เอเอฟพี/มาร์เก็ตวอชต์ - ราคาน้ำมันปรับลดเล็กน้อยในวันอังคาร (21 มิ.ย.) จับตาสต๊อกเชื้อเพลิงสหรัฐฯ และศึกประชามติชาวอังกฤษตัดสินชะตาสถานภาพสมาชิกอียูของประเทศ ปัจจัยนี้ฉุดทองคำร่วงหนักเกือบ 20 ดอลลาร์ ส่วนวอลล์สตรีทได้แรงหนุนจากกลุ่มพลังงานและเทคโนโลยีช่วยดันปิดในแดนบวก
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคมลดลง 52 เซ็นต์ ปิดที่ 48.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนสิงหาคมลดลง 3 เซ็นต์ ปิดที่ 50.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นักลงทุนจับตาอย่างระมัดระวัง ก่อนหน้าที่กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ มีกำหนดเผยแพร่ข้อมูลคลังปิโตรเลียมสำรองรายสัปดาห์ในวันพุธ (22 มิ.ย.) ท่ามกลางความคาดหมายว่ามันน่าจะลดลงราวๆ 1.5 ล้านบาร์เรล
ตลาดอยู่ในภาวะกระสับกระส่าย 2 วันก่อนหน้าการลงประชามติอยู่หรือไปจากสหภาพยุโรปของอังกฤษในวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย.) ขณะที่ผลโพลล่าสุดพบว่าคะแนนนิยมของฝ่ายสนับสนุนให้อยู่ในอียูต่อไปกับฝ่ายต้องการแยกตัวสูสีอย่างมาก
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันอังคาร (21 มิ.ย.) ขยับขึ้นเล็กน้อย จากแรงหนุนของกลุ่มพลังงานและเทคโนโลยี ขณะที่นักลงทุนจับตาศึกลงประชามติอยู่หรือออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษในวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย.)
ดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 24.86 จุด (0.14 เปอร์เซ็นต์) ปิด 17,829.73 จุด เอสแอนด์พีเพิ่มขึ้น 5.65 จุด (0.27 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,088.90 จุด แนสแดคเพิ่มขึ้น 6.55 จุด (0.14 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,843.76 จุด
หุ้นที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ในนั้นรวมถึง อนาดาร์โค, อาปาเช และฮัลลิเบอร์ตัน ต่างปิดบวกมากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ แม้ราคาน้ำมันปรับลดก็ตาม ขณะที่เหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างขยับขึ้นแข็งแกร่ง เช่น แอปเปิล ปิดบวก 0.9 เปอร์เซ็นต์ และไมโครซอฟท์ ปิดบวก 2.2 เปอร์เซ็นต์
นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้มุมมองอย่างระมัดระวังระหว่างให้ปากคำกับสภาคองเกรส โดยชี้ว่ามีความไม่แน่นอนอย่างมากในเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งจากศึกลงประชามติในอังกฤษ ที่ได้รับคาดหมายว่าผลจะออกมาคู่คี่สูสีอย่างที่สุด
อย่างไรก็ตาม ด้วยมีแรงคาดหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าชาวอังกฤษน่าจะลงมติอยู่ในอียูต่อไปช่วยคลายความกังวลแก่นักลงทุนบางส่วน ทำให้ไม่จำเป็นต้องถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอีกต่อไป และปัจจัยนี้เองฉุดให้ทองคำในวันอังคาร (21 มิ.ย.) ดิ่งลงเกือบ 20 ดอลลาร์ โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ลดลง 19.60 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,272.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน