รอยเตอร์ - นักการทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กว่า 50 คน ร่วมลงชื่อในบันทึกข้อความภายใน วิจารณ์นโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อปัญหาซีเรีย โดยเรียกร้องให้วอชิงตันใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีรัฐบาลประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เพื่อยุติการฝ่าฝืนข้อตกลงหยุดยิง
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล เป็นสื่อเจ้าแรกที่ตีแผ่เรื่องราวเกี่ยวกับ “บันทึกข้อความเห็นต่าง” (dissent channel cable) ซึ่งได้รับการลงนามจากคณะเจ้าหน้าที่ระดับกลางและสูงในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รวม 51 คน โดยล้วนแต่เป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายที่วอชิงตันมีต่อสงครามกลางเมืองในซีเรีย
เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เรียกร้องให้สหรัฐฯ “ใช้ปฏิบัติการทางทหาร” โดยมีกองกำลังของอัสซาดเป็นเป้าหมาย หลังจากข้อตกลงหยุดยิงซึ่งทำไว้เมื่อช่วงต้นปีนี้ส่อแววพังครืน
การส่งทหารโจมตีรัฐบาลอัสซาด จะถือเป็นการเปลี่ยนจุดยืนครั้งใหญ่ของอเมริกา เนื่องจากที่ผ่านมา ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ยืนกรานว่า วอชิงตันจะไม่แทรกแซงสงครามซีเรียโดยตรง แม้จะเรียกร้องให้ อัสซาด ยอมสละอำนาจ เพื่อนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรียก็ตาม
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งซึ่งไม่ได้ลงชื่อในเอกสาร บอกกับรอยเตอร์ ว่า ประธานาธิบดี โอบามา มุ่งขจัดภัยคุกคามและสกัดการขยายอิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) เป็นหลัก และทำเนียบขาวก็ยังไม่เห็นด้วยกับการส่งทหารอเมริกันเข้าไปแทรกแซงความขัดแย้งในซีเรียมากกว่านี้ ซึ่งข้อเรียกร้องจากคณะเจ้าหน้าที่ทั้ง 51 คน ก็ไม่น่าจะเปลี่ยนจุดยืนนี้ได้
แหล่งข่าวอีกคนระบุว่า เอกสารฉบับนี้เป็นการสะท้อนมุมมองของเจ้าหน้าที่อเมริกันที่คร่ำหวอดกับปัญหาซีเรียมานาน บางคนก็ทำงานในจุดนี้มานานหลายปี และเชื่อว่า นโยบายที่สหรัฐฯ ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพพอ
“โดยสรุปก็คือ พวกเขาอยากให้รัฐบาลพิจารณาปฏิบัติการทางทหาร เพื่อกดดัน อัสซาด ให้หนักกว่านี้” แหล่งข่าวรายที่สอง ระบุ
แม้การทำบันทึกข้อความเห็นต่างจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันเข้าชื่อในครั้งนี้ถือว่ามากเป็นพิเศษ
“มีเจ้าหน้าที่พร้อมใจกันเข้าชื่อเยอะจนน่าตกใจ” โรเบิร์ต ฟอร์ด อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำซีเรีย ซึ่งลาออกเมื่อปี 2014 ด้วยความเห็นต่างทางนโยบาย และปัจจุบันทำงานอยู่กับสถาบันตะวันออกกลาง (Middle East Institute) ซึ่งเป็นสถาบันคลังความคิดในวอชิงตัน ระบุ
“ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คณะทำงานในกระทรวงการต่างประเทศได้พยายามเตือนให้รัฐบาลกดดัน บาชาร์ อัล-อัสซาด มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้เขายอมเข้าสู่กระบวนการเจรจา ยุติสงครามกลางเมือง”
ฟอร์ด ย้ำว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมากระตุ้นให้รัฐบาลใช้นโยบายเชิงรุกกับซีเรีย เมื่อช่วงฤดูร้อนปี 2012 รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ก็เคยเสนอให้วอชิงตันติดอาวุธและฝึกยุทธวิธีให้แก่ฝ่ายกบฏที่ต้องการโค่นล้มอัสซาด และทั้ง ๆ ที่แผนนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรีหลายคน แต่กลับถูกปฏิเสธโดย โอบามา และบรรดาผู้ช่วยของเขาในทำเนียบขาว
บันทึกข้อความนี้ได้เอ่ยถึงความเป็นไปได้ในการใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ แต่ไม่ได้พูดถึงการส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไปในซีเรีย
สหรัฐฯ ส่งหน่วยรบพิเศษประมาณ 300 นาย เข้าไปในซีเรียเพื่อปฏิบัติภารกิจต่อต้านก่อการร้าย และจู่โจมทำลายฐานที่มั่นของพวกนักรบไอเอส แต่ไม่ได้เข้าไปเพื่อโจมตีรัฐบาลอัสซาด
จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุผ่านอีเมล ว่า “เราทราบว่ามีเจ้าหน้าที่กระทรวงกลุ่มหนึ่งจัดทำบันทึกข้อความเห็นต่างเกี่ยวกับสถานการณ์ในซีเรีย... ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาเอกสารดังกล่าว แต่ผมขออนุญาตไม่พูดถึงเนื้อหาของมัน”
จอห์น เบรนแนน ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ชี้แจงต่อสภาคองเกรสเมื่อวันพฤหัสบดี (16) ว่า เวลานี้สถานะของรัฐบาลอัสซาดเข้มแข็งยิ่งกว่าเมื่อปีก่อน หลังจากที่รัสเซียช่วยส่งเครื่องบินขับไล่มาทิ้งระเบิดโจมตีพวกกบฏสายกลาง