เอเจนซีส์ - โอบามาประกาศยกเลิกคว่ำบาตรการค้าอาวุธต่อเวียดนามที่ดำเนินมาหลายสิบปี ระหว่างการเยือนประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้ครั้งแรก เพื่อให้การสนับสนุนฮานอย พร้อมปูทางสู่การกระชับความสัมพันธ์กัน ทั้งด้านการค้าและการทหาร รับมือจีนที่กำลังผงาดเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็ง และกำลังท้าทายทั้งวอชิงตันและฮานอยในขณะนี้
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ประกาศยกเลิกคว่ำบาตรการค้าอาวุธระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (23) ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกในการสถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติกับเวียดนาม เพื่อขจัดริ้วรอยของสงครามเย็นที่ยังคั่งค้างอยู่
ประมุขทำเนียบขาว กล่าวว่า อเมริกาและเวียดนามได้พัฒนาความเชื่อใจ และความร่วมมือมาถึงระดับหนึ่ง และคาดหวังว่า กองทัพของสองประเทศจะร่วมมือกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในอนาคต
โอบามานั้นต้องการประนีประนอมกับเวียดนาม ในช่วงที่จีนกำลังเหิมเกริมมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในน่านน้ำที่สำคัญที่สุดของโลก
ขณะเดียวกัน การยกเลิกคว่ำบาตรการค้าอาวุธ ถือเป็นปัจจัยส่งเสริมทางจิตวิทยาสำหรับผู้นำเวียดนาม ที่พยายามอย่างยิ่งยวดในการคานอำนาจจีน แม้ว่าอาจจะไม่มีการสั่งซื้ออาวุธล็อตใหญ่ก็ตาม
ทั้งนี้ นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวอเมริกันต่างเรียกร้องให้โอบามากดดันผู้นำคอมมิวนิสต์ให้มอบเสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น ก่อนยกเลิกการคว่ำบาตร โดยปัจจุบัน เวียดนามคุมขังนักโทษการเมืองราว 100 คน และมีการควบคุมตัวเพิ่มในปีนี้
วอชิงตันนั้นยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนในปี 2014 แต่เวียดนามต้องการให้ยกเลิกทั้งหมด ขณะกำลังรับมือกับการถมที่ดินสร้างเกาะเทียม และสิ่งปลูกสร้างทางทหารในทะเลจีนใต้ของจีน
ทั้งนี้ โอบามาเดินทางถึงฮานอยเมื่อค่ำวันอาทิตย์ (22) ถือเป็นประธานาธิบดีอเมริกาคนแรกที่เยือนประเทศนี้นับจากสิ้นสุดสงคราม หรือสี่ทศวรรษหลังจากไซ่ง่อนล่ม สองทศวรรษหลังจากอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ฟื้นความสัมพันธ์กับเวียดนาม
โอบามานั้นต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจเกิดใหม่อย่างเวียดนาม ที่ชนชั้นกลางกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และถือเป็นตลาดที่มีอนาคตสดใสสำหรับสินค้าอเมริกัน ทั้งยังเป็นตลาดที่จะช่วยชดเชยตลาดจีนที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ระหว่างรับการต้อนรับจากประธานาธิบดี เจิ่น ได กวาง ของเวียดนามที่ทำเนียบประธานาธิบดี เมื่อวันจันทร์ โอบามาแสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าของเวียดนาม พร้อมตั้งความหวังว่า การเยือนครั้งนี้จะแสดงให้เห็นถึงความสนใจอย่างต่อเนื่องในการกระชับความสัมพันธ์กันต่อไป ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ทางการค้าและความมั่นคง อาทิ การอนุมัติความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ยังค้างอยู่ในรัฐสภาสหรัฐฯ และกำลังถูกคัดค้านอย่างหนักจากผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
อเมริกานั้นต้องการส่งเสริมการค้ากับชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเวียดนาม ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นสองเท่าในปี 2020 นั่นหมายถึงการลดภาษีนำเข้ายานยนต์ อาหาร และเครื่องจักรกล เพื่อต้อนรับสินค้าอเมริกามากขึ้น
หลังการเยือนเวียดนามนาน 3 วัน โอบามาจะเดินทางต่อไปยังญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มผู้นำทางอุตสาหกรรม 7 ชาติ (จี 7) ที่มีภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไร้ความแน่นอนเป็นประเด็นหารือหลัก ส่วนประเด็นรองจะประกอบด้วยความท้าทายต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญ ซึ่งรวมถึงการต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรัก และ ซีเรีย และวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรป
นอกจากนั้น โอบามายังมีกำหนดการเยือนฮิโรชิมา ซึ่งจะทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีอเมริกาคนแรกที่เดินทางไปยังบริเวณที่ถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูระหว่างอยู่ในตำแหน่ง และถือเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวนต้นทุนของสงคราม และการพยายามสร้างแรงกระตุ้นใหม่สำหรับการเรียกร้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกที่โอบามาประกาศไว้เมื่อ 7 ปีที่แล้วตอนที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก
อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหรัฐฯ ถูกวิจารณ์ว่า การไปปรากฏตัวในสถานที่ที่ถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูทำให้มีคนตายกว่า 200,000 คนนั้น อาจถูกมองว่า เป็นการขอขมาต่อสิ่งที่ชาวอเมริกันจำนวนมากคิดว่า เหมาะสมดีแล้ว