xs
xsm
sm
md
lg

5 เรื่อง "โลกร้อน" ไม่ควรลืม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะที่ผู้แทนยูเอ็นกำลังรวมตัวกันที่เมืองบอนน์ เยอรมนี เพื่อถกเรื่อง “ความตกลงปารีส” ก่อนนำตราสารกฎหมายเพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาภูมิอากาศนี้ไปสู่การปฏิบัติจริง เอเอฟพีรวบรวม 5 ข้อเท็จเกี่ยวกับ “โลกร้อน” ที่ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาภูมิอากาศ

“1.1 องศาเซลเซียส”

เมื่อปี 2016 อุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวของโลกแตะสถิติร้อนที่สุดต่อเนื่องเป็นลำดับที่ 3 นับแต่เริ่มมีการบันทึกเมื่อปี 1880 โดยอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อปีที่่ผ่านมา สูงกว่าอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.1 องศาเซลเซียส และสูงกว่าปี 2015 ประมาณ 0.06 องศาเซลเซียส โดยเอเอฟพีอ้างข้อมูลนี้จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO)

นับแต่เริ่มบันทึกข้อมูลศตวรรษที่ 21 มีปีที่ร้อนที่สุดให้เห็นถึง 16 ปีจากทั้งหมด 17 ปี และทะเลน้ำแข็งหน้าร้อนของอาร์กติกเมื่อปี 2016 หดลงเหลือเพียง 4.14 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ลดต่ำเป็นอันดับ 2 รองจากเมื่อปี 2012 ที่พื้นที่ทะเลน้ำแข็งในหน้าร้อนของอาร์กติกลดเหลือเพียง 3.39 ล้านตารางกิโลเมตร และคาดว่าในทศวรรษที่ 20230 หน้าร้อนของมหาสมุทรอาร์กติกจะปลอดจากน้ำแข็ง

“400 ส่วนต่อล้านส่วน”

เมื่อปี 2016 ในชั้นบรรยากาศมีก๊าซเรือนกระจกตัวการสำคัญ 3 ตัว คือ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ทำสถติใหม่เข้มข้นสูงสุด อีกทั้งเมื่อปี 2015 มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มในชั้นบรรยากาศเฉลี่ย 400 ส่วนต่อล้าน (ppm) ส่วนเป็นครั้งแรก

ทั้งนี นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศส่วนใหญ่เชื่อว่า ก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศต้องไม่เกินปริมาณเทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 450 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งเป็นระดับที่เรายังพอจะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งขีดจำกัดนี้ระบุไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015

แม้ว่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาพลญพลังงานฟอสซิลในปี 2016 จะคงที่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยที่เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโต แต่การคงเป้าหมายไม่ให้อุหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสนั้น จำเป็นต้องลดการปล่อยลง ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ก็เตือนถึงความเสี่ยงที่คาดไม่ถึงจากก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

“70 มิลลิเมตร”

จากรายงานล่าสุดระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากน้ำแข็งละลายและน้ำอุ่นขยายบริเวณอย่างต่อเนื่องและเกิดขึ้นด้วยอัตราเร่ง ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเมื่อปี 2015 สูงขึ้นมากกว่าระดับเฉลี่ยเมื่อปี 1993 ประมาณ 70 มิลลิเมตร หรือ 2.75 นิ้ว ซึ่งเป็นระดับที่เพิ่มเร็วกว่าทศวรรษก่อนถึง 30%

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มมากขึ้นนี้คุกคามครัวเรือนและการดำรงชีวิตของคนหลายสิบล้านชีวิตที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ต่ำทั่วโลก และองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration) ระบุไว้เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้น 0.3-2.5 เมตรภายในปี 2100

“ผลกระทบรุนแรง”

อ้างตามข้อมูลองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก มีความเป็นไปได้ที่เห็นได้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์นั้นเชื่อมโยงกับผลกระทบรุนแรงในหลายกรณี รวมถึงการเกิด “คลื่นความร้อน”

นักวิจัยบางส่วนยังเผยด้วยว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับชั้นบรรยากาศ ทั้งภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม และคลื่นพายุซัดฝั่งรุนแรง (storm surges) นั้นเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นับแต่ปี 1990 นอกจากนี้พายุไต้ฝุ่นรุนแรงที่ถล่มจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่นและคาบสมุทรเกาหลีนับจากปี 1980 นั้น เพิ่มขึ้น 12-15%

ธนาคารโลกยังเผยด้วยว่าภัยธรรมชาติผลักให้คนอีกราว 26 ล้านคน ต้องเผชิญความยากคนทุกปี และเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียรายได้อีกปีละ 520 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“1,688 สปีชีส์ได้รับผลกระทบ”

บัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature: IUCN) ระบุว่า สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ 8,688 สปีชีส์กำลังถูกคุกคาม แลในจำนวนนั้น 19% หรือ 1,688 สปีชีส์ได้รับผลกระทบด้านลบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

นอกจากนี้แนวปะการังที่เกรทแบริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ยังฟอกขาวเนื่องจากน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สอง และนักวิทยาศาสตร์ยังเตือนอีกว่าบางส่วนของแนวปะการังจะไม่มีทางฟื้นคืนได้อีก









กำลังโหลดความคิดเห็น