เอพี - ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัท และธนาคารของพม่าที่รัฐเป็นเจ้าของ 10 แห่ง ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ของพม่าสู่ประชาธิปไตย แต่ยังคงข้อจำกัดด้านการค้า และการลงทุนกับกองทัพพม่า
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้แก้ไขกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการค้า และการทำธุรกรรมทางการเงิน ในความตั้งใจที่จะชักชวนการลงทุนจากสหรัฐฯ มากขึ้น และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลพลเรือนของพม่า
เบน โรดส์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแหงชาติ กล่าวว่า จากการคลายมาตรการคว่ำบาตร สหรัฐฯ ต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่ามี “สิ่งตอบแทน” ในการเปลี่ยนแปลงจากการปกครองแบบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย
รัฐบาลใหม่เข้ากุมอำนาจในเดือน เม.ย. หลังพรรคของอดีตนักโทษการเมือง อองซานซูจี กวาดชัยในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ สิ้นสุดการปกครองโดยตรงของทหารนาน 5 ทศวรรษ แต่กองทัพยังคงมีอิทธิพลทางการเมือง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
“การดำเนินการของเราในวันนี้แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนความคืบหน้าทางเศรษฐกิจ และการเมือง ขณะเดียวกัน ก็ยังคงกดดันอย่างต่อเนื่องต่อบุคคลที่ถูกขึ้นบัญชีในพม่าให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” อดัม ซูบิน รักษาการปลัดกระทรวงการคลังฝ่ายข่าวกรองด้านการก่อการร้ายและการเงินของสหรัฐฯ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
สหรัฐฯ ยกเว้นการห้ามการลงทุน และการค้าในปี 2555 หลังจากที่พม่าเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจ และการเมือง แต่ยังรักษาข้อจำกัดในหลายสิบบริษัท และบุคคลที่ถูกขึ้นบัญชีโดยสำนักงานควบคุมทรัพย์สินในต่างประเทศ สังกัดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพราะพวกเขาคัดค้านการปฏิรูป หรือเกี่ยวข้องต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการค้าทางทหารกับเกาหลีเหนือ สหรัฐฯ ยังห้ามค้าอาวุธและดำเนินธุรกิจต่อบริษัทที่มีทหารเป็นเจ้าของ
บริษัทล็อบบี้ของสหรัฐฯ บ่นว่า แม้จะคลายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง แต่การดำเนินธุรกิจยังคงเป็นเรื่องยากลำบากในพม่า
แม้บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Coca-Cola, General Electric, Chevron และ Caterpillar ที่เวลานี้ดำเนินธุรกิจในพม่า แต่การลงทุนของสหรัฐฯ มูลค่า 248 ล้านดอลลาร์ ยังมีอัตราน้อยกว่า 1% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั้งหมดจากต่างประเทศในพม่า
สมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งยินดีต่อการตัดสินใจของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ต่ออายุมาตรการคว่ำบาตรภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ
โจ ครอว์ลีย์ จากเดโมแครต และสตีฟ ชาบอต จากรีพับลิกัน กล่าวว่า พวกเขายังคงวิตกถึงการโจมตีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ และอำนาจทางสถาบันของกองทัพ
“การต่ออายุอำนาจในการลงโทษ ขณะที่คลายมาตรการบางส่วนเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตยที่แท้จริงในพม่า” สมาชิกสภานิติบัญญัติระบุในคำแถลง
เบน โรดส์ กล่าวว่า กองทัพยังคงมีอิทธิพลที่ผิดสัดส่วนต่อกระบวนการทางนิติบัญญัติ ควบคุมกระทรวงสำคัญ และส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ และรัฐบาลใหม่จะต้องจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อดำเนินการการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย
ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่รัฐบาลเผด็จการทหารร่างขึ้น กองทัพควบคุมกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน และครองที่นั่ง 25% ในรัฐสภา กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ชาวมุสลิมโรฮิงญาไร้สัญชาติ และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ยังเผชิญต่อการปราบปราม
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า ได้เพิ่มบริษัทเอกชน 6 แห่งเข้าในบัญชีรายชื่อบุคคลที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Specially Designated Nationals - SDN) ที่ถูกห้ามดำเนินธุรกิจกับสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่มีนายสตีเฟน ลอว์ ถือครองหุ้นอย่างน้อย 50% โดยนาย สตีเฟน ลอว์ นั้นมีความสัมพันธ์กับอดีตรัฐบาลเผด็จการทหาร และถูกกล่าวหาว่า มีความเกี่ยวข้องต่อการค้ายาเสพติด
ในการประกาศคลายมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ การตกลงธุรกิจต่างๆ ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อธนาคารพม่าทุกราย รวมทั้งธนาคารที่ถูกถอนออกจากบัญชีรายชื่อ SDN และที่ได้รับการยกเว้น โดยธนาคาร 3 แห่ง ที่ถูกถอนออกจากบัญชีรายชื่อในวันอังคาร (17) ประกอบด้วย Myanma Economic Bank; Myanmar Foreign Trade Bank; และ Myanma Investment and Commercial Bank
ส่วนบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของที่ถูกถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อเช่นเดียวกันนั้น ประกอบด้วย Myanmar Timber Enterprise; Myanmar Pearl Enterprise; Myanmar Gem Enterprise; No. 1 Mining Enterprise; No. 2 Mining Enterprise; No. 3 Mining Enterprise; และ Co-Operative Export-Import Enterprise เนื่องจากบริษัทที่มีชื่อเหล่านี้อยู่ภายใต้การจัดการของกระทรวงพลเรือน หรือไม่มีอยู่อีกต่อไป
แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า การนำเข้าหยก และทับทิม ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทำกำไรสูงของพม่ายังคงถูกห้ามเช่นเดิม.