xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลบังกลาเทศประกาศให้ “ฟ้าผ่า” เป็นภัยพิบัติ หลังคร่าชาวบ้าน 93 ศพใน 2 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - รัฐบาลบังกลาเทศในวันพุธ (22 มิ.ย.) ประกาศให้เหตุฟ้าผ่าเป็นหนึ่งในภัยพิบัติของประเทศ หลังพบผู้เสียชีวิตจากปรากฏการณ์นี้ที่เชื่อว่าน่าจะสัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้

เจ้าหน้าที่เผยว่า แค่ในช่วง 2 วันที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่าถึง 93 คน ส่งผลให้ในปีนี้เหตุฟ้าผ่าได้คร่าชีวิตผู้คนในบังกลาเทศไปแล้ว 261 ศพ ทุบสถิติสูงสุดตลอดกาลของประเทศซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วด้วยจำนวน 265 ศพ โดยเหตุการตายจากการถูกฟ้าผ่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม

ปัญหานี้กระตุ้นให้รัฐบาลบังกลาเทศบรรจุเหตุฟ้าผ่าลงในบัญชีรูปแบบภัยพิบัติอย่างเป็นทางการของประเทศ ซึ่งในนั้นมีทั้งน้ำท่วม ไซโคลน คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surges) แผ่นดินไหว ภัยแล้ง และแม่น้ำเซาะตลิ่ง เช่นเดียวกับอื่นๆ

การบรรจุเหตุฟ้าผ่าลงในบัญชีภัยพิบัติทำให้ตอนนี้รัฐบาลสามารถจ่ายเงินชดเชยแก่เหยื่อฟ้าผ่าหรือครอบครัวของพวกเขาในจำนวนระหว่าง 95-310 ดอลลาร์สหรัฐ

อาติก ราห์มาน ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์วิทยาการขั้นสูงของบังกลาเทศ บอกกับรอยเตอร์ว่า ไม่อยากกล่าวโทษเหตุเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นว่าสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยตรง

อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิทยาศาสตร์เตือนว่าสภาพอากาศที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนกำลังทำให้น้ำระเหยไปจากแผ่นดินและมหาสมุทรมากขึ้น มีกลุ่มเมฆและฝนตกมากขึ้น และมีโอกาสเกิดพายุฝนฟ้าคะนองมากขึ้นด้วย

ก่อนหน้านี้ ในช่วง 3 วัน ระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคมถึง 14 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตจากเหตุฟ้าผ่าในบังกลาเทศ 67 ราย ส่งผลให้ตลอดทั้งเดือนพฤษภาคมมีผู้เสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า 132 ราย

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาของบังกลาเทศระบุว่า เมื่อนับรวมตัวเลขข้างต้น ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่าในบังกลาเทศนับตั้งแต่ปี 2010 อยู่ที่ 1,476 ราย

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเบอร์เกเลย์คาดหมายว่า อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นในทุกๆ 1 องศาเซลเซียสจะทำให้เกิดฟ้าผ่าเพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ พร้อมคาดหมายว่าในช่วงปลายศตวรรษนี้จะมีเหตุฟ้าผ่าเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์

กรมอุตุนิยมวิทยาของบังกลาเทศระบุว่าในอดีตจนถึงปี 1981 มีฟ้าผ่าในประเทศเฉลี่ยแล้วแค่ 9 ครั้งต่อวันในเดือนพฤษภาคม แต่ปัจจุบันในเดือนพฤษภาคมของแต่ละปีพบว่ามีฟ้าผ่าเฉลี่ย 12 ครั้งต่อวัน

เหล่าผู้เชี่ยวชาญในบังกลาเทศและนานาชาติบอกว่าการเพิ่มขึ้นของเหยื่อถูกฟ้าผ่าอาจสัมพันธ์กับการเติบโตทางประชากรของประเทศและการตัดไม้ทำลายป่าเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างหลังที่ทำให้ต้นไม้สูงที่ดึงดูดสายฟ้านั้นหายไป

ปัจจุบันเหยื่อมักเป็นเกษตรกรที่ใช้อุปกรณ์ทำไร่ทำนาที่ทำจากเหล็กในทุ่งโล่งแจ้ง หรือไม่ก็เป็นผู้คนที่ติดอยู่ใกล้ๆ เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือหรือเสาไฟฟ้า

ทั้งนี้ บางส่วนเชื่อว่าการใช้โทรศัพท์มือถืออาจทำให้ตกเป็นเหยื่อของฟ้าผ่า แต่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ไม่เชื่อว่ามันมีความเกี่ยวข้องกัน ขณะที่ผู้คนที่เข้าไปหลบใต้ต้นไม้ท่ามกลางพายุฝนฟ้าคะนองก็เป็นเหยื่อของเหตุฟ้าผ่าเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น