xs
xsm
sm
md
lg

แอมเนสตีสากลโวย “ลี้ภัยโรฮีนจาหลายร้อย” ยังคงถูกขังลืมในค่ายมนุษย์แดนเสือเหลืองนานร่วมปี หลังถูกช่วยได้จากกลางทะเลลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – รายงานแอมเนสตีสากลที่จะถูกเผยแพร่ในสัปดาห์หน้าระบุว่า มีชาวโรฮีนจา 325 คน และชาวบังกลาเทศ 65 คน ที่ถูกช่วยได้จากกลางทะเลในวิกฤตโรฮีนจาอพยพ 2015 ยังคงถูกขังภายในคุกมาเลเซียได้ 1 ปีแล้ว ทั้งๆที่คนทั้งหมดต้องได้รับอิสรภาพตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา

เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานวันนี้(27 พ.ค)ถึงรายงานแอมเนสตีสากลที่มีกำหนดจะตีพิมพ์เผยแพร่ในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้ พบว่ามีเหยื่อกลุ่มค้ามนุษย์ที่ตกเป็นข่าวฉาวในปีที่ผ่านมา ชาวโรฮีนจาจำนวนหลายร้อยคนและรวมไปถึงชาวบังกลาเทศจำนวนเกินครึ่งร้อยที่ถูกช่วยออกมาได้กลางทะเลลึกในปี 2015 ในวิกฤตโรฮีนจาอพยพ หลังจากที่คนทั้งหมดถูกแก๊งค้ามนุษย์ข้ามชาติปล่อยให้ลอยเรือกลางทะเลตามยถากรรมโดยไม่มีทั้งยา น้ำสะอาด และอาหารประทังชีวิต ถูกส่งไปยังมาเลเซีย

แต่ล่าสุดพบว่าคนกลุ่มนี้ที่ประกอบไปด้วยชาวโรฮีนจา 325 คน และชาวบังกลาเทศ 65 คน รวมทั้งหมด 390 คนยังคงถูกกักขังในคุกบาเลนติก( Belantik)ที่เข้มงวดในมาเลเซียมาจนถึงทุกวันนี้นานไม่ต่ำกว่า 1 ปี

สื่ออังกฤษชี้ว่า ในช่วงแรกของวิกฤตโรฮีนจาอพยพในปี 2015 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดต่างปฎิเสธที่จะให้การช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ ปล่อยให้กลุ่มคนเหล่านี้ที่มีจำนวนมากหลายพันคนต้องอยู่ด้วยอาหารที่ได้รับจากชาวประมงในพื้นที่ในขณะลอยเรือกลางทะเลลึก

และหลังจากที่มีกระแสกดดันอย่างหนักจากประชาคมโลก ทำให้ทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต้องประกาศยอมรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ขึ้นฝั่งจำนวน 2,900 คน ซึ่งส่วนมากเป็นชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศ และในขณะนั้น เดอะการ์เดียนชี้ว่า เชื่อกันว่ามีอีกจำนวนหลายพันคนยังคงถูกทิ้งให้ลอยคอล่องเรือกลางทะเลต่อไป

และจากจำนวนทั้งหมดที่ตอบรับ มีเหยื่อค้ามนุษย์จำนวน 1,100 คนถูกส่งไปยังมายังมาเลเซีย มีผู้ลี้ภัยจำนวนแค่ 50 คนเท่านั้นที่ได้รับโอกาสจากสังคมนานาชาติในการไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น ในขณะที่อีก 670 คนซึ่งเป็นชาวบังกลาเทศถูกเนรเทศส่งกลับประเทศบ้านเกิด

แต่ทว่ากลับพบว่า ยังคงมีเหยื่อค้ามนุษย์อีกเกือบ 400 คนถูกจองจำอยู่ภายในเรือนจำบาเลนติกของแดนเสือเหลือง ซึ่งถูกขึ้นชื่อว่าเป็นเรือนจำที่มีมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก

โดย ไคารูนิสซา ดาลา (Khairunissa Dhala) หนึ่งในกลุ่มนักวิจัยของแอมเนสตีสากลที่ได้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้กล่าวถึงเรือนจำบาเลนติกว่า “สภาพความเป็นอยู่ของเรือนจำในมาเลเซียถูกจัดว่า “เลวร้าย” ” และดาลาที่ได้ใช้เวลานานหลายสัปดาห์ในการสัมภาษณ์กับเหยื่อค้ามนุษย์กล่าวต่อว่า “ หลังจาก 1 ปีผ่านไป คนเหล่านี้ที่ต้องผ่านประสบการณ์เลวร้ายในการหนีตายอยู่กลางทะเล ยังคงได้รับการถูกลงโทษอย่างต่อเนื่อง มากกว่าที่จะได้รับการปฎิบัติจากประชาคมโลกว่าคนเหล่านี้เป็นเหยื่อของกลุ่มการค้ามนุษย์ที่อื้อฉาว”

และพบว่า มีหญิงชาวโรฮีนจาอย่างน้อย 1 คนที่มีกำหนดจะต้องถูกโยกย้าย กลับต้องเสียชีวิตภายในเรือนจำแห่งนี้ รายงานจากรายงานการวิจัยของแอมเนสตีสากล และพบว่า กลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอื่นได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ยังมีชายชาวบังกลาเทศอีก 1 รายต้องจบชีวิตลงขณะอยู่ภายในเรือนจำแดนเสือเหลืองเช่นกัน แต่ทางสื่ออังกฤษไม่สามารถยืนยันได้ในเรื่องนี้

เดอะการ์เดียนรายงานเพิ่มเติมต่อว่า หลังจากวิกฤตโรฮีนจาอพยพในเดือนพฤษภาคม 2015 ไม่พบว่า กลุ่มค้ามนุษย์ใช้วิธีเดิมในการใช้เรือขนผู้ลี้ภัยหนีออกไป แต่ทว่าดาลา นักวิจัยแอมเนสตีสากลชี้ว่า “ในเวลาเดียวกัน สถานการณ์สำหรับชาวโรฮีนจาในพม่ากลับยังคงน่าเป็นห่วง” ซึ่งดาลาชี้ต่อว่า “เป็นเพราะต้นตอปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข และทำให้ผู้คนเหล่านี้ยังคงมีความต้องการที่จะหนีออกนอกประเทศตลอดเวลา” ซึ่งนักวิจัยผู้จัดทำรายงานแอมเนสตีเกี่ยวกับวิกฤตโรฮีนจาสรุปว่า “หรือบางที ชาวโรฮีนจาเหล่านี้ค้นพบช่องทางการหลบหนีใหม่…ที่ทางเรายังไม่รู้ก็เป็นได้”

สื่ออังกฤษรายงานในตอนท้ายว่า สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซียส่งต่อการขอความเห็นจากเดอะการ์เดียนในเรื่องปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศยังคงถูกคุมขังในประเทศนาน 1 ปีไปยังกระทรวงมหาดไทยแดนเสือเหลือง แต่ทว่าทางกระทรวงกลับไม่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ และรวมไปถึงผู้แทนข้าหลวงระดับสูงของมาเลเซียประจำกรุงลอนดอนไม่แสดงความเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น