เอเอฟพี - วิกฤตปะการังฟอกขาวบริเวณพืดปะการัง “เกรทแบร์ริเออร์รีฟ” อาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปสัมผัสความงดงามของมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งนี้ลดลงปีละกว่า 1 ล้านคน ซึ่งหมายถึงรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่จะสูญเสียไปด้วย ผลการศึกษาที่เผยแพร่วันนี้ (21 มิ.ย.) ระบุ
พืดหินปะการังที่ยาวที่สุดในโลกซึ่งอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย เกิดการฟอกขาวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยพบว่ามีปะการังตายไปแล้วเกือบ 1 ใน 4
“อุตสาหกรรมการดำน้ำดูปะการังที่นี่ เสี่ยงที่จะมีนักท่องเที่ยวลดลงปีละกว่า 1 ล้านคน” เอกสารทางวิชาการจาก The Australia Institute ซึ่งเป็นสถาบันคลังความคิดอิสระ ระบุ
หากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเป็นหลักล้าน ชุมชนจะสูญเสียรายได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และยังกระทบต่อการจ้างแรงงานราว 10,000 ตำแหน่งในรัฐควีนส์แลนด์ซึ่งพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก
“ปะการังฟอกขาวไม่เพียงส่งผลต่อความเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของเกรทแบร์ริเออร์รีฟเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสถานะของออสเตรเลียในฐานะจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกด้วย”
ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมความงดงามของท้องทะเลที่เกรทแบร์ริเออร์รีฟราว 3.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลีย
สถาบันแห่งนี้ได้สอบถามความคิดเห็นจากชาวออสเตรเลียหลายพันคน รวมถึงนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดหลักๆ เช่น จีน สหรัฐฯ และบาห์เรน
ชาวออสเตรเลียมากกว่า 1 ใน 3 ยอมรับว่า พวกเขาอาจเดินทางไปที่อื่น หากปัญหาปะการังฟอกขาวที่เกรทแบร์ริเออร์รีฟยังไม่ยุติลง ขณะที่ชาวอเมริกันและอังกฤษประมาณ 1 ใน 3 และชาวจีน “เกินครึ่ง” ให้คำตอบว่า พวกเขาคงจะเลือกไปท่องเที่ยวสถานที่อื่นๆ เช่นกัน
การฟอกขาวเป็นปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนปะการังให้กลายเป็นสีขาว หรือทำให้สีสันของมันซีดจางลง โดยเข้าใจว่าสาเหตุเกิดจากปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อ ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และปะการังอาจตายลงในที่สุดหากไม่สามารถทนต่อสภาวะนี้ได้ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวจึงเป็นภัยคุกคามแหล่งที่มาอันมีค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ, การท่องเที่ยว และการประมง
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นเมื่อถูกรบกวนจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมไปถึงสาเหตุอื่น ๆ อีก
เกรทแบริเออร์รีฟ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลนานาชนิด เวลานี้กำลังเผชิญปัญหาต่าง ๆ หลายด้าน ทั้งภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ น้ำเสียจากการเกษตร การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง และการระบาดของดาวมงกุฎหนามซึ่งกินปะการังเป็นอาหาร