รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - รัฐสภาตุรกีออกกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อกำกับดูแลวินัยเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย หนึ่งในมาตรการที่ทางอังการาประกาศเพื่อแลกกับดีลข้อตกลงอียูอนุมัติให้พลเมืองเติร์กสามารถเดินทางเข้ายุโรปโดยไม่ต้องขอเชงเก้นวีซ่าอีกต่อไป
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (4 พ.ค) ว่า ที่ผ่านมา สมาชิก 28 ชาติยุยุโรป ต้องพึ่งตุรกีในการช่วยแก้ไขวิกฤตการไหลเข้าผู้อพยพสู่ยุโรป และทำให้เกิดสัญญาระหว่างอียูและอังการาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในวันนี้ (4 พ.ค.) คาดว่า คณะกรรมาธิการยุโรปจะสามารถหาข้อสรุป และออกแถลงการณ์ว่า ตุรกีนั้นเข้าข่ายที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอเชงเก้นวีซ่าเพื่อเข้าสู่เขตสหภาพยุโรปอีกต่อไป ก่อนที่จะนำมติเข้าสู่ที่ประชุมผู้นำรัฐบาลประเทศสมาชิกทั้ง 28 ชาติ และสภายุโรปเพื่อให้ออกเสียงลงมติในสิ้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ในคืนวันอังคาร (3 พ.ค.) คณะรัฐมนตรีตุรกีมีมติอนุญาตให้ยกเว้นการขอวีซ่าของพลเมืองชาติสมาชิกอียูทั้ง 28 ชาติ ที่มีความประสงค์ต้องการเดินทางเข้ามายังตุรกี ซึ่งจะบรรลุผลก็ต่อเมื่อทางยุโรปได้ออกกฎหมายผ่อนปรนข้อกำหนดเชงเก้นวีซ่าสำหรับพลเมืองเติร์กแล้ว ซึ่งเป็น 1 ใน 72 ข้อกำหนดในสัญญาระหว่างอียู และอังการา
รอยเตอร์รายงานต่อว่า และในวันเดียวกัน ทางรัฐสภาตุรกีได้ออกกฎหมายที่มีเป้าหมายเพื่อดูแลตำรวจตุรกีผ่านการจัดตั้งคณะกรรมาธิการที่มีหน้าที่คอยควบคุม และตรวจสอบการควบคุมวินัยของตำรวจเติร์ก และลงโทษในกรณีที่มีการกระทำผิดกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ชี้ว่า มีความกังวลเกิดขึ้นในหมู่ชาติยุโรปถึงการให้สิทธิเข้ายุโรปเสรีต่อตุรกี ชาติมุสลิมที่มีพลเมือง 79 ล้านคน แต่กระนั้นบรัสเซลส์ยังยืนกรานเดินหน้าต่อเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาระหว่างอียูและตุรกีในเดือนมีนาคม เพื่อให้ปัญหาผู้อพยพที่ทางยุโรปกำลังเผชิญอยู่นี้นั้นต้องยุติไป ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับยุโรปนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
บีบีซี สื่ออังกฤษรายงานว่า จากแหล่งข่าวบรัสเซลส์ในการให้ข้อมูล มีความเป็นไปได้ว่าทางคณะกรรมาธิการยุโรปจะสนับสนุนให้ตุรกีสามารถบรรลุ “เชงเก้นวีซ่าเสรี” ภายใต้ข้อกำหนดที่เข้มงวดที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้กำหนดขึ้น
โดยภายใต้การยกเลิกนี้ พลเมืองเติร์กจะได้สิทธิสามารถเดินทางเข้ายุโรป และสามารถอยู่ภายในเขตเชงเก้นโซนทั้ง 25 ชาติ ได้นาน 3 เดือน ในฐานะนักท่องเที่ยว หรือนักธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้การผ่อนผันนี้ ทางยุโรปจะไม่อนุญาตให้ชาวเติร์กใช้สิทธิเดินทางเสรีเพื่อเข้ามาทำงานในยุโรป
ซึ่งภายใต้ข้อตกลงเชงเก้นของสหภาพยุโรปนั้น ไม่รวมไปถึง อังกฤษ ไอร์แลนด์ และไซปรัส ที่ไม่ได้เข้าร่วม ดังนั้น พลเมืองตุรกีจึงจำเป็นต้องขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศเหล่านี้ต่อไป แต่ที่ผ่านมา อังการาได้ออกขู่จะเลิกรับผู้อพพกลับคืน หากทางสหภาพยุโรปไม่อนุมัติการให้เชงเก้นวีซ่าเสรีกับตุรกี
บีบีซีวิเคราะห์ต่อว่า ข้อกำหนดของฝั่งยุโรปในการได้รับเชงเก้นวีซ่า รวมไปถึง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการได้รับการไต่สวนอย่างยุติธรรม การแก้กฎหมายต่อต้านก่อการร้ายเพื่อปกป้องชนกลุ่มน้อยในประเทศ ที่ทางอังการาต้องดำเนินการก่อนที่จะได้รับการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ทางสื่ออังกฤษชี้ว่า ยังเป็นการยากที่ทางอังการาจะสามารถดำเนินการตามข้อกำหนดเหล่านี้ได้ เนื่องจากที่ผ่านมายังเห็นตุรกีใช้อำนาจในการกวาดล้างฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมือง