียู

ภายหลังเขตรวมคะแนนทั้ง 382 เขต ประกาศผลการนับคะแนนในเขตของพวกตนครบถ้วน ปรากฏว่า ผู้ออกเสียงที่เลือก “แยกตัว” ชนะผู้ที่ต้องการ “คงอยู่” ในอียู 51.9% ต่อ 48.1% โดยผู้โหวตให้ออกจากอียูมี 17.4 ล้านคน ส่วนผู้ลงคะแนนให้เป็นสมาชิกต่อไปมี 16.1 ล้านคน

ทางด้านนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ผู้นำการต่อสู้ที่พ่ายแพ้ในการชักชวนเกลี้ยกล่อมผู้ออกเสียงชาวสหราชอาณาจักรให้ยึดมั่นอยู่กับอียูต่อไป เผชิญกับแรงบีบคั้นให้เขาลาออกจากตำแหน่งในทันที

อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา คาเมรอน ก็ออกมาแถลงข่าวที่ด้านนอกทำเนียบอย่างเป็นทางการของเขาบนถนนดาวนิงสตรีท ในลอนดอน ว่า เขาจะลาออก

คาเมรอนให้สัญญาว่า จะพยายาม “ประคับประคองเรือให้นิ่ง” ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ก็ระบุว่าควรจะมีการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ก่อนต้นเดือนตุลาคมนี้

“ผมไม่คิดว่าจะเป็นการถูกต้องสำหรับผมที่จะพยายามเป็นกัปตันซึ่งนำพาประเทศชาติของเราไปยังจุดหมายปลายทางข้างหน้า” คาเมรอน กล่าว

เขาบอกว่า ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขาควรที่จะเป็นผู้กดปุ่มเริ่มกระบวนการอย่างเป็นทางการสำหรับการที่สหราชอาณาจักรจะถอนตัวจากสหภาพยุโรป

“ผมคิดว่าเป็นการถูกต้องที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องที่ว่าเมื่อใดจะกดปุ่มมาตรา 50 (กระบวนการถอนตัวจากอียู)”

“ผมใคร่จะขอย้ำยืนยันอีกครั้งต่อชาวสหราชอาณาจักรซึ่งกำลังพำนักอาศัยอยู่ในประเทศยุโรปต่าง ๆ และพลเรือนยุโรปซึ่งกำลังพำนักอาศัยอยู่ที่นี่ว่า ยังจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในทันทีในสภาวการณ์ของพวกท่าน” เขากล่าว

คาเมรอนแถลงข่าวคราวนี้ โดยที่มี ซาแมนธา ภรรยาของเขาอยู่เคียงข้าง เขาบอกว่า เขาได้ต่อสู้เพื่อรักษาให้สหราชอาณาจักรยังคงเป็นสมาชิกของอียูต่อไป โดยทุ่มเททั้ง “หัวสมอง, หัวใจ และจิตวิญญาณ - ผมไม่ได้เก็บรั้งอะไรไว้เลย”

เขากล่าวต่อไปว่า แต่เมื่อ “ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรได้กระทำการตัดสินใจอย่างชัดเจนมาก ๆ ด้วยการเลือกเดินทางในเส้นทางที่แตกต่างออกไป ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงคิดว่าประเทศชาติต้องการคณะผู้นำที่สดใหม่เพื่อนำพาสหราชอาณาจักรไปในทิศทางนี้”
<i>บอริส จอห์นสัน ผู้นำการรณรงค์ให้อังกฤษถอนตัวออกจากอียู เดินออกมาจากบ้านพักของเขาในกรุงลอนดอนเมื่อวันศุกร์ (24 มิ.ย.) ภายหลังผลการนับคะแนนแสดงให้เห็นว่าฝ่ายของเขาเป็นผู้ชนะในการลงประชามติ  จอห์นสันซึ่งสังกัดพรรคคอนเซอร์เวทีฟเช่นเดียวกับนายกฯคาเมรอน เป็นตัวเก็งว่าจะขึ้นเป็นนายกฯคนต่อไป </i>
พวกบ่อนพนันถูกกฎหมายในสหราชอาณาจักรต่างให้แต้มต่อรอง ซึ่งชี้ว่า ตัวเต็งที่จะเข้าดำรงตำแหน่งแทนคาเมรอน ได้แก่ อดีตนายกเทศมนตรี บอริส จอห์นสัน คู่ปรับคนสำคัญที่สุดภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเขา และเป็นเสมือนหัวหน้าของฝ่าย “แยกตัว” คราวนี้

ขณะที่เขตรวมคะแนนต่าง ๆ ทยอยประกาศผลการนับลงคะแนนลงประชามติ โดยในช่วงท้าย ๆ ฝ่ายที่ต้องการให้แยกตัวมีเสียงดีขึ้นเรื่อย ๆ ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคยูเค อินดิเพนเดนซ์ ปาร์ตี กล่าวอย่างปลาบปลื้มว่า “ขอให้วันที่ 23 มิถุนายน ได้รับการจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ของเราว่าเป็นวันประกาศเอกราชของเราเถิด” ฟาราจ เป็นหนึ่งในผู้นำนักรณรงค์ต่อต้านอียู ซึ่งให้สัญญาแก่ชาวสหราชอาณาจักร ว่า นี่เป็นโอกาสที่จะยึดอำนาจคืนมาจากบรัสเซลส์ (สำนักงานใหญ่ของอียูตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์, เบลเยียม) และจำกัดควบคุมผู้อพยพที่เข้าประเทศมาอย่างมากมาย

“ถ้าการทำนายผลเท่าที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้ถูกต้องแล้ว นี่ก็จะเป็นชัยชนะสำหรับประชาชนอย่างแท้จริง เป็นชัยชนะสำหรับประชาชนคนสามัญ เป็นชัยชนะสำหรับประชาชนผู้มีเกียรติน่ายกย่องนับถือ” เขากล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนของเขาในย่านเวสต์มินสเตอร์ ของลอนดอน

ขณะที่ฝูงชนซึ่งอยู่ในอาการลิงโลด ตะโกนตอบรับเขาว่า “ออก! ออก! ออก!” ออกจากสหภาพยุโรป

ทางด้านจุดรวมพลของฝ่าย “อยู่ต่อ” ใน รอยัล เฟสติวัล ฮอลล์ ของลอนดอน กลุ่มผู้สนับสนุนที่มีท่าทีเซื่องซึม ถูกดึงดูดติดแน่นอยู่กับจอทีวีที่กำลังรายงานผลการลงประชามติ ในมือหลายต่อหลายคนกำกระป๋องเบียร์เอาไว้แน่น ขณะที่บางคนเอามือปิดปาก

ข่าวเรื่องสหราชอาณาจักรจะถอนตัวจากอียูส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินอย่างรุนแรงในทันที เงินปอนด์อังกฤษดำดิ่งลงกว่า 9% สู่ระดับ 1 ปอนด์แลกได้ 1.33 ดอลลาร์ ถือเป็นมูลค่าต่ำที่สุดในรอบ 31 ปี ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ไหลรูดลงกว่า 6% ดัชนีสำคัญของตลาดหุ้นโตเกียวหล่นแรง

ไม่ใช่ทั่วทั้งสหราชอาณาจักรต้องการแยกตัว

จากคะแนนประชามติที่ออกมาคราวนี้ ไม่ใช่ว่าทั่วทั้งสหราชอาณาจักรเลยที่ประชาชนต้องการให้ถอนตัวจากยุโรป อันที่จริงแล้ว ลอนดอน, สกอตแลนด์ และ ไอร์แลนด์เหนือ เสียงเกินครึ่งโหวตให้อยู่ต่อไป ทว่า เวลส์ และหลายบริเวณของเขตการปกครองอังกฤษ (อิงแลนด์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกอดีตศูนย์อุตสาหกรรมทางตอนเหนือของอังกฤษ ซึ่งมีคนงานที่ได้รับผลกระทบหนักจากการไหลหลั่งเข้ามาของผู้อพยพ เป็นพวกซึ่งหนุนหลัง “เบร็กซิต”

ทั้งนี้ เขตการปกครองอังกฤษ สนับสนุนให้ “ถอนตัว” 53.4% ขณะที่พวกหนุนให้อยู่ต่อได้ 46.6%

ทางเขตการปกครองสกอตแลนด์ ผู้ที่อยากให้อยู่ต่อมี 62% ส่วนพวกต้องการให้แยกตัวมี 38%

เขตการปกครองเวลส์ พวกที่โหวต “เบร็กซิต” มีชัย ได้ไป 52.5% ต่อ 47.5% ถึงแม้เมืองคาร์ดิฟฟ์ เมืองหลวงของเวลส์ ฝ่ายหนุน “อยู่ต่อ” ได้เสียงถึง 60% ก็ตามที

ส่วนเขตการปกครองไอร์แลนด์เหนือ ผู้โหวต “อยู่ต่อ” ได้ 55.8% ขณะพวกต้องการให้ถอนตัวมี 44.2%

อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมเสียงทั่วทั้งหมดแล้ว ฝ่ายหนุน “เบร็กซิต” ชนะไป 51.9 % ต่อ 48.1%
<i>ไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคยูเค อินดิเพนเดนซ์ ปาร์ตี้ ซึ่งเป็นผู้นำคนหนึ่งของฝ่าย “เบร็กซิต” แถลงข่าวในวันศุกร์ (24 มิ.ย.) ขณะผลการนับคะแนนแสดงว่าฝ่ายของเขาจะเป็นฝ่ายมีชัย </i>
กระแส “ไม่เอาอียู” โหมแรง

ชาวสหราชอาณาจักรดูเหมือนไม่แยแสกับคำเตือนอันน่าหวาดหวั่นที่ว่า การออกจากกลุ่มพันธมิตรยุโรป 28 ชาติเช่นนี้ จะทำให้เกิดรูโหว่เบ้อเริ่มทางด้านงบประมาณ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องอุดด้วยการตัดลดรายจ่ายและเพิ่มการจัดเก็บภาษี ในทันทีที่พวกเขาสูญเสียช่องทางการทำการค้าอย่างเสรีไร้ข้อผูกมัดกับอียู

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการตัดสินใจของพวกเขายังจะเป็นการปลุกความหวาดกลัวที่ว่า จะเกิดกระแสเรียกร้องให้จัดการลงประชามติในรัฐอียูรายอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกชาติสมาชิก ซึ่งกลุ่มข้องใจการรวมอยู่ในสหภาพยุโรป กำลังมีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นย่อมเป็นอันตรายต่อความเป็นหนึ่งเดียวของอียู ในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์หนักหนาสาหัสถึง 2 อย่างพร้อม ๆ กันอยู่แล้ว อันได้แก่ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และวิกฤตการณ์ผู้อพยพลี้ภัย

“ยักษ์จินี่แห่งความข้องใจไม่เอาอียู ได้หลุดออกมาจากขวดที่ขังมันไว้แล้ว และตอนนี้มันจะไม่ยอมถูกนำลงไปในขวดอีก” ฟาราจ ประกาศ

ขณะที่ ส.ส.ขวาจัดของเนเธอร์แลนด์ กีร์ต วิลเดอร์ส และ มารีน เลอ เปน หัวหน้าพรรคเนชั่นแนลฟรอนต์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพรรคแนวทางขวาจัด ได้ออกมาเรียกร้องในทันที ให้ประเทศของพวกตนจัดการลงประชามติว่าจะยังเป็นสมาชิกอียูต่อไปหรือไม่

ก้าวเดินไปเดียวดาย

ผลการลงประชามติคราวนี้หมายความว่า ต่อไปนี้ประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก จะต้องก้าวเดินไปคนเดียวแล้วภายในแวดวงเศรษฐกิจโลก โดยจะต้องเริ่มต้นเปิดการเจรจาถอนตัวออกจากอียู ซึ่งคาดหมายกันว่าจะดำเนินไปอย่างยืดเยื้อใช้เวลายาวนาน อีกทั้งจะต้องหาทางทำข้อตกลงฉบับใหม่ ๆ กับทุก ๆ ประเทศซึ่งสหราชอาณาจักรในเวลานี้ติดต่อค้าขายด้วยภายใต้ร่มธงของอียู

ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) องค์กรบริหารของอียู กล่าวเตือนเอาไว้ก่อนหน้านี้ ว่า อียูจะ “ไม่โอนอ่อนยอมก้าวถอยหลัง” เพื่อช่วยเหลือสหราชอาณาจักรในการเจรจาเหล่านี้ ขณะที่พวกนักวิเคราะห์บางคนมองว่าสหราชอาณาจักรอาจจะต้องใช้เวลาถึงสิบปีทีเดียวกว่าจะสามารถจัดทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ ๆ กับทั่วโลกเสร็จสิ้น

ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ได้เตือนโดยฉายภาพสมมติสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการถอนตัวออกจากอียู โดยในกรณีที่เลวร้ายที่สุดนั้น ไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรอาจจมดิ่งลงสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า และเมื่อไปถึงปี 2019 จีดีพีโดยรวมของสหราชอาณาจักรจะต่ำลงมา 5.6% จากระดับซึ่งเคยทำนายกันไว้ในกรณีที่ยังเข้าร่วมอียู ขณะที่อัตราการว่างงานจะตีกลับขึ้นไปเหนือระดับ 6%

ฐานะความเป็นศูนย์กลางทางการเงินของ “เดอะซิตี้” หรือศูนย์การเงินในกรุงลอนดอน ก็จะถูกคุกคาม โดยที่พวกบริษัทระดับท็อปเตือนไว้แล้วว่า อาจจะโอนย้ายตำแหน่งงานหลายพันหลายหมื่นตำแหน่งในลอนดอน ไปยังศูนย์กลางการเงินแห่งอื่นในยุโรป อย่างเช่น แฟรงก์เฟิร์ต หรือ ปารีส

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่าย “เบร็กซิต” หรือพวกที่เชียร์ให้ออกจากอียูนั้น โต้แย้งว่า โลกธุรกิจจะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรซึ่งออกมาจากสหภาพยุโรป จะกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นสูงและมีพลวัตสูง และได้รับการหนุนส่งจากหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจหน้าใหม่ ๆ ตลอดจนจากแรงงานอพยพที่ผ่านการคัดสรรเอาเฉพาะที่มีคุณภาพตามต้องการ

ในส่วนความปั่นป่วนผันผวนเฉพาะหน้า รัฐมนตรีคลัง ทาโร อาโสะ ของญี่ปุ่น ซึ่งเรียกประชุมแถลงข่าวฉุกเฉินในวันนี้ ภายหลังประชามติ “เบร็กซิต” ส่งผลให้ตลาดหุ้นโตเกียวดำดิ่ง ขณะที่เงินเยนซึ่งนักลงทุนมองว่าเป็นแหล่งหลบภัยชั้นดีในยามผันผวน กลับมีค่าแข็งโป้ก ได้ยืนยันว่า ถึงแม้ญี่ปุ่นมี “ความวิตกกังวลอย่างยิ่งยวด” เกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและตลาดต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ก็เตรียมตัวพรักพร้อมที่จะตอบรับ “อย่างมั่นคง”

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์หาเสียงที่เป็นไปด้วยความดุเดือดเร้าอารมณ์ ก่อนจะมีการโหวตลงประชามติ ได้ทำให้สหราชอาณาจักรแตกออกเป็น 2 เสี่ยง โดยเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากกรณี โจ ค็อกซ์ คุณแม่ลูกสองที่เป็น ส.ส. ฝ่ายสนับสนุนให้ “อยู่ต่อ” ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม 1 สัปดาห์ก่อนหน้าวันออกเสียง
<i>ธงยูเนียนแจ๊ก ธงชาติของสหราชอาณาจักร โบกสะบัดอยู่ข้างๆ ธงของสหภาพยุโรป ในย่านเวสต์มินสเตอร์, ลอนดอน เมื่อวันศุกร์ (24 มิ.ย.) </i>
สกอตแลนด์อาจแยกตัว-ไอแลนด์เหนือก็มีปัญหา

ผลลงประชามติคราวนี้ ยังกำลังคุกคามความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวของสหราชอาณาจักรด้วย

เมื่อ 2 ปีที่แล้วภายหลังสกอตแลนด์ออกเสียงในการลงประชามติว่าจะคงอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป นิโคลา สเตอร์เจียน รัฐมนตรีคนที่หนึ่งของสกอตแลนด์ และก็เป็นผู้นำทางการเมืองของเขตการปกครองแห่งนี้ แถลงว่า การลงประชามติเรื่องแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ครั้งใหม่จะยังคงเกิดขึ้นได้ ถ้าหากสหราชอาณาจักรโหวตขัดแย้งกับสิ่งที่เสียงส่วนข้างมากของชาวสกอตต์ต้องการ

ภายหลังการลงประชามติคราวนี้ สเตอร์เจียน กล่าวย้ำกับโทรทัศน์สกายนิวส์ ว่า “สกอตแลนด์มองเห็นว่าอนาคตของตนเองนั้นต้องเป็นส่วนหนึ่งของอียู”

ทางด้านไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นดินแดนตอนเหนือของเกาะไอร์แลนด์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร เวลานี้กำลังเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะถูกตั้งด่านจัดเก็บภาษีศุลกากรจากสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกของอียู พรรคซินน์เฟน ที่เคยนำการต่อสู้ด้วยอาวุธในไอร์แลนด์เหนือมาหลายสิบปี เพื่อให้ไอร์แลนด์เหนือไปรวมประเทศกับไอร์แลนด์ ได้ออกมาเรียกร้องให้จัดการโหวตเกี่ยวกับการรวมไอร์แลนด์ ภายหลังทราบผลการลงคะแนนแยกตัวจากอียู

บรรดาผู้นำของสหภาพยุโรป มีกำหนดจัดการประชุมซัมมิตเป็นเวลา 2 วันเริ่มตั้งแต่วันอังคาร (28) เพื่อรับมือกับสิ่งที่ติดตามมาภายหลงการตัดสินใจของชาวสหราชอาณาจักร

หวั่นอียูจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ

รัฐมนตรีต่างประเทศ แฟรง-วอลเตอร์ สไตน์เมเออร์ ของเยอรมนี กล่าวเตือนเมื่อต้นเดือนนี้ว่า หากสหราชอาณาจักรตัดสินใจผละจากไป ก็จะเกิดการช็อก ซึ่งจำเป็นต้องมีปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้สหภาพยุโรปแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ

เขาเขียนลงในทวิตเตอร์วันนี้ (24) ว่า “ดูเหมือนจะเป็นวันเศร้าสำหรับ#ยุโรป+สหราชอาณาจักร”

ขณะที่ คาร์สเตน นิกเคิลส์ แห่งกลุ่มนักวิเคราะห์ “ทีนีโอ” ในบรัสเซลส์ แสดงทัศนะว่า พวกประเทศเล็ก ๆ ลงมาที่มีเศรษฐกิจดี อย่างน้อยที่สุดก็มั่งคั่งใกล้เคียงกับสหราชอาณาจักร คือกลุ่มซึ่งมีความเสี่ยงมากที่สุดว่าจะแตกออกไปอีก “โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดนมาร์ก และสวีเดน ก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน”

กำลังโหลดความคิดเห็น